"...กรมควบคุมโรคประเมินว่าในเดือน มิ.ย. จะมีวัคซีนเข้ามาอีก 6.8 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส คาดว่าจะถึงไทย 22 พ.ค. สำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย คาดว่าจะได้อีกจำนวน 5.8 ล้านโดส และ จัดส่งได้ในเดือน มิ.ย. เป็นการจัดสรรการฉีดเข็มแรกในพื้นที่ 77 จังหวัด แต่ยังคงเน้นพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดอยู่..."
--------------------------------------------------
ปูพรมฉีดวัคซีนโควิด ถูกยกให้เป็น ‘วาระแห่งชาติ’ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ที่ยังคงเป้าหมายหลัก คือ ประชากร 50 ล้านคนหรือ 70% จะต้องได้รับวัคซีนภายในปี 2564 ตามความสมัครใจ
โดยมีการคาดการณ์ว่า วัคซีนเข็มแรกจะถูกฉีดภายใน มิ.ย.-ก.ย.2564
ซึ่งในการประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศปก.ศบค.) เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค เสนอแผนกระจายและการจัดการบริการวัคซีน ระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. โดยมีสิ่งที่น่าสนใจหลายประเด็น
ปัจจุบันไทยมีแผนเตรียมวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส อยู่ระหว่างจัดซื้อเพิ่ม 37 ล้านโดส รวมเป็นทั้งหมด 100 ล้านโดส
อย่างไรก็ตาม สำหรับงบประมาณปี 2565 จะมีการจัดหาเพิ่มอีก 50 ล้านโดส ให้ครบ 150 ล้านโดส ตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ก่อนหน้านี้
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับการฉีดในระยะนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์ 2.เจ้าหน้าที่ด่านหน้า และ 3.กลุ่มอาชีพเสี่ยงภาครัฐและเอกชน เช่น บุคลากรทางการศึกษา , เจ้าหน้าที่บริการประชาชน , พนักงานขนส่งสาธารณะ , ผู้มีอาชีพหรือกิจการที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาน เช่น ด้านสาธารณูปโภค อาหาร ยา ฯลฯ
โดยการบริหารจัดการวัคซีนประจำเดือน พ.ค.2564 จะมีวัคซีนทั้งหมด 2 ล้านโดส แบ่งเป็น ซิโนแวค 1.5 ล้านโดส และ แอสตร้าเซนเนก้า 500,000 โดส
สำหรับซิโนแวค 1.5 ล้านโดส จะมาถึงไทยทั้งหมด 2 ลอต
ซิโนแวค ลอตที่ 1 ได้มาเมื่อวันที่ 6 พ.ค. จำนวน 1 ล้านโดส คาดว่าจะจัดส่ง 14 พ.ค. เพื่อกระจายให้มีการฉีดเข็มแรกในพื้นที่ 77 จังหวัด โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ดังนี้
นักเรียนศึกษาต่อต่างประเทศ นักการทูต 20,000 โดส , กทม. 100,000 โดส , ภูเก็ต 200,000 โดส , จังหวัดขับเคลื่อนเศรษฐกิจ 8 จังหวัด คือ กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ชลบุรี บุรีรัมย์ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ รวม 200,000 โดส
จังหวัดอื่นๆ 67 จังหวัด 323,000 โดส , เจ้าหน้าที่สถานกักกันและราชทัณฑ์ 10,000 โดส , ตำรวจ 37,000 โดส , ทหาร 10,000 โดส และสำรองส่วนกลางสำหรับตอบโต้การระบาด 100,000 โดส
ซิโนแวค ลอตที่ 2 ได้รับมาเมื่อวันที่ 14 พ.ค. จำนวน 500,000 โดส คาดว่าจะจัดส่ง 17 พ.ค.ซึ่งเป็นการจัดสรรไปพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อฉีดวัคซีนเข็มแรกในพื้นที่ระบาด แบ่งเป็นการฉีดให้กลุ่มเป้าหมาย 300,000 โดส และฉีดให้ชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย 200,000 โดส
สำหรับแอสตร้าเซนเนก้า 500,000 โดส ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย คาดว่าจะจัดส่งได้วันที่ 21 พ.ค. โดยเป็นการจัดสรรไปที่พื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อฉีดเข็มแรกในพื้นที่ระบาด
กรมควบคุมโรคเสนอว่า วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 500,000 โดส ควรบริหารจัดการโดยแบ่งเป็น การจัดสรรฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในพื้นที่ 7 จังหวัด คือ กทม. สมุทรปราการ ชลบุรี นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร และระนอง จำนวน 100,000 โดส
ส่วนการฉีดวัคซีนเข็มแรก แบ่งเป็น การบริหารนักการทูต องค์กรระหว่างประเทศ 20,000 โดส , กทม. 300,000 โดส และสำรองส่วนกลางสำหรับการตอบโต้การระบาด 80,000 โดส
อย่างไรก็ตาม กรมควบคุมโรคประเมินว่าในเดือน มิ.ย. จะมีวัคซีนเข้ามาอีก 6.8 ล้านโดส แบ่งเป็นซิโนแวค 1 ล้านโดส คาดว่าจะถึงไทย 22 พ.ค. และคาดว่าจะจัดส่งได้ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ซึ่งจะเป็นการจัดสรรวัคซีนเข็มที่ 2 ในกลุ่มเป้าหมาย 77 จังหวัด
สำหรับ แอสตร้าเซนเนก้า ที่ผลิตโดยสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย คาดว่าจะได้อีกจำนวน 5.8 ล้านโดส และจัดส่งได้ในเดือน มิ.ย. และจะเป็นการจัดสรรการฉีดเข็มแรกในพื้นที่ 77 จังหวัด แต่ยังคงเน้นพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่การระบาดอยู่
ทั้งนี้ตั้งแต่ เดือน มิ.ย.จะมีแผนการปูพรมฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่ระบาด กทม.และปริมณฑล 3 รูปแบบ ที่แบ่งสัดส่วน ดังนี้
นัดหมายผ่านแอปพลิเคชันหรือไลน์ หมอพร้อม จำนวน 30%
นัดหมายโดยตรงกับโรงพยาบาล อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จำนวน 50%
เปิดให้เดินเข้ารับวัคซีนแบบไม่ได้นัดหมาย หรือ walk in จำนวน 20%
ซึ่งขั้นตอนการเข้ารับวัคซีนแบบ walk in จะต้องตรวจสอบสถานพยาบาลหรือจุดบริการฉีดวัคซีนนอกสถานพยาบาล โดยให้นำบัตรประชาชน หรือ บัตรที่ราชการออกให้ หรือ หนังสือเดินทาง จากนั้นให้แจ้งความประสงค์เข้ารับวัคซีน กรณีคิวเต็มให้เจ้าหน้าที่ลงทะเบียนนัดหมายการฉีดวัคซีนในวันถัดไป ส่วนกรณีที่มีโรคประจำตัว ขอให้ปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเป็นประจำเพื่อพิจารณาก่อนเข้ารับวัคซีน
สำหรับอีกแนวทางที่จะทำให้การฉีดวัคซีนโควิด กระจายไปอย่างรวดเร็ว คือ การฉีดวัคซีนตามกลุ่มองค์กรต่างๆ ซึ่งกรมควบคุมโรค กำหนดแนวทางไว้ ดังนี้
1.ให้แต่ละจังหวัด สำรวจความต้องการวัคซีนของกลุ่มองค์กร เช่น ครู โรงงาน ร้านอาหาร ขนส่งสาธารณะ
2.ให้จังหวัดจัดบริการวัคซีนสำหรับองค์กรแบบปกติร่วมกับประชาชนทั่วไป หรือแบบกลุ่มองค์กรตามความเหมาะสม
3.หากหน่วยงานส่วนกลางส่งความต้องการวัคซีนมาที่กรมควบคุมโรค จะมีการจัดสรรวัคซีนให้ตามจังหวัดที่ตั้งหน่วยงาน และให้จังหวัดดำเนินการฉีดวัคซีนต่อไป
4.หากหน่วยงานต้องการจัดบริการร่วมกับภาคเอกชนหรือภาครัฐอื่นๆ กรมควบคุมโรคจะดำเนินการจัดสรรวัคซีนให้ ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องเตรียมทีมแพทย์ โรงพยาบาลที่รับผิดชอบ ผู้ประสานงาน และระบบข้อมูลตามที่กรมควบคุมโรคกำหนด
ทั้งหมดเป็นแผนบริหารจัดการวัคซีนโควิดจากกรมควบคุมโรค ที่ถูกเสนอให้ ศบค.พิจารณาเมื่อวันที่ 14 พ.ค.2564 แต่หลังจากนี้จะมีการเปลี่ยนแปลงกลุ่มเป้าหมาย-วิธีการกระจายวัคซีนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป
(หมายเหตุ : ภาพหน้าปกจาก freepik)
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage