"...แนวคิด 'ครัวกลาง' จึงเกิดขึ้น โดยคนในชุมชนช่วยกันลงขันเพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งมาจัดซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และนำมาจำหน่ายในราคาถูกให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งให้อาหารฟรีแก่ คนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก จากแนวคิดนี้ ทำให้ชุมชนได้ช่วยเหลือดูแลกันและมีความต่อเนื่องยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน..."
------------------------------------
โควิดระบาดหลายครั้งในรอบเกือบ 2 ปี ทำให้หลายชุมชนได้รับผลกระทบในการดำเนินชีวิต ไม่สามารถออกไปทำมาหาเลี้ยงชีพให้กับตนเองและครอบครัว ขาดรายได้ที่จะมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อซื้ออาหารและสิ่งของยังชีพต่างๆ
'ชุมชนบุญร่มไทร' ชุมชนริมทางรถไฟ บริเวณซอยเพชรบุรี 5 เขตราชเทวี เป็นอีกหนึ่งชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพิษโควิดระลอกที่ 3 นี้ เช่นเดียวกัน
นายเชาว์ เกิดอารีย์ ประธานชุมชนบุญร่มไทร เปิดเผยกับทางสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า สมาชิกในชุมชนบุญร่มไทรมีจำนวน 180 ครัวเรือน ประมาณ 390 คน โดยคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างรายวัน และอาชีพอิสระ เช่น พ่อค้า แม่ค้า ขับวินมอเตอร์ไซค์ แต่จากสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ไม่สามารถออกไปประกอบอาชีพได้ เสมือนถูกกักตัวไปด้วย แม้ว่าในชุมชนจะไม่มีผู้ติดเชื้อก็ตาม
"ในชุมชนของเรานั้น ไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่เหมือนถูกกักตัวไปโดยปริยาย เพราะไม่ได้ทำงาน ส่วนใหญ่เป็นลูกจ้างรายวัน ไปทำงานไม่ได้ ไม่มีเงิน ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินเก็บ ส่วนอาชีพอิสระ รายได้ก็ลดลง" นายเชาว์ กล่าว
นายเชาว์ กล่าวว่า ในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของโควิดในระลอกแรก มีหน่วยงานต่างๆ ลงมาให้ความช่วยเหลือกับชุมชนค่อยข้างมาก ส่วนในระลอกที่ 2 ที่ผ่านมา ไม่มีหน่วยงานใด หรือองค์กรใดลงมา อาจจะเป็นผลพวงจากพิษเศรษฐกิจที่ทุกคนได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ต่อมาในระลอกที่ 3 ชุมชนจึงได้มีการประชุมระดมความคิดกันว่า หากมีหน่วยงานหรือองค์กรใด ลงมาให้ความช่วยเหลือ บริจาคสิ่งของต่างๆ จะนำมารวมกันที่ส่วนกลาง หรือ 'ครัวกลาง'ก่อน เนื่องจากบางครั้งสิ่งของที่ได้รับมา มีจำนวนไม่มากพอที่จะกระจายให้ได้ครบทั้งชุมชน
@ 10 บาท อิ่มกาย อิ่มใจ
นายเชาว์ เล่าว่า แรกเริ่มโครงการ 'ปันกันอิ่ม' เป็นโครงการที่จะนำเงินไปจ่ายล่วงหน้าให้กับร้านค้านในชุมชน เพื่อที่ชาวบ้านในชุมชนจะสามารถรับเข้าไปรับอาหาร หรือเครื่องดื่มได้ฟรี แต่สำหรับชุมชน 'บุญร่มไทร' ได้มีการประชุมหารือกันแล้ว พบว่าวิธีการดังกล่าวไม่เหมาะกับชุมชน เนื่องจากชุมชนมองว่าเป็นแนวทางที่เบือดเบียนผู้อื่น รวมถึงทางชุมชนไม่ได้มีกองทุน หรือเงินสำหรับสนับสนุน จึงปรับเปลี่ยนวิธีให้เหมาะสมกับชุมชนและเป็นแนวทางที่ยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
แนวคิด 'ครัวกลาง' จึงเกิดขึ้น โดยคนในชุมชนช่วยกันลงขันเพื่อให้ได้เงินจำนวนหนึ่งมาจัดซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหาร และนำมาจำหน่ายในราคาถูกให้แก่คนในชุมชน อีกทั้งให้อาหารฟรีแก่ คนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว ผู้ป่วย ผู้พิการ ผู้สูงอายุ เด็ก จากแนวคิดนี้ ทำให้ชุมชนได้ช่วยเหลือดูแลกันและมีความต่อเนื่องยั่งยืน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
"เราได้รับบริจาคข้าวของอื่นๆมา แต่วัตถุดิบอื่นๆ เช่น หมู ไก่ แก๊สต่างๆ ยังมีค่าใช้จ่าย เราเลยประชุมกันว่าจะเก็บเงินกันที่เท่าไหร่ดี 30 20 10 สรุปตกลงกันที่ 10 บาท แต่ทั้งนี้ยังได้รับการสนับสนุนเรื่องเครื่องปรุง ข้าวสาร จากมูลนิธิ ทำให้ประหยัดไปอีก" นายเชาว์ กล่าว
@ มีโครงการได้ แต่ต้องไม่เบียดเบียนคนในชุมชน
นายเชาว์ เล่าต่อว่า ช่วงแรกที่เริ่มจัดทำ 'ครัวกลาง' ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา คลองเตยดีจัง เครือข่ายสลัม 4 ภาค และภาคี โดยเริ่มจัดตั้งและทำอาหารสำหรับคนในชุมชน เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ตลอดระยะเวลาในสัปดาห์แรกได้ทำอาหารจำหน่ายในราคา 10 บาท ตลอดทั้งสัปดาห์ ในช่วง 1-2 วันแรก ไม่ค่อยได้รับความสนใจ แต่พอในวันที่ 3 ผู้คนในชุมชนเริ่มให้ความสนใจและสนับสนุนมากยิ่งขึ้น
แต่ต่อมาได้ปรับเปลี่ยนการจำหน่ายอาหาร 'อิ่มละ 10 บาท' เป็นสัปดาห์ละ 3 วัน และปรับลดเหลือเพียงมื้อกลางวันเพียงมื้อเดียวเท่านั้น เนื่องจากได้รับเสียงสะท้อนจากคนในชุมชนว่า กลุ่มพ่อค้า-แม้ค้าในชุมชนไม่สามารถขายของได้ ทำให้จึงต้องปรับระยะเวลาเพื่อให้ไม่ส่งผลกระทบต่อใครในชุมชน
"ชาวบ้านชอบกันมาก ถามกันใหญ่ว่าเมื่อไหร่จะจัดอีก อิ่มละ 10 บาท ได้ทั้งข้าว น้ำ ขนม บางครั้งเราได้เจลล้างมือ แมสก์ ก็นำมาแจกด้วย ทำให้ที่ไม่คนที่ไม่อยากเข้าร่วมในช่วงแรก ก็มาเข้าร่วมเพราะต้องการเจล กับแมสก์ แม้ว่าจะตั้งราคาไว้ที่ 10 บาท แต่ส่วนใหญ่ไม่มีใครหยอดเงินให้น้อยกว่า 20 บาทเลย 20 บ้าง 30 บ้าง คนไหนมีก็หยอด 100 บาทเลยด้วยซ้ำ" นายเชาว์กล่าว
นายเชาว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ให้การตอบรับกับโครงการดีมาก ส่วนใหญ่ถามว่าเมื่อไหร่จะจัดทำอีก อยากเข้ามาลงมือลงแรงช่วยกันทำอาหาร ส่วนเด็ก ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ทางชุมชนจะจัดส่งอาหารไปให้ถึงบ้านโดยไม่เก็บเงิน
@ ได้รับ และส่งต่อ มอบความช่วยเหลือให้ชุมชนอื่น
ทั้งนี้ นายเชาว์ได้กล่าวให้คำแนะนำกับชุมชนอื่นๆ ว่า ทุกชุมชนส่วนใหญ่ประสบปัญหาและเดือดร้อนจากสถานการณ์โควิด ทั้งจากพบผู้ติดเชื้อในชุมนชน รวมถึงผู้คนที่ต้องสูญเสียรายได้ ไม่สามารถไปประกอบอาชีพได้ ที่ผ่านมา ชุมชน 'บุญร่มไทร' ได้มีการจัดทำถุงยังชีพ และจัดตั้ง 'ครัวกลาง' เพื่อช่วยเหลือคนในชุมชน และสำหรับชุมชนอื่นที่ได้รับผลกระทบ แต่ยังไม่ได้มีการบริหารจัดการ แนะนำให้เริ่มประชุมหารือในชุมชน และปรึกษาร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ ให้เข้ามาช่วยเหลือ
"หลายชุมชนเริ่มทำครัวกลางกันบ้างแล้ว เพราะทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนของชุมชน สำหรับชุมชนที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร สามารถมาพูดคุยกับทางชุมชนบุญร่มไทรก่อนได้ จะช่วยประสานงานให้หน่วยงานมูลนิธิเข้าไปช่วยเหลือ" นายเชาว์กล่าว
ทั้งหมดนี้ คือหนึ่งเรื่องราวตัวอย่างของชุมชน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันช่วยเหลือกันในวิกฤตโควิดที่ทุกคนต้องเผชิญ ใครมีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย มีแรงก็ให้แรง โดยพื้นฐานของเจตนาคือต้องการให้ทุกคนในชุมชนอยู่รอดในวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage