“…ไม่มั่นใจว่า พอถึงกำหนดเปิดเทอมในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะสามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้อย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ หรือจะต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก แต่ทั้งนี้จะต้องเอาความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้ง ถ้านักเรียนติดเชื้อ อาจจะส่งผลกระทบหนักกว่าเดิม แต่ทางโรงเรียนจะมีการประเมินสถานการณ์รายวัน ถ้าถึงเวลาเปิดเทอมอาจจะต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กันในช่วงต้น…”
--------------------------------
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกล่าสุดที่ยังไม่มีวี่แววของการระบาดจะลดน้อยลง และมีแนวโน้มที่อาจจะรุนแรงมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยของนักเรียน ครู บุคลากรการศึกษา รวมถึงประชาชนในสังคม
เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2564 นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจอนามัยโพลประเด็น 'ความรู้สึกกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 และการเปิดเรียนเดือน มิ.ย. 2564' ระหว่างวันที่ 18-24 พ.ค. 2564 พบว่า ผู้ปกครองมีความกังวลต่อสถานการณ์โควิดสูงถึงร้อยละ 95.6 โดยประเด็นที่มีความกังวลสูงมากที่สุดคือ บุตรหลานจะติดเชื้อจากเพื่อนร่วมชั้น ครู หรือบุคลากร คิดเป็นร้อยละ 41.3 สำหรับเรื่องที่อยากให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมมากที่สุดคือ การดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลของครูและนักเรียน คิดเป็นร้อยละ 33.1 การจัดสภาพแวดล้อมในสถานศึกษา 22.8 และโรงเรียนต้องผ่านเกณฑ์ประเมินความพร้อมด้านสาธารณสุข ร้อยละ 15.3 ตามลำดับ
“ขอให้โรงเรียนเน้นจัดการเรียนการสอนเป็นกลุ่มเดียว และมีกิจกรรมทำในกลุ่มเดียวกันตลอดทั้งวัน และทำความสะอาดพื้นผิวสัมผัสต่าง ๆ ที่ใช้ร่วมกันเป็นประจำ เช่น สนามเด็กเล่น อุปกรณ์ของเล่น โดยจัดกลุ่มสลับกันใช้งาน เพื่อช่วยลดการสัมผัสร่วมกันจำนวนมาก รวมทั้งปรับรูปแบบการรับประทานอาหารกลางวัน เช่น จัดเป็นกล่องอาหารแยกเฉพาะบุคคล และให้นักเรียนรับประทานอาหารในห้องเรียนของตนเอง ซึ่งมีที่นั่งเว้นระยะห่าง หรือปรับเวลาพักรับประทานอาหารกลางวันให้เหลื่อมเวลากัน นอกจากนี้ เมื่อกลับถึงบ้าน พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้เด็กล้างมือด้วยสบู่และน้ำ อาบน้ำ และเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ก่อนทำกิจกรรมต่าง ๆ ในบ้าน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ขณะที่ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ ออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 เรื่องการเลื่อนการเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2564 เป็นครั้งที่ 2 จากเดิมที่กำหนดวันเปิดภาคเรียนเป็นวันที่ 15 พ.ค. และต่อมาเลื่อนเป็นวันที่ 1 มิ.ย. ล่าสุดได้เลื่อนเป็นวันที่ 14 มิ.ย.นี้ โดยทางกระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดมาตราการแนวปฏิบัติติของสถานศึกษาเพื่อดำเนินการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนต่างๆ แบ่งตามโซนพื้นที่การระบาดของโรค ประกอบด้วย
โรงเรียนในโซนสีแดงเข้ม พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ไม่อนุญาตให้จัดการเรียนการสอนแบบ On Site หรือการไปเรียรที่โรงเรียนได้ ตามมติของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา-2019 (ศบค.) แต่อนุญาตให้จัดรูปแบบการเรียนการสอนเฉพาะรูปแบบการจัดการศึกษาทางไกลเท่านั้น 4 รูปแบบ ดังนี้
1. Online เป็นการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น ผ่านทางระบบ Video Conference
2. On Air เป็นการเรียนการสอนผ่านทีวีผ่านระบบดาวเทียม KU-BAND (จานทึบ) ระบบเคเบิลทีวี และระบบ IPTV
3. On Demand เป็นการเรียนผ่านทางเว็บไซต์ DLTV (www.dltv.ac.th) ช่อง YouTube (DLTV Channel 1-15) และแอปพลิเคชัน DLTV
4. On Hand สำหรับนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมด้านอุปกรณ์การรับชม โดยจัดส่งหนังสือ แบบฝึกหัด ใบงาน ผ่านระบบไปรษณีย์ ให้เรียนรู้ที่บ้านภายใต้ความช่วยเหลือของผู้ปกครอง
ส่วนโรงเรียนในโซนสีแดง พื้นที่ควบคุมสูงสุด และโซนสีส้ม พื้นที่ควบคุม หากมีความพร้อมและประสงค์จะเปิดภาคเรียนก่อน สามารถจัดรูปแบบการเรียนการสอนได้ทั้ง 5 แบบ คือ Online On Air On Demand On Hand และ On Site แต่ถ้าหากต้องการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบ On Site การเรียนที่โรงเรียน โรงเรียนจะต้องผ่านการประเมินความพร้อม Thai Stop Covid ของกระทรวงสาธารณสุข ครบทั้ง 44 ข้อ และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเสียก่อน โดยจะต้องปฏิบัติติตามาตรการการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
"ถึงแม้โรงเรียนจะเปิดไม่พร้อมกัน แต่ต้องปิดเทอมพร้อมกันในวันที่ 15 ต.ค. 2564 เพื่อไม่กระทบกับปฏิทินการสอบต่างๆ" น.ส.ตรีนุช กล่าว
กรณีเลื่อนเปิด แต่ย้ำถึงการปิดภาคเรียนตามกำหนดการ ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ และถูกตั้งคำถามด้วยความกังวลว่าจะเป็นการผลักภาระให้กับเด็กนักเรียนมากเกินไปหรือไม่ สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) รวบรวมข้อมูลและความคิดเห็นที่เกี่ยวข้อง โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ ยื้อเปิดเทอมไปนานกว่านี้ไม่ได้แล้ว
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า ปัญหาที่เลี่ยงไม่ได้ คือการเลื่อนเปิดดทอม เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด แต่ทั้งนี้หลักการแก้ปัญหา หลักเบื้องต้นที่จะต้องคิด คือ เด็กจะต้องรับไหว ถ้าการเลื่อนเปิดเทอมช้าจนถึงเดือน มิ.ย. แล้วจะต้องอัดสอนเด็กให้ได้เรียนครบตามหลักสูตรนั้น ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะสม และไม่ใช่การแก้ปัญหา ส่วนปัญหาต่อมาคือ ถ้าเปิดเทอมแล้ว แต่ไม่สามารถไปโรงเรียนได้ จะต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์ จะรับมืออย่างไร เนื่องจากมีหลายโรงเรียนที่ได้รับข้อคิดเห็นจากการผู้ปกครองว่า เด็กเรียนไม่ไหว ไม่พร้อมเรียน ทำให้หลายโรงเรียนตัดสินใจเลือกที่จะขยับวันเวลาออกไปก่อน อย่างน้อยก็ให้สถานการณ์เบาลงกว่านี้ แต่ก็ไม่สามารถยื้อหรือเลื่อนการเปิดเทอมไปได้นานกว่านี้ ภายใน 3-4 สัปดาห์นี้ ก็จะต้องเปิดแล้ว แต่อาจจะเปิดในรูปแบบการเรียนทางไกล หรือออนไลน์
@ ลดเวลา 'ปิดเทอม' อาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด
สำหรับนโยบายของกระทรวงศึกษาที่กำหนดกรอบระยะเวลาปิดภาคเรียนตามเดิม ผศ.อรรถพล กล่าวว่า ถ้าทางกระทรวงยึดเวลาปิดตามเดิม โดยที่โรงเรียนยังไม่สารถจัดการเรียนการสอนได้ครบถ้วนตามกรอบเวลาที่กำหนด ยังไงก็จะต้องเกิดความยืดหยุ่น โดยอาจจะสามารถขยับเวลาเปิด-ปิดระหว่างเทอมต้นกับเทอมปลาย ให้มีเวลาปิดเทอมน้อยลง ไม่กว้างเท่าเดิม คือ 2 สัปดาห์ เช่น โรงเรียนอาจจะปิดเทอมต้นล่าช้าประมาณ 1 สัปดาห์ แต่ทั้งนี้ก็จะต้องให้โรงเรียน เป็นผู้ตัดสินใจ ปรึกษาหารือถึงาความเป็นไปได้ เพราะแต่ละโรงเรียนอยู่ในโซนพื้นที่ที่ต่างกัน
"มันประหลาดไง ที่โรงเรียนมีจุดสตาร์ทเปิดเทอมไม่เท่ากัน แต่คุณจะไปล็อกเวลาปิดเดียวกัน มันทำไม่ได้ แต่นโยบาย ศธ ปรับได้ เพราะเป็นการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ต่อสัปดาห์ อาจจะยื้อไปสถานการณ์ไป รุนแรงขึ้น ก็ต้องมาคุยกัน ปรับให้เหมาะสมใหม่" ผศ.อรรถพล กล่าว
@ การเรียนจะต้องยืดหยุ่นให้เข้ากับสถานการณ์
ผศ.อรรถพล กล่าวถึงผลกระทบของการเลื่อนเปิดภาคเรียน ว่า การเลื่อนเปิดภาคเรียน มีผลกระทบกับโรงเรียนที่ตัดสินใจเปิดเทอมไปแล้ว และทำการสอนนักเรียนกลุ่มเก่า คือ ระดับชั้น มัธยมศึกษาปีที่ 2-3 และ 5-6 ส่วนเด็กใหม่ ระดับชั้น ม.1 และ 4 กว่าจะผ่านกระบวนการคัดเลือกเสร็จสิ้น ก็ใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ แสดงว่าเข้ามา ก็ต้องเร่งเรียนกว่า หรืออาจจะต้องเพิ่มชั่วโมงเรียนต่อวันและต่อสัปดาห์มากกว่าปกติ เนื่องจากมีการตั้งกรอบกำหนดเวลาปิดเทอมเป็นเวลาเดิม
ผศ.อรรถพล กล่าวเพิ่มเติมสำหรับการจัดการเรียนการสอนว่าจะต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของโรงเรียนที่จะต้องสามารถจัดหลักสูตรให้ยืดหยุ่น เช่น เนื่องจากการเรียนที่บ้าน เรียนออนไลน์ อาจจะนับชั่วโมงการเรียนออนไลน์ของเด็ก ไม่ได้นับตามเวลาชั่วโมงที่เจอกันในห้องเรียนอย่างเดียว
"เป็นเรื่องของโรงเรียนที่จะต้องมีความเข้าใจอย่างมาก ที่จะจัดหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นกว่าเดิม ถ้านับชั่วโมงเรียนต่อวัน จะกลายเป็นจาก 8 คาบ เป็น 9 คาบขึ้นมา และถ้าเรียนอัดๆ กันมากๆ เด็ก ม. 1 กับ ม.4 เป็นเด็กที่เพิ่งเปลี่ยนผ่านจากประถมขึ้นมัธยม จากมัธยมต้นขึ้นมัธยมปลาย จะเป็นภาระที่หนักมากสำหรับเด็ก" ผ.ศ.อรรถพล กล่าว
(ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ภาพจาก: ทรูปลูกปัญญา)
@ ศธ.จะต้องปูวิธีการสอนสำหรับโรงเรียน
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า ทางกระทรวงศึกษาได้ประกาศยึดหลักการเบื้องต้นไว้ แต่ให้ยืดหยุ่นการทำงานที่โรงเรียน แต่ทั้งนี้ทางกระทรวงจะต้องให้คำแนะนำโรงเรียนว่ามีตัวเลือกการจัดการเรียนการสอนแบบไหนได้บ้าง ในกรอบเวลาที่มันผิดปกติจากที่โรงเรียนเคยคุ้นมา
ผศ.อรรถพล กล่าวอีกว่า มีโรงเรียนที่มีการเปิดเทอมไปแล้ว แต่เป็นการเปิดเรียนออนไลน์ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 พ.ค. ที่ผ่านมา และบางโรงเรียนก็ตั้งว่าจะเปิดในวันที่ 1 มิ.ย. โดยเป็นการเริ่มต้นเรียนของ เด็กชั้นม.2 ม.3 ม.5 และ ม.6 ก่อน ฉะนั้นโรงเรียนอาจจะสับสนนิดหน่อยกับกรอบเวลาของเด็กแต่ละระดับชั้น ซึ่งมีหลายโรงเรียนเปิดไปก่อนที่จะมีการประกาศเลื่อนรอบใหม่ และหลายโรงเรียนก็ยืนยันที่จะเปิดเทอมวันที่ 1 มิ.ย. อย่างน้อยที่สุดเด็กกลุ่มเดิมก็สามารถเริ่มเรียนได้เลย ไม่ต้องรอเด็กกลุ่มใหม่ เด็กกลุ่มใหม่มา จะทำให้คุณครูจะได้จัดการได้ แต่ปัญหาจะเป็นภาระคุณครู เพราะครูที่สอนในมัธยม ไม่ได้สอนแยก แต่สอนหลายระดับชั้น
@ ควรยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ก่อนแก้ปัญหา
สำหรับข้อกังวลสำหรับเด็กระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เป็นกลุ่มที่จะต้องสอบคัดเลือกเข้าสู่มหาวิทยาลัย ผศ.อรรถพล กล่าวว่า เด็ก ม.6 ในปีนี้ ก็จะเผชิญปัญหา ก็นับว่าปัญหาเดิมกับปีที่แล้ว เช่นเดียวกับการขอเลื่อนสอบ เหตุผลจากการที่ผู้ใหญ่ตัดสินใจโดยที่ไม่ได้ยึดเด็กเป็นตัวตั้ง ตอนนี้ยังมีเด็ก ม.6 ปีที่แล้วที่ยังค้างอยู่ในขั้นตอนการคัดเลือก T-CAS อยู่ และมหาวิยาลัยจะได้เปิดเทอมเมื่อไหร่ก็ยังไม่รู้
ผศ.อรรถพล กล่าวต่ออีกว่า ส่วนปีหน้าที่จะถึงนี้ ทาง ทปอ.น่าจะยึดหลักการสอบคัดเลือกตามเดิม ฉะนั้นจะเป็นโจทย์ให้สำหรับโรงเรียนที่จะต้องรับเวลาการเรียนการสอนให้ยืดหยุ่น เรื่องจากเด็ก ม.6 เป็นกลุ่มที่เริ่มเรียนได้เลย ขึ้นอยู่กับว่าทางโรงเรียนมีความพร้อม หรือการจัดการอย่างไร
@ เวลาเรียนน้อยลง อาจจะได้เนื้อหาไม่ครบถ้วน
นายภาณุพงษ์ ไชยคง ครูผู้สอนประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โรงเรียนสตรีวัดระฆัง กทม. กล่าวกับสำนักข่าวอิศราว่า การเลื่อนเปิดเทอม จะทำให้เวลาในการเรียนลดน้อยลง แบ่งผลกระทบเป็น 2 ด้าน คือ เวลาสอนน้อยลง การเรียนรู้ของนักเรียนอาจจะไม่ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยอย่างที่ควรจะเป็น และส่งผลให้โรงเรียนต้องจัดหาเวลาสอนนอกเวลา ซึ่งผลกระทบจะตกอยู่ที่นักเรียน เนื่องจากใน 1 วันตามปกติ นักเรียนก็เรียนกันเยอะอยู่แล้ว และหากจะต้องมีการเรียนเสริมนอกเวลา ก็จะเหนื่อยล้ามากขึ้น ประสิทธิภาพในการเรียนรู้ก็จะลดน้อยลง ไม่ได้เต็มที่
"ตามปกติใน 1 วัน เด็กเรียน 7-8 คาบ แต่ถ้าเวลาเรียนน้อยลง ต้องหาเวลาชดเชย ก็จะเพิ่มเป็นวันละ 9 คาบ จะทำให้เด็กเหนื่อยล้ามากขึ้น ประสิทธิภาพในการเรียนก็จะไม่เต็มที่" นายภาณุพงษ์ กล่าว
@ เรียนออนไลน์ เด็กยิ่งเครียด ยิ่งกดดัน
นายภาณุพงษ์ กล่าวถึงข้อกังวลถึงการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ ว่า ไม่มั่นใจว่า พอถึงกำหนดเปิดเทอมในวันที่ 14 มิ.ย.นี้ จะสามารถจัดการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้อย่างเต็มรูปแบบหรือไม่ หรือจะต้องเรียนออนไลน์ต่อไปอีก แต่ทั้งนี้จะต้องเอาความปลอดภัยของนักเรียนเป็นที่ตั้ง ถ้านักเรียนติดเชื้อ อาจจะส่งผลกระทบหนักกว่าเดิม แต่ทางโรงเรียนจะมีการประเมินสถานการณ์รายวัน ถ้าถึงเวลาเปิดเทอมอาจจะต้องเรียนในรูปแบบออนไลน์ควบคู่กันในช่วงต้น
"ถ้าเรียนออนไลน์ต่อไปอีก เด็กก็จะกดดันมากขึ้น ยิ่งเรียนออนไลน์ เวลาเรียนน้อยลง ก็ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น ไม่เหมือนกับมาโรงเรียน" นายภาณุพงษ์ กล่าว
ส่วนปัญหาการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ที่ผ่าน นายภาณุพงษ์เล่าว่า โรงเรียนในพื้นที่ กทม. ยังมีความพร้อมในการเรียนอยู่บ้าง แต่ไม่ใช่สำหรับนักเรียนทุกคนที่จะมีความพร้อมด้านอุปกรณ์ บางคนมีเพียงแค่โทรศัพท์มือถือเครื่องเดียว ซึ่งไม่เหมาะกับการเรียน เนื่องจากใน 1 วัน จะต้อง 8 ชั่วโมง ในการที่จะต้องจดจ้องกับจอที่เล็กเป็นเวลานาน ก็จะไม่มีสมาธิในการเรียน อีกทั้งเสียสุขภาพทางสายตาด้วย รวมถึงปัญหาด้านการเชื่อมต่อที่อาจจะพบปัญหาสัญญาณที่ไม่เสถียรของทั้งครูและนักเรียน ทำให้การเรียนการสอนขาดตอนไป ส่งผลการเรียนรู้ได้ไม่เต็มร้อย
@ ทดสอบระบบ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดเทอม
นายภาณุพงษ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางโรงเรียนได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดภาคเรียนที่จะถึงนี้ โดยจัดรูปแบบการเรียนในรูปแบบออนไลน์ทบทวนความรู้เดิมในรายวิชาหลักให้กับนักเรียนก่อน เพื่อเตรียมขึ้นในระดับชั้นใหม่ แต่ไม่ใช่เป็นการเรียนแบบภาคบังคับ โดยส่วนใหญ่นักเรียนประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี
"จะมีการทบทวน ปูความพร้อมก่อน เนื่องจากยังไม่มีหนังสือเรียน และไม่ใช่การเรียนที่หนักมาก เช่น ปกติเรียนเวลา 8.00-16:00 น. แต่นี่จะเป็นการเริ่มเรียน 09.00 และ 13.00 น. ทั้งนี้เป็นการทดลองเรียนไปด้วย ครูจะได้ทราบว่านักเรียนมีปัญหาอะไร" นายภาณุพงษ์ กล่าว
การเรียนวิชาประวัติศาสตร์เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน
@ เด็กใหม่อาจจะต้องปรับตัวมากขึ้น
ส่วนข้อกังวลสำหรับเด็กใหม่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 ว่าจะสามารถเรียนได้ทันหรือไม่ หรือจะปรับตัวอย่างไร นายภาณุพงษ์ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์และอาทิตย์ที่ผ่านมา เป็นวันสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อ กว่าจะสิ้นสุดกระบวนการคัดเลือกก็น่าจะประมาณสัปดาห์หน้า เมื่อนักเรียนทราบผลแล้ว หลังจากการรายงานตัว ทางฝ่ายครูจะมีการเตรียม Google Classroom ไว้สำหรับการเรียนการสอน แต่อาจจะต้องใช้เวลาสักเล็กน้อย เพราะนักเรียนบางคนอาจจะไม่คุ้นเคย หลายคนอาจจะเคยเรียนผ่านทีวี แต่ในขั้นตอนแรก อาจจะเป็นการเพิ่มเข้าช่องทางติดต่อ เช่น ไลน์ เพื่อให้ติดต่อสื่อสารกันได้ก่อน
@ ภาระหนักตกอยู่ที่เด็ก ต้องอัดเวลาเรียน
นายภาณุพงษ์ กล่าวถึงข้อน่ากังวลและผลกระทบของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ว่า สำหรับนักเรียน ม.6 ในปีที่แล้ว จะมีปัญหาเยอะมาก เนื่องจากเวลาที่ขยับเลื่อนไปเพื่อให้เวลาเรียนเพียง ทำให้ตารางสอบต่างๆ ค่อนข้างกระชั้นชิน จนเกิดประเด็นขอเลื่อนสอบ และจนถึงทุกวันนี้การคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยยังไม่เสร็จสิ้น
นายภาณุพงษ์ กล่าวว่า สำหรับในปีนี้กำหนดการปิดเทอมเท่าเดิม ไม่เลื่อนออกไป จะไม่กระทบเรื่องการสอบเข้า แต่จะส่งผลให้เวลาเรียนน้อยลง และภาระหนักจะตกอยู่ที่นักเรียน จะต้องอัดในการเรียน ส่งผลถึงเนื้อหาที่เรียนอาจจะได้รับไม่เต็มร้อย หรือเนื้อหาที่ได้อาจจะไม่ละเอียด
นายภาณุพงษ์ ได้กล่าวแนะนำถึงนักเรียนชั้น ม.6 ว่า เนื่องจากแต่โรงเรียนจัดหลักสูตรการเรียนไม่เหมือนกัน บางโรงเรียนจะเรียนหนักในระดับชั้น ม.5 แต่จะเบาในระดับชั้น ม.6 แต่บางโรงเรียนหนักในชั้น ม.6 เพราะคิดว่าเรียนเสร็จ ก็จะเอาไปสอบได้เลย ก็จะเกิดความไม่เท่าเทียม ขึ้นอยู่กับแต่หลักสูตรที่วางไว้ ส่วนเนื้อหาก็จะคล้ายกัน ต่างกันที่ว่าเรียนก่อนหรือหลัง ทั้งนี้ นักเรียนจะต้องเตรียมตัวมากขึ้น เช่น เรียนในห้องเรียน จะต้องแบ่งเวลาให้ดี อาจจะต้องมีการเรียนเพิ่มเติม เรียน พิเศษต่างๆ เวลาพักผ่อนอาจจะน้อยลง เพราะว่าจะต้องดูแลตัวเองในช่วงเรียน และเตรียมตัวในช่วงสอบด้วย อีกทั้งการเรียนออนไลน์ ที่เวลาเรียนค่อนข้างจำกัด และไม่สะดวกในการถามเวลามีข้อสงสัย ก็อาจจะทำให้เครียดมากขึ้น ยิ่งอยู่คนเดียวยิ่งเครียด ฉะนั้นควรจะมีการแลกเปลี่ยน พูดคุยกับเพื่อน หรืออาจจะปรึกษาครู ถ้าหากเรียนไม่ทัน
@ ความไม่พร้อมคือปัญหา
สำนักข่าวอิศรา พูดคุยกับ น.ส.อโนชา อุทุมสกุลรัตน์ ครูผู้สอนประจำกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โรงเรียนสุวรรณารามวิทยาคม กทม. เล่าถึงปัญหาผลกระทบการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ที่ผ่านมา ว่า ตนรับผิดชอบการสอนวิชาเคมี ระดับชั้น ม.6 เนื้อหาค่อนข้างเยอะ แต่สำหรับตนไม่มีปัญหาเนื่องจากได้เตรียมความพร้อมในการสอนออนไลน์ล่วงหน้าให้กับนักเรียนก่อนแล้ว จึงมองว่าการเลื่อนเปิดเทอม จะส่งผลกระทบสำหรับครูที่ไม่พร้อมในการจัดการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ และนักเรียนที่ไม่มีความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์เท่านั้น
@ สอนนำไปก่อน และปรับการประเมินผล
น.ส.อโนชา กล่าวว่า นักเรียนในความรับผิดชอบ ส่วนใหญ่คือนักเรียนระดับชั้น ม.ปลาย ที่มีความพร้อมในการเรียน แต่สาเหตุที่ไม่เข้าเรียน คือ ไม่มีความรับผิดชอบ อีกทั้งที่โรงเรียน มีนักเรียนที่มีความจำเป็นจะต้องทำงานในช่วงปิดเทอม ทำให้ไม่สามารถเข้าเรียนตามเวลาได้ แต่ตนก็ได้เปิดโอกาสให้เข้าเรียน โดยการลงคลิปที่สอนลงไว้ เพื่อให้นักเรียนสามารถเรียนย้อนหลัง หรือทบทวนบทเรียนได้
น.ส.อโนชา เปิดเผยอีกว่า จากประสบการณ์การสอนในรูปแบบออนไลน์ที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่าการวัดประเมินผลเป็นเรื่องที่สำคัญ ครูจะต้องปรับการวัดประเมินผลให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และเอื้อกับผู้เรียนด้วย เช่น ตามปกติการเรียนในห้องเรียน จะต้องส่งแบบฝึกหัดท้ายคาบ แต่เมื่อเรียนออนไลน์ ไม่จำเป็นต้องส่งทันที แต่เปลี่ยนเป็นการกำหนดเวลาแทน หรือ เดิมอาจจะใช้แบบทดสอบ จะปรับเปลี่ยนเป็นการถามตอบแทน เป็นต้น
"สำหรับตัวครูสอนนักเรียนได้ทัน เพราะสอนออนไลน์เอามาช่วย เตรียมความเด็กก่อน นักเรียนเรียนนำบทเรียนไปแล้ว จากผลสัมฤทธิ์ที่ผ่านมา ไม่มีนักเรียนที่ครูสอนตก การวัดประเมินผลสำคัญมากๆ ถ้าจะใช้แบบข้อสอบ หรือปลายปิดอย่างเดียว มันไม่ช่วยเด็ก" น.ส.อโนชา กล่าว
@ การเรียนออนไลน์สู้การเรียนในชั้นเรียนไม่ได้
ส่วนปัญหาในการจัดรูปแบบการเรียนการสอนออนไลน์ น.ส.อโนชา กล่าวว่า วิชาเคมีที่ตนสอน จำเป็นต้องทำการทดลอง การเรียนออนไลน์ทำให้ไม่สารถทดลองได้ สู้การเรียนในชั้นเรียนไม่ได้ จนหลายคนบอกว่าการเรียนออนไลน์ทำให้เด็กเรียนถดถอยลง สำหรับตนคิดว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่การจัดการเรียนการสอนของครู ว่าจะจัดรูปแบบการสอนอย่างไร ใช่ตัวชี้วัดอย่างไร
"การเรียนออนไลน์สู้การเรียนในชั้นเรียนไม่ได้ แต่ความปลอดภัยต้องมาก่อน สิ่งสำคัญคือการจัดสอนของครูว่าจะจัดอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์" น.ส.อโนชา กล่าว
@ เด็ก-ครูต่างมีบทเรียนจากปีที่แล้ว
น.ส.อโนชา กล่าวว่าสำหรับการรับมือเด็กใหม่ในปีการศึกษานี้ เช่น นักเรียน ม.1 คิดว่าน่าจะมีปัญหาน้อยกว่าปีที่แล้ว เพราะมีประสบการณ์มาก่อนแล้ว ทั้งครูและนักเรียน สำหรับโรงเรียนไม่ได้มีการจัดการเรียนการสอนล่วงหน้า แต่จะเป็นการเริ่มเรียนพร้อมกันในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ทางด้านครูผู้สอนได้เตรียมบทเรียนไว้เรียบร้อยแล้ว
@ เวลาเรียนน้อยลง เด็กต้องขวนขวายมากขึ้น
ส่วนนักเรียน ม.6 น.ส.อโนชา กล่าวว่า การเลื่อนเปิดเทอม แต่ไม่เลื่อนปิดเทอม อาจจะทำให้นักเรียนมีเวลาเรียนน้อยลง ฉะนั้นนักเรียนจะต้องขวนขวายมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นวัยที่มีวุฒิภาวะแล้ว ต้องมีความรับผิดชอบ ส่วนเรื่องการเลื่อนเปิดเทอมจะกระทบต่อการเข้ามหาวิทยาลัยหรือไม่นั้น น.ส.อโนชา กล่าวว่า คิดว่าไม่มีผล เพราะมหาวิทยาลัยก็ยืดเวลาเปิดเทอมออกไปเช่นกัน
ทั้งหมดนี้ คือเสียงสะท้อนในมุมของคุณครูผู้สอนที่จะต้องเตรียมรับมือการสถานการณ์การเลื่อนเปิดภาคเรียน และจะต้องติดตามกันต่อไปว่าจากสถานการณ์ของการระบาดโควิดจะส่งผลต่อการเรียนการสอนอย่างไร จะมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนอีกหรือไม่
อ่านประกอบ: ถอดบทเรียน! เตรียมรับมือเลื่อนเปิดเทอม-เรียนออนไลน์ หากโควิดยังอยู่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage