“...สาระสำคัญในมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ของศาลยุติธรรม ที่พยายาม ‘ผ่อนคลาย’ เรื่องคำร้องขอฝากขัง หากไม่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ หรือไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ศาลจำเป็นต้องยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ…”
.............................................................
สถานการณ์โควิด-19 ระบาดในเรือนจำ หรือ ‘คลัสเตอร์เรือนจำ’ กำลังเป็นเรื่องที่สาธารณชนให้ความสนใจอย่างมาก
เพราะนับตั้งแต่กรมราชทัณฑ์ทยอยเปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อจากเรือนจำทั่วประเทศ ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์จนถึงวันที่ 19 พ.ค. 2564 พบยอดผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 และอยู่ระหว่างการรักษา 12,767 ราย โดยเรือนจำที่ถูกพบเชื้อมากที่สุดอยู่ที่เรือนจำกลางเชียงใหม่ จำนวน 3,600 ราย
จำนวนผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 ตอนนี้กว่า 1.2 หมื่นราย หรือไม่น้อยกว่า 4% หากเทียบกับยอดผู้ต้องขังทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564) มีจำนวน 310,830 ราย
ประเด็นที่น่าสนใจขณะนี้คือ มีหลายฝ่ายเรียกร้องให้กรมราชทัณฑ์มีมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่งเกี่ยวกับกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และคดียังไม่สิ้นสุด เนื่องจากสถานะเรือนจำไทยขณะนี้ใกล้อยู่ในสถานะ ‘นักโทษล้นคุก’ เข้าไปทุกที ขณะที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด?
ทำให้นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ตอนหนึ่งเกี่ยวกับการขอให้ลดความแออัดในเรือนจำ และทัณฑสถาน โดยเห็นว่า กรมราชทัณฑ์และสำนักงานกองทุนยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ควรพิจารณาแนวทางการปล่อยตัวชั่วคราว สำหรับผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และคดียังไม่สิ้นสุด เพื่อลดความแออัดและการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าว โดยต้องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการปล่อยตัวชั่วคราวในมิติด้านกฎหมาย เพื่อไม่ให้หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมได้รับผลกระทบจากกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ โดยประสานหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยเร็ว และควรมีการบริหารจัดการและมาตรการป้องกันโรคอย่างเป็นระบบ (อ่านประกอบ : กมธ.สิทธิมนุษยชนฯวุฒิสภา เสนอพักโทษ-ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขัง ลดโควิดในเรือนจำ)
สำหรับกลุ่มผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และคดียังไม่สิ้นสุด มีจำนวนรวมถึง 59,995 ราย คิดเป็น 19.302% ของผู้ต้องขังทั้งหมดทั่วประเทศ (ข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เมื่อ 2 พ.ค. 2564) แบ่งเป็น อยู่ระหว่างอุทธรณ์-ฎีกา 30,553 ราย ระหว่างไต่สวน-พิจารณา 9,453 ราย และระหว่างสอบสวน 19,989 ราย
ที่ผ่านมาบางฝ่ายพยายามกดดันไปที่ศาลยุติธรรม เนื่องจากเป็นต้นทางในการพิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องขังที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี และคดียังไม่สิ้นสุดเหล่านี้?
อย่างไรก็ดีเมื่อเดือน พ.ค. 2564 นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม มีหนังสือที่ ศย 016/ว เรื่อง มาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ถึงหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมไว้แล้ว
หนังสือดังกล่าวระบุสาระสำคัญว่า หลังจากโควิด-19 ระบาด และมีผู้ป่วยติดเชื้อยืนยันในสถานที่คุมขังจำนวนมาก สำนักงานศาลยุติธรรมรวบรวมกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และคำแนะนำที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับมาตรการที่สามารถนำมาใช้ลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน ผู้ต้องขัง และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยอ้างถึงคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ฉบับที่ 3 และคำแนะนำของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราว พ.ศ. 2562 ดังนี้
1.การปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา หรือจำเลยในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณาทุกศาล
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยังไม่เคยถูกคุมขัง เช่น ศาลอนุญาตฝากขังครั้งแรก การพิจารณาคำร้องปล่อยตัวชั่วคราว ควรคำนึงถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการติดเชื้อโควิด-19 ในสถานคุมขังประกอบด้วย และเพื่อป้องกันการหลบหนี โดยกำหนดเงื่อนไขให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นในระหว่างนี้ โดยวิธีการดังกล่าวสามารถใช้พิจารณาคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในศาลสูงสำหรับจำเลยที่ไม่เคยถูกคุมขังในระหว่างพิจารณาของศาลล่างได้ด้วย โดยอาจกำหนดเงื่อนไขให้รายงานตัวทางโทรศัพท์หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังในสถานที่คุมขังประสงค์จะขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวนหรือพิจารณา สามารถยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมคำร้อง
ส่วนคดีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษไม่เกิน 3 ปี หากจำเลยเคยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น หรืออุทธรณ์มาก่อน ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกามีคำสั่ง
กรณีผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อน หรือจำเลยที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมาก่อน หรือจำเลยซึ่งมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี แม้ยังไม่มีอุทธรณ์หรือฎีกา หรือยังไม่ได้รับการอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ หรือเงื่อนไขอื่น เช่น มีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแล หรือใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หรืออุปกรณ์อื่นใดที่สามารถตรวจสอบหรือจำกัดการเดินทางของผู้ต้องหาหรือจำเลย
2.การพิจารณาคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาที่ไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว
กรณีสถานคุมขังแห่งใดมีมาตรการควบคุมเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังเพื่อจำกัดวงของการแพร่ระบาดของโรคให้อยู่ในพื้นที่ที่ทางสถานที่คุมขังกำหนด ทำให้ไม่สามารถเบิกตัวผู้ต้องขังมาศาล หรือดำเนินการในลักษณะการประชุมทางจอภาพ (วีดีโอคอนเฟอเรนซ์) การสอบถามผู้ต้องหาว่าจะคัดค้านการฝากขังหรือไม่ อาจดำเนินการโดยส่งสำเนาคำร้องไปยังสถานคุมขัง หากผู้ต้องหาคัดค้าน ให้สถานคุมขังแจ้งศาลโดยเร็ว เพื่อเรียกไต่สวนผู้ร้องถึงเหตุจำเป็น
อย่างไรก็ดีการพิจารณาคำร้องขอฝากขังในชั้นสอบสวนในสถานการณ์มีข้อจำกัด การฟังคำคัดค้านของผู้ต้องหา ควรต้องเรียกพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรือเรียกพยานหลักฐานมาประกอบการพิจารณาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในชั้นนี้ โดยดำเนินการผ่านระบบประชุมจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีอื่น ๆ และต้องได้ความชัดว่า มีเหตุจำเป็นที่จะต้องขังผู้ต้องหาต่อไป หากไม่มีเหตุจำเป็น ต้องยกคำร้อง
นี่คือสาระสำคัญในมาตรการลดการคุมขังและการเคลื่อนย้ายผู้ต้องขังในสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ของศาลยุติธรรม ที่พยายาม ‘ผ่อนคลาย’ เรื่องคำร้องขอฝากขัง หากไม่มีเหตุจำเป็นจริง ๆ หรือไม่มีพยานหลักฐานเพียงพอ ศาลจำเป็นต้องยกคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหาหรือจำเลย เพื่อลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ภายในเรือนจำ
ส่วนจะปฏิบัติได้จริงแท้แค่ไหน ต้องติดตามกันต่อไป!
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/