“...ถ้าหากไวรัสมีกระบวนการแบ่งตัว นั่นหมายความว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่ๆจะเกิดขึ้นมาอีก นี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่จะสนับสนุนเรื่องแนวคิดในการเว้นช่วงระยะเวลาในการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งก็คือการทำให้เกิดการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรให้ได้มากที่สุด จึงมีความเป็นไปได้ที่การเว้นระยะเวลาการฉีดวัคซีนนานขึ้นไปอีกจะลดการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการเว้นช่วงระยะเวลานั้น จริงๆแล้วถ้าอยากจะเว้นไปนานสัก 8 เดือนเลยก็ทำได้ แต่ปัญหาและความเสี่ยงที่สำคัญก็คืออาจจะมีการลดลงของสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ...”
.....................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หรือโคโรน่าไวรัส ผนวกกับกระแสข่าวปัญหาความล่าช้าของวัคซีนบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ทำให้โรงพยาบาลบางแห่งได้ประกาศเลื่อนการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเข็มที่ 2 ออกไปเป็นระยะเวลา 16 สัปดาห์ ส่งผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์แผนการฉีดวัคซีนของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นอย่างมาก
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นฐานข้อมูลออนไลน์ในต่างประเทศที่เกี่ยวกับการเลื่อนฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้า พบว่า สำนักข่าวซีบีซี ของแคนนาดา ได้นำเสนอรายงานพิเศษเจาะลึกข้อสังเกตและปัญหาการเลื่อนฉีดวัคซีนโควิดเข็มที่ 2 มีรายละเอียดสำคัญดังต่อไปนี้
ก่อนหน้านี้ในช่วงเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ที่รัฐออนแทริโอ ประเทศแคนาดา มีรายงานว่าจะมีการยืดระยะเวลาการฉีดวัคซีนจาก 12 สัปดาห์ ไปอยู่ที่ 16 สัปดาห์เช่นกัน
ขณะที่ นพ.ชรูเรช ธิโคโอ (Suresh Tikoo) ผู้อำนวยการด้านวักษุวิทยาและภูมิคุ้มกันที่มหาวิทยาลัยซัสแคตเชวัน นักวิจัยจากสถาบันวิจัยวัคซีนวิโดอินเตอร์แวค (VIDO-InterVac) ในเมืองซัสคาทูนได้ออกมาวิจารณ์ว่าเป็นความเสี่ยงที่ค่อนข้างสูงพอสมควร
“ผมต้องการหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมเกี่ยวกับกรณีนี้”
โดยในวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น ทางคณะกรรมการที่ปรึกษาแห่งชาติของแคนาดาว่าด้วยการฉีดวัคซีนหรือ NACI ได้ออกมาระบุว่า การเว้นระยะห่างของวัคซีนทั้ง 3 ชนิด (แอสตร้าเซนเนก้า,ไฟเซอร์ และโมเดอร์นา)ที่ประเทศแคนาดาได้มีการใช้อยู่ โดยให้เว้นระยะห่างเป็นระยะเวลาสูงสุดถึง 4 เดือน จะทำให้ชาวแคนาดาที่ได้รับการฉีดวัคซีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นไปอีก
แต่หลังการออกมาให้ข้อมูลของ NACI ดังกล่าว นพ.ธิโคโอได้ออกมากล่าวคัดค้านทันที โดยระบุว่า ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะสนับสนุนคำแนะนำดังกล่าว เพราะยังไม่มีประเทศใดในโลกที่ตัดสินใจทำเช่นนั้น ซึ่งรัฐบริติชโคลอมเบียในประเทศแคนาดานั้นถือว่าเป็นพื้นที่แรกของโลกที่เริ่มมีการขยายเวลาระหว่างโดสของวัคซีนดังกล่าว
“นี่เป็นแผนการที่เสี่ยงมาก ผมคงไม่ทำมัน เพราะสามัญสำนึกที่ว่ายังไม่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ใดมารองรับ” นพ.ธิโคโอกล่าว
รายงานข่าวเกี่ยวกับการเว้นระยะการฉีดวัคซีน (อ้างอิงวิดีโอจาก CBC News)
“ปัญหาสำคัญก็คือว่า ตอนนี้เรามีแค่ข้อมูลของวัคซีนไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทคที่ทิ้งระยะเวลาระหว่างโดสแค่ 6 สัปดาห์และข้อมูลวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ต้องทิ้งระยะเวลา 12 สัปดาห์ แต่การจะทิ้งระยะเวลาไปถึง 16 หรือ 18 สัปดาห์นั้น ในฐานะที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ ผมคงไม่แนะนำในเรื่องนี้” นพ.ธิโคโอกล่าวย้ำ
ทั้งนี้ มีรายงานว่า NACI เองก็รับรู้เช่นกันว่ายังไม่เคยมีการเก็บผลประสิทธิภาพของวัคซีนที่ทิ้งระยะเวลานานถึง 4 เดือนนับตั้งแต่โดสแรก
ส่วนที่ประเทศอังกฤษเองนั้น สาเหตุหนึ่งที่มีการปรับรูปแบบการเว้นระยะของวัคซีนให้อยู่ที่ 12 โดส ก็เนื่องมาจากการเกิดขึ้นของไวรัสโควิดสายพันธุ์ B117 หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าสายพันธุ์อังกฤษที่ระบาดได้อย่างรวดเร็ว
“ถ้าหากไวรัสมีกระบวนการแบ่งตัว นั่นหมายความว่าจะมีสายพันธุ์ใหม่ๆจะเกิดขึ้นมาอีก นี่ก็อาจจะเป็นอีกเหตุผลสำคัญที่จะสนับสนุนเรื่องแนวคิดในการเว้นช่วงระยะเวลาในการฉีดวัคซีนได้ ซึ่งก็คือการทำให้เกิดการฉีดวัคซีนในกลุ่มประชากรให้ได้มากที่สุด จึงมีความเป็นไปได้ที่การเว้นระยะเวลาการฉีดวัคซีนนานขึ้นไปอีกจะลดการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ ซึ่งการเว้นช่วงระยะเวลานั้น จริงๆแล้วถ้าอยากจะเว้นไปนานสัก 8 เดือนเลยก็ทำได้ แต่ปัญหาและความเสี่ยงที่สำคัญก็คืออาจจะมีการลดลงของสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้เมื่อเวลาผ่านไปเรื่อยๆ” นพ.ธิโคโอกล่าว
@การเว้นระยะแสดงให้เห็นโอกาสการติดเชื้อที่น้อยลง
ขณะที่ นพ.สตีเว่น ลูอิส ที่ปรึกษานโยบายด้านสุขภาพกล่าวถึงเรื่องการเว้นระยะห่างของการฉีดวัคซีนว่า เป็นเสมือนกับการนำวัคซีนไปฉีดใส่แขนของกลุ่มประชากรให้ได้มากที่สุดด้วยวัคซีนโดสแรก และก็ทอยลูกเต๋าเพื่อหวังว่าภูมิคุ้มกันของร่างกายหลังฉีดวัคซีนจะรับมือไหว
โดยทั้ง นพ.ธิโคโอและ นพ.ลูอิส มีความเห็นตรงกันว่านี่เปรียบเสมือนกับเดิมพันใหญ่ ถ้าหากมีการตัดสินใจเพื่อที่จะขยายเวลาการฉีดวัคซีน
“อะไรคือความเสี่ยงว่าวัคซีนเพียงแค่โดสเดียวจากทั้งหมด 2 โดสจะส่งผลตรงกันข้ามกับที่ตั้งใจเอาไว้ และทำให้กลุ่มประชากรที่รับวัคซีนแค่โดสเดียวกลายเป็นกลุ่มเปราะบางต่อการติดเชื้อเมื่อเวลาผ่านไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ จนส่งผลทำให้เราต้องกลับไปกักตัวกลุ่มประชากรเหล่านี้อีก เรื่องเหล่านี้นั้นยังถือเป็นความเสี่ยงที่เรายังไม่รู้ได้อย่างแน่ชัดว่ามันจะเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน แต่ตัวผมเองค่อนข้างที่จะมั่นใจว่าโอกาสที่จะเกิดเรื่องเหล่านี้นั้นมี แต่ค่อนข้างต่ำ” นพ.ลูอิสกล่าว
ณ เวลานี้นั้นมีหลักฐานค่อนข้างชัดเจนจากประเทศอังกฤษ ว่าวัคซีนโดสเดียวจากทั้งแอสตร้าเซนเนก้าและมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด และวัคซีนจากไฟเซอร์และไบโอเอ็นเทค นั้นสามารถลดอัตราการเข้าโรงพยาบาลในกลุ่มผู้สูงอายุได้ถึง 80 เปอร์เซ็นต์
รายงานข่าวจากบีบีซีว่าวัคซีนจากทั้งบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า และจากบริษัทไฟเซอร์สามารถลดการรักษาในโรงพยาบาลได้ 80 เปอร์เซ็นต์
ขณะที่ นพ.ธิโคโอกล่าวทิ้งท้ายว่าถ้าหากเกิดความผิดพลาดในแผนนี้ ปัญหาก็คือแอนติบอดี้ที่ลดลงในกลุ่มประชากรที่ได้รับวัคซีนนั้นจะทำให้เกิดกรณีการเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตที่มากขึ้นจะตามมา ซึ่งเรื่องนี้นั้นทางบริษัทที่รับผิดชอบเกี่ยวกับด้านวัคซีนจะไม่มีทางที่จะระบุในรายละเอียดการใช้ผลิตภัณฑ์วัคซีนเป็นอันขาดว่าจะให้เว้นระยะไว้ 4 เดือนแน่นอน ถ้าหากพวกเขายังคงไม่มีข้อมูลในเรื่องเหล่านี้
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าของที่รัฐออนทาริโอนั้นพบว่า เมื่อประมาณวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมานั้น รัฐออนทาริโอได้ตัดสินใจที่จะใช้วัคซีนชนิดอื่นแทนแอสตราเซนเนก้า เนื่องจากความกังวลเรื่องผลข้างเคียงเกี่ยวกับลิ่มเลือดที่เพิ่มสูงขึ้นในรัฐออนทาริโอ และจะให้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่เหลือนั้นเป็นการฉีดเพียงแค่สำหรับโดส 2 เพียงเท่านั้น
โดยนพ.เดวิดส์ วิลเลี่ยม หัวหน้าทีมแพทย์ ได้กล่าวว่า ระยะปลอดภัยที่สุดที่ควรจะเว้นระยะห่างของโดสวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้านั้นควรจะเป็น 10 สัปดาห์ มากกว่า 12 หรือ 16 สัปดาห์ตามที่มีการกล่าว อ้างก่อนหน้านี้
@การตัดสินใจในประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ การตัดสินใจของรัฐออนแทริโอ ก็ใช่ว่าจะเป็นสิ่งที่จะเป็นข้อสรุปและบรรทัดฐานที่หลายประเทศจะต้องไปดำเนินการตามนั้นเสียทั้งหมด เพราะต้องดูสถานการณ์ในหลายๆปัจจัยของในแต่ละประเทศมาประกอบการตัดสินใจเรื่องการฉีดวัคซีนประกอบกันอีก
ยกตัวอย่างที่ประเทศอินเดีย ณ เวลานี้ก็เริ่มมีการแนะนำแล้วเช่นกันว่า ถ้าหากมีการชะลอการฉีดวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศอินเดียออกไปอีก 16 สัปดาห์นั้น อาจจะช่วยให้ประชาชนอินเดียอีกนับล้านชีวิตได้รับวัคซีนมากขึ้น
เพราะในเวลานี้สัดส่วนของกลุ่มประชากรซึ่งควรจะได้รับการฉีดวัคซีนในเวลานั้นถือว่าต่ำมาก
แต่ในกรณีประเทศอินเดียนั้น ก็มีปัญหาหนึ่งที่สำคัญมาก โดยเฉพาะถ้าหากจะมีการชะลอการเว้นระยะห่างของวัคซีน นั่นก็คือ ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์และความคิด ความเข้าใจของผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีน
การชะลอการฉีดวัคซีนจะทำให้ผู้คนหลายล้านคนอาจจะต้องไปอัดแน่นกันตามระบบขนส่งสาธารณะเพื่อจะกลับมาฉีดวัคซีนโดสที่ 2 ซึ่งเป็นการยากมากที่จะทำให้กลับมาฉีดได้โดยครบทั้งหมด
อีกทั้งในประเทศอินเดียรวมไปถึงประเทศที่กำลังพัฒนาอื่นๆนั้นก็ยังมีปัญหาเรื่องการสื่อสารให้เข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องได้รับวัคซีนเป็นจำนวนทั้ง 2 โดส
นี่ก็อาจจะทำให้เกิดกรณีของกลุ่มประชากรที่ได้รับการฉีดวัคซีนแค่โดสเดียวแล้วก็หายไปเลยก็เป็นไปได้
เพราะความเชื่อมั่นว่าได้รับวัคซีนแค่โดสเดียวก็เพียงพอแล้ว
เรียบเรียงจาก:https://www.cbc.ca/news/canada/saskatchewan/saskatchewan-covid-19-vaccines-doses-4-months-apart-1.5936514,https://fortune.com/2021/05/21/covid-vaccine-delayed-dose-immunity-singapore-india/,https://www.cp24.com/news/ontario-to-offer-remaining-astrazeneca-covid-19-shots-as-second-doses-only-1.5437741
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage