"...การสื่อสารระหว่างหน่วยงานที่ไม่ชัดเจน จนทำให้เกิดคำสั่งที่ขัดกัน ไปคนละทิศคนละทาง เหมือนต่างคนต่างทำงาน สร้างความสับสนให้กับคนในสังคม นี่จะเป็นบทเรียนให้กับหน่วยงานอื่นๆในด้านการสื่อสาร เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนต่อไป..."
-----------------------------
เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง สำหรับเรื่องความชัดเจนในการสื่อสารของหน่วยงานรัฐ ระหว่าง 'กทม.' และ 'ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (ศบค.)'
ครั้งนี้มีข้อพิพาทจากคำสั่งผ่อนคลายมาตรการ ชนิดที่เรียกได้ว่า "เช้าสั่งเปิด เย็นสั่งปิด"
เหตุเกิดจาก เมื่อวันที่ 31 พ.ค. 2564 ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. ครั้งที่ 15/2564 พิจารณาผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ 5 ประเภท โดยให้เหตุผลว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดส่วนใหญ่พบในชุมชน ตลาด แคมป์คนงาน และยังคงทรงตัวอยู่ในคลัสเตอร์เฉพาะกลุ่มดังกล่าว โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2564 ประกอบด้วย
1. พิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์สถาน พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น รวมถึงพิพิธภัณฑ์ในลักษณะทำนองเดียวกัน ศูนย์การเรียนรู้ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ อุทยานวิทยาศาสตร์ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แหล่งประวัติศาสตร์โบราณสถาน และหอศิลป์
2. สถานที่สักหรือเจาะผิวหนังหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ร้านทำเล็บ
3. สถานที่ให้บริการควบคุมน้ำหนัก คลินิกเสริมความงาม สถานเสริมความงาม และคลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
4. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวดเพื่อเสริมความงาม สถานประกอบการนวดแผนไทย นวดฝ่าเท้า งดเว้น การอบตัว อบสมุนไพร หรืออบไอน้ำ และการนวดบริเวณใบหน้า
5. สวนสาธารณะ สวนพฤกษศาสตร์ และสวนดอกไม้
ต่อมา ศบค.มีคำสั่งชะลอมติผ่อนปรนมาตรการสำหรับสถานประกอบการ และให้ใช้ประกาศ กทม.ขยายการปิดกิจการและกิจกรรมที่มีความเสี่ยงทั้งหมด ตามประกาศฉบับที่ 29 ออกไปอีก 14 วัน
หลังจากที่มีประกาศชะลอคำสั่ง ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการสื่อสารและการทำงานของทั้งสองหน่วยงานที่ต่างคนต่างทำ ไม่ไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ชัดเจน สร้างความสับสนให้กับประชาชน
ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่จากการตรวจสอบมูลเบื้องต้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พบเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดปัญหา จากการสื่อสารไม่ชัดเจน ระหว่าง กทม.-ศบค.เกิดขึ้น อย่างน้อย 3 ครั้ง ดังนี้
@ ศบค.ยกเลิกคำสั่ง กทม. นั่งทานอาหารในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม
เมื่อวันที่ 4 ม.ค.2564 ที่ผ่านมา พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม.ออกประกาศ กทม. เรื่องสั่งปิดสถานที่เป็นการชั่วคราว ฉบับที่ 16 โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค.เวลา 06.00 น.เป็นต้นไป มีรายละเอียดกำหนดมาตรการควบคุมเพิ่มเติมสำหรับร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม ร้านสะดวกซื้อ รถเข็น หาบเร่ แผงลอย ภัตตาคาร สวนอาหาร ศูนย์อาหาร โรงอาหาร ไม่รวมถึงสถานบริการ ผับ บาร์ 'ให้เปิดบริการได้' แต่ห้ามการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ และให้เปิดบริการนั่งกินในร้านระหว่างเวลา 06.00-21.00 น. ส่วนหลังจากนั้นให้จำหน่ายเฉพาะซื้อกลับบ้าน ยกเว้นร้านอาหารที่ตั้งอยู่ในสนามบิน
ต่อมาช่วงเย็นในวันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แถลงภายหลังการประชุม ศบค. ว่า ที่ประชุมได้รับข้อเสนอจากสมาคมภัตตาคาร จึงขอให้ กทม.ยกเลิกประกาศที่กำหนดห้ามการนั่งรับประทานอาหารในร้านตั้งแต่ 19.00-06.00 น.ออกไปก่อน โดยจะให้สามารถนั่งทานอาหารได้ถึง 21.00 น. แต่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการที่เคยทำไว้เดิม คือ การจำกัดจำนวนคน และรักษาระยะห่าง ทางนายกสมาคมฯ มั่นใจว่าทำได้ ก็ขอให้ดำเนินการตามนั้น สิ่งใดที่ให้ช่วยกันได้ก็ช่วยกัน เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบมากในเรื่องธุรกิจ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม
@ กทม.เสนอผ่อนคลาย 8 กิจการ ก่อน ศบค.ยืนล็อกดาวน์ต่อ
และเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 28 เม.ย.2564 พ.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม.เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหาร ว่า กทม.เตรียมออกมาตรการผ่อนปรน ผ่อนคลายล็อกดาวน์มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 เม.ย.2563 โดยเสนอแนวทางผ่อนปรน 8 ประเภทสถานที่ให้สามารถเปิดได้ โดยต้องทำตามมาตรการที่กำหนด
ต่อมาราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ฉบับที่ 4 ลงวันที่ 29 เม.ย. 2563 กรณีสั่งผู้ว่าราชการทุกจังหวัดให้ยังคงมาตรการล็อกดาวน์ตามเดิมจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงว่า ให้คำสั่งเดิมที่เคยประกาศก่อนวันที่ 1 พ.ค.มีผลต่อไป
นับว่าเป็นครั้งแรกที่ทาง ศบค. และ กทม.มีแนวทางคำสั่งที่ไปกันคนละทาง สร้างความสับสนว่ามาตรการผ่อนปรนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ประชาชนจะต้องฟังประกาศของ ศบค.หรือของ กทม.ที่ออกมาก่อนกันแน่
โดยเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2563 ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษก กทม.โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก เอิร์ธ พงศกร ขวัญเมือง - Earth Pongsakorn Kwanmuang ชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว ระบุว่า
คำถาม คาใจชาว กทม. หลายๆ คน
1.ทำไม กทม.ต้องมาแถลงมาตรการก่อน?
เนื่องจากก่อนที่ ศบค. จะมีวันที่ประกาศคลายล็อคสถานที่ที่จะอนุญาตให้เปิด กทม.อยากให้กิจการที่จะกลับมาทำการได้ ได้ที่การเตรียมพร้อม เพราะมาตรการต่างๆ อาจต้องใช้เวลาในการเตรียมตัว เช่น ร้านอาหาร ต้องมีการจัดโต๊ะ เขียนจุดต่างๆ เป็นต้น
2.ทำไม กทม. ไม่ลงวันที่ที่แน่นอนไป ทำไมต้องรอ ศบค.?
เนื่องจาก กทม. มองว่าหากเปิดสถานที่ต่างๆ ก่อน อาจทำให้คนจังหวัดอื่นๆ โดยเฉพาะจังหวัดรอบข้างมารวมตัวกันมากขึ้น ใช้บริการร้านที่เปิดก่อนใน กทม.มากๆ เช่น คนจากจังหวัดปริมณฑล เข้ามาตัดผมใน กทม. ในช่วงที่จังหวัดอื่นๆ ยังปิดร้านตัดผม
3. มีการประกาศราชกิจจานุเบกษาว่าให้คำสั่งเดิมที่เคยออกก่อนวันที่ 1 พ.ค. มีผลต่อไป หมายถึงเบรคการปลดล๊อคของ กทม.ใช่หรือไม่?
คำตอบคือไม่ใช่ เนื่องจากคำสั่งราชกิจจานุเบกษาเป็นการออก เพราะว่าคำสั่งที่ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศมีการออกคำสั่งปิดสถานที่ต่างๆ จะหมดลงในวันที่ 30 เม.ย. ทำให้ผู้ว่าฯ ทั่วประเทศอาจต้องออกคำสั่งใหม่ในช่วงไม่กี่วันระหว่างรอ ศบค. ออกแนวทางการคลายล็อก
โดยสรุป การที่ กทม.ออกประกาศก่อนหน้าที่จะมีประกาศจาก ศบค. เนื่องจากต้องการอุดช่องว่างที่เว้น ระหว่างรอการออกคำสั่ง
ทั้งหมดนี้ คือเหตุการณ์ที่หน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ระหว่าง กทม. - ศบค. ที่สื่อสารกันไม่ชัดเจน จนทำให้การทำงาน หรือการออกคำสั่งที่ไม่สอดคล้องกัน สร้างความสับสนให้กับคนในสังคม นับว่าเป็นบทเรียนเพื่อให้หน่วยงานของภาครัฐปรับปรุงการสื่อสารให้สอดคล้องและชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage