“...สร้างความล้มเหลวระบบช่วยเหลือการเยียวยา โดยมาตรการที่รัฐบาลใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นมาตรการเดียวทั้งประเทศ คือการหยุดงาน หรือควบคุมการประกอบอาชีพที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน มาตรการดังกล่าวประชาชนได้รับผลกระทบทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาล ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเงินเดือนประจำ แม้สั่งให้หยุดงาน คนกลุ่มนี้ยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนครบถ้วน ส่วนประชาชนทุกอาชีพ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีความเดือดร้อนทุกข์ยากไม่สามารถประกอบอาชีพได้…”
.........................................................
“พฤติการณ์ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริต ไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และรู้เห็นหรือยินยอมให้ข้าราชการในปกครองใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง”
“รัฐบาลกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมายสร้างความล้มเหลวระบบป้องกันโรคระบาด ล้มเหลวระบบให้การรักษาพยาบาล และล้มเหลวระบบช่วยเหลือการเยียวยา โดยไม่ได้ดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ไม่ดำเนินการให้มีการควบคุมโรค การป้องกันโรค การรักษาพยาบาลและการฟื้นฟูสุขภาพ จงใจปฏิเสธความช่วยเหลือจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ของหน่วยงานขององค์กรอนามัยโลกที่จัดวัคซีนให้ประเทศต่างๆ 180 ประเทศ รวมถึงปฏิเสธความช่วยเหลือจากภาคเอกชนในการนำเข้าวัคซีน กลับปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากต้องเจ็บป่วย นอนรอความตาย เพราะขาดโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน”
คือหลักใหญ่ใจความสำคัญที่พรรคร่วมฝ่ายค้าน ไปยื่นหนังสือร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการไต่สวนและมีความเห็นต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กรณีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ล้มเหลว
เนื่องจากเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ปล่อยปละละเลยให้มีการระบาดทั้ง 3 ระลอก แถมมี ส.ส. และรัฐมนตรี รวมถึงคนในรัฐบาลจัดงานกินเลี้ยงจนกลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 แต่นายกฯกลับมิได้ดำเนินการลงโทษบรรดา ส.ส. หรือรัฐมนตรีแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีกรณีการจัดหาวัคซีนที่ไม่มีการขวนขวายให้เพียงพอต่อประชาชน ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น (อ่านประกอบ : ไม่ฟัน รมต.-ขวนขวายหาวัคซีน! ฝ่ายค้านยื่น ป.ป.ช.สอบ‘บิ๊กตู่’บริหารจัดการโควิดฯเหลว)
รายละเอียดแต่ละข้อกล่าวหาเป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้ทราบ ดังนี้
ข้อกล่าวหา : พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. มีพฤติการณ์ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริต ไม่ถือผลประโยชน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน และรู้เห็นหรือยินยอมให้ข้าราชการในปกครองใช้ตำแหน่งหน้าที่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 26, 47, 53, 55, 62, 164, 234 และมาตรา 235 พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 , พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ.2542 , พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 , พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 28 (1), (2) และฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง
ขั้นตอนและรายละเอียดการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหา :
1.สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กำลังระบาดไปทั่วโลก โดยประชาชนไทยตื่นรู้มีความตระหนกถึงภัยดังกล่าว มีการป้องกันการแพร่ระบาดในหมู่ประชาชนที่ต้องใช้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ แต่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ รมว.พาณิชย์ มีพฤติการณ์จงใจไม่ดูแลให้ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด แม้จะมีการประกาศให้หน้ากากอนามัย และแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือเป็นสินค้าควบคุมออก แต่ยังปล่อยให้มีผู้กระทำผิดกฎหมาย มีการกล่าวหาว่าบุคคลใกล้ชิดรวมหาผลประโยชน์ เกิดการกักตุนหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ เกิดความขาดแคลน และมีการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้เมื่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โควิด-19 เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศ แต่รัฐบาลยังรั้งรอไม่ยอมประกาศว่าโควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ทิ้งเวลาจนกระทั่ง 26 ก.พ. 2563 กระทรวงสาธารณสุขจึงออกประกาศให้โควิด-19 เป็นโรคติดต่ออันตราย ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 เมื่อประกาศแล้ว รัฐบาลไม่กำหนดมาตรการในการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดต่ออันตรายที่มีประสิทธิภาพ และมีประโยชน์ในการป้องกันแพร่ระบาดโรคติดต่อแต่อย่างใด แม้มีอำนาจตามที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯก็ตาม ยังปล่อยประชาชนเดินทางมาจากประเทศจีน แหล่งกำเนิดเชื้อโรคโควิด-19 เดินทางเข้ามาในประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการกำหนดมาตรการสั่งปิดสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เป็นสถานที่เสี่ยงในการติดโรคได้โดยง่าย ทั้งที่สถานการณ์ในขณะนั้นเริ่มต้นมีการระบาดของโรคเกิดขึ้นแล้ว
รัฐบาลมีพฤติการณ์จงใจไม่ดูแลให้ปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมาย ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 ถึง 3 รอบสำคัญ กล่าวคือ
รอบที่หนึ่ง โควิด-19 จากสนามมวยเวทีลุมพินี โดยกองทัพบกจัดให้มีการแข่งขันชกมวยฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข และคำสั่ง พล.อ.ประยุทธ์ ที่สั่งการให้ส่วนราชการและหน่วยงานรัฐดำเนินการป้องกัน ควบคุม แก้ไขปัญหา และบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ในคราวประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อ 3 มี.ค. 2563 มีสาระสำคัญคือห้ามกิจกรรมที่มีการรวมตัวของประชาชนจำนวนมาก และอาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค และคณะกรรมการการกีฬามวย การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีหนังสือถึงสนามมวยลุมพินีของให้เลื่อนจัดกิจกรรมออกไปตามมติ ครม. ที่กล่าวข้างต้น
แต่นายสนามมวยและ ผบ.ทบ. ประธานสนามมวย ที่เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาโดยตรงของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังฝ่าฝืนคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย จัดการแข่งขันชกมวยในวันที่ 6 มี.ค. 2563 การฝ่าฝืนดังกล่าวจึงเป็นจุดให้เกิดผู้ทีติดเชื้อหรือแพร่เชื้อได้มากเป็นพิเศษ (Super Spreader) ในรอบแรก
ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2563 ครม.อาศัยอำนาจตามความใน พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ( พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยรวมอำนาจไว้ที่นายกฯคนเดียว ทั้งที่ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะใช้ในสถานการณ์ความไม่สงบเนื่องจากความขัดแย้งทางด้านการเมือง ด้านการใช้กำลังและอาวุธ ไม่ใช่เรื่องโรคติดต่อที่ต้องมีความรู้ทางระบาดวิทยา จึงถือเป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริตเพื่อใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยึดอำนาจรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อิบดี หรือหัวหน้าหน่วยงานเท่าที่กฎหมายกำหนดหน้าที่ อำนาจ และงบประมาณแผ่นดินไว้ ให้โอนมาเป็นอำนาจนายกฯ และประธาน ศบค. ภายหลังประกาศใช้ พบว่า นำไปใช้เพื่อจับกุม คุมขัง ผู้ที่ใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญชุมนุมเรียกร้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ มิได้ใช้ในการป้องกันโรคโควิด-19
รอบที่สอง กลางเดือน ธ.ค. 2563 เกิดการระบาดกลุ่มก้อนใหญ่ (Cluster) อยู่ที่ตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร พบการแพร่ระบาดมาจากแรงงานอพยพชาวเมียนมา ที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารแผ่นดิน ทั้งที่รู้ว่ามีการระบาดในประเทศเมียนมากว่าแสนคน ยังปล่อยปละละเลยไม่ใส่ใจเข้มงวดแนวชายแดน ทำให้แรงงานต่างด้าวเล็ดลอดเข้าประเทศ จนเกิดระบาดหนักที่สุดที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วงเวลาเดียวกันปล่อยปละละเลยให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากบ่อนผิดกฎหมายในพื้นที่ภาคตะวันออก จนเกิดการระบาดรุนแรงกว่ารอบแรก
รอบที่สาม เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2564 พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อังกฤษรายแรก เที่ยวคลับร้านคริสตัลทองหล่อ 25 และร้านเอมเมอร์รัล ย่านทองหล่อ โดยมีข่าวและการให้สัมภาษณ์ของนายกิตติชัย เรืองสวัสดิ์ ส.ส.พรรคภูมิใจไทย ยอมรับว่า ได้ไปเที่ยวคลับย่านทองหล่อร่วมกับนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ที่ติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงเวลาเดียวกัน การปรากฎเป็นข่าวร่วมมั่วสุมด้วย นายกฯ ให้สัมภาษณ์การแพร่ระบาดครั้งนี้ มีข่าวพาดหัวว่า ‘นายกฯเผย ‘รมต.’ คนไหนไปเที่ยว ‘ทองหล่อ’ มารู้ตัวอยู่แล้ว’ และพบว่ามีพฤติการณ์แก้ไขไทม์ไลน์ของนายศักดิ์สยาม ถึง 3 วัน เป็นสิ่งผิดปกติที่ประชาชนทั่วไปทำไม่ได้ และการแก้ไขหรือปกปิดไทม์ไลน์เป็นข้อมูลและหลักฐานที่มีความสำคัญ เป็นเรื่องร้ายแรงที่มีความผิดทางอาญา แต่ไม่มีการดำเนินคดีกับนายศักดิ์สยามแต่อย่างใด
นอกจากนี้ยังมีกรณีของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม จัดงานช่วงสงกรานต์ที่ จ.สุโขทัย มีคนร่วมจำนวนมาก ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ในกลุ่มผู้มาร่วมงานมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลายคน และมีผู้เสียชีวิตด้วย
2.ประชาชนทุกคนมีสิทธิได้รับการปกป้องและรักษาตนเองจากโควิด-19 ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ให้การรับรองไว้ และรัฐบาลมีหน้าที่ต้องดำเนินการให้ประชาชนรับบริการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง แต่พบว่านายกฯ และประธาน ศบค. ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริต มีพฤติการณ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ไม่มีการปฏิบัติตาม และบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เช่น
การป้องกันการแพร่ระบาดโรคติดต่อที่สำคัญ ต้องใช้หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์ แต่กลับเกิดการขาดแคลนและมีการกักตุนขึ้นทันทีทันใด แม้รัฐบาลจะมีมติ ครม. เมื่อ 3 ก.พ. 2563 เห็นชอบให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม กลับพบว่า มีการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาทคือ คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มี รมว.พาณิชย์ เป็นประธานและกรรมการ โดยการประชุมครั้งที่ 1/2563 เมื่อ 3 ก.พ. 2563 มีมติว่า กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องใช้อำนาจ กกร. กำหนดมาตรการ อาจตไม่ทันต่อสถานการณ์และไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที จึงมอบอำนาจให้เลขาธิการฯ มีอำนาจในการบริหารจัดการและรายให้ กกร. ทราบภายใน 15 วัน เป็นมติไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะขัดต่อมาตรา 27 ที่ให้ประธานกรรมการ มีอำนาจใช้อำนาจของคณะกรรมการไปพลางก่อนได้ การมอบช่วงต่อให้เลขาธิการ กกร. จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
นอกจากนี้เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2563 เจ้าหน้าที่กรมศุลกากรตรวจพบการลอบส่งออกหน้ากากอนามัย จำนวน 5.6 ล้านชิ้น ทั้งที่ได้ประกาศเป็นสินค้าควบคุมและไม่ยกเว้นกับผู้ได้รับสิทธิจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) นายกฯมีอำนาจยับยั้งการส่งออกหน้ากากอนามัย กรณีจำเป็นในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ เป็นการขาดความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่อย่างร้ายแรง เกิดความเสียหายกับประชาชน นอกจากนี้นายกฯยังละเว้นไม่ตรวจสอบนายจุรินทร์ ในฐานะ รมว.พาณิชย์ จากกรณีมอบอำนาจให้เลขาธิการ กกร. โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายด้วย
ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จงใจปฏิเสธความช่วยเหลือจากโครงการโคแวกซ์ (COVAX) ของกหน่วยงานของ WHO ที่จัดวัคซีนให้ประเทศต่าง ๆ จำนวน 180 ประเทศ แต่ประเทศไทยไม่เข้าโครงการนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของชีวิตคนไทยมีค่าน้อยกว่าผลประโยชน์ส่วนตัวของรัฐบาล กรณีวัคซีนที่ภาคเอกชนพร้อมช่วยเหลือ จ่ายเงินเองเพื่อนำเข้าวัคซีนทางเลือก แต่กลับปฏิเสธความช่วยเหลือในทุกทาง ปล่อยให้ประชาชนจำนวนมากต้องเจ็บป่วย นอนรอความตาย เพราะขาดโอกาสในการเข้าถึงวัคซีน รัฐบาลไม่เห็นใจทุกข์ของประชาชนแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในการดำเนินการจัดหาวัคซีนของกระทรวงสาธารณสุข ศบค. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานฯ ไม่สุจริตส่อไปในทางทุจริต ละเลยไม่ขวนขวายจัดหาวัคซีนที่มีความสำคัญ และจำเป็นยิ่งอย่างรวดเร็ว ให้หลากหลายยี่ห้อและเพียงพอให้ประชาชนโดยเร็วที่สุดเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่สร้างความเสียหายต่อชีวิตประชาชนอย่างมากในเวลาต่อมา และเกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจ สังคม และทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศต้องมีชีวิตความเป็นอยู่อย่างทุกข์ทรมาน
การออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท แสดงถึงรัฐบาลมีเงินมากเพียงพอในการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 แต่ พล.อ.ประยุทธ์ จงใจละเลยทำให้เกิดการล่าช้าไม่จัดหาวัคซีนอย่างรวดเร็ว และจำนวนไม่เพียงพอ ทำให้ประชาชนไม่มีภูมิคุ้มกัน และติดเชื้อ เจ็บป่วย เสียชีวิตจำนวนมาก
นอกจากนี้พบข้อมูลว่า ในการจัดหากลับได้นำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ตั้งเพิ่มเติมเป็นงบกลางสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายแก้ปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการะบาดโควิดข19 กว่า 4 หมื่นล้านบาท มาใช้ซื้อวัคซีนแทน โดยนำเงินส่วนนี้ไปซื้อวัคซีนครั้งแรกตามมติ ครม. เมื่อ 17 พ.ย. 2563 จำนวน 2,379.34 ล้านบาท จากบริษัท AstraZeneca (Thailand) และบริษัท AstraZeneca UK ให้สถาบันวัคซีนแห่งชาติจัดทำสัญญาจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า ไม่ใช่สั่งซื้อเพื่อนำมาใช้ทันที และของงบประมาณเพิ่มเติมเรื่อยมา โดยไม่พิจารณาจัดหาวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ เพื่อเพิ่มโอกาสกระจายการฉีดวัคซีนให้แก่ประชาชน ทั้งที่ขณะนั้นมีวัคซีนอื่นที่ประสบความสำเร็จเกิดขึ้นแล้ว ขณะที่ AstraZeneca ยังอยู่ในขั้นทดลอง มีความเสี่ยงเรื่องเวลา และความสำเร็จของวัคซีน (ต่อมาเมื่อมีเสียงเรียกร้องจึงเริ่มติดต่อรายอื่น)
จึงมีเจตนาทุจริตในการเอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทผู้ผลิตเพียงรายเดียวได้ทำสัญญาจัดซื้อจัดหาผูกผันกันไว้แล้ว อีกทั้งยังละเว้นไม่ใช้สิทธิจองวัคซีนตามโครงการ COVAX ที่ WHO เสนอให้จองได้ทั้งจองซื้อหรือจองขอบริจาค จนทำให้บัดนี้ ณ วันที่ 10 พ.ค. 2564 ประชาชนที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบ 2 เข็ม มีจำนวนเพียง 532,462 ราย ส่วนประชาชนที่ฉีดเข็มแรก มีแค่เพียงประมาณ 1,365,992 ราย รวมประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็ม ร้อยละ 1 ของประชากรไทยเท่านั้น
3.สร้างความล้มเหลวระบบช่วยเหลือการเยียวยา โดยมาตรการที่รัฐบาลใช้ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นมาตรการเดียวทั้งประเทศ คือการหยุดงาน หรือควบคุมการประกอบอาชีพที่เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน มาตรการดังกล่าวประชาชนได้รับผลกระทบทั้งหมด ยกเว้นกลุ่มผู้มีอำนาจในรัฐบาล ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่รัฐที่มีเงินเดือนประจำ แม้สั่งให้หยุดงาน คนกลุ่มนี้ยังได้รับเงินเดือนและค่าตอบแทนครบถ้วน ส่วนประชาชนทุกอาชีพ ทุกคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง มีความเดือดร้อนทุกข์ยากไม่สามารถประกอบอาชีพได้
นอกจากนี้ยังมีกรณีเยียวยาผ่านกลุ่มเป้าหมายประชารัฐสวัสดิการ ที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ให้ความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินสำนักงานปลัดกระทรวงการคลังว่า ไม่สามารถแสดงความเห็นต่อรายการการเงินของหน่วยงานได้ เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุนดังกล่าว เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบความมีอยู่จริง และเกิดขึ้นจริงของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นได้ตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน การจ่ายเงินที่ไม่สามารถตรวจสอบได้ จึงเป็นการมิชอบ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐฯ ที่รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
ทั้งหมดคือเนื้อหาสำคัญโดยสรุปเกี่ยวกับคำร้องของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ขอให้สำนักงาน ป.ป.ช. ดำเนินการไต่สวน ‘บิ๊กตู่’
บทสรุปจะเป็นเช่นไร คงต้องรอดูกันต่อไป?
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage