อ้างนำเข้าจากญี่ปุ่น แต่ที่ตั้งอยู่จีน! ตามหา ‘Yvonne’ เจ้าของผลิตภัณฑ์เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิดฯ หลังเอารูป ‘หมอยง’ ไปพีอาร์สินค้า ใช้รูป ตร.พ่นยาฆ่าเชื้อโชว์หราในเว็บขายของ อ้างเหมือนของ รบ.-สธ.ให้การรับรอง สั่งสินค้าต้องเก็บเงินปลายทางอย่างเดียว
.....................................................
กลายเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาทันที!
พลันที่ นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Yong Poovorawan ระบุว่า เจอเฟซบุ๊กแฟนเพจชื่อ Yvonne โพสต์ขายเครื่องพ่นละอองฆ่าเชื้อแสงสีน้ำเงิน โดยนำรูปของ นพ.ยง ไปแอบอ้างเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า
“ในยามวิกฤติของประเทศขณะนี้ ยังมีการกระทำที่ขาดจริยธรรมอย่างมาก ทางโรงพยาบาลและผม กำลังดำเนินการเอาผิดกับการเอารูปผมไปแอบอ้างโฆษณาขายสินค้า ถือว่าผิดจริยธรรมอย่างยิ่งที่ไม่ควรให้อภัย ช่วยกันแชร์ให้ทุกคนเข้าใจด้วยครับ ขอบคุณมากครับ และไม่ควรซื้อสินค้าที่โฆษณาผิดจริยธรรมแบบนี้” นพ.ยง ระบุ (อ้างอิงข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Yong Poovorawan : https://www.facebook.com/yong.poovorawan/posts/5656655011043736)
สินค้าดังกล่าวเป็นของใคร และนำรูป นพ.ยง ไปแอบอ้างได้อย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลเบื้องต้น พบรายละเอียด ดังนี้
เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne มีคนกดไลก์ 63 ราย กดคนฟอลโล่ว์ 73 ราย ระบุที่อยู่ว่า Shanxi Ju Jiji Clothing Trading Co., Ltd. Unit 1405, Building 2, Kangxinyuan Community, Electronic Street, Xiaodian District, Taiyuan City, Shanxi Province (เมือง Taiyuan City ตั้งอยู่มณฑล Shanxi บริเวณภาคเหนือของประเทศจีน)
เฟซบุ๊กแฟนเพจแห่งนี้ เริ่มสร้างขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.พ. 2564 โดยอัพโหลดรูปภาพช่วงแรก เป็นเครื่องประดับประเภทต่างหู (ดูภาพประกอบ)
ต่อมาเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2564 ได้เปลี่ยนภาพโพรไฟล์ เป็นรูปการ์ตูนคนใส่ชุดป้องกันฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อ และเปลี่ยนภาพปกโคฟเวอร์เป็นภาพกราฟฟิกการกำจัดโควิด-19 ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ (ดูภาพประกอบ)
อย่างไรก็ดีเมื่อเวลา 12.17 น. วันที่ 11 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne ได้ลบภาพการขายโฆษณาสินค้าเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อโควิด-19 ที่อ้างรูป นพ.ยง ออกไปแล้ว
จากการตรวจสอบเว็บไซต์ https://shop.qeog.store/japans ที่ Yvonne แปะลิงก์ไว้เพื่อขายเครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อดังกล่าว พบว่า ไม่มีการระบุชื่อบริษัท หรือชื่อบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ ว่าเป็นเจ้าของ แต่อ้างว่าเครื่องพ่นฆ่าเชื้อชนิดนี้ นำเข้ามาจากญี่ปุ่น เป็นประเภทไร้สาย สีน้ำเงิน atomizing disinfector สเปรย์อนุภาคนาโนสีฟ้า ป้องกันไวรัสที่มีประสิทธิภาพครอบคลุมการฆ่าเชื้ออย่างละเอียดแบบ 360 องศา และการใช้งานหลายฉากไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ บ้าน ร้านค้า บริษัท โรงเรียน
ในเว็บไซต์ดังกล่าว ยังอัพโหลดภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจรายหนึ่ง ใช้เครื่องพ่นยาฆ่าเชื้อ โดยอ้างว่าที่เว็บไซต์นี้ขายเป็นรุ่นเดียวกันกับของรัฐบาล อ้างว่าผลการใช้งานได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุข
ขณะเดียวกันยังอ้างอีกว่า เครื่องพ่นฆ่าเชื้อดังกล่าว ผ่านการทดสอบการฆ่าเชื้อแล้ว โดยอ้างอิงเอกสารตามภาพประกอบ แถมอ้างว่ามีใบรับรองการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังอ้างการรีวิวจากลูกค้าด้วย
ขั้นตอนการสั่งซื้อสินค้า มี 2 รุ่น โดยให้กรอกชื่อ เบอร์มือถือ อีเมล์ รหัสไปรษณีย์ ที่อยู่ ส่วนวิธีการชำระเงิน เลือกได้แค่แบบปลายทางเท่านั้น
ทั้งหมดคือข้อมูลของเฟซบุ๊กแฟนเพจ Yvonne และเว็บไซต์การขายผลิตภัณฑ์ดังกล่าว อย่างไรก็ดีจนถึงขณะนี้ยังไม่ทราบว่ามีใคร หรือบริษัทแห่งใดเป็นผู้ผลิตสินค้าดังกล่าว ที่นำรูป นพ.ยง รวมถึงรูปเจ้าหน้าที่ตำรวจ และการอ้างว่าเป็นเครื่องเดียวกับที่รัฐบาลใช้ ผ่านการรับรองจากกระทรวงสาธารณสุข?
คงต้องรอผลการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ หลังจาก นพ.ยง ดำเนินการแจ้งความเอาผิดต่อไป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/