"...หัวหน้าหน่วยงานได้อนุญาตให้หยุดพักผ่อนทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องทำงาน หากหยุดพักผ่อนประจำปีจะเกิดความเสียหาย และได้มีบันทึกเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานกลับมาทำงานในวันเดียวกันหรือภายหลังอนุญาตไม่นาน ทำให้มีการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดจำนวนมากเกินปกติวิสัย นอกจากนี้ ยังพบว่า การเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า มิได้นำแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ไปดำเนินการให้เกิดผลตามมุ่งหมายของประกาศ ระเบียบ และข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง ..."
........................................
หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ที่ถูก สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบพบปัญหาการเบิกจ่ายค่าทำงานวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานและลูกจ้างรวมสองปี เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งมีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งระเบียบและข้อสั่งการไม่เหมาะสม
คือ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด
เป็นข้อมูลเชิงลึก ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบภายหลัง สตง. ได้เผยแพร่ข่าวการเข้าตรวจสอบการปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจแห่งหนึ่ง พบการเบิกจ่ายค่าทำงานวันหยุดพักผ่อนประจำปีของพนักงานและลูกจ้างรวมสองปี เป็นเงินกว่า 300 ล้านบาท ผลการตรวจสอบชี้ชัด มีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย รวมทั้งระเบียบและข้อสั่งการไม่เหมาะสม จึงมีหนังสือแจ้งผลการตรวจสอบพร้อมเสนอแนะเพื่อให้มีการปรับปรุงแก้ไขต่อไป ล่าสุดหน่วยงานดังกล่าวได้ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. แล้ว ส่งผลให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึงปีละประมาณ 165 ล้านบาท ที่ช่วงเดือนก.พ.2564 ที่ผ่านมา
ขณะที่ นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ในช่วงปี 2563 ที่ผ่านมา ยืนยันสำนักข่าวอิศราว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ได้รับข้อท้วงติงเรื่องนี้จาก สตง.มาจริง แต่มีการแก้ไขปัญหาไปแล้ว
(อ่านประกอบ : ที่แท้ 'ปณท' รัฐวิสาหกิจปริศนา! ถูก สตง.สอบพบปัญหาเบิกโอที 300 ล., เคลียร์ปัญหาไปแล้ว! 'ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร' ย้อนความ ปณท โดน สตง.ท้วงเบิกโอที 300 ล.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ได้รับมอบรายละเอียดบางส่วนในผลการตรวจสอบเรื่องนี้ ของ สตง. มีรายละเอียดข้อสังเกตสำคัญดังต่อไปนี้
สตง. ตรวจสอบรายงานการปฏิบัติตามกฎหมาย เรื่อง การเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี พ.ศ. 2562 ของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด สังกัดกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
พบข้อสังเกตที่สำคัญ ดังนี้
1. มีการอนุญาตให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีและเรียกตัวกลับมาปฏิบัติงานในช่วงที่หยุดพักผ่อนประจำปี โดยเบิกจ่ายค่าตอบแทนการปฏิบัติงานวันหยุดพักผ่อนประจำปี ตั้งแต่เดือน มกราคม 2558 ถึง ธันวาคม 2560 มีจำนวนสูงถึง 435.64 ล้านบาท
จากการตรวจสอบพบว่า มีพนักงานได้ใช้สิทธิขอหยุดพักผ่อนประจำปีตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งผู้บังคับบัญชาพิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสม จึงได้อนุญาต แต่ปรากฏว่าภายหลังจากการอนุญาต มีความจำเป็นที่จะต้องให้พนักงานดังกล่าวมาปฏิบัติงานในวันเวลาที่ได้มีการอนุญาตให้หยุดพักผ่อนไปแล้ว โดยมีเหตุผลว่าเพื่อมิให้กระทบต่อการดำเนินงานในส่วนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ประกอบกับหน่วยรับตรวจได้มีการพัฒนาธุรกิจเพิ่มมากขึ้น เพื่อแข่งขันในทางธุรกิจกับบริษัทเอกชนในการดำเนินงานโลจิสติกส์ด้านการขนส่งรูปแบบใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยมีผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการใหม่ๆ ทำให้มีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องให้พนักงานและลูกจ้างประจำดังกล่าวมาปฏิบัติงาน
ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงและไม่มีความจำเป็นอย่างแท้จริง
สตง. ได้เสนอแนะให้ทบทวนการเบิกจ่ายดังกล่าวให้เหมาะสม และให้เป็นไปตามประกาศหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง และให้ตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป
2. จากการติดตามตรวจสอบการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ภายหลังแจ้งผลการตรวจสอบ และหน่วยรับตรวจได้กำหนดแนวทางปฏิบัติแล้ว พบว่าหน่วยงานยังมีการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีเป็นจำนวนมากอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส ที่ 1 - 3 ปี 2562 มีการเบิกจ่ายเป็นจำนวน 158.72 ล้านบาท ในลักษณะมีการอนุญาตให้พนักงานหยุดพักผ่อนประจำปีต่อเนื่อง 5 - 10 วัน
แต่ในวันที่อนุญาตหรือภายหลังจากอนุญาตไม่นานก็มีบันทีกอ้างเหตุผลความจำเป็นเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานกลับมาทำงานในช่วงที่ได้รับอนุญาตให้หยุดพักผ่อน และให้มีสิทธิเบิกเงินค่าทำงานในวันหยุดได้ตามระเบียบฯ โดยไม่ได้มีการชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและระบุงานที่ต้องทำเป็นกรณีฉุกเฉินหรือเร่งด่วนนั้นแต่อย่างใด
กรณีดังกล่าวมีการดำเนินการเกือบทุกส่วนงานของหน่วยรับตรวจอย่างสม่ำเสมอจนเป็นปกติวิสัย และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
แสดงให้เห็นว่ามีการอนุญาตให้หยุดพักผ่อนอย่างไม่เหมาะสม จึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบฯ และข้อสั่งการที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับระเบียบและข้อสั่งการกำหนดเป็นหลักการให้หัวหน้าหน่วยงานสามารถเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานที่หยุดพักผ่อนประจำปีมาทำงานในวันหยุดได้ คนละ 10 วัน ผู้ปฏิบัติงานที่ใช้วันหยุดพักผ่อนไม่หมดจึงใช้สิทธิหยุดพักผ่อน
เมื่อหัวหน้าหน่วยงานอนุญาตให้หยุดพักผ่อนและเรียกผู้ปฏิบัติงานมาทำงานในช่วงหยุดพักผ่อนจึงสามารถเบิกค่าทำงานในวันหยุดได้
โดยหน่วยรับตรวจ ชี้แจงว่า การบริหารงานของหน่วยรับตรวจ ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการประชาชน การอนุมัติให้ทำงานในวันหยุดได้มอบหมายอำนาจให้ผู้จัดการฝ่ายเป็นผู้พิจารณาอนุญาต และในปี 2561 หน่วยรับตรวจได้ออกหนังสือซักซ้อมตามข้อเสนอแนะในเดือนกันยายน ซึ่งหน่วยงานต่าง ๆ อาจมีการเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานมาปฏิบัติงานก่อนแล้ว จึงทำให้ยังมีค่าใช้จ่ายสูง สำหรับปี 2562 มีการแข่งขันทางธุรกิจสูงโดยมีคู่แข่งขันเข้ามาในตลาดจำนวนมาก ทำให้ต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจเพื่อตอบสนองต่อผู้ใช้บริการ อย่างไรก็ตามหน่วยรับตรวจจะได้ทบทวนและมีบันทึกซักซ้อมในการเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานมาทำงานในวันหยุดอีกครั้งเพื่อให้ถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด
สตง. พิจารณาแล้วเห็นว่า การชี้แจงของหน่วยรับตรวจไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะรับฟังได้ เนื่องจากการอนุญาตให้หยุดพักผ่อน และการอนุมัติให้ทำงานในวันหยุด ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่สอดคล้องกับประกาศคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานขั้นต่ำของสภาพการจ้างในรัฐวิสาหกิจ และมีการแข่งขันทางธุรกิจสูง โดยมีคู่แข่งเข้ามาในตลาดจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามผลการตรวจสอบปรากฎว่าหัวหน้าหน่วยงานได้อนุญาตให้หยุดพักผ่อนทั้ง ๆ ที่ทราบดีว่า ผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องทำงาน หากหยุดพักผ่อนประจำปีจะเกิดความเสียหาย และได้มีบันทึกเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานกลับมาทำงานในวันเดียวกันหรือภายหลังอนุญาตไม่นาน ทำให้มีการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดจำนวนมากเกินปกติวิสัย
นอกจากนี้ ยังพบว่า การเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่า มิได้นำแนวทางปฏิบัติที่กำหนดไว้ไปดำเนินการให้เกิดผลตามมุ่งหมายของประกาศ ระเบียบ และข้อสั่งการที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง
สตง. ได้แจ้งผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ ให้หน่วยรับตรวจดำเนินการดังนี้
1. ขอให้พิจารณายกเลิกบันทึกข้อความ ฝ่ายสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์ เรื่อง การเรียกตัวพนักงาน ลูกจ้างประจำ ที่หยุดพักผ่อนประจำปีมาทำงานในวันหยุด
2. ขอให้พิจารณาทบทวนระเบียบว่าด้วยสวัสดิการของพนักงานและลูกจ้างประจำพ.ศ. 2559 ในส่วนที่ เกี่ยวข้องกับการหยุดพักผ่อนประจำปี และการอนุมัติทำงานในวันหยุดมิให้มีช่องทางใด ๆ ให้เกิดการเบิกจ่ายเงินค่าทำงานในวันหยุดโดยไม่เป็นตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
3. หากได้ทบทวนระเบียบที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่ามีความจำเป็นต้องกำหนดสิทธิประโยชน์ใด ๆ ให้กับผู้ปฏิบัติงานเพิ่มเติม เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม และเป็นขวัญกำลังใจในการทำงาน ขอให้ดำเนินการด้วยความสุจริตและตรงไปตรงมา โดยเสนอให้คณะกรรมการของหน่วยงานหรือผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและระเบียบให้สามารถดำเนินการเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้ปฏิบัติงานโดยชอบด้วยกฎหมายต่อไป
@ ผลการแก้ไขข้อบกพร่องและปรับปรุงการปฏิบัติงานของหน่วยรับตรวจ
หน่วยรับตรวจ ได้มีการดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ สตง. ดังนี้
1. ชะลอการเรียกตัวผู้ปฏิบัติงานที่หยุดพักผ่อนประจำปีมาทำงานในวันหยุดโดยการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุด กรณีมีเหตุฉุกเฉินหรือจำเป็นเร่งด่วนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับงาน
2. พิจารณายกเลิกการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีและกำหนดให้ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีในวันอื่นแทนการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุด
3. แก้ไขระเบียบว่าด้วยสวัสดิการพนักงานและลูกจ้างประจำ พ.ศ. 2559 เนื่องจากระเบียบดังกล่าวทำให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจผิดว่าผู้ปฏิบัติงานมีสิทธิขอเบิกค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 10 วัน
ทั้ง ผลสัมฤทธิ์จากการตรวจสอบและการแจ้งข้อเสนอแนะให้หน่วยรับตรวจดำเนินการแก้ไขข้อบกพร่องและ ปรับปรุงการปฏิบัติงานดังกล่าว ส่งผลให้หน่วยรับตรวจมีการปรับปรุงแก้ไขการปฏิบัติงานในด้านการเบิกจ่ายค่าทำงานในวันหยุดพักผ่อนประจำปีของหน่วยงาน รวมทั้งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องให้มีความเหมาะสม ซึ่งทำให้หน่วยงานสามารถลดค่าใช้จ่ายลงได้ปีละประมาณ 165 ล้านบาท
กรณีนี้จึงนับเป็นผลงานชิ้นโบว์แดง ในการปฏิบัติหน้าที่ดูแลปกป้องรักษาเงินแผ่นดิน ของ สตง. ในช่วงที่ผ่านมา
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage