"...หลังการหารืออย่างเข้มข้นกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะปรับมาให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แม้แค่เพียงเข็มแรก ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก..."
---------------------------
มิ.ย.2564 การฉีดวัคซีนโควิด ถูกรัฐบาลประกาศให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เพื่อเร่งปูพรมฉีดเข็มแรกให้กับประชาชน โดยมีเป้าหมายสุดท้ายคือสิ้นปี 2564 ประชาชนต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อย 70% ของประชากร
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha เมื่อวันที่ 8 พ.ค. ถึงการตัดสินใจปรับแนวทาง – เร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนว่า วัคซีนเข็มแรกจะช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสการเสียชีวิตได้
"หลังการหารืออย่างเข้มข้นกับผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุข เราจะปรับมาให้ความสำคัญกับการเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนจำนวนมากที่สุด เท่าที่จะทำได้ เนื่องจากทางการแพทย์มีความเห็นไปในทางเดียวกันว่า หลังจากได้รับการฉีดวัคซีน แม้แค่เพียงเข็มแรก ก็สามารถช่วยลดโอกาสในการรับเชื้อ ลดความรุนแรงของอาการ และลดโอกาสในการเสียชีวิตไปได้อย่างมาก"
จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘วัคซีนเข็มแรก’ มีความสำคัญกับการรับมือสถานการณ์โควิดเป็นอย่างมาก
ขณะที่ ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ว่า การศึกษาภูมิต้านทานที่เกิดจากการฉีดวัคซีนในประเทศไทย
พบว่าระดับภูมิต้านทานของวัคซีนซิโนแวค เมื่อฉีดครบแล้วทั้ง 2 ครั้ง มีค่าระดับภูมิต้านทานเฉลี่ย 85.9 unit/ml ส่วนภูมิต้านทานหลังฉีดแอสตร้าเซนเนก้าเพียง 1 เข็ม มีค่าลี่ยอยู่ที่ 47.5 unit/ml ทั้งนี้เมื่อเทียบภูมิต้านทานของผู้ที่ติดเชื้อแล้วหายป่วยอยู่ที่ 60.90 unit/ml ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่จะพบภูมิต้านทานได้ 98% - 99% ในขณะที่ผู้ติดเชื้อแล้วหายป่วย พบภูมิต้านทาน 92.4%
"จากข้อมูลนี้ไม่ได้บอกประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มากน้อยแค่ไหน แต่ที่รู้แน่ว่าถึงแม้ว่าจะเป็นโรคแล้ว ระดับภูมิต้านทานก็ยังแตกต่างกันมาก และบางคนก็ตรวจไม่พบ แสดงให้เห็นว่าโรคนี้มีโอกาสเป็นแล้วเป็นอีกได้ ทำนองเดียวกันการฉีดวัคซีนในปัจจุบัน ยังไม่ทราบว่าจะต้องใช้ระดับภูมิต้านทานเท่าใด จึงจะสามารถป้องกันการติดเชื้อ แต่ที่รู้แน่ๆ ก็คือว่าถ้าเรามีภูมิต้านทาน ก็จะสามารถลดความรุนแรงของโรคได้"
เช่นเดียวกับเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยผลการศึกษาประสิทธิผลการกระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน ทั้ง 2 ชนิดที่ใช้ในประเทศไทย โดยศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่า วัคซีนทั้ง 2 ชนิดสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมาก
ผู้ที่ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เข็มแรกมาแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถสร้างแอนติบอดี้ หรือ ภูมิคุ้มกันได้ถึง 97.26%
ข้อมูลระบุด้วยว่า ก่อนฉีดวัคซีน ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดี้ต่อเชื้อโควิด แต่เมื่อฉีดเข็มแรก 4 สัปดาห์ พบว่ามีแอนติบอดี้จากผู้เข้ารับการฉีด 71 จาก 73 ราย หรือคิดเป็น 97.26%
ทั้งนี้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ายังไม่มีรายงานผลการตรวจหลังฉีดเข็มที่ 2 เนื่องจากยังไม่ถึงกำหนดเวลาการฉีด
เมื่อเจาะลงลึกในรายละเอียด พบว่า เพศชาย ตรวจพบแอนติบอดี้ 29 จาก 31 ราย หรือคิดเป็น 93.55% ส่วนเพศหญิง ตรวจพบแอนติบอดี้จากผู้เข้ารับการฉีดทั้ง 42 ราย
โดยกลุ่ม 18-59 ปี ตรวจพบแอนติบอดี้ 100% และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปี ตรวจพบแอนติบอดี้ 93.11 %
ผู้ที่ฉีดวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่าสามารถสร้างแอนติบอดี้ หรือ ภูมิคุ้มกันได้ถึง 99.49%
ข้อมูลระบุด้วยว่า ก่อนฉีดวัคซีน ทุกรายตรวจไม่พบแอนติบอดี้ต่อเชื้อโควิด แต่เมื่อฉีดเข็มแรกไปแล้ว 3 สัปดาห์ พบว่ามีแอนติบอดี้จากผู้เข้ารับการฉีด 124 จาก 188 รายหรือคิดเป็น 65.96%
ต่อมาเมื่อตรวจสอบอีกครั้งหลังฉีดวัคซีนไปแล้ว 4 สัปดาห์ พบว่ามีแอนติบอดี้จากผู้เข้ารับการฉีด 196 จาก 197 รายหรือคิดเป็น 99.49%
จึงน่าจะสรุปได้ว่า ‘วัคซีนเข็มแรก’ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะอย่างน้อยที่สุดก็สามารถช่วยลดความรุนแรงของโรค อีกทั้งปริมาณภูมิต้านทานที่เพิ่มขึ้น ย่อมส่งผลให้โอกาสที่จะติดเชื้อลดลงตามไปด้วย
ถึงแม้ว่านโยบายการฉีดวัคซีนของไทยยังอยู่ระหว่างการรณรงค์ ก่อนที่จะสู่แผนการปูพรมฉีดในช่วงเดือน มิ.ย.เป็นต้นไป แต่พบว่าการควบคุมโรคในหลายจังหวัด กลับดำเนินมาตรการไปในทิศทางตรงกันข้าม และสะท้อนให้เห็นความมั่นใจในประสิทธิภาพวัคซีน
จากการตรวจสอบผ่านเว็บไซต์ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด กระทรวงมหาดไทย (ศบค.มท.) http://www.moicovid.com พบอย่างน้อย 5 จังหวัด ที่มีคำสั่ง กำหนดให้มีการกักตัว 14 วัน สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม ดังนี้
ภูเก็ต ออกคำสั่งที่ 2645/2564 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 และมีผลบังคับใช้วันที่ 18 พ.ค.เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งเดิม กรณีการงดหรือหลีกเลี่ยงการเดินทาง ปิดช่องทางบก ด่านตรวจท่าฉัตรไชย ช่องทางน้ำ ท่าเรือ ทุกท่าในจังหวัดภูเก็ต ห้ามบุคคลและยานพาหนะ ทุกประเภทเข้าจังหวัด ให้เข้ารับการกักตัว 14 วันในที่พักอาศัย และอยู่ในการติดตามของเจ้าหน้าที่ เว้นแต่จะเป็นบุคคลที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม
สตูล ออกคำสั่งที่ 972/2564 เมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 และมีผลบังคับใช้วันที่ 18 พ.ค.เป็นต้นไป กำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้ามา ต้องมีเอกสารรับรองการได้รับวัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม กรณีที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนหรือฉีดไม่ครบให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อในพื้นที่เป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการกักกันรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง คือ กรณีเป็นคนที่เคยทำงานในสถานที่ที่พบโควิดเป็นคลัสเตอร์ หรือคนในครอบครัวเป็นผู้ติดเชื้อ ให้ไปสถานกักตัว 14 วัน ในสถานที่ที่จังหวัดจัดให้ และ กรณีเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ ให้กักตัวเองในที่พัก 14 วัน
บุรีรัมย์ มีประกาศคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2564 และมีผลตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.เป็นต้นไป กำหนดให้ผู้ที่เดินทางมาจากทุกจังหวัด ต้องกักตัว 14 วัน ยกเว้น กรณีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยตรวจสอบจากแอปพลิเคชันหมอพร้อมเท่านั้น
หนองคาย มีคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่ 14/2564 ลงวันที่ 30 เม.ย. และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป กำหนดมาตรการปฏิบัติต่อผู้เดินทางมาจากพื้นที่อื่น รายงานตัวต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำชุมชน อสม.ในพื้นที่ และกักตัวเป็นเวลา 14 เว้น ยกเว้น กรณีที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มาแล้วไม่น้อยกว่า 14 วัน
เพชรบูรณ์ มีคำสั่งจังหวัดที่ 1027/2564 ลงวันที่และมีผลบัคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป กำหนดว่าผู้ที่เดินทางมาจากทุกจังหวัดหากยังฉีดวัคซีนไม่ครบ 2 เข็ม หรือไม่ครบตามกำหนดเวลา มีข้อกำหนดที่แตกต่างกัน ดังนี้
หากได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้ว มาแล้วอย่างน้อย 14 วัน ก่อนเดินทางเข้าจังหวัดให้กักตัว 7 วันหรือเท่าที่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์
หากได้รับวัคซีน 1 เข็ม หรือฉีดครบ 2 เข็มแต่ยังไม่ครบ 14 วัน ก่อนเดิทางเข้าจังหวัดให้กักตัว 10 วันหรือเท่าที่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์
กรณียังไม่ได้รับวัคซีน ก่อนเดินทางเข้าจังหวัดให้กักตัว 14 วันหรือเท่าที่อยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์
นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีก 3 จังหวัด ที่ออกคำสั่งคุมเข้มเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากโซนสีแดงเข้ม หรือ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด’ ประกอบด้วย กทม. นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
เชียงราย ออกคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดที่ 40/2564 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. คำสั่ง และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.เป็นต้นไป
กาฬสินธุ์ มีคำสั่งจังหวัดที่ 3593/2564 ลงวันที่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป
สุรินทร์ ออกประกาศคำสั่งจังหวัดที่ 1699/2564 ลงวันที่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 19 พ.ค.เป็นต้นไป
และมีอีก 2 จังหวัด ที่นอกจากจะคุมเข้มผู้ที่เดินทางมาจาก 4 จังหวัดโซนสีแดงเข้มแล้ว ยังคุมเข้มผู้ที่เดินทางมาจาก 17 จังหวัดโซนสีแดง หรือ ‘พื้นที่ควบคุมสูงสุด’ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นครพนม มีคำสั่งจังหวัดที่ 1213/2564 ลงวันที่และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 พ.ค.เป็นต้นไป
น่าน ออกประกาศจังหวัด ลงวันที่ 16 พ.ค. และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 17 -30 พ.ค. 2564
ทั้งนี้ยังมาข้อมูลที่น่าสนใจจากกรมควบคุมโรคด้วยว่า วัคซีนโควิด 2 ชนิดที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทยในปัจจุบัน ต้องเว้นระยะห่างระหว่างการฉีดเข็มที่ 1 และ เข็มที่ 2 ดังนี้
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ฉีดให้กับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 10 – 12 สัปดาห์ หรือ ประมาณ 2 เดือนครึ่ง ถึง 3 เดือน
วัคซีนซิโนแวค ขณะนี้กำหนดให้ในกลุ่มผู้ที่มีอายุ 18 – 59 ปี โดยต้องได้รับวัคซีนทั้งหมด 2 ครั้ง ห่างกัน 2 – 4 สัปดาห์ หรือ ประมาณ ครึ่งเดือน ถึง 1 เดือน
ซึ่งหมายความว่า อาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 – 12 สัปดาห์ หลังจากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม จึงจะเดินทางเข้าพื้นที่ 10 จังหวัดข้างต้น โดยไม่ต้องกักตัว
และเมื่อพิจารณานโยบายรัฐบาลที่ยกให้เรื่องนี้เป็น 'วาระแห่งชาติ' ด้วยการเร่งปูพรมฉีดวัคซีนในช่วงเดือน มิ.ย. เป็นต้นไป พร้อมคำยืนยันว่าจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้ตั้งแต่การฉีดวัคซีนเข็มแรก สิ่งเหล่านี้อาจสะท้อนให้เห็นความไม่เป็นเอกภาพ หรือ การดำเนินนโยบายที่ไม่ได้เป็นไปในทิศทางเดียวกันระหว่างจังหวัด-รัฐบาล ที่แม้จะมีการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่รวมอำนาจไว้ที่นายกรัฐมนตรีแล้วก็ตามหรือไม่ ?
(ภาพหน้าปกจาก : freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage