"...วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ถูกคาดประมาณการไว้ว่าจะมีการจัดสรรตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ย.2564 รวมกว่า 47.1 ล้านโดส สำหรับจังหวัดที่จะได้รับวัคซีนมากที่สุดในเดือน มิ.ย. อาทิ กทม. 2,510,000 โดส , อุดรธานี 246,000 โดส , สมุทรปราการ 237,000 โดส , สกลนคร 181,000 โดส , นครราชสีมา 147,000 โดส..."
-----------------------------------------------------------------
หลายคนคงทราบแล้วว่า ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ จะเป็นวัคซีนหลักตามแผนกระจายวัคซีนของไทย ที่ถูกประกาศให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ที่จะมีการปูพรมฉีดเข็มแรกตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป
เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ทำหนังสือแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เพื่อแจ้งแนวทางการปูพรมฉีดวัคซีนโควิด เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ตามเป้าหมายในสิ้นปี 2564
โดย คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติได้ส่งแผนคาดประมาณการจัดสรรวัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ย.2564 ฉบับวันที่ 17 พ.ค.2564 และมีข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
วัคซีน ‘แอสตร้าเซนเนก้า’ ถูกคาดประมาณการไว้ว่าจะมีการจัดสรรตั้งแต่เดือน มิ.ย. - ก.ย.2564 รวมกว่า 47.1 ล้านโดส แบ่งเป็น มิ.ย. 6,333,000 โดส , ก.ค. 9,627,000 โดส , ส.ค. 9,860,000 โดส และ ก.ย. อาจมีวัคซีนชนิดอื่นๆ เข้ามาด้วย รวมแล้วประมาณ 21,280,000 โดส
โดยการจัดสรรครั้งนี้ถูกคำนวณตามสัดส่วนประชากรแต่ละจังหวัด ที่ตั้งเป้าให้สิ้นปี 2564 แต่ละจังหวัดจะต้องได้รับวัคซีน 70% ของประชากร
สำหรับ 20 จังหวัดแรกที่จะได้รับวัคซีนมากที่สุดในเดือน มิ.ย. ประกอบด้วย
กทม. 2,510,000 โดส , อุดรธานี 246,000 โดส , สมุทรปราการ 237,000 โดส , สกลนคร 181,000 โดส , นครราชสีมา 147,000 โดส , มหาสารคาม 131,000 โดส , ลำปาง 120,000 โดส , สระบุรี 118,000 โดส , นครพนม 114,000 โดส , สุราษฎร์ธานี 88,000 โดส
อุบลราชธานี 87,000 โดส , ภูเก็ต 82,000 โดส , นครศรีธรรมราช 76,000 โดส , เชียงใหม่ 68,000 โดส , สุรินทร์ 67,000 โดส , กระบี่ 67,000 โดส , เชียงราย 64,000 โดส , นนทบุรี 64,000 โดส , บึงกาฬ 64,000 โดส และปทุมธานี 62,000 โดส
คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ระบุด้วยว่า ข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การติดเชื้อในแต่ละพื้นที่ และความสามารถในการผลิตและส่งมอบวัคซีนของผู้ผลิต
ขณะที่การแถลงสถานการณ์ประจำวันที่ 23 พ.ค.2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศสะสม วันที่ 1 เม.ย. – 23 พ.ค. จำนวน 10 อันดับแรก พบว่า
กทม. มีผู้ติดเชื้อสะสม 33,745 ราย
นนทบุรี มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,355 ราย
สมุทรปราการ มีผู้ติดเชื้อสะสม 5,275 ราย
ชลบุรี มีผู้ติดเชื้อสะสม 4,161 ราย
เชียงใหม่ มีผู้ติดเชื้อสะสม 4,025 ราย
ปทุมธานี มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,971 ราย
เพชรบุรี มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,327 ราย
สมุทรสาคร มีผู้ติดเชื้อสะสม 2,171 ราย
ประจวบคีรีขันธ์ มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,563 ราย
สุราษฎร์ธานี มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,561 ราย
สำหรับการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนทั่วประเทศที่จะเริ่มพร้อมกัน 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป ได้มีการแจ้งให้ทุกจังหวัดกำหนดแนวทางและเตรียมความพร้อม ดังนี้
กลุ่มเป้าหมาย
- บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
- เจ้าหน้าที่อื่นด่านหน้า และกลุ่มอาชีพเสี่ยงติดเชื้อ รวมทั้งผู้มีอาชีพหรือกิจกรรมที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน เช่น สาธารณูปโภค อาหาร ยา ฯลฯ
- ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว
- ประชาชนทั่วไป
ช่องทางการลงทะเบียนและเข้ารับวัคซีน
-จองผ่านระบบ ‘หมอพร้อม’
-นัดหมายผ่านสถานพยาบาล หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือ ผ่านองค์กร
-ลงทะเบียน ณ จุด ฉีด
ทั้งนี้ให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดและกรุงเทพมหานคร พิจารณาปรับสัดส่วนได้ตามความเหมาะสม
กรณีนัดหมายผ่านองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ให้แจ้งความประสงค์ไปยังนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด หรือผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียด เพิ่มเติม ดังนี้
1.กรณีประสานหาสถานพยาบาล เพื่อฉีดวัคซีนได้เอง ไม่ว่าจะในหรือนอกสถานพยาบาล เช่น ฉีดวัคซีนให้ในสถานประกอบการ สามารถติดต่อขอรับวัคซีนได้จากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร
2.กรณีไม่สามารถประสานหาสถานพยาบาล เพื่อฉีดวัคซีนได้ ให้ติดต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดหรือกรุงเทพมหานคร เพื่อนัดหมายขอเข้ารับการฉีดวัคซีนแบบกลุ่ม ณ สถานที่ที่กำหนด
3.กรณีองค์กรขนาดใหญ่มีบุคลากรในหลายจังหวัด หรือองค์กรระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานต่างชาติที่ติดต่อผ่านกระทรวงการต่างประเทศ ให้แจ้งหนังสือมายังอธิบดีกรมควบคุมโรค เพื่อขอรับวัคซีนให้บุคลากรในสังกัด โดยหาสถานพยาบาลรองรับการฉีดเอง
4.กรณีผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม การจัดสรรวัคซีนเพื่อฉีดให้กับผู้ประกันตนกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน โดยสำนักงานประกันสังคม เป็นหน่วยงานรับการจัดสรรวัคซีนเพื่อมาบริหารจัดการและจัดแผนการฉีดวัคซีนได้โดยตรง และรวบรวมข้อมูลจากสถานประกอบการช เพื่อกำหนดสถานที่ให้บริการฉีดวัคซีนทั้งในสถานพยาบาลตามสิทธิ และเชิงรุกนอกสถานพยาบาล เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและให้ผู้ประกันตนได้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็ว
ทั้งนี้ให้สำนักงานประกันสังคมจังหวัด และสำนักงานประกันสังคมส่วนกลาง รวมทั้งหน่วยงานระดับจังหวัดสังกัดกระทรวงแรงงาน ประสานการดำเนินงานร่วมกับคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด และคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เพื่อบูรณาการทำงานร่วมกันต่อไป
สำหรับกลุ่มเป้าหมายจำเพาะ อาทิ กลุ่มคณะทูตานุทูตและองค์กรระหว่างประเทศ กลุ่มชาวไทยที่จะขอรับวัคซีนก่อนไปศึกษาต่อหรือทำงานในต่างประเทศ สามารถเข้ารับวัคซีนได้ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป
(ภาพประกอบ : freepik)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage