ศาลปกครองสั่งเพิกถอน ‘กองทัพอากาศ’ จากการใช้ประโยชน์ที่ดินราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถาน ‘วัดพระศรีฯ’ เหตุกรมธนารักษ์แก้ไข 'หมายเหตุ' การใช้ที่ราชพัสดุ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
........................
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รายงานว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 321/2558 คดีหมายเลขแดงที่ 1037/2558 ลงวันที่ 29 มี.ค.2564 พิพากษาให้เพิกถอนหมายเหตุในทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขทะเบียนที่ กท.1436 ที่ให้กองทัพอากาศใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถานบนโฉนด 7 ฉบับ เนื้อที่ประมาณ 32 ไร่ 1 งาน 68 ตารางวา ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร บางเขน กรุงเทพฯ ทั้งนี้ การเพิกถอนหมายเหตุในที่ราชพัสดุดังกล่าว ให้มีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด
ทั้งนี้ ศาลฯให้เหตุผลว่า เนื่องจากที่ดินราชพัสดุบริเวณสุสานและฌาปนกิจสถานในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารนั้น วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นผู้ครอบครองและใช้ประโยชน์อยู่แล้ว ดังนั้น การที่กรมธนารักษ์ลงหมายเหตุในทะเบียนที่ราชพัสดุ แปลงเลขทะเบียนที่ กท.1436 ที่ให้กองทัพอากาศเป็นผู้ใช้ประโยชน์ที่ดินดังกล่าว เป็นกระทบต่อสิทธิของทางวัดฯ อีกทั้งมิได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการที่ราชพัสดุวินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลฯสั่งให้กรมธนารักษ์ ชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการจดทะเบียนที่ราชพัสดุฌาปนกิจสถานตามหนังสือที่ กค 0419/1885 ลงวันที่ 18 ก.ย.2541 โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นเหตุให้วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) ไม่ได้รับค่าเช่าที่ดินและค่าบำรุงวัด ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ย.2541 จนถึงวันที่ฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 29 ม.ค.2558 เป็นระยะเวลา 16 ปี 4 เดือน 11 วัน ค่าเสียหายเดือนละ 50,000 บาท เป็นเงิน 9.82 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% หรือเป็นเงินทั้งสิ้น 19.62 ล้านบาทนั้น ศาลให้ยก
สำหรับคดีนี้ วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร (ผู้ฟ้องคดีที่ 1) และผู้ฟ้องคดีที่ 2-7 ยื่นฟ้องอธิบดีกรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) กรมธนารักษ์ (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) และกองทัพอากาศเป็นผู้ร้องสอด สรุปความได้ว่า
ต่อมาเมื่อปี 2503 กองทัพอากาศเช่าทำสัญญาเช่าที่ดินสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร เนื้อที่ประมาณ 40 ไร่เศษ โดยจ่ายค่าเช่าปีละ 100 บาท พร้อมถวายค่าบำรุงวัดต่างหาก โดยเช่าเรื่อยมาเป็นเวลา 40 ปี ซึ่งค่าเช่าตามสัญญาครั้งสุดท้ายรวมค่าบำรุงวัดอยู่ที่เดือนละ 50,000 บาท
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญาเช่าที่ทำขึ้นเมื่อปี 2538 กำลังจะหมดอายุลงในปี 2541 ทางวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารได้เชิญกองทัพอากาศเข้าร่วมประชุมเพื่อต่อสัญญา แต่กองทัพอากาศปฏิเสธที่จะต่อสัญญา และบ่ายเบี่ยงไม่เข้าร่วมประชุมเป็นเวลานาน จนกระทั่งหลายเดือนต่อมากองทัพอากาศแจ้งว่าไม่อาจทำสัญญากับทางวัดได้แล้ว เนื่องจากได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมธนารักษ์ ให้เป็นผู้ใช้ประโยชน์ในที่ดินสุสานภายในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารเรียบร้อยแล้ว และปฏิเสธไม่ยอมชำระค่าเช่าและค่าบำรุงวัด
ต่อมาวันที่ 21 ส.ค.2543 ทางวัดได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมธนารักษ์ โดยขอให้กรมธนารักษ์ปฏิบัติตามบทบัญญัติทางกฎหมายและเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ฌาปนกิจสถานดังกล่าวเป็นกิจทางศาสนาและสาธารณกุศลของวัด และทางวัดเองมิได้ขัดข้อง หากกองทัพอากาศมีความจำเป็นต้องใช้ฌาปนกิจสถานแห่งนี้เพื่อสาธารณกุศล แต่กลับปรากฏว่ามีประชาชนจำนวนมากร้องเรียนเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการฌาปนกิจศพที่สูงมากติดอันดับ 1 ใน 3 ของการฌาปนกิจศพที่ขึ้นชื่อว่าแพง
จนกระทั่งปี 2549 วัดฯ ได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อขอคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และได้คำตอบว่า วัดไม่สามารถอ้างสิทธิ์ใดๆในที่ดินดังกล่าวได้ ต่อมาในปี 2556 วัดฯได้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าวจากกรมธนารักษ์อีกครั้ง และได้รับแจ้งว่าที่ดินสุสานและฌาปนกิจสถานทั้ง 7 โฉนด ได้ขึ้นทะเบียนที่ราชพัสดุเลขที่ กท.1436 และหมายเหตุว่า ใช้ประโยชน์เป็นสุสานทหารและฌาปนกิจสถานกองทัพอากาศ ตามหนังสือกองทัพอากาศ ด่วนมาก ที่ กห 0606/120 ลงวันที่ 2 ก.ค.2541 ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ดังนั้น วัดฯ และผู้ฟ้องคดีที่ 2-7 จึงฟ้องต่อศาลปกครองขอให้อธิบดีกรมธนารักษ์แก้ไขรายการในทะเบียนที่ราชพัสดุเลขที่ กท.1436 สุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารให้ถูกต้อง และให้กรมธนารักษ์ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินต้นและดอกเบี้ย 19.62 ล้านบาท เนื่องจากทำให้วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารไม่ได้รับค่าเช่าและค่าบำรุงวัดเป็นเวลา 16 ปี 4 เดือน 11 วัน
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์มีสิทธิ์ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้ และนับตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบัน พบว่ากองทัพอากาศครอบครองและใช้ประโยชน์ที่ดินสุสานและฌาปนกิจสถานในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยไม่มีการจ่ายค่าเช่าและค่าบำรุงให้กับทางวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารมาแล้วเป็นเวลา 23 ปี
@ที่มาการสร้างสุสาน-ฌาปนกิจสถานในบริเวณวัดพระศรีฯ
สำหรับประวัติและที่มาของที่ดินสุสานและฌาปนกิจสถาน ในบริเวณวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารนั้น เมื่อวันที่ 15 ก.ย.2483 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ก่อสร้างวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยให้กระทรวงการคลังจ่ายเงินยืมจากเงินทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมเป็นเงิน 3 ล้านบาท
ต่อมาในการประชุมครม. เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2484 พล.ต.หลวงพิบูลสงคราม หรือจอมพล ป.พิบูลสงคราม เสนอที่ประชุม ครม. ว่า พื้นที่ทิศใต้ของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารอยากจะสงวนไว้สำหรับทำเป็นที่เก็บศพ ทหาร ตำรวจ และพลเรือน ที่เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน
จากนั้นในเดือน เม.ย.-พ.ค.2584 กรมพลาธิการทหารบกได้ทำการจัดซื้อที่ดิน 7 แปลง เพื่อสร้างเป็นสุสานสำหรับเก็บศพทหาร จากนั้นวันที่ 24 มิ.ย.2584 จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้มีประกาศถวายที่ดินและเสนาสนะให้แก่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และครม.มีมติเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2485 ให้กระทรวงศึกษาธิการ (กรมศาสนา) รับมอบวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร และทรัพย์สินของวัดไปจัดการต่อ
ต่อมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้มีหนังสือที่ ห.8792/2485 ลงวันที่ 24 พ.ย.2485 ถึง รมว.กลาโหม ว่า จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเห็นว่า ขณะนี้ยังไม่ปรากฎชัดเจนว่าผู้ใดมีอำนาจควบคุมดูแลสุสานเก็บศพทหารที่เสียชีวิต จึงมีคำสั่งให้กระทรวงกลาโหมดูแล
หลังจากนั้น ในวันที่ 14 ส.ค.2490 รมว.กลาโหม มีหนังสือถึง รมว.ศึกษาธิการ ว่า สุสานของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร ซึ่งเดิมราชการทหารใช้เป็นที่จัดการปลงศพผู้เสียชีวิตคราวพิพาทอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ 2 นั้น ทางราชการกระทรวงกลาโหมได้จัดการปลงศพทหารที่เสียชีวิตดังกล่าวเสร็จสิ้นแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้ประโยชน์อื่นใด และเห็นว่าหากมอบที่ดินตลอดจนสิ่งปลูกสร้างบริเวณสุสานให้วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร โดยเด็ดขาด น่าจะเกิดประโยชน์แก่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารสืบไป
อย่างไรก็ดี ในการประชุมเพื่อพิจารณาการจัดฌาปนสถานของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารในเดือน ธ.ค.2501 นั้น กองทัพอากาศมีหนังสือขอโอนฌาปนกิจสถานดังกล่าวไปดำเนินการ โดยระบุว่า จะจัดให้เป็นที่เผาศพของทหารอากาศและประชาชนทั่วไป แต่อธิบดีกรมศาสนาในขณะนั้นชี้แจงว่า ฌาปนกิจสถานแห่งนี้ท่านจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้จัดสร้าง และปรากฎว่าท่านหวงแหนอยู่ หากจะมอบให้กองทัพอากาศก็ควรมีเงื่อนไขบางประการ
และเมื่อได้พิจารณากันแล้ว ที่ประชุมตกลงว่า ให้กองทัพอากาศยืมใช้ ไม่ใช่การโอนให้ และให้เสียค่าเช่าแก่วัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหารบ้างเล็กน้อย เพื่อเป็นการสงวนกรรมสิทธิ์ และให้กองทัพอากาศสร้างเตาเผาศพใหม่ มิให้ใช้เมรุเผาศพที่ท่านจอมพล ป.พิบูลสงครามสร้างไว้ เป็นต้น ต่อมาวันที่ 22 เม.ย.2501 กองทัพอากาศได้ทำสัญญาเช่าที่ดินและอาคารของวัดพระศรีมหาธาตุวรมหาวิหาร กับกรมการศาสนา และต่อสัญญาเช่าเรื่อยมาจนถึงวันที่ 18 ก.ย.2541
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage