"…โควิดสายพันธุ์อินเดียมีความสามารถในการแพร่กระจายไม่แตกต่างจากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนความรุนแรงของโรคนั้น ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ นอกจากนั้นมีข้อมูลอีกว่าสายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เนื่องจากอังกฤษที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทั้ง 2 สายพันธุ์ และใช้วัคซีนดังกล่าว พบการระบาดลดลงต่อเนื่อง…”
........................................
โควิด เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถกลายพันธุ์ และเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา จากสายพันธุ์ดั้งเดิมที่เคยพบในประเทศจีน เมืองอู่ฮั่น ขณะนี้มีการกลายพันธุ์ไปหลายสายพันธุ์
“แต่สายพันธุ์ที่เราจะให้ความสนใจ คือ 1. สายพันธุ์ที่สามารถแพร่ระบาดได้ง่ายขึ้น 2. สายพันธุ์ที่ทำให้ความรุนแรงของโรคมากขึ้น เสียชีวิตมากขึ้น และ 3. สายพันธุ์ที่ลดประสิทธิภาพของวัคซีน” โดย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค
สำหรับสายพันธุ์โควิดที่ทั่วโลกกำลังจับตามมองอยู่นั้น ได้แก่ โควิดสายพันธุ์อังกฤษ โควิดสายพันธุ์อินเดีย โควิดสายพันธุ์บราซิล และโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ส่วนสายพันธุ์สิงคโปร์ที่ได้มีข่าวออกมาก่อนหน้านี้นั้น ทางการสิงคโปร์ได้มีการปฏิเสธเรียบร้อยแล้วว่าไม่เป็นความจริง ไม่มีการกลายพันธุ์ของโควิดเกิดขึ้น
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ปัจจุบันการระบาดภายในประเทศ ส่วนใหญ่พบเป็นเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ซึ่งมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้รวดเร็วมากกว่าสายพันธุ์ดั้งเดิมที่ประเทศจีน ส่วนสายพันธุ์อื่น อย่างที่เรียกกันว่า ‘สายพันธุ์ G’ ขณะนี้พบการระบาดเพียงประปรายเท่านั้น
(นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค)
อย่างไรก็ตามขณะนี้ พบการระบาดของโควิดสายพันธุ์อินเดียเกิดขึ้นภายในประเทศแล้วที่แคมป์คนงานก่อสร้างเขตหลักสี่ จำนวน 15 ราย จากการสุ่มตรวจตัวอย่างเพื่อค้นหาสายพันธุ์ 61 ราย แบ่งเป็น คนงานภายในแคมป์ดังกล่าว 12 ราย ส่วนอีก 3 รายนั้น เป็นผู้สัมผัสโรคร่วมบ้านกับคนงานภายในแคมป์ดังกล่าว โดยเป็นเพศชาย 7 คน และหญิง 8 คน มีอายุเฉลี่ย 46 ปี ทั้งนี้ส่วนใหญ่มีอาการน้อย และได้รับการรักษาภายในโรงพยาบาลเรียบร้อยแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขยังไม่นิ่งนอนใจ จะมีการสอบสวนและเร่งรัดติดตามผู้สัมผัสอย่างเข้มข้นต่อไป
“โควิดสายพันธุ์อินเดีย มีการค้นพบในหลากหลายประเทศ ได้แก่ อังกฤษ มาเลเซีย สิงคโปร์ ส่วนเมียนมา และกัมพูชา ยังมีข้อมูลถอดพันธุกรรมของเชื้อไวรัสอย่างจำกัด แต่เชื่อได้ว่าอาจจะมีสายพันธุ์อินเดียอยู่แล้วเหมือนกัน เพราะฉะนั้นไทยอาจมีโอกาสได้เจอโควิดสายพันธุ์อินเดียเล็ดลอดออกมาได้ ยืนยันว่าทางกระทรวงสาธารณสุขจะจับตาเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้มีข้อมูลจากหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการรายงานสถานการณ์ของโควิดประจำสหราชอาณาจักร หรือ Public Health England รายงานว่า โควิดสายพันธุ์อินเดียมีความสามารถในการแพร่กระจายไม่แตกต่างจากโควิดสายพันธุ์อังกฤษ ส่วนความรุนแรงของโรคนั้น ขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าสายพันธุ์อินเดียมีความรุนแรงมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ นอกจากนั้นมีข้อมูลอีกว่าสายพันธุ์อินเดียยังไม่ดื้อต่อวัคซีน โดยเฉพาะวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ไทยจะใช้เป็นหลักนั้น ยังสามารถป้องกันโควิดได้ทั้งสายพันธุ์อินเดียและอังกฤษ เนื่องจากสถานการณ์ภายในสหราชอาณาจักรที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทั้ง 2 สายพันธุ์ และฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลักนั้น พบการระบาดลดลงต่อเนื่อง
@ สำนักงานเขตหลักสี่ประกาศ เร่งฉีดวัคซีนให้ 7 ชุมชนรอบแคมป์คนงาน
ขณะเดียวกันสำนักงานเขตหลักสี่ ได้ออกประกาศผ่านเฟซบุ๊ก สำนักงานเขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร จะดำเนินการฉีดวัคซีนเร่งด่วน เพื่อเป็นมาตรการเสริมควบคู่ไปกับการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคไม่ให้ขยายในวงกว้าง หลังจากเกิดการระบาดภายในแคมป์คนงาน ซอยขยายผล เขตหลักสี่ โดยจะจัดให้แก่ 7 ชุมชนรอบแคมป์คนงาน ดังนี้
1.ชุมชนอยู่แล้วรวย 2.ชุมชนแฟลตตำรวจอิสระ 3.ชุมชนแฟลตตำรวจส่วนกลางทุ่งสองห้อง 4.ชุมชนกองบัญชาการศึกษา 5.ชุมชนมิตรประชาพัฒนา 6.ชุมชนเปรมสุขสันต์ และ 7.ชุมชนคนรักถิ่น
โดยสำนักงานเขตหลักสี่ ได้จัดทำบัญชีรายชื่อตามทะเบียนบ้าน รวมถึงสำรวจผู้พักอาศัยห้องเช่าใน 7 ชุมชนดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่แจกคูปองเพื่อนัดหมายการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ได้แก่ มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ไม่เป็นผู้ป่วยโควิดและผู้สัมผัสเสี่ยงสูง กรณีรอผลยังไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ โปรดนำบัตรประจำตัวประชาชนมาและปากกาส่วนตัว มาลงทะบียนในวันฉีดวัคซีน สำหรับผู้ที่ยังไม่ได้คัดกรองเชิงรุก (SWAB) ให้ไปตรวจคัดกรองได้ที่ไซต์งานก่อสร้าง ซอยแจ้งวัฒนะ 5 ในวันที่ 21 พ.ค.2564 หรือศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ ภายในวันที่ 23 พ.ค.2564ซึ่งจะเริ่มการฉีดวัคซีนในวันที่ 25-29 พ.ค.2564 บริเวณโรงเรียนบางเขน ไว้สาลีอนุสรณ์
@เปิดแผนคุมโควิดแคมป์คนงาน-ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบค่ารักษา
ด้าน พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประธานการประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ในแคมป์คนงานก่อสร้าง กล่าวถึงมติที่ประชุมศูนย์บูรณาการการแก้ไขปัญหาสถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (ศบก.ศบค.) เมื่อวันที่ 18 พ.ค.2564 ที่ผ่านมา ว่า ศบก.ศบค.มอบหมายให้กรุงเทพมหานคร แจ้งให้ผู้ประกอบการร่วมรับผิดชอบดูแลรักษาพยาบาลผู้ติดเชื้อที่เป็นลูกจ้างของตน โดยการจัดให้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลคู่สัญญาของสำนักงานประกันสังคมที่ลูกจ้างได้ทำประกันตน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระการรักษาพยาบาลของหน่วยงานรัฐ
นอกจากนี้ในที่ประชุมได้ชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด ในแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยผู้ประกอบการควรมีมาตรการดังนี้
- ให้มีการคัดกรองเบื้องต้น ด้วยการสังเกตผู้ที่มีอาการเจ็บป่วย เช่น มีไข้ ไอ จาม มีน้ำมูก ให้หยุดปฏิบัติงานและพาไปพบแพทย์
- จัดหาหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย
- จัดให้มีที่ล้างมือพร้อมสบู่ หรือจุดบริการเจลแอลกอฮอล์ สำหรับคนงานอย่างเพียงพอ ทั้งในพื้นที่ก่อสร้างและที่พักคนงาน
- จัดที่นั่งรับประทานอาหารในสถานที่ก่อสร้าง ให้มีระยะห่างระหว่างบุคคล 1-2 เมตร
- การรับส่งพนักงาน ควรจำกัดจำนวนคนในรถไม่ให้เกิดความแออัด ไม่ให้นั่งหันหน้าเข้าหากัน หลีกเลี่ยงการพูดคุย ไม่ควรแวะระหว่างทาง และไม่ควรรับประทานอาหารระหว่างเดินทาง
- จัดหาสื่อให้ความรู้และข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันโรคโควิด เพื่อเสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่พนักงาน
- รวมทั้งให้เตรียมวางแผนการปฏิบัติ และทำความเข้าใจกับคนงาน กรณีมีผู้ป่วยยืนยัน เช่น การห้ามโยกย้าย การใช้พื้นที่ในการแยกผู้ป่วย ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือผู้สัมผัสเสี่ยงออกจากครอบครัว การสนับสนุนการดำรงชีวิตประจำวันในระหว่างกักตัว การจำกัดการเดินทางเข้าออกที่พัก การปิดพื้นที่พัก การอพยพโยกย้ายคนงานที่ไม่ป่วยกรณีมีการแพร่กระจายมาก การจัดการผู้ป่วยที่หายแล้วกลับมาทำงาน การประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ทันทีเพื่อรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ
ส่วนคนงานและบุคคลในครอบครัว ให้ทำความสะอาดห้องพัก และพื้นที่ส่วนกลางที่ใช้งานร่วมกัน เปิดประตู หน้าต่าง เพื่อระบายอากาศเป็นประจำทุกวัน ไม่ควรอาบน้ำพร้อมกันในที่อาบน้ำรวม ควรใช้อุปกรณ์ส่วนตัวในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน หมั่นทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องส้วม หรือบริเวณที่อาจมีการปนเปื้อนหรือมีการสัมผัสบ่อยๆ ด้วยน้ำยาผสมผงซักฟอกหรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรคอย่างสม่ำเสมอ ให้สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลาปฏิบัติงาน ไม่รับประทานอาหารร่วมกันเป็นกลุ่ม และควรแยกของใช้ส่วนตัว เช่น แก้วน้ำ ช้อน ไม่ไปในสถานที่แออัดหรือรวมกันของคนจำนวนมาก เช่น ตลาด ร้านค้า งดกิจกรรมสังสรรค์ที่มีการรวมกลุ่ม งดการดื่ม ในช่วงเวลาหลังเลิกงานหรือวันหยุด หมั่นสังเกตอาการตนเองและบุคคลในครอบครัว หากมีอาการไข้ ไอ จาม หรือเหนื่อยหอบ ให้หยุดปฏิบัติงานและแจ้งผู้ประกอบการทราบ กรณีพบผู้ป่วยให้ผู้ประกอบการแจ้งสำนักอนามัย โทร. 09-4386-0051 หรือ 08-2001-6373 หรือ 0-2245-4964
สำหรับมาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ให้ผู้ประกอบการแจ้งฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตต้นทางและปลายทางทราบ ก่อนเดินทางไม่น้อยกว่า 7 วัน และให้เคลื่อนย้ายแรงงานให้เรียบร้อย ภายใน 1 วัน พร้อมระบุเหตุผลความจำเป็นและข้อมูลในการเดินทางเพื่อการทำงานข้ามเขต และให้แจ้งเขตปลายทางทราบ รวมทั้งให้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามเขตอย่างเคร่งครัด โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง
โดยเอกสารประกอบการขออนุญาตเคลื่อนย้ายแรงงาน ประกอบด้วย แบบคำขอการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงาน หนังสือเดินทาง หรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง หรือหนังสือรับรองสถานะบุคคล รายชื่อแรงงานต่างด้าวที่จะเดินทางหรือเคลื่อนย้าย ใบอนุญาตทำงาน สัญญาจ้างโครงการ เอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามที่สำนักงานเขตร้องขอ
นอกจากนี้กรุงเทพมหานครได้จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ คำแนะนำในการป้องกันโควิดในสถานที่ก่อสร้าง ทั้งภาษาไทย ภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการและแรงงานในการปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด อีกทั้งสำนักงานเขตจะร่วมกับภาคีเครือข่ายตรวจเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยงที่มีการแพร่ระบาดอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันและควบคุมโรคโควิด ไม่ให้แพร่กระจายออกไปในวงกว้างต่อไป
@ คกก.โรคติดต่อกทม. มีมติให้ใช้ 'Community Isolation' ลดการระบาดในแคมป์คนงาน
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก หรือ SWAB ภายในแคมป์คนงานก่อสร้าง เขตหลักสี่ ทั้งหมดจำนวน 1,667 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 1,107 ราย คิดเป็นร้อยละ 66.41%
โดยที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานครเห็นชอบให้สำนักการแพทย์ดำเนินมาตรการควบคุมพื้นที่ ในลักษณะเดียวกับ ‘Community Isolation’ ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายของแรงงาน รวมทั้งมีการดูแลสุขอนามัยของผู้ที่อยู่ในแคมป์ มีการส่งมอบอาหารปรุงสุกและอาหารแห้ง และการจัดให้มีทีมแพทย์ดูแลรักษาเบื้องต้นแก่ผู้ติดเชื้ออยู่ภายใน แต่หากมีผู้มีอาการป่วยจะนำส่งโรงพยาบาลต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อยังเห็นชอบแนวทางการดูแลแคมป์คนงานก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ลักษณะคือ 1. แคมป์คนงานก่อสร้างที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง หากพบผู้ติดเชื้อให้ดำเนินการควบคุมพื้นที่เช่นเดียวกับแคมป์คนงานเขตหลักสี่ โดยผู้ที่อยู่ภายในยังสามารถทำงานได้ตามปกติ
และ 2. ในส่วนของแคมป์คนงานก่อสร้างที่ไม่ได้อยู่พื้นที่เดียวกับสถานที่ก่อสร้าง ให้กักตัวผู้ที่ติดเชื้อในพื้นที่แคมป์ ซึ่งเจ้าของต้องจัดให้เหมาะสม ภายใต้การดูแลของสำนักงานเขตและสำนักอนามัย และผู้ที่ไม่ติดเชื้อที่ต้องเดินทางไปทำงานจะต้องแจ้งเส้นทางการเดินทางต่อเขตต้นทางและปลายทาง โดยจะต้องไม่จอดหรือหยุดพักระหว่างทาง และปฏิบัติตามมาตรการอื่นๆที่กำหนดอย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ในวันนี้กรุงเทพมหานครได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิดในแคมป์คนงานก่อสร้างให้แก่ผู้ประกอบการแคมป์คนงาน จำนวน 409 แห่ง ทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานคร ให้ได้รับทราบและเข้าใจเป็นแนวทางเดียวกัน ประกอบด้วย มาตรการคัดกรอง มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างพื้นที่เขตในกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค.2564 เป็นต้นไป และมาตรการที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
โดยสำนักอนามัยและสำนักงานเขตพื้นที่จะลงพื้นที่ตรวจสอบในแคมป์คนงานที่อยู่ในพื้นที่อย่างเข้มงวดต่อไป รวมทั้งสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานจะได้สนับสนุนการตรวจคัดกรองคนงานก่อสร้างในแคมป์คนงานจำนวน 30,000 คน ซึ่งไม่รวมกับที่กรุงเทพมหานครดำเนินการอยู่ หากพบผู้ติดเชื้อ สำนักงานประกันสังคมจะนำสู่ระบบการรักษาต่อไป
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมอบหมายให้สำนักการแพทย์ติดตาม รวบรวม และประเมินผลการดำเนินงานการดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดในแคมป์คนงานก่อสร้างทั้งหมด เพื่อนำแนวทางมาใช้ในการดูแลพื้นที่ระบาดในพื้นที่กรุงเทพมหานครอื่นๆ ต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage/