"…โควิดทำตกงานเพิ่ม 2 เท่า กระทบเด็กจบใหม่ ดังนั้นรัฐควรเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุด ไม่น้อยกว่า 50% ของคนไทยทั่วประเทศ ภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงงานภาคบริการกว่า 20 ล้านคน หากทำได้ตามเป้าหมาย คาดปี 65 ตลาดแรงงานไทยจะฟื้นฟูแน่นอน แม้ว่าขณะนั้นเราอาจจะได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ 3 แล้วก็ตาม แต่ถึงตอนนั้นโควิดคงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา…"
………………………………………………………..
ด้วยสภาวะปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้หลายสถานที่ถูกสั่งปิด ตามมาตรการของภาครัฐ ซ้ำเติมให้ผู้ใช้แรงงานลำบากมากยิ่งขึ้น กระทั่งบางธุรกิจไม่สามารถประกอบกิจการต่อไปได้ หลายคนจึงต้องตกงาน
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลว่า ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกในเดือน ม.ค. 2563 – มี.ค. 2564 มีผู้ประกันตนว่างงาน 1,181,576 คน อย่างไรก็ตามได้มีผู้ประกันตนกลับเข้ามาในระบบแล้ว 405,857 คน และมีผู้ประกันตนใหม่เข้ามาในระบบอีก 378,383 คน เมื่อรวมผู้ประกันตนที่กลับเข้าสู่ระบบ และผู้ประกันตนรายใหม่แล้วอยู่ที่ 803,193 คน ดังนั้นขณะนี้จะมีผู้ตกงานที่แท้จริงเพียง 378,383 ราย
ทั้งนี้ การตกงานของผู้ประกันตนไตรมาสแรกของปี 2564 มีตัวเลขอยู่ที่ 110,000 ราย ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 อยู่ที่ 270,000 ราย
“จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในช่วงของการระบาดระลอกแรกในปี 2563 มียอดผู้ตกงานเยอะกว่า อาจด้วยสถานการณ์ในขณะนั้น ถือว่ายังเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ดังนั้นยอดจำนวนผู้ประกันตนว่างงานในไตรมาสแรกนี้ จึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แต่หากปล่อยไว้นาน อาจกระทบต่อสถานการณ์แรงงานได้เช่นกัน ดังนั้นเราต้องรีบควบคุมการระบาดให้ได้รวดเร็ว ซึ่งทางกระทรวงแรงงานเองก็ได้มีการสั่งปูพรมตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่จังหวัดสีแดงเข้ม เช่น นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร และพระนครศรีอยุธยา ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมได้กำชับไว้ ” นายสุชาติ กล่าว
(นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระรวงแรงงาน)
@ เยียวยาผู้ว่างงาน 50% ของค่าจ้าง กลวิธีฟื้นฟูตลาดแรงงานในยุคโควิด
นายสุชาติ กล่าวอีกว่า ตามที่ได้ประเมินสถานการณ์ภาพรวมของสถานประกอบการ พบว่า ภาคธุรกิจการผลิต เช่น ผลิตรถยนต์ ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ มีการจ้างแรงงาน และจ่ายโบนัสให้กับพนักงานในช่วงที่ผ่านมา ส่วนภาคอุตสาหกรรมการส่งออก ยังต้องการหาต้องการคนเพิ่มกว่า 10,000 ราย ขณะที่ภาคบริการ อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว ยังซบเซา เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด
อย่างไรก็ตามพนักงานในภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมการส่งออก เมื่อรวมกันแล้วจะมีสัดส่วนของการจ้างงานในอัตราที่มากกว่าในภาคบริการ แต่ตนเองได้สั่งการไปแล้วว่าเราต้องทำอย่างไรก็ได้ให้แรงงานสามารถอยู่ได้ เนื่องจากหากแรงงานกลุ่มนี้ไม่สามารถอยู่ได้ หลังจากสถานการณ์การระบาดเริ่มคลี่คลาย อาจเกิดปัญหาการขาดแคลนแรงงานขึ้นมาได้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ จึงได้ออกมาตรการเยียวยาแรงงานกรณีรัฐสั่งปิดกิจการชั่วคราว ให้ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ไม่เกิน 90 วัน นอกจากนั้นยังเปิดฝึกอบรมอาชีพออนไลน์ให้ผู้ประกันตนกรณีว่างงานอยู่ตลอด เพื่อเตรียมความพร้อมให้แรงงานมีศักยภาพตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ และสามารถกลับเข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
“ขอยืนยันว่าธุรกิจภาคการผลิตและอุตสาหกรรมการส่งออกยังแข็งแรงอยู่ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ประกันสังคมพร้อมยืนเคียงข้างทั้งผู้ประกอบการและแรงงานอยู่เสมอ” นายสุชาติ
@ โควิดทำอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่า กระทบเด็กจบใหม่
รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า เศรษฐกิจเป็นอุปสงค์สำคัญต่อตลาดแรงงาน เมื่อเกิดการระบาดมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน หลายครั้งที่มีแนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้น เศรษฐกิจยังไม่ทันฟื้นฟู การระบาดระลอกใหม่กลับมาอีกครั้ง ทำให้อัตราการว่างงานในปี 2563 หลังไตรมาส 1 มีการว่างงานเพิ่มขึ้นทุกไตรมาส 2 เท่า รวมมากกว่า 7 แสนคน หรือคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.9% ถึง 2.0% ซึ่งสูงกว่าปี 2562 มากกว่า 2 เท่า
“อย่างไรก็ตามแม้การว่างงานนี้อาจจะดูไม่สูงมากตามมาตรฐานไทยที่เคยเกิดวิกฤตไว้ก่อน แต่เกิดปัญหาที่ค่อนข้างมากเหมือนกัน เนื่องจากกำลังมีแรงงานจบใหม่อีก 300,000 คน ที่กำลังเข้าตลาดแรงงาน แต่ตอนนี้ยังมีอุปทาน เศรษฐกิจยังไม่ขยาย ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้น ทำให้ไม่สามารถรับแรงงานใหม่เข้ามาได้มากนัก ทั้งที่ปกติแรงงานใหม่จะถูกดูดซับเข้าระบบแรงงานกว่าครึ่ง” รศ.ดร. ยงยุทธ กล่าว
@ เร่งคุมการระบาด ลดปัญหาภาคบริการตกงาน
สำหรับภาพรวมสถานการณ์แรงงานในประเทศไทยนั้น รศ.ดร.ยงยุทธ วิเคราะห์ว่า ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม สามารถฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี ถึงแม้จะมีการระบาด และไม่ได้มีการลดจำนวนแรงงานแต่อย่างใด โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่จะเห็นว่าในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2563 มีการเคลื่อนย้ายแรงงานสาขาอื่นกลับมาเป็นแรงงานเกษตรกรอย่างชัดเจน ส่วนภาคอุตสาหกรรมนั้น แม้ขณะนี้จะแรงงานไม่มีแนวโน้มลดลง แต่หากยังปล่อยให้เกิดการระบาด ภาคอุตสาหกรรมอาจจะไม่ฟื้นตัวต่อเนื่องได้
ขณะที่ภาคบริการ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการถูกสั่งปิดกิจการ ทำให้มีการมีงานทำลดลงทันทีเกือบแสนรายในไตรมาสแรก แต่ได้เริ่มฟื้นตัวอีกครั้งเมื่อ ศบค. ไม่ได้ล็อกดาวน์เหมือนกับการระบาดในระลอกแรก ประกอบกับภาครัฐใช้นโยบายอัดฉีดเงินส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือธุรกิจขนาดเล็ก เช่น ม.33 เรารักกัน ไทยชนะ หรือคนละครึ่ง ทำให้ธุรกิจภาคบริการเริ่มฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด และเกิดการขยายตัวของแรงงาน แต่ขณะนี้ได้เกิดการระบาดระลอกที่ 3 ที่รุนแรงอีกครั้ง ซึ่งตลาดแรงงานภาคธุรกิจจะเป็นเช่นไรต่อไป จะต้องติดตามต่อไป แต่หากยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้โดยเร็ว เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวขึ้น ภาคบริการอาจจะยังไม่สามารถฟื้นตัวได้
“ส่วนจำนวนคนทำงานเต็มเวลายังลดลงต่อเนื่องทุกไตรมาส แม้จะไม่มีการระบาดของโควิดก็ตาม แต่หากกลุ่มนี้ลดลง เพราะเปลี่ยนไปอยู่ในสหภาพแรงงานนอกระบบ หรือว่างงาน ย่อมเป็นภาระต่อตนเองและครอบครัวที่จะได้รับผลกระทบจากรายได้พิเศษที่ลดลงไป” รศ.ดร. ยงยุทธ กล่าว
(รศ.ดร. ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผอ.การวิจัย ด้านการพัฒนาแรงงาน ทีดีอาร์ไอ)
@ คาดปี 65 ตลาดแรงงานฟื้นฟู หากเร่งฉีดวัคซีนให้คนไทยมากกว่า 50%
เมื่อสอบถามถึงวิธีการแก้ไขปัญหาตกงานนั้น รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวแนะนำว่า รัฐบาลควรจัดสรรหรือเร่งฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ได้มากที่สุดไม่น้อยกว่า 50% ของประชากรทั้งหมดภายในสิ้นปีนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มแรงงงานภาคบริการกว่า 20 ล้านคน ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโควิด เพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุน ให้กลับมาลงทุนภายประเทศอีกครั้ง ซึ่งหากสามารถทำได้ตามเป้าหมาย ตลาดแรงงานไทยจะกลับมาฟื้นแน่นอน และจะเริ่มดีขึ้นๆ แม้ว่าขณะนั้นเราอาจจะได้รับวัคซีนต้านโควิดเข็มที่ 3 แล้วก็ตาม แต่ถึงตอนนั้นโควิดคงจะกลายเป็นเรื่องธรรมดา
นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือแรงงานอย่างเพิ่งเลือกงาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนภาระค่าใช้จ่าย ระหว่างรอสถานการณ์การระบาดดีขึ้น
ภาพจาก: Freepik
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/