"…ศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 ศูนย์ สามารถให้บริการได้ตกวันละ 50,000 คน รวมกับโรงพยาบาลภายในกทม.อีก 126 แห่ง สามารถให้บริการได้ 30,000 คนต่อวัน รวมแล้วจะได้ 80,000 คนต่อวัน เมื่อใช้เวลาประมาณ 2 เดือนครึ่ง จะฉีดครบ 6 ล้านโดสตามที่วางแผนไว้…”
…………………………………………………………..
ท่ามกลางการระบาดของโควิดระลอกใหม่ กรุงเทพมหานครกลายเป็นพื้นที่สีแดงอีกครั้ง จากสะเก็ดไฟที่กระเด็นมาจากย่านทองหล่อ ทำให้กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงที่สุดกว่าครึ่งของประเทศมาอย่างต่อเนื่อง
เกิดการระบาดเป็นคลัสเตอร์จำนวนมาก กระจายไปทั่วกรุงเทพมหานคร อาทิ ชุมชนแออัดเขตคลองเตย, ชุมชนบ่อนไก่ ชุมชนเคหะบ่อนไก่, แคมป์คนงานโมราวรรณ อ่อนนุช, ตลาดสำเพ็ง, ชุมชนบ้านญวน หรือแยกมหานาค, ชุมชนแฟลตดินแดง, ตลาดสะพานขาวมหานาค, ประตูน้ำ, พระราม 9, โบ๊เบ๊, สีลม บางรัก, ปากคลองตลาด หรือตลาดยอดพิมาน
เพื่อควบคุมการระบาด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร จึงได้เตรียมแผนการตรวจหาเชื้อโควิดเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง และเปิดหน่วยฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล 14 แห่ง ร่วมกับกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย โรงพยาบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมสถานที่ฉีดวัคซีนของภาคเอกชน ดังนี้
1. เซ็นทรัล ลาดพร้าว ร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดี
2. เซ็นทรัลปิ่นเกล้า ร่วมกับโรงพยาบาลวชิรพยาบาล
3. ไอคอนสยาม ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช
4. True Digital Park ร่วมกับโรงพยาบาลศิริราช
5. สามย่านมิตรทาวน์ ร่วมกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
6. SCG บางซื่อ ร่วมกับกรมการแพทย์
7. เดอะมอลล์ บางกะปิ ร่วมกับโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี
8. เดอะมอลล์ บางแค ร่วมกับมหาวิทยาลัยสยาม โดยคณะแพทยศาสตร์และคณะพยาบาลศาสตร์
9. ธัญญาพาร์ค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
10. เอเชียทีค ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
11. โรบินสัน ลาดกระบัง ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
12. โลตัส มีนบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
13. บิ๊กซี บางบอน ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
14. PTT Station พระราม 2 ร่วมกับโรงพยาบาลเครือบางปะกอก
โดยเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา หน่วยฉีดวัคซีน เซ็นทรัล ลาดพร้าว ได้เปิดระบบทดลองให้บริการฉีดวัคซีนเป็นวันแรก ขณะที่ในวันที่ 13 พ.ค. 2564 และ 14 พ.ค. 2564 จะเปิดหน่วยฉีดวัคซีน สามย่านมิตรทาวน์ และหน่วยฉีดวัคซีนเดอะมอลล์ บางกะปิ ตามลำดับ ก่อนจะทยอยเปิดให้บริการจนครบ 14 แห่งต่อไป ทั้งนี้ จะขยายหน่วยฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 25 แห่ง ภายในวันที่ 23 พ.ค. 2564 เพื่อให้ประชาชนได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึงและรวดเร็วที่สุดด้วย
ซึ่งอีก 11 แห่งที่อยู่ระหว่างการให้สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจความพร้อมเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด ดังนี้
1. มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
2. สถาบันโรคไตภูมิราชนครินทร์
3. ธนาคารไทยพาณิชย์ (สำนักงานใหญ่)
4. มหาวิทยาลัยศรีปทุม
5. เซ็นทรัล เฟสติวัล อีสต์วิลล์
6. เซ็นทรัลเวิลด์
7. สยามพารากอน
8. เอ็มโพเรียม
9. โลตัส พระราม4
10. โลตัส ปิ่นเกล้า
11. บิ๊กซี ร่มเกล้า
“โดยศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 1,000-3,000 คนต่อวัน และสามารถให้บริการได้ 38,000-50,000 คนต่อวัน เบื้องต้นทุกแห่งจะเปิดให้บริการต่อเนื่อง 7 เดือน ไม่มีวันหยุด” พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว
(พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผูว่าราชการกรุงเทพมหานคร)
@ กทม.เปิดให้บริการ ‘จนท.ด่านหน้า-กลุ่มอาชีพเสี่ยง’ ฉีดวัคซีนกลุ่มแรก
สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับวัคซีนนั้น พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ด้วยวัคซีนยังมีจำกัด จึงต้องจัดลำดับความสำคัญตามกลุ่มเสี่ยงก่อน ตามหลักการควบคุมโรค ซึ่งขณะนี้จะมุ่งเน้นให้กับบุคลากรด่านหน้าที่ต้องปฏิบัติงานในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคและกลุ่มที่มีอาชีพเสี่ยงสัมผัสกับคนจำนวนมาก อาทิ ครู หรือพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ พร้อมยืนยันว่า หากกรุงเทพมหานครได้รับการจัดสรรวัคซีนจำนวนมาก จะสามารถเปิดให้กับกลุ่มอื่นๆ และประชาชนทั่วไปได้
โดยกลุ่มเป้าหมายต่อไป ที่จะได้รับวัคซีนในช่วงเดือน มิ.ย.2564 นั้น ทางกรุงเทพมหานครได้วางแผนไว้ให้กับ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ประกอบด้วย โรคทางเดินหายใจเรื้อรังรุนแรง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตวายเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคอ้วน รวมถึงกลุ่มที่ต้องเดินทางบ่อยหรือพบปะผู้คนจำนวนมาก เช่น พนักงานส่งของ พนักงานขายประจำร้านสะดวกซื้อ พนักงานบริการในร้านอาหาร พนักงานในภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม หรืออยู่ในภาคธุรกิจที่มีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจของประเทศ ส่วนจะเป็นกลุ่มใดต่อไปนั้น จะต้องรอการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดต่อไป
(นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร)
@ กทม. อำนวยความสะดวก เปิดจองฉีดวัคซีน 2 รูปแบบ
นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวอีกว่า การเปิดให้บริการจองฉีดวัคซีนขณะนี้ จะยังเป็นการนำรายชื่อของกลุ่มเป้าหมายแรก ‘เจ้าหน้าที่ด่านหน้า-กลุ่มอาชีพเสี่ยง’ มาให้ลงทะเบียนผ่านสำนักอนามัยก่อน เนื่องจากกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องมีการพบปะกับผู้คนจำนวนมาก จึงอยากขอเรียนว่าทางกรุงเทพมหานครได้ทำตามหลักการควบคุมโรคใน ทั้งนี้ได้รับรายงานทุกวันเหมือนกันว่า มีประชาชนบางรายที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเป้าหมายมาขอรับวัคซีน เนื่องจากประชาชนให้ความสนใจในวัคซีน ขอยืนยันว่าทุกคนจะได้รับวัคซีนต่อไปแน่นอน โดยกลุ่มเป้าหมายถัดไปสามารถลงทะเบียนผ่าน ‘หมอพร้อม’ ในวันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป และมาใช้บริการฉีดวัคซีนได้ตามนัดหมาย
ส่วนการรับฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน (Walk-In) ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นอยากให้เน้นลงทะเบียนจองคิวฉีดวัคซีนผ่าน Line Official Account หรือแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อลดความแออัดตามมาตรการป้องกันโรคภายในหน่วยบริการฉีดต่างๆ ส่วนกรณีผู้ที่มีความจำเป็น ไม่สามารถใช้หมอพร้อมได้ อาจขอความร่วมมือจากผู้ใกล้ชิดทุกคนลงทะเบียนให้ หรืออาจแจ้งศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล เพื่อลงทะเบียนจองรับวัคซีนต่อไป อย่างไรก็ตามหากวัคซีนมีปริมาณมากเพียงพอกรุงเทพมหานครจะนำไปพิจารณาเพิ่มเติม เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด
“ขอเรียนว่าการจัดสรรวัคซีน เราจะต้องจัดสรรตามความเสี่ยง การเปิดรับฉีดวัคซีนแบบวอล์กอิน อาจทำให้กลุ่มเสี่ยงหมดโอกาสรับวัคซีนได้ เนื่องจากผู้ที่จองได้รวดเร็วที่สุด คงจะได้รับหมด ดังนั้นในช่วงที่วัคซีนยังมีจำกัด จึงขอให้กลุ่มเสี่ยงได้รับก่อน แต่ต่อไปหากมีวัคซีนมากเพียงพอ จะขยายออกไปให้ประชาชนเข้าถึงวัคซีนให้ได้มากที่สุด” ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
(นพ. สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์)
@ กรณีใช้งาน‘หมอพร้อม’ไม่ได้ ให้แจ้งศูนย์ BFC - โรงพยาบาล
สำหรับกรณีผู้ใช้ Line Official Account หรือแอปพลิเคชันหมอพร้อม ไม่พบรายชื่อตนเองนั้น นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กล่าวว่า สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุและกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว 7 โรคเรื้อรัง ซึ่งเปิดให้ลงทะเบียนผ่านหมอพร้อมได้แล้ว หากไม่พบรายชื่อ ขอให้ติดต่อจองวัคซีน ไปยังศูนย์บริหารราชการฉับไว (Bangkok Fast & Clear: BFC) ของโรงพยาบาลสังกัดสำนักการแพทย์ทั้ง 11 แห่ง หรือให้โทรติดต่อสายด่วนสำนักการแพทย์ 1646
ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปนั้น หมอพร้อมจะเปิดให้ลงทะเบียน ตั้งแต่วันที่ 7 มิ.ย.2564 เป็นต้นไป การเข้าไปลงทะเบียนในตอนนี้ จึงอาจไม่ปรากฎรายชื่อ ทั้งนี้หากในวันเปิดลงทะเบียน ไม่พบรายชื่อตนเอง พบปัญหาการใช้งาน หรือมีข้อจำกัดไม่สามารถใช้หมอพร้อมได้ ให้แจ้งศูนย์ BFC หรือโรงพยาบาลด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำหน้าที่คอยเป็นที่ปรึกษาดำเนินการจองฉีดวัคซีนต่อไป
(พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย)
@ คาดฉีดวัคซีน 6 ล้านคน ภายใน 2 เดือนครึ่ง
“หลังวันที่ 17 พ.ค.2564 เป็นต้นไป กรุงเทพมหานครจะได้รับวัคซีน 1 ล้านโดส ขณะเดียวกันภาครัฐพร้อมจะจัดซื้อวัคซีนเพิ่มอีก 50 ล้านโดส แม้ว่าจะยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าในภายภาคหน้าจะได้รับวัคซีนมากน้อยเพียงใด แต่จะจัดสรรการฉีดวัคซีนให้มีประสิทธิภาพที่สุด” พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย กล่าว
พญ.ป่านฤดี กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเดิมกรุงเทพมหานครเคยขอวัคซีนจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวน 500,000 โดส แต่ด้วยสถานการณ์การระบาดที่รุนแรงขึ้น จึงได้ขอเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุข อีก 1,000,000 โดส ซึ่งจะได้รับในช่วงวันที่ 17 พ.ค.2564 ทำให้จากเป้าหมายที่ทางกรุงเทพมหานคร ตั้งเป้าฉีดวัคซีน 6 ล้านคน ภายใน 4 เดือนนั้น คาดว่ากรุงเทพมหานครจะใช้เวลาเพียง 2 เดือน หรือ 2 เดือนครึ่ง
“ศักยภาพการให้บริการฉีดวัคซีนทั้ง 25 ศูนย์หน่วยฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล สามารถให้บริการได้ 50,000 คนต่อวัน และโรงพยาบาลที่ร่วมกับกรุงเทพมหานครอีก 126 แห่ง สามารถให้บริการได้ 30,000 คนต่อวัน หากรวมแล้วจะสามารถให้บริการได้ 80,000 คนต่อวัน เมื่อใช้เวลาประมาณ 2 เดือน หรือ 2 เดือนครึ่ง ก็จะฉีดครบ 6 ล้านโดสตามที่ได้วางแผนไว้ ทั้งนี้หากหน่วยบริการฉีดวัคซีนไม่เพียงพอ ทางกรุงเทพมหานครจะร่วมมือกับเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) พร้อมจัดตั้งขึ้นมาทันที ดังนั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่าเราจะให้ทุกคนได้เข้าถึงวัคซีนได้มากและเร็วที่สุด” พญ.ป่านฤดี กล่าว
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/