"...ช่วงที่โควิดระบาดในระลอกแรก ยังขายของได้ดีอยู่ อาจจะเป็นเพราะคนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 15,000 บาท ส่วนระลอกต่อมา ก็ยังพอที่จะขายได้เรื่อยๆ แต่ในการระบาดระลอกล่าสุด ส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเป็นผลกระทบระยะยาวและต่อเนื่อง เหมือนการสะสมบาดแผลมาเรื่อยๆของแต่ละรอบที่ผ่านมา อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย..."
-------------------------------
จากสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกที่ 3 ระลอกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น อีกทั้งมีผู้เสียชีวิตรายวันหลายราย ทั้งนี้ภาครัฐได้ออกมาตรการป้องกันและลดการแพร่ระบาด เช่น การบังคับใช้กฎหมายให้ประชาชนใส่แมสก์หรือหน้ากาอนามัยขณะออกนอกเคหสถาน รวมถึงสั่งปิดสถานที่ กำหนดเวลาเปิดปิดร้านอาหาร และงดการนั่งรับประทานอาหารในร้าน ซึ่งส่งกระทบอย่างหนักต่อผู้ประกอบการต่างๆ
เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ได้ทำหนังสือยื่นให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด (ศบค.) เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่ง ศบค. ไม่อนุญาตให้นั่งรับประทานอาหารในร้านอาหารในพื้นที่ 6 จังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด เป็นเวลา 14 วัน พร้อมทั้งเสนอมาตราการเยียวยา
เนื่องจากได้รับข้อร้องเรียนจากผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมาก ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการต้องปิดกิจการจากมาตรการครั้งนี้ หากปล่อยให้ประกาศดังกล่าวใช้เวลาเต็ม 14 วัน จะสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างต่อระบบเศรษฐกิจประเทศตามมา มูลค่าความเสียหายของธุรกิจร้านอาหารโดยประมาณการจากคำสั่งล่าสุดนี้ อยู่ที่ 1,400 ล้านบาทต่อวัน รวมถึงธุรกิจร้านอาหารมีห่วงโซ่เชื่อมโยงต่อธุรกิจอื่นๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร
“สมาคมฯ และร้านอาหารทราบดีมาตลอดถึงความห่วงใยของรัฐบาล ที่มีมายังผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร และตระหนักในความสำคัญของการมีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤตระบาดโควิด จึงให้ความร่วมมือด้วยดีตลอดมา แม้ต้องแบกรับความเสียหายทางธุรกิจไว้โดยลำพังก็ตาม จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลจะพิจารณาผ่อนปรนมาตรการในส่วนของร้านอาหารและพิจารณามาตรการช่วยต่าง ๆ ตามที่ได้นำเสนอมานี้” นางฐนิวรรณกล่าว
@ ร้านอาหารในห้าง ยอดขาย 0 บาท
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมา น.ส.บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด ผู้บริหารร้านบาร์บีคิว พลาซ่า จุ่มแซ่บฮัท และอื่นๆ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Boonyanuch Boom Boonbumrungsub ระบุถึง สถานการณ์โควิดระลอกที่ 3 ที่ไม่ต่างจากคลื่นยักษ์สึนามิที่กระหน่ำซ้ำในที่เดิมแบบที่ไม่สามารถจะหนีได้ ทางบริษัทเองก็ได้นับผลกระทบจากสถานการณ์นี้ พร้อมเปิดยอดขายของร้านอาหารในเครือสาขาหนึ่งที่มียอดขาย 0 บาท และร้านขนาดเล็ก ขนาดกลาง หรือขนาดใหญ่ ก็คงเจอปัญหาไม่ต่างกัน
น.ส.บุณย์ญานุช ระบุอีกว่า อยากฝากถึงผู้มีส่วนรับผิดชอบ หากยังดำเนินการเช่นนี้อยู่ ธุรกิจรายย่อยจะอยู่ต่อได้อย่างไร ไม่ใช่แค่ธุรกิจร้านอาหาร แต่ยังมีอีกหลายธุรกิจที่กำลังนับถอยหลังระเบิดเวลากับถังอ๊อกซิเจนถังสุดท้าย
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รวบรวมข้อมูลจากการติดต่อสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายอาหาร และผู้ประกอบการรายย่อยอื่นๆ ถึงผลกระทบจากสภาวะปัญหาที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด
@ ร้านอาหารทะเล ขาดทุนหลักแสนบาทต่อเดือน
นางปารมี นิลจู เจ้าของร้านรุ่งฟ้าซีฟู๊ด ร้านอาหารทะเลย่านบางขุนเทียน-ชายทะเล เล่าว่า ตั้งแต่ก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด ยอดขายอาหารนั้น ก็ไม่ได้ดีมากเท่าไหร่ เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ค่อยข้างเงียบเหงา แต่ก็พอขายได้เรื่อยๆ แต่เมื่อเจอสถานการณ์โควิดระลอกแรก ส่งผลกระทบค่อนข้างหนัก เนื่องจากโควิดเป็นโรคใหม่ ทำให้ลูกค้าน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
นางปารมี เล่าถึงสภาวะปัญหาที่เจอในการระบาดของโควิด ว่า ในระลอกที่ 2 ที่ต้นต่อการระบาดมาจากตลาดกุ้ง ส่งผลกระทบหนักมากกว่าระลอกแรก เนื่องจากร้านเป็นร้านขายอาหารทะเล ลูกค้ามีความกังวลและขาดความเชื่อมั่น อีกทั้งร้านตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงอีกด้วย ส่วนในระลอกล่าสุด มีคนติดเชื้อมากขึ้น อีกทั้งภาครัฐออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด งดนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน ยิ่งส่งผลกระทบอีก เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ เป็นลูกค้าที่นั่งทานที่ร้าน ทั้งนี้ ร้านอาหารบริเวณใกล้เคียงได้ปิดตัวลงไปหลายร้าน ตอนนี้เหลืออยู่เพียง 2-3 ร้านเท่านั้น
นางปารมี กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการปรับตัวเป็นการขายให้ลูกค้าซื้อกลับไปทานที่บ้าน รวมถึงจัดส่งเดลิเวอรี่ แต่ก็ไม่เพียงพอ ทั้งนี้จะให้ปิดร้าน หยุดขายก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมีพนักงาน ลูกน้องที่ต้องดูแลรับผิดชอบ จะไล่ออกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะถ้าในวันที่สถานการณ์ดีขึ้น จะตามตัวได้ยาก
ส่วนเรื่องภาระหนี้สิน รวมถึงค่าใช้จ่าย นางปารมี เปิดเผยว่า ทุกวันนี้ขาดทุนหลักแสนบาทต่อเดือน เงินคืนทุนยังไม่มี ส่วนกำไรไม่ต้องพูดถึง เนื่องจากมีภาระค่าเช่าที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแก๊ส ค่าวัตถุดิบต่างๆ รวมถึงเงินเดือนพนักงานอีกด้วย ถึงแม้ว่าภาครัฐจะปรับลดช่วยค่าประกันสังคมต่างๆก็ตาม
"พี่ไม่ได้คิดยอดขายมาตั้งนานแล้ว เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ไม่อยากคิดให้ปวดหัว ยิ่งโควิดอีก รวมๆแล้ว ขาดทุนหลักแสนต่อเดือน ไม่มีกำไร เพราะไม่มีลูกค้าเลย ไหนจะค่าเช่าที่ต่อเดือน ค่าน้ำ ค่าไฟ และลูกน้องที่ต้องดูแลอีก" นางปารมีกล่าว
ภาพประกอบ: พันทิป
@ ต้องเปิดร้าน แม้รายได้ติดลบ
ทางด้าน นางนิ ขอสงวนนามสกุล เจ้าของร้านข้าวต้มแห่งหนึ่งใน กทม. เล่าว่า ในช่วงการแพร่ระบาดระลอกแรกและระลอกที่ 2 ร้านยังไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากหนัก เนื่องจากลูกค้ายังซื้อกลับบ้านค่อนข้างเยอะ แต่ระลอกล่าสุด ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากพบตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่ กทม.จำนวนมาก ทำให้ผู้คนกังวลและหวาดกลัว ออกจากบ้านน้อยลง ทำให้ยอดขาดลดลงจากเดิมร้อยละ 60-70 จากยอดขายเดิม
นางนิ กล่าวด้วยว่า ทางร้านได้รับเปลี่ยนการขายจากเดิมที่มีบริการแค่หน้าร้านเท่านั้น เป็นการลงทะเบียนขายแพล็ตฟอร์มออนไลน์ เช่น แกร็บฟู้ด ฟู้ดแพนด้า ไลน์แมนต่างๆ แต่เนื่องจากแพล็ตฟอร์มมีการหักค่าธรรมเนียม กำไรที่ได้มาก็ถูกหักในส่วนตรงนี้เพิ่มเติม ทำให้ยอดรวมแล้วก็ยังขาดทุนอยู่
ส่วนเรื่องภาระค่าใช้จ่ายหรือหนี้สิน นางนิ เปิดเผยว่า ร้านมีค่าใช้จ่ายคงที่ที่ต้องจ่ายทุกเดือนอยู่แล้ว คือ ค่าเช่าที่ ค่าน้ำค่าไฟ และเงินเดือนลูกจ้าง ทำให้ไม่สามารถปิดร้าน หยุดขายได้ ถึงแม้ว่าการเปิดขายจะไม่ได้กำไรและขาดทุนก็ตาม ทั้งนี้ ได้มีการกู้ยืมหนี้สินเพิ่มเติมมาเพื่อทำงานหมุนเวียนธุรกิจอีกด้วย
"เรามี Fix Cost ไม่ว่าจะขายหรือไม่ ก็ต้องจ่าย ทุกวันนี้เอาเงินเก่ามาร่วมหมุนด้วย จะปิดร้านก็ไม่ได้ ต้องขายแม้ยอดจะติดลบก็ตาม ได้แต่หวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นโดยเร็ว" นางนิกล่าว
ภาพประกอบ: พันทิป
@ ยอดขายลดลงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์
น.ส.รวิวรรณ หมีเงิน แม่ค้าอาหารปรุงสำเร็จ ตลาดย่านพระราม 2 เล่าให้ฟังถึงผลกระทบที่พบ ว่า ในการระบาดช่วงแรกๆ ที่ได้รับผลกระทบคือลูกค้าซื้อของน้อยลง เนื่องจากเป็นโรคใหม่ ทุกคนยังค่อนข้างกังวล ส่วนในระลอกที่ 2 จากคลัสเตอร์'ตลาดกุ้ง' รอบนี้ได้รับผลกระทบค่อนข้างเยอะ เนื่องจากอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย อีกทั้งอาหารบางอย่างที่ขายก็มีวัตถุดิบเป็นอาหารทะเล แต่ก็ยังพอขายได้บ้าง
น.ส.รวิวรรณ กล่าวว่า ส่วนในรอบล่าสุดนี้ ได้รับผลกระทบหนักกว่าทุกรอบที่ผ่านมา เนื่องจากยอดผู้ติดเชื้อเยอะ เชื้อสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ผู้คนกังวลและกลัวในการเดินตลาด อีกทั้งผู้คนคิดเยอะในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นอีกด้วย
น.ส. รวิวรรณ เปิดเผยว่า ที่มาผ่านมา ทางร้านได้เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของภาครัฐตั้งแต่เริ่มเปิดตัวโครงการ เช่น โครงการคนละครึ่ง โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน ทำให้ยอดขายในช่วงนั้นค่อนข้างดี เพราะร้านเข้าร่วมโครงการน้อย ต่อมามีร้านเข้าร่วมเยอะขึ้น ยอดขายก็ตกลงมาบ้าง แต่ก็ยังขายได้อยู่ ปัจจุบันกลับมาเงียบอีกครั้ง เนื่องจากระยะเวลาของโครงการใกล้หมดอายุแล้ว ลูกค้าบางคนก็ใช้เงินในโครงการหมดแล้วด้วย
น.ส. รวิวรรณ กล่าวถึงยอดขายและภาระหนี้สิน ว่า ตลอดระยะเวลาการแพร่ระบาดของโควิด ทางร้านได้ปรับลดการนำของมาขาย ทำให้ยอดขายลดลงจากเดิมในวันธรรมดา จะได้ยอดขายเฉลี่ยประมาณ 4-5 พันบาทต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ย 7-8 พันบาทต่อวัน ปัจจุบันในวันธรรมดา ขายได้เฉลี่ยเหลือเพียง 2-3 พันบาทต่อวัน และวันเสาร์-อาทิตย์เฉลี่ยเหลือเพียง 5-6 พันบาทต่อวัน ลดลงกว่าร้อยละ 50 ส่วนเรื่องภาระค่าใช้จ่ายพยายามลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นอื่นๆ ไม่ออกไปรับประทานอาหารนอกบ้านเพื่อลดความเสี่ยง และค่าใช้จ่าย จึงเหลือเพียงภาระหนี้สิ้นบ้านและการผ่อนรถเท่านั้น
"ที่ผ่านมามีมาตรการผ่อนผันหนี้ เนื่องจากรายได้ลดลง แต่ธนาคารแนะนำว่าถ้าไหว ก็ให้ส่ง ไม่งั้นหนี้ก็ขยายระยะเวลา ตอนนี้ที่ทำได้ ก็คือลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นต่างๆ" น.ส. รวิวรรณกล่าว
@ บาดแผลสะสม สวนทางเงินเก็บ
นางวรวรรณ จันทร์ทะสิริ แม่ค้าขายลูกชิ้นและยำ เล่าให้ฟังว่า ช่วงที่โควิดระบาดในระลอกแรก ยังขายของได้ดีอยู่ อาจจะเป็นเพราะคนได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล 15,000 บาท ส่วนระลอกต่อมา ก็ยังพอที่จะขายได้เรื่อยๆ แต่ในการระบาดระลอกล่าสุด ส่งผลกระทบอย่างมาก เนื่องจากเป็นผลกระทบระยะยาวและต่อเนื่อง เหมือนการสะสมบาดแผลมาเรื่อยๆ ของแต่ละรอบที่ผ่านมา อีกทั้งลูกค้าส่วนใหญ่ใช้จ่ายน้อยลงอีกด้วย
นางวรวรรณ เปิดเผยว่า ทุกวันนี้นำเงินทุนที่สะสมออกมาหมุนเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ ต้องทยอยนำออกมา จนไม่มีเงินเก็บแล้ว โดยยอดขายจากเดิมที่ได้วันละ 7-8 พันบาท แม้ว่าจะวันที่ขายไม่ค่อยดีก็ได้ 5-6 พันบาท แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันยอดขายเหลือเพียง 2-3 พันบาทเท่านั้น ส่วนเรื่องภาระค่าใช้ ก็ยังคงเดิม คือ ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ และจะมีภาระหนักช่วงที่จะต้องจ่ายค่าเทอมของลูก แต่ยังไม่มีภาระหนี้ติดพันธ์อื่นๆ ทั้งนี้ ถ้าหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ก็อาจจะต้องมีการกู้ยืมบ้าง
"เมื่อก่อนขายหลายที่ หลายสาขา แต่ตอนนี้ต้องลดลง ไม่ใช่ว่าขายหลายที่จะได้กำไรเยอะขึ้น ทุนก็สูงขึ้นตามไปด้วย ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น โควิดรอบนี้กระทบกันหมดเป็นทอดๆ ทั้งแม่ค้าและลูกค้า" นางวรวรรณกล่าว
ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนของผู้ประกอบการร้านอาหารทั้งรายใหญ่และรายย่อยจากผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด และสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ยังต้องติดตามกันต่อไปว่าทางภาครัฐจะมีมาตรการหรือแนวทางในการเยียวยาอย่างไรต่อไป
ภาพประกอบ: thaismescenter.com
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage