"… การที่ กทม.นำโมเดลสมุทรสาครมาประยุกต์ใช้ จะประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงามเหมือนจังหวัดสมุทรสาคร จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการ และแรงงานในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามอาจใช้ระยะเวลานานกว่า เนื่องจากเชื้อมีระยะฟักตัว และภายในแคมป์มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่า โดยอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือน สถานการณ์อาจจะดีขึ้น แต่หากมีวัคซีนเข้ามาช่วยเสริมอีก ก็อาจจะเร็วขึ้นกว่านี้…”
……………………………………………………………
สถานการณ์การระบาดภายในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุดอย่างต่อเนื่อง โดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยข้อมูล ณ วันที่ 31 พ.ค.2564 ว่า กทม.ต้องเฝ้าระวังทั้งสิ้น 45 คลัสเตอร์ด้วยกัน โดยเป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างถึง 16 แห่ง ในพื้นที่ 14 เขต ประกอบด้วย เขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตดุสิต เขตบางรัก เขตดินแดง เขตห้วยขวาง เขตปทุมวัน เขตบางคอแหลม เขตสวนหลวง เขตวัฒนา เขตบางพลัด เขตหลักสี่ เขตดอนเมือง และเขตบางนา
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ สามารถตัดวงจรการระบาดได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดภาระทางสาธารณสุข พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จึงได้จัดตั้ง ‘ศูนย์บูรณาการแก้ไขสถานการณ์โควิดในพื้นที่กทม.และปริมณฑล’ ขึ้นมา
ทำให้ล่าสุด เมื่อวันที่ 26 พ.ค.2564 ได้มีการประชุมหารือมาตรการป้องกันและควบคุมการระบาดสำหรับไซต์งานก่อสร้างและแคมป์โรงงาน มีผลสรุปสาระสำคัญให้เป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้
1. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามมาตรการของที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค กทม. (ศปก.กทม.)
2. ให้เน้นย้ำการดำเนินมาตรการ Bubble and Seal และ Camp Isolation รวมถึงการพิจารณากำหนดผู้รับผิดชอบในแต่ละเขตให้ชัดเจน
3. ให้เน้นย้ำและกำชับให้บริษัทก่อสร้างไซต์งานก่อสร้างและแคมป์แรงงานก่อสร้าง ดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด ในไซต์งานก่อสร้างและแคมป์แรงงานก่อสร้าง ซึ่งรวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานในพื้นที่แต่ละเขตอย่างเคร่งครัดด้วย
4. ให้สำนักอนามัย กทม. พิจารณาเรื่องการเคลื่อนย้ายให้ชัดเจน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกัน
5. กรณีการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด ในสถานดูแลผู้สูงอายุในเขตพื้นที่ กทม. ให้ กทม. หารือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เพื่อตรวจสอบความชัดเจนเกี่ยวกับการดำเนินมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด ของผู้ประกอบกิจการที่มีการส่งพนักงานไปดูแลผู้สูงอายุตามบ้าน
6. ให้ กทม. นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินการป้องกันและควบคุมโควิด ในพื้นที่ กทม. โดยเฉพาะการเพิ่มจุดตรวจค้นหาเชิงรุก (Active Case Finding) ในพื้นที่ กทม. ไปพิจารณาในส่วนที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ มาตรการควบคุมโควิด สำหรับไซต์งานก่อสร้างและแคมป์แรงงานก่อสร้าง ยังรวมถึง ‘การจ้างแรงงานที่ถูกต้อง การจัดทำทะเบียนคนงานและครอบครัวที่พัก’ หรือ ‘การจัดการสิ่งแวดล้อมให้ดี’ อาทิ การแยกที่พักคนงานก่อสร้างให้มีห้องน้ำในตัว การจัดน้ำดื่มและภาชนะในการบริโภค ไม่ให้แรงงานใช้ร่วมกัน การกรวดน้ำทิ้งในแคมป์ก่อสร้างเพื่อหาเชื้อตกค้าง การกำหนดให้มีอาสาสมัครในแคมป์ก่อสร้าง เพื่อการเฝ้าระวังการป่วยและการติดเชื้อ
@ ‘Bubble & Seal’ มาตรการต้นแบบคุมโควิดสำหรับแคมป์คนงาน
ในหลายๆครั้ง เราอาจได้ยินฝ่ายบริหารสถานการณ์โควิดหรือแพทย์ พูดถึงมาตรการ ‘Bubble and Seal’ ในการป้องกันและควบคุมการระบาดสำหรับโรงงาน ชุมชนแออัด หรือแคมป์คนงาน ซึ่ง ศบค. ยังไม่เคยอธิบายชัดเจนว่ามาตรการนี้คืออะไร แต่จุดเริ่มต้นของมาตรการนี้นั้น ถูกนำมาใช้เป็นที่แรก ในการระบาดระลอก 2 ของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขณะนั้นยังตรวจพบการระบาดในโรงงานขนาดใหญ่ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ออกแบบมาตรการนี้ขึ้นมา และในภายหลังได้กลายมาเป็นโมเดลให้กับหลายๆ จังหวัดทั่วประเทศ
โดย เมื่อวันที่ 2 ก.พ.2564 นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า มาตรการดังกล่าวนั้น มีวัตถุประสงค์ “เพื่อควบคุมเชื้อไม่ให้หลุดออกมาสู่สังคมภายนอก เน้นในโรงงานขนาดใหญ่ มีเป้าหมายลดความเสี่ยงในที่ทำงานและที่อยู่อาศัย และลดความเสี่ยงของกลุ่มพนักงาน เพื่อควบคุมโรคให้ได้ตามแผนที่วางไว้”
มาตรการ Bubble and Seal แบ่งออกได้เป็น 2 ส่วน มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. Bubble จะใช้กับสถานประกอบการที่มีพนักงานพักอยู่บริเวณนอกโรงงาน ซึ่งมีการควบคุมโรคที่ยากกว่า โดยขอความร่วมมือเจ้าของสถานประกอบการ นำพนักงานมาอยู่ในโรงงานมากขึ้น หรือจัดหาที่พักพนักงานให้อยู่ในสถานที่ที่กำหนด ควบคุมได้ เช่น หอพัก เป็นต้น
พร้อมให้โรงงาน เข้มมาตรการป้องกันโรค นอกจากนี้ ได้ประสานฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วมควบคุมพื้นที่ตามแผน ลดการเคลื่อนย้าย
2. Seal จะใช้กับโรงงานที่พนักงานสามารถพักในโรงงานได้ เพื่อเอื้อต่อการใช้มาตรการป้องกันและควบคุมโรค
อย่างไรก็ตาม มาตรการ Bubble and Seal ไม่ใช่แค่การจำกัดการเคลื่อนย้ายเท่านั้น แต่จะมีการตรวจหาภูมิคุ้มกัน ร่วมด้วย เมื่อครบ 14 และ 28 เพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากสิ้นสุดมาตรการนี้แล้วนั้น จะไม่มีใครแพร่เชื้อได้อีก
@ ความหนาแน่น-การคลุกคลีกัน เป็นสาเหตุให้ใช้ ‘Bubble and Seal’
สำหรับการนำ ‘สมุทรสาครโมเดล’ มาใช้ในการคุมคลัสเตอร์แคมป์แรงงานก่อสร้างใน กทม. พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล แพทย์นักระบาดวิทยาภาคสนาม ผู้ทรงคุณวุฒิกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ว่า การระบาดในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง มีจุดแข็ง คือ ส่วนใหญ่เป็นคนในวัยแรงงาน สุขภาพแข็งแรง มีกลไกการทำงาน และใช้ชีวิตอย่างเป็นระบบ แต่ยังมีจุดตาย จากพฤติกรรมการใช้ชีวิตของแรงงาน ที่มักจะเกิดในช่วงพักทานอาหาร การกินเลี้ยงหลังเลิกงาน จุดสูบบุหรี่ ห้องน้ำ และบ้านพัก รวมถึงการเข้าออกของคนภายนอกภายในแคมป์คนงาน ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อ
“หากบุคคลกลุ่มนี้ติดเชื้อ โดยส่วนใหญ่จะมีอาการของโรคเพียงเล็กน้อยหรือแทบไม่แสดงอาการ เพราะร่างกายแข็งแรง อย่างไรก็ตามด้วยสภาพของคนภายในแคมป์ที่หนาแน่น อาจทำให้เกิดการระบาดในวงกว้าง ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการควบคุมในแคมป์อย่างชัดเจน อาทิ ห้ามออกจากที่พักหลังเวลาที่กำหนด เพื่อควบคุมการแพร่เชื้อ ได้ทันเวลา” พญ.วรรณา กล่าว
กรมควบคุมโรค จึงได้มีแนวทางในการจัดการพื้นที่เสี่ยง โดยจัดให้มีการสุ่มตรวจกลุ่มเสี่ยง จำนวน 100 คน ระยะห่างประมาณ 1-2 สัปดาห์ ต่อครั้ง รวมถึงแนะแนวทางการนำมาตรการ ‘Bubble and Seal’ ซึ่งเป็นมาตรการในการควบคุมการระบาดสำหรับคนหมู่มากที่ไม่สามารถตรวจหาเชื้อทุก 7 วันได้
โดยจะเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก เพื่อแยกผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการรักษาก่อน ส่วนกลุ่มผู้ที่ยังตรวจไม่พบเชื้อ จะให้กนำพนักงานเข้ามาอาศัยภายในแคมป์ก่อสร้าง หรือภายในสถานที่ที่สามารถควบคุมได้ว่าจะไม่แพร่ระบาดเชื้อไปยังผู้อื่น สำหรับสถานประกอบการที่มีหอพักอยู่ในบริเวณเดียวกันกับสถานที่ทำงาน จะยังสามารถเปิดให้ดำเนินงานได้ โดยให้ปฏิบัติมาตรการส่วนบุคคล อาทิ สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย และการแยกรับประทานอาหาร เป็นต้น ซึ่งจะมีการสุ่มตรวจภูมิต้านทานเป็นระยะ หากรายใดติดเชื้อจะนำเข้าสู่ระบบการรักษา และจะทำเช่นนี้เรื่อยไป จนกว่าคนส่วนมากจะมีภูมิต้านทานโควิด ส่วนบุคคลใดที่ยังไม่มีภูมิต้านทาน เจ้าหน้าที่อาจมีการนำไปฉีดวัคซีนต่อไป
(พญ.วรรณา หาญเชาว์วรกุล)
@ ประยุกต์ใช้ ‘Bubble and Seal’ คุมคลัสเตอร์แคมป์คนงาน
ความแตกต่างระหว่างคลัสเตอร์โรงงานในสมุทรสาครกับแคมป์คนงาน เป็นความเหมือนที่มีความแตกต่างในรายละเอียด เนื่องจากโรงงานจะมีลักษณะเป็นสถานที่ทำงาน ที่อาจมีการคลุกคลีกันเป็นกลุ่มใหญ่ภายในโรงงาน ส่วนแคมป์คนงานนั้น จะมีลักษณะเป็นที่พักอาศัย แต่หากเป็นแคมป์ที่มีไซต์งานด้วยนั้น อาจเป็นการทำงานที่มีลักษณะรวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆ มากกว่าในการก่อสร้าง แต่อย่างไรก็ตาม การอยู่รวมกันยังคงเป็นความเสี่ยงในการแพร่ระบาด ดังนั้นจะต้องไม่ให้เกิดการรวมกลุ่มกัน
ขณะเดียวกัน พญ.วรรณา กล่าวเพิ่มเติมว่า กทม. ยังพัฒนาแผนคุมการระบาดเพิ่มเติม นอกเหนือจากมาตรการ Bubble and Seal เพื่อรองรับคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ที่เรียกว่า ‘Camp Isolation’ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ที่มีการพัฒนาแคมป์คนงานให้เป็นโรงพยาบาลสนามให้การรักษาผู้ติดเชื้อ และแยกผู้ไม่ติดเชื้อออกจากพื้นที่ ช่วยลดภาระทางสาธารณสุข และช่วยแก้ไขข้อจำกัดสำหรับผู้ติดเชื้อมาก แต่ไม่ค่อยมีอาการ ที่ไม่สามารถนำเข้าสถานพยาบาลได้ ให้รับการรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด
“การที่ กทม.นำโมเดลสมุทรสาครมาประยุกต์ใช้ จะประสบความสำเร็จได้อย่างสวยงามเหมือนจังหวัดสมุทรสาคร จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการ และแรงงานในการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ตามอาจใช้ระยะเวลานานกว่าสมุทรสาคร เนื่องจากเชื้อมีระยะฟักตัว และภายในแคมป์ส่วนใหญ่มีคนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่า โดยอาจใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 เดือนสถานการณ์อาจจะดีขึ้น แต่หากมีวัคซีนเข้ามาช่วยเสริมอีก ก็อาจจะเร็วขึ้นกว่านี้” พญ.วรรณา กล่าว
ทั้งหมดนี้เป็นการถอดบทเรียนจากสมุทรสาครโมเดล ที่กทม.ได้นำมาประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมการระบาดภายในคลัสเตอร์แคมป์คนงาน ส่วนผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่เราจะต้องติดตามกันต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/