"...จึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดกรมธนารักษ์จึงลงรายการ ‘หมายเหตุ’ ให้กองทัพอากาศเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถานตามโฉนดทั้ง 7 แปลง ทั้งๆที่กรมธนารักษ์ย่อมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ที่ราชพัสดุดังกล่าวมีกรมการศาสนาและวัดพระศรีมหาธาตุฯ ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ และไม่ปรากฏว่ามีการคืนที่ราชพัสดุ..."
.......................
ต้องลุ้นกันอีกยก
สำหรับศึกชิงสุสาน-ฌาปนกิจสถาน ระหว่าง ‘กองทัพอากาศ’ กับ ‘วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร’ ว่า ใครกันแน่ จะเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์ใน 'ที่ราชพัสดุ' บริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน บนโฉนด 7 แปลง เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน
เพราะหลังจากที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาให้ ‘เพิกถอน’ หมายเหตุในทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขทะเบียนที่ กท.1436 ที่ให้กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ แล้ว (อ่านประกอบ : ศาล ปค.สั่งเพิกถอน ‘ทอ.’ ใช้ ปย.ที่ดินสุสาน-ฌาปนสถานในวัดพระศรีฯหลังยึดนาน 23 ปี)
ล่าสุด กรมธนารักษ์ ยื่นอุทธรณ์คดีนี้ต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ขณะที่ กองทัพอากาศ ออกมายืนยันว่า ค่าใช้จ่ายการในการฌาปนกิจของฌาปนกิจสถานในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ ‘เป็นธรรม’ และเป็นไปตามระเบียบราชการ (อ่านประกอบ : อุทธรณ์ศาล ปค.สูงสุดแล้ว! โฆษก ทอ.แจงปมถูกเพิกถอนใช้ ปย.ฌาปนสถานวัดพระศรีฯ)
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เข้าใจถึง ‘สถานะ’ ของที่ดินบริเวณ ‘สุสานและฌาปนกิจสถาน’ ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ ว่า เหตุใดที่ดินดังกล่าวจึงเป็น ‘ที่ราชพัสดุ’ ซึ่งอยู่ในการปกครองดูแลของกรมธนารักษ์ ทั้งๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) จึงขอสรุปความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับที่ดินแปลงดังกล่าว ดังนี้
@ย้อนที่มาก่อน ‘กฤษฎีกา’ ตีความปมที่ดินสุสาน
เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2550 เจ้าอาวาสวัดพระศรีมหาธาตุฯ มีหนังสือถึง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ขอคัดค้านกรณีการนำสิ่งปลูกสร้างในสุสานวัดพระศรีมหาธาตุไปขึ้นทะเบียนราชพัสดุ ต่อมา พศ. มีหนังสือที่ 0001/1117 ลงวันที่ 12 ก.พ.2551 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
โดยขอให้พิจารณาว่า วัดพระศรีมหาธาตุสามารถคัดค้านการนำที่ดินบริเวณสุสานไปขึ้นทะเบียนเป็นที่ราชพัสดุ ตามพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ได้หรือไม่ และอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติ
ต่อมา คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 7 ได้พิจารณาข้อหารือของ พศ. รวมทั้งรับฟังข้อเท็จจริงจากผู้แทนกระทรวงกลาโหม (กองทัพอากาศ) ผู้แผนกระทรวงการคลัง (กรมธนารักษ์) ผู้แทนกระทรวงวัฒนธรรม (กรมศาสนา) และผู้แทน พศ. แล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า
คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเมื่อวันที่ 19 มี.ค.2484 เห็นควรให้สร้างวัดพระศรีมหาธาตุ และต่อมารัฐบาลมีความประสงค์ที่จะได้ที่ดินบริเวณทางด้านใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุเพื่อทำเป็นสุสานสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบในสงครามอินโดจีน
กระทรวงการคลังจึงเข้าทำสัญญาซื้อที่ดินกับเจ้าของที่ดินในบริเวณดังกล่าว และระบุกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่จัดซื้อเพื่อทำเป็นสุสานสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือน
ต่อมาในปี พ.ศ.2485 ครม.ได้มีมติให้กระทรวงศึกษาธิการ (กรมการศาสนา) รับมอบวัดพระศรีมหาธาตุ รวมทั้งทรัพย์สินของวัดไปจัดการต่อไป โดยข้อเท็จจริงปรากฏว่า ยังไม่มีการก่อสร้างฌาปนสถานในบริเวณวัดแต่อย่างใด
ส่วนการควบคุมดูแลสุสานสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตนั้น นายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้มอบหมายให้กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ควบคุมดูแลรักษา เนื่องจากเห็นว่ายังไม่ปรากฏชัดแจ้งว่าผู้ใดมีหน้าที่ดังกล่าว
ต่อมาในปี พ.ศ.2490 กระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลัง แจ้งว่า กระทรวงกลาโหมขอมอบที่ดินอาคาร ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานนี้ให้เป็นสมบัติของวัดพระศรีมหาธาตุ เนื่องจากได้ดำเนินการปลงศพทหารที่เสียชีวิตจากการรบในสงครามอินโดนในสุสานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์อื่นใดอีกต่อไป
@ชี้ขาด ‘ฌาปนกิจสถาน’ วัดพระศรีฯเป็น ‘ที่ราชพัสดุ’
จากข้อเท็จจริงดังกล่าว คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) พิจารณาแล้วเห็นว่า ที่ดินที่ใช้เป็นสุสานสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบในสงครามอินโดจีน ได้มาจากการจัดซื้อในปี พ.ศ.2484 ด้วยเงินงบประมาณแผ่นดินและกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดิน
เมื่อกระทรวงกลาโหมได้นำที่ดินนั้นไปใช้จัดทำเป็นสุสานฯ เพื่อประโยชน์ของกระทรวงกลาโหมแล้ว ย่อมทำให้ที่ดินดังกล่าวเป็น ‘สาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และเมื่อระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุ พุทธศักราช 2485 ใช้บังคับ ที่ดินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของกระทรวงการคลังนั้น จึงเป็นที่ดินซึ่งรัฐบาลปกครองใช้ราชการอยู่และรัฐบาลได้เข้าปกครองจัดประโยชน์แล้ว ย่อมเป็นที่ราชพัสดุตามข้อ 3 แห่งระเบียบดังกล่าว
แม้ว่าต่อมากระทรวงกลาโหมได้มีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงการคลัง แจ้งว่า กระทรวงกลาโหมขอมอบที่ดิน อาคาร ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานให้เป็นสมบัติของวัดพระศรีมหาธาตุ เนื่องจากได้ดำเนินการปลงศพทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบในสงครามอินโดจีนในสุสานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
จึงไม่มีความจำเป็นที่จะใช้ประโยชน์อื่นใดอีกต่อไป และได้ส่งคืนหลักฐานที่ดิน โฉนดที่ดิน 16 ฉบับ พร้อมหนังสือสัญญาขายกรรมสิทธิ์ที่ดินอีก 16 ฉบับ ให้กระทรวงการคลังแล้วก็ตาม
แต่เป็นเพียงการโอนการครอบครองดูแลและทำประโยชน์เท่านั้น มิใช่เป็นการโอนกรรมสิทธิ์แต่อย่างใด เพราะกระทรวงกลาโหม ‘มิได้’ มีกรรมสิทธิ์มาแต่ต้น ย่อมไม่มีสิทธิโอนกรรมสิทธิ์ให้ผู้อื่นได้
ประกอบกับเมื่อที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะซึ่งมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดว่าทรัพย์สินซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินจะโอนแก่กันมิได้ เว้นแต่อาศัยอำนาจแห่งบทกฎหมายเฉพาะหรือพระราชกฤษฎีกา
ดังนั้น การที่กระทรวงกลาโหมมีหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการดังกล่าว ก็ไม่มีผลเป็นการโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดิน เป็นแต่เพียงการดำเนินการตามข้อ 14 แห่งระเบียบการปกครองและจัดประโยชน์ที่ดินสิ่งปลูกสร้างราชพัสดุฯ ที่กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่ต้องแจ้งให้กระทรวงการคลังทราบเพื่อแก้ไขทะเบียนให้ถูกต้อง
ต่อมาเมื่อมีการประกาศใช้บังคับพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ที่ดินดังกล่าวก็ย่อมเป็น 'ที่ราชพัสดุ' ตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518
และแม้วัดพระศรีมหาธาตุจะครอบครองที่ดินนานเพียงใด ก็ไม่อาจอ้างการครอบครองปรปักษ์ในที่ดินดังกล่าวได้ เนื่องจากมาตรา 1304 (3) ประกอบกับมาตรา 1306 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
ดังนั้น เมื่อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานวัดพระศรีมหาธาตุเป็น ‘สาธารณสมบัติของแผ่นดิน’ ที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518
และเมื่อไม่ปรากฏว่า มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุให้แก่วัดศรีมหาธาตุตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จึงยังคงเป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความปกครองดูแลของ กรมธนารักษ์ ที่จะต้องนำไปขึ้นทะเบียนราชพัสดุตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518
@ศาลปค.กลางชี้ขึ้นทะเบียน ‘ที่ราชพัสดุ’ ชอบด้วยกม.
ขณะเดียวกัน คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่วินิจฉัยว่าที่ดินบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ เป็นที่ราชพัสดุ ยังสอดคล้องกับ ‘ความเห็น’ ของศาลปกครองกลางในคดีพิพาทเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ ในคดีหมายเลขดำที่ 321/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1037/2558 ลงวันที่ 29 มี.ค.2564 ด้วย
กล่าวคือ ในคดีดังกล่าว ศาลฯมีการตั้งประเด็นวินิจฉัยว่า การที่กรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดี) รับขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.1436 ที่ดินบริเวณสุสานและฌาปนสถานตามโฉนดที่ดิน 7 ฉบับ ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ เป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ซึ่งศาลพิเคราะห์แล้ว มีความเห็นสรุปได้ว่า ที่ดินตามโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ ที่จัดซื้อมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 นั้น เป็นการจัดซื้อด้วยงบประมาณแผ่นดิน โดยกรมพลาธิการทหารบกตั้งผู้แทนไปลงนามทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินแทนกระทรวงการคลัง และได้มีการใช้ประโยชน์จัดทำเป็นสุสานสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน
ดังนั้น ที่ดินบริเวณสุสานทหารตามโฉนดทั้ง 7 ฉบับ จึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ ตามมาตรา 1304 (3) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นที่ราชพัสดุตามมาตรา 4 แห่งพ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 อันมีผลให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดทั้ง 7 ฉบับ
@ที่ดิน ‘สุสานทหาร’ ไม่ใช่ของวัดพระศรีมหาธาตุฯ
สำหรับกรณีที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ (ผู้ฟ้องคดี) อ้างว่า รัฐบาลได้จัดซื้อที่ดินบริเวณทิศใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุฯ เพื่อไว้สำหรับทำเป็นที่เก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตในการรบกับอินโดจีน โดยให้กระทรวงการคลังเป็น ‘ผู้รับโอน’ แทนวัดพระศรีมหาธาตุฯ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ 9/2490 ลงวันที่ 7 เม.ย.2480
รวมทั้งใช้ชื่อทางราชการว่า 'สุสานวัดพระศรีมหาธาตุ' โดยกระทรวงกลาโหมในสมัยนั้น มีวัตถุประสงค์ให้ใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าวเป็นศาสนสมบัติของวัดพระศรีมหาธาตุฯ ตามพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2484 และพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และที่แก้ไขเพิ่มเติมนั้น
ศาลฯเห็นว่า การจัดซื้อที่ดินสำหรับเก็บศพทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตในการรบกับอินโดจีน ไม่ปรากฎหลักฐานการสั่งการของรัฐบาล หรือมติ ครม. ให้จัดซื้อเป็นของวัดพระศรีมหาธาตุฯ ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงไม่ใช่ผู้รับโอนที่ดินแทนวัดพระศรีมหาธาตุฯ ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนกรณีที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ อ้างว่า นายกรัฐมนตรี (จอมพล ป.พิบูลสงคราม) ได้มีประกาศถวายที่ดินและเสนาสนะแก่วัดพระศรีมหาธาตุฯ ลงวันที่ 24 มิ.ย.2485 ได้แก่ ที่ดินที่ตั้งของวัด เนื้อที่ 83 ไร่ 1 งาน 60 ตารางวา และที่ธรณีสงฆ์อีก 143 ไร่ 1 งาน 26 ตารางวาน
อย่างไรก็ตาม ศาลฯเห็นว่า ประกาศถวายที่ดินและเสนาสนะฉบับดังกล่าว ในส่วนของที่ธรณีสงฆ์นั้น ไม่ปรากฎโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินในเวลานั้นแต่อย่างใด
นอกจากนี้ กรณีที่วัดพระศรีมหาธาตุฯ อ้างว่า รมว.กลาโหมสมัยนั้น มีหนังสือที่ 131148/2490 ลงวันที่ 14 ส.ค.2490 ถึง รมว.ศึกษาธิการว่า ขณะนี้กระทรวงกลาโหมไม่มีความจำเป็นต้องใช้ประโยชน์อื่นใด ถ้ามอบที่ดิน อาคาร ตลอดจนสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานให้เป็นสมบัติของวัดพระศรีมหาธาตุฯ โดยเด็ดขาดน่าจะเป็นประโยชน์แก่วัด
และปลัดกระทรวงกลาโหม ได้มีหนังสือที่ 12858/2490 ลงวันที่ 14 ส.ค.2490 ถึงปลัดกระทรวงการคลัง ว่า เนื่องจากกระทรวงกลาโหมไม่ประสงค์จะใช้พื้นที่บริเวณสุสานอีกต่อไป จึงมอบที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้กระทรวงศึกษาธิการ พร้อมส่งคืนโฉนดที่ดิน 16 ฉบับ หนังสือสัญญา 16 ฉบับ รวมถึงโฉนดที่ดินทั้ง 7 แปลงนั้น
ศาลฯเห็นว่า การโอนที่สาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จะโอนได้ก็แต่โดยอาศัยอำนาจแห่งบทบัญญัติหรือ พ.ร.ฎ. ตามมาตรา 1305 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
และการโอนกรรมสิทธิ์ที่ราชพัสดุเฉพาะที่ดินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ จะกระทำได้แต่โดยการตราเป็น พ.ร.บ. ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ.2518 ดังนั้น หนังสือของ รมว.กลาโหม และปลัดกระทรวงกลาโหม จึงไม่มีผลเป็นการโอนที่ราชพัสดุตามโฉนดที่ดินทั้ง 7 ฉบับ
@ตั้งปม ‘ธนารักษ์’ ยก ‘ฌาปนกิจสถาน’ ให้ ‘ทอ.’ ใช้ประโยชน์
จากความคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของศาลปกครองกลางในคดี ที่ระบุว่าที่ดินบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุนั้น ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของวัดพระศรีมหาธาตุฯ หรือแม้แต่กองทัพอากาศ (ทอ.)
แต่กลับปรากฏว่าในปี 2541 กรมธนารักษ์ ได้ลงรายการ ‘หมายเหตุ’ ในทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขทะเบียนที่ กท.1436 ให้กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ หลังกองทัพอากาศมีหนังสือด่วนมาก ที่ กห 0606/1204 ลงวันที่ 2 ก.ค.2541 ถึงกรมธนารักษ์เพื่อขอให้ดำเนินการดังกล่าว
จึงเกิดคำถามตามมาว่า เหตุใดกรมธนารักษ์จึงลงรายการ ‘หมายเหตุ’ ให้กองทัพอากาศเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถานตามโฉนดทั้ง 7 แปลง ทั้งๆที่กรมธนารักษ์ย่อมทราบอยู่ก่อนแล้วว่า ที่ราชพัสดุดังกล่าวมีกรมการศาสนาและวัดพระศรีมหาธาตุฯ ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่ และไม่ปรากฏว่ามีการคืนที่ราชพัสดุ
แม้ว่าในเวลาต่อมา วัดพระศรีมหาธาตุฯจะสอบถามเรื่องดังกล่าวไปยังกรมธนารักษ์ แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
กระทั่ง วัดพระศรีมหาธาตุฯ ต้องยื่นฟ้องศาลปกครองในปี 2558 โดยขอให้ศาลฯสั่งเพิกถอนหมายเหตุในทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขทะเบียนที่ กท.1436 ที่ให้กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถานบนโฉนด 7 ฉบับ และล่าสุดศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้เพิกถอนหมายเหตุดังกล่าว
บทสรุปสุดท้ายว่าใครจะเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุฯ คงต้องติดตามกันต่อไป และต้องไม่ลืมว่ามูลค่า ‘เม็ดเงิน’ ที่ฌาปนกิจสถานแห่งนี้ได้รับจากกิจการฌาปนกิจในแต่ละปีนั้น นับว่าไม่น้อยเลยที่เดียว!
อ่านประกอบ :
อุทธรณ์ศาล ปค.สูงสุดแล้ว! โฆษก ทอ.แจงปมถูกเพิกถอนใช้ ปย.ฌาปนสถานวัดพระศรีฯ
ศาล ปค.สั่งเพิกถอน ‘ทอ.’ ใช้ ปย.ที่ดินสุสาน-ฌาปนสถานในวัดพระศรีฯหลังยึดนาน 23 ปี
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage