"...คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเข้าถึงในด้านใดเลย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองตั้งแต่มีการระบาดในระลอกแรก รวมไปถึงมาตรการเยียวยาที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชั่น ส่วนการระบาดในรอบที่ 2 รัฐได้มีการปรับเปรียบการเยียวยาโดยสามารถลงทะเบียนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มาเปิดรับลงทะเบียน ทำให้คนไร้บ้านบางคนที่มีบัตรประชาชนเข้าถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือดังกล่าวได้ แต่บางรายก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการได้รับ หรือได้รับสิทธิแล้ว..."
-----------------------------------
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ระลอกที่ 3 ทั้งยังมีการพบเชื้อที่กลายพันธุ์ สร้างความตื่นตระหนกและความกังวลให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก รวมถึงยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งสูงขึ้น และตัวเลขผู้เสียชีวิตรายวันที่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อผู้คนทุกภาคส่วน ทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคม
เกือบทุกคนปรับตัว ปรับวิถีชีวิตเป็นในรูปแบบใหม่ เช่น การเวิร์กฟอร์มโฮม รวมถึงการตั้งการ์ดสูงเพื่อป้องกันตัวเองและครอบครัวมากยิ่งขึ้น แต่ทว่า มีผู้คนอีกกลุ่มหนึ่ง ที่แม้ว่าโรคระบาดจะรุนแรงหรือน่ากลัวเช่นไร ก็ยังต้องใช้ชีวิตเพียงลำพัง ไม่มีบ้าน ไม่มีที่อยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง อาศัยพื้นที่สาธารณะเป็นสถานที่พักพิง ไม่มีสิทธิลุ้นว่าตัวเองติดเชื้อแล้วหรือไม่ เพราะขาดโอกาสการเข้าถึงการตรวจคัดกรอง ส่วนวัคซีนเรียกได้ว่าเป็นความหวังที่แสนริบหรี่ นั่นคือ 'คนไร้บ้าน' หรือ 'คนเร่ร่อน'
@ คนเร่ร่อนหน้าใหม่ เพิ่มขึ้น 20%
จากข้อมูลการวิจัยของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) โดย ผศ.ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา และคณะวิจัย ได้ทำการสำรวจคนไร้บ้านในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล และพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค. - 22 ส.ค. 2563 จำนวนทั้งสิ้น 139 ราย เพื่อให้เข้าใจถึงวิถีชีวิต ความต้องการและทัศนคติต่อโรคโควิดของกลุ่มคนไร้บ้าน รวมทั้งศึกษาแนวทางการช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านในสถานการณ์การระบาดและหลังการระบาด พบว่า มีกลุ่มคนไร้บ้านหน้าใหม่ ร้อยละ 19.42 หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 20 เนื่องจากผลของมาตรการควบคุมการระบาด ส่วนเรื่องการหารายได้ของกลุ่มคนไร้บ้านที่เปลี่ยนแปลง โดยส่วนมากแทบจะไม่มีงานทำ จากเดิมที่ช่องทางหลักเป็นการขายของเล็กๆ น้อยๆ ตามงาน
@ ปากท้องสำคัญกว่าติดเชื้อ
โดยกลุ่มคนไร้บ้านให้ความสำคัญกับปัญหาปากท้องหรือความอดอยาก มากกว่าการติดเชื้อ คิดเป็นจำนวนร้อยละ 79.14 เนื่องจากเป็นปัญหาที่ต้องเผชิญทุกวัน และช่องทางการหารายได้เพื่อยังชีพน้อยลง จากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด
@ มากกว่าครึ่งไม่รู้ว่ามีบ้านพักชั่วคราว
ส่วนมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ เช่น โครงการคนไทยไม่ทิ้งกัน ที่มอบเงินช่วยเหลือแรงงานนอกระบบผ่านการลงทะเบียนออนไลน์ พบว่า คนไร้บ้านเพียงร้อยละ 20.14 เท่านั้นที่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือ และการจัดเตรียมบ้านพักชั่วคราวสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่เชื้อ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า มากกว่าครึ่งของกลุ่มคนไร้บ้าน ไม่ทราบว่ามีบ้านพักชั่วคราว และส่วนที่ทราบกว่าครึ่งไม่ทราบช่องทางการติดต่อ และอีกเหตุผลหลักที่ไม่ต้องการเข้าพัก คือ ความไม่เป็นอิสระ
ทั้งนี้ มีคนไร้บ้านร้อยละ 6.47 เท่านั้น ที่มีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนและต่ออินเทอร์เน็ตพร้อมใช้งาน แสดงให้เห็นว่า คนไร้บ้านจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือได้ ยังรวมถึงคนไร้บ้านที่ไม่มีบัตรประชาชน ก็ไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆได้อีกด้วย
โดยสรุป จากผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่า โครงสร้างพื้นฐานและระบบสวัสดิการของ พม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่สอดคล้องกับความต้องการและข้อจำกัดของกลุ่มคนไร้บ้าน
นอกจากนั้น สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน รวมถึงคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ พบข้อมูลที่น่าสนใจ ดังนี้
@ ส่วนใหญ่เข้าไม่ถึงมาตรการเยียวยา
จากข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน ปี 2563 พบว่า มีคนไร้บ้าน คนไร้ที่พึ่ง คนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ใน 5 เขตกลางเมืองหลวงของไทย ได้แก่ เขตพระนคร เขตบางซื่อ เขตจตุจักร เขตปทุมวัน และเขตสัมพันธวงศ์ รวม 4,432 ราย แบ่งเป็นผู้หญิง 2,623 ราย ชาย 1,855 ราย
โดยผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ถูกแบ่งเป็น คนเร่ร่อน 1,702 ราย คนติดสุรา 920 ราย ผู้ใช้ที่สาธารณะหลับนอนชั่วคราว 800 ราย ผู้ป่วยทางจิต 932 ราย คนจนเมือง 402 ราย คนไร้บ้าน 415 ราย พนักงานขายบริการอิสระ 893 ราย ครอบครัวเร่ร่อน 294 ราย และอื่นๆ
นางอัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยถึงผลกระทบที่กลุ่มคนไร้บ้าน หรือคนเร่ร่อน ว่า คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการเข้าถึงในด้านใดเลย ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองตั้งแต่มีการระบาดในระลอกแรก รวมไปถึงมาตรการเยียวยาที่ได้รับผ่านแอปพลิเคชั่น ส่วนการระบาดในรอบที่ 2 รัฐได้มีการปรับเปรียบการเยียวยาโดยสามารถลงทะเบียนด้วยบัตรประจำตัวประชาชนได้ โดยกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มาเปิดรับลงทะเบียน ทำให้คนไร้บ้านบางคนที่มีบัตรประชาชนเข้าถึงมาตรการเยียวยาช่วยเหลือดังกล่าวได้ แต่บางรายก็ไม่รู้ว่าตัวเองมีสิทธิในการได้รับ หรือได้รับสิทธิแล้ว
ส่วนสถานการณ์การระบาดรอบล่าสุด ระลอกที่ 3 นางอัจฉรา กล่าวว่า ยังไม่เห็นหน่วยงานภาครัฐ หรือมีแนวทางการช่วยเหลือเยียวยาใดๆ ทั้งที่กลุ่มคนไรบ้าน จัดว่าเป็นบุคคลที่ได้รับผลกระทบและเป็นกลุ่มเสี่ยง รวมถึงด้านประชาชนทั่วไปก็ได้รับผลกระทบ ภาคธุรกิจได้รับผลกระทบแบบการะสะสมพิษบาดแผล ไม่เหลือกำลังมากพอที่จะแบ่งปันความช่วยเหลือได้ เหมือนช่วงการระบาดระลอกแรก
นอกจากนี้ผลกระทบในการระบาดรอบล่าสุด ที่เกิดการระบาดในชุมชนสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจ เกิดปัญหาการไม่มีงานทำจนทำให้คนจำนวนมากต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะ คนไร้ที่พึ่ง เนื่องจากไม่มีความสามารถในการจ่ายค่าเช่าหรือผ่อนชำระที่อยู่อาศัย มีแนวโน้มที่จะมีคนตกงานและต้องออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจากมาตรการควบคุมโรคระบาด เช่น การจำกัดเวลาเปิด-ปิดร้านอาหาร ไม่อนุญาตให้นั่งทานที่ร้าน ส่งผลกระทบกับผู้คนที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ เนื่องจากทำมาหากินลำบากมากขึ้น ไม่มีงาน ไม่มีรายได้จากการรับจ้างประจำวัน เช่น ล้างจาน หรือเก็บขยะตามร้านอาหาร เป็นต้น
@ ความช่วยเหลือที่รอการส่งต่อ
นางอัจฉรา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มูลนิธิอิสชนได้รับข้อความขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งได้มีการประสานและส่งต่อให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง คือ พม. โดยทาง พม. ได้รับเรื่องแล้ว แต่บางกรณีผู้ที่ขอความช่วยเหลือติดต่อกลับมาว่ายังไม่ได้รับการติดต่อจากทาง พม.เลย แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านการส่งต่อ และการสื่อสาร
"ปัญหาคือการส่งต่อเคส ขนาดการส่งต่อเคสระหว่างหน่วยงานรัฐกับรัฐยังมีปัญหาเลย การส่งต่อของภาคเอกชนไปยังหน่วยงานรัฐ ยิ่งยากมากขึ้นไปอีก ส่วนเรื่องปัญหาด้านการสื่อสาร ยกตัวอย่างกรณีเรื่องการตรวจคัดกรอง ที่เป็นปัญหาตั้งแต่โควิดรอบแรก ที่มีประกาศว่าประชาชนทั่วไปตรวจฟรี แต่ประชาชนยังไม่รู้เลยว่าจะต้องทำอย่างไรต่อ ตรวจที่ไหน" นางอัจฉรา กล่าว
@ หน้ากาก 1 ชิ้น ต้องใช้ถึง 2-3 วัน
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 สมาคมคนไร้บ้าน มููลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ได้ทำการสำรวจผลกระทบของโควิด ระลอกที่ 3 ต่อคนไร้บ้าน โดยอาสาสมัครคนไร้บ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ขอนแก่น ระยอง กาญจนบุรี นนทบุรี กทม. และเขตรังสิต พบว่า ช่วงอายุของคนไร้บ้านที่พบมากที่สุด คือ 36 – 60 ปี และมีกลุ่มคนที่พึ่งหลุดออกจากที่พักชั่วคราวมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะไม่เกิน 6 เดือน ถึงร้อยละ 22 แบ่งเป็นออกมาได้ไม่เกิน 1 เดือน ร้อยละ 11 และอยู่ในช่วง 1-6 เดือน ร้อยละ 11
จากการสำรวจพบอีกว่า คนไร้บ้านส่วนใหญ่มีหน้ากากอนามัย ส่วนอัตราการเปลี่ยนหน้ากาก ชนิดของหน้ากาก และแหล่งที่มา พบว่า อัตราการเปลี่ยนอยู่ที่ 2-3 วันต่อครั้ง และชนิดของหน้ากากขึ้นอยู่การนำมาบริจาค
@ วัคซีน คือ ความหวัง
ส่วนเรื่องแนวทางการเยียวยาสำหรับกลุ่มคนไร้บ้าน นางอัจฉรา กล่าวว่า เคยเสนอไปยัง พม. เกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อสำหรับคนไร้บ้านแล้ว แต่ติดปัญหาเชิงซ้อนของระบบว่า จะกักตัวที่ไหน อย่างไร เนื่องจากสถานสงเคราะห์ปิด ไม่รับคนเข้าใหม่ ป้องกันการแพร่ระบาดเหมือนกับกรณีการระบาดในเรือนจำ ทั้งนี้จากการระบาดในระลอกล่าสุด แนวทางการช่วยเหลือจึงไม่ควรเป็นเพียงแค่การตรวจคัดกรอง แต่ควรเป็นเรื่องการจัดสรรกระจายวัคซีนให้สามารถเข้าถึงกลุ่มคนไร้บ้านได้ เพราะถ้าหากเข้าถึงวัคซีนได้เร็ว สภาพสังคมและเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวกลับมาได้ ผู้คนก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตเพื่อหาเลี้ยงตัวเองต่อไปได้
"ปัญหาเรื่องวัคซีน ไม่เพียงแต่คนเร่ร่อน แต่ประชาชนทั่วไปยังมีปัญหาเลย รัฐไม่ประกาศให้ชัดเจน ประชาชนทั่วไปยังไม่รู้เลยว่าตัวเองจะต้องรับสิทธิฉีดวัคซีนที่ไหน แล้วคนเร่ร่อน กลุ่มที่รับรู้ข่าวสารได้ยากกว่าคนทั่วไป ไม่ต้องพูดถึงเลย" นางอัจฉรา กล่าว
@ มูลนิธิช่วยเหลือได้เพียงแค่เบื้องต้น
น.ส.กรรณิการ์ ปู่จินะ หรือ พี่อ๊อด แห่งมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เปิดเผยว่า ผลกระทบที่กลุ่มคนไร้บ้านได้รับค่อนข้างมาก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เข้าไม่ถึงเรื่องสวัสดิการ หรือมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ด้วยข้อจำกัดเรื่องของบัตรประชาชน บางคนมไม่มีบัตร บัตรหาย หรือหมดอายุแล้ว รวมถึงข้อจำกัดเรื่องโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ตในการรับเงินเยียวยา มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่จะเข้าถึงมาตรการเยียวยาของภาครัฐ รวมถึงจากสถานการณ์ปัจจุบันที่ทำให้ไม่มีงาน ไม่มีเงินมาเลี้ยงชีพอีกด้วย
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวว่า ทางมูลนิธิได้ทำการช่วยเหลือคนไร้บ้านเบื้องต้น คือการให้คำแนะนำ การมอบถุงยังชีพ อาหาร รวมถึงอุปกรณ์ป้องกันตนเอง เช่น หน้ากากอนามัย แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ เป็นต้น
"ส่วนใหญ่กลุ่มเสี่ยงที่จะติดโควิด คือ กลุ่มผู้สูงอายุกับคนป่วย ทางเราก็ได้มีการช่วยเหลือเบื้องต้น มอบยา อาหาร ให้คำแนะนำ และลงพื้นที่เพื่อติดตามบ่อยขึ้น ภาครัฐยังไม่ค่อยเห็นลงมาช่วยเหลืออะไร" น.ส.กรรณิการ์ กล่าว
@ กลัวขาดอิสระ เหตุผลที่เลือกไม่พึ่งรัฐ
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวอีกว่า ได้มีการติดตามและสอบถามกลุ่มคนไร้บ้านในการเข้าสู่บ้านพักพิงชั่วคราวต่างๆ เช่น บ้านปันสุข บ้านอุ่นใจ ได้รับคำตอบว่า อยากเข้าพักในสถานที่ของเอกชนมากกว่าภาครัฐ เพราะไม่มีความเชื่อมั่นในสถานที่ที่ภาครัฐจัดให้ รวมถึงมีความกังวลว่าจะถูกกักบริเวณ ทำให้ขาดอิสระอีกด้วย ทั้งนี้ มูลนิธิมีคนไร้บ้านที่อยู่ในความดูแลประมาณกว่า 100 ราย แบ่งเป็น ศูนย์ปทุมธานีประมาณ 40 ราย และศูนย์บางกอกน้อยอีกประมาณ 60 กว่าราย
น.ส.กรรณิการ์ กล่าวถึงขอเสนอแนะที่ฝากถึงภาครัฐ ว่า มีคนไร้บ้านอีกจำนวนมากที่ต้องการรับความช่วยเหลือ และที่สำคัญกระบวนการในการตั้งจุดประสานงาน ทั้งในการให้ข้อมูลข่าวสาร การติดต่อกับภาครัฐ รวมถึงการจัดหาวัคซีนในอนาคต จุดประสานงานที่ให้คนไร้บ้านสามารถเข้าถึงได้จะเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ไขปัญหาต่อคนกลุ่มเฉพาะได้ รวมถึงการตั้งจุดคัดกรอง และการเข้าถึงวัคซีน เนื่องจากคนไร้บ้าน ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่มีสถานที่กักตัว
ทั้งหมดนี้คือข้อมูลผลกระทบของกลุ่มคนไร้บ้านจากสถานการณ์โควิด และเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่า กลุ่มคนเหล่านี้ ที่ถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางและมีความเสี่ยง ทางภาครัฐจะมีแนวทางการช่วยเหลือและเยียวยา รวมถึงสิทธิการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ หรือการฉีดวัคซีนป้องกันอย่างไรต่อไป
ภาพประกอบ: มูลนิธิอิสรชน
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage