“...ในช่วงการระบาดระลอกที่ 1-2 เราไม่ทันตั้งตัว เลยต้องระดมสรรพกำลังทุกอย่างทั้งหมด พอมาการระบาดระลอกใหม่นี้ เราได้เรียนรู้แล้วว่าจะต้องอยู่ร่วมกันกับโควิดให้ได้ หลายคนต้องตกงาน เข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา ซึ่งเราเป็นห่วงและกังวลมาก ดังนั้นสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ในระยะยาว จะต้องเน้นทั้งในด้านสุขภาพ และอีกด้านคือเศรษฐกิจ...”
……………………………………………………
การค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกในหลายพื้นที่ทั่ว กทม.ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อในชุมชนเมืองหลายแห่ง
‘การต้องอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น’ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ของคนในชุมชนแออัด เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เชื้อแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว จึงปรากฏให้เห็นสถานการณ์การระบาดใน ชุมชนคลองเตย ชุมชนเขตห้วยขวาง ชุมชนเขตดินแดง ชุมชนเขตบางเขน ชุมชนเขตวัฒนา ชุมชนเขตจตุจักร ชุมชนเคหะบ่อนไก่ ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ ชุมชนบางแค และชุมชนแขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต
ชุมชนแออัดหรือสลัม ตามคำนิยามของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ระบุไว้ว่า เป็นบริเวณพื้นที่ที่ส่วนใหญ่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งมีสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม อันอาจเป็นอันตรายต่อสุขอนามัย และความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัย รวมถึงอาจมีปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงในการอยู่อาศัยด้วย
การระบาดของโควิดในครั้งนี้นั้น จึงไม่ใช่เพียงส่งผลกระทบทางด้านสาธารณสุข แต่ยังรวมถึงผลกระทบด้านเศรษฐกิจ และสังคมด้วย
(นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผอ.สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข)
@ ‘คนในชุมชน’กลไกหลักการระงับโควิด
นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ชุมชนแออัดเป็นที่รวมปัญหาหลายอย่างในสังคม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจ ความไม่เป็นธรรม หรือช่องว่างต่างๆ ทางสังคมต่างมารวมตัวกันที่นี่ อย่างเช่น กลุ่มชายขอบ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อมีโรคระบาดเข้ามา ปัญหาต่างๆ ก็เลยทับโถมกัน ถือเป็นบททดสอบชั้นยอดว่าเราจะรับมือกันอย่างไร
“โรคระบาด หากเปรียบเทียบเป็นภัยพิบัติ ก็เหมือนกับอัคคีภัย กรณีของโควิดก็เช่นกัน สะเก็ดไฟกระเด็นมาจากทองหล่อ เมื่อมาเจอกับชุมชนหนาแน่นมาก สะเก็ดไฟเลยลามอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจะดับไฟ ต้องทำอย่างไรให้เร็วที่สุด ก็คือการแยกเชื้อเพลิงออกมาก่อน เมื่อไม่มีเชื้อเพลิง ไฟก็จะค่อยๆมอด ซึ่งก็คือหลักการลดจำนวนผู้ป่วยใหม่ให้ได้มากที่สุด ที่จะเป็นทางแก้ของการระบาดในครั้งนี้” นพ.วิรุฬ กล่าว
นพ.วิรุฬ กล่าวอีกว่า บททดสอบการรับมือกับปัญหาการระบาดของโควิดในพื้นที่ชุมชนแออัดครั้งนี้ ถือว่าเป็นปัญหาขนาดใหญ่ที่ต้องการใช้คนจำนวนมาก โดยเฉพาะคนในพื้นที่ด้วยกัน รวมถึงต้องมีกำลังจากภาครัฐเข้ามาเสริมด้วย ทั้งในด้านสาธารณสุข ด้านเศรษฐกิจ และด้านสังคม อาทิ การจัดตั้งศูนย์พักคอยการประสานจัดหาเตียง การมีโรงพยาบาลรองรับผู้ป่วย การเร่งตรวจคัดกรองเชิงรุก การเร่งฉีดวัคซีน ศูนย์พักฟื้น ทีมช่วยประสานงานหรือให้ข้อมูลข่าวสารระหว่างรัฐและคนในชุมชน และการสนับสนุนให้คนในชุมชนมีรายได้ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยความเป็นชายขอบ คนในชุนได้เผชิญกับปัญหาต่างๆ มากมาย เกิดมีความไม่ไว้วางใจต่อรัฐ ดังนั้นแล้วอีกสิ่งสำคัญที่จะสามารถรับมือกับโควิดหรือการเผชิญวิกฤตต่างๆ สำหรับคนในชุมชนแออัด จะต้องมี ‘ชุมชนเข้มเข็ง’ หรือชุมชนที่สามารถทำงานร่วมกันกับรัฐได้ แน่นอนว่าขณะนี้ชุมชนแออัด โดยเฉพาะชุมชนคลองเตย ได้กลายเป็นพื้นที่หอมหวานของนักการเมืองที่จะเข้ามาช่วยเหลือ แต่การจะพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการประสานงานระหว่างรัฐและชุมชน ถ้ารัฐสามารถพิสูจน์ได้ว่าทำเพื่อประชาชนจริงๆ ชุมชนแออัดก็จะสามารถพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
(ภาพจาก : มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย)
@ สร้าง ‘ศูนย์กักตัว’ รอรับ-ส่งต่อผู้ป่วย ลดการระบาดในชุมชน
ด้าน น.ส.วรรณา แก้วชาติ ผู้ประสานงานมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย มูลนิธิหนึ่งที่ทำงานร่วมกับเครือข่ายสลัม 4 ภาค เล่าให้ฟังว่า ในช่วงการระบาดระลอกที่ 1 – 2 เราไม่ทันตั้งตัว เราเลยต้องระดมสรรพกำลังทุกอย่าง ข้าวสารอาหารแห้ง ทุกๆ อย่างทั้งหมด ที่จะสามารถช่วยเหลือคนในชุมชนได้ พอมีการระบาดระลอกที่ 3 นี้ เราได้เรียนรู้แล้วว่าจะต้องอยู่ร่วมกันกับโควิดให้ได้ โดยเฉพาะในครั้งนี้ซึ่งเป็นการระบาดในวงกว้างกว่ารอบที่ผ่านมา ทำให้หลายคนต้องตกงาน ไม่มีงานทำ หลายคนเข้าไม่ถึงสิทธิการรักษา ซึ่งเราเป็นห่วงและกังวลมาก ดังนั้นสิ่งที่จะต้องพัฒนาต่อไปเพื่อให้อยู่ร่วมกับโควิดได้ในระยะยาว จะต้องเน้นในด้านสุขภาพ อาทิ การป้องกันโรค การส่งต่อผู้ป่วยอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว ลดการแพร่ระบาดของเชื้อ และอีกด้านคือเศรษฐกิจ
ด้านสุขภาพ พยายามที่จะประสานงานร่วมกันว่า เมื่อมีคนติดโควิดภายในชุมชนแล้วจะทำอย่างไร เพื่อลดการแพร่ระบาดของเชื้อไม่ให้ลุกลามไปไกล จึงได้ข้อสรุปว่าเราจะตั้ง ศูนย์กักตัว ระหว่างหาเตียงให้ผู้ป่วย และศูนย์พักฟื้น เมื่อผู้ป่วยหายแล้ว และต้องกักตัวอีก 14 วัน ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งแล้ว 13 ศูนย์ทั่วประเทศ โดยจะเน้นใน กทม. มากที่สุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่พบการระบาดเยอะ และเป็นพื้นที่เสี่ยง
ด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากคนในชุมชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพรับจ้างเป็นรายวัน ได้รับผลกระทบจากโควิด ต้องถูกยกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ หรือบางรายต้องยอมเสี่ยงออกไปหางานทำ ยอมเสี่ยงติดโรค ดีกว่าอดตาย ทางมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย และเครือข่ายสลัม 4 ภาค พร้อมคนในชุมชน จึงได้ร่วมกันพยายามสร้างรายได้ให้กับชุมชน
โดยดูจุดเด่นของแต่ละชุมชนว่า สามารถทำอะไรได้บ้าง ชุมชนเลี้ยงปลาได้ ก็จะสนับสนุนให้เกิดการขายปลาภายในชุมชนและภายนอกชุมชน หรือหากชุมชนนี้สามารถขายอาหารราคาถูกได้ ก็จะสนับสนุนให้เกิดการขายให้กับคนในชุมชนก่อน แต่ถ้าหากเหลือก็จะให้คนในชุมชนนำไปขายนอกชุมชน เป็นต้น ในขณะเดียวกัน ทุกบ้านจะมีพื้นที่เหลือคนละนิดๆ ก็จะสนับสนุนในการปลูกผักกินกันเองภายในบ้าน ถ้ามีผลผลิตก็จะให้แบ่งปันกันภายในชุมชน
“โครงการช่วยเหลือชุมชนนี้ แม้จะไม่สามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ยังพอจุนเจือคนในชุมชนได้ ไม่สร้างความลำบากให้กับคนในชุมชน” นางสาววรรณา กล่าว
(นางสาวเนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค)
@ เสริมความรู้สาธารณสุขคู่ขนานการสร้างอาชีพ
ขณะที่ น.ส.เนืองนิช ชิดนอก ประธานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวด้วยว่าการระบาดของโควิดผ่านมา เราได้ระดมหาเงินทุนเข้าช่วยเหลือชุมชนแออัด ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเปราะบางของสังคม
“แต่โควิดเป็นสถานการณ์การระบาดพิเศษ ที่ยังไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไร และทุกคนต่างก็ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง มาระยะยาว ดังนั้นการจะระดมเงินทุนพียงอย่างเดียว ประชาชนคงจะจ่ายทุกรอบไม่ไหว เพราะทุกคนต่างก็เดือดร้อน ทางเครือข่ายจึงได้เตรียมแผนไว้ตั้งแต่การระบาดระลอกแรก” นางสาวเนืองนิช กล่าว
โดยการเน้น ‘สร้างองค์ความรู้ให้ชุมชน’ เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจ และทราบถึงวิธีปฏิบัติตัวที่ถูกต้องในการป้องกันการระบาดของโควิด โดยขณะนี้กำลังประสานให้ชุมชนแต่ละเครือข่ายส่งตัวแทนอาสาสมัครดูแลกลุ่มเสี่ยง เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร (อสส.) หรือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) มาเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ถึงวิธีการดูแลผู้ป่วย หรือวิธีการทำหน้าที่ในการสนับสนุนชุมชนทั้งเรื่องสุขภาพและอนามัยการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ต้องกัก
ก่อนที่จะนำองค์ความรู้นี้ไปสอนคนในชุมชนดูแลสุขภาพของตนเอง เช่น สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า ใช้แอลกอฮอล์ทำความสะอาด รักษาระยะห่าง ยกตัวอย่าง กรณีร้านขายอาหารของ ศูนย์คนไร้บ้าน ย่านบางกอกน้อย จะให้คนในชุมชนรอซื้อสินค้าด้านหน้าศูนย์เท่านั้น นอกจากนั้นจะมีการ ‘เตรียมความพร้อมในการประสานงานส่งต่อเมื่อมีผู้ติดโควิด’ โดยในจะให้แต่ละชุมชนจะนัดหมายหาแนวทางกับเครือข่ายสุขภาพภายในชุมชน เพื่อทำข้อตกลงมาตรการประสานส่งต่อผู้ป่วยโควิดร่วมกัน
รวมถึงการเน้นสร้าง ‘ชุมชนพึ่งพาตัวเอง’ โดยพัฒนาการหาเงินหมุนเวียนในชุมชน ต่อยอดไปจนการสร้างอาชีพให้คนในชุมชนได้ ด้วยการสนับสนุนให้ชุมชนดึงจุดเด่นของแต่ละชุมชนออกมาพัฒนาเป็นร้านค้าภายในชุมชน อาทิ โครงการขายผัก โครงการขายไข่ไก่ โครงการขายอาหารราคาถูก หรือโครงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ให้ข้าวไปรับประทานฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
โดยโครงการทั้งหมดจะนำมาดูแลและช่วยเหลือให้กับคนในชุมชนเป็นหลักก่อน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของคนในชุมชน ทั้งนี้ หากผลผลิตเหลือ จะมีการให้เด็กหรือบุคคลภายในชุมชนนำไปขายต่อนอกชุมชน เพื่อสร้างรายได้และอาชีพให้กับคนในชุมชนต่อไป
ขณะเดียวกันได้จัดตั้งโครงการโชว์ห่วยไม่มีหน้าร้าน คือ การให้คนในชุมชนสั่งสินค้าที่ต้องการล่วงหน้า แล้วทางเครือข่ายจะออกเงินซื้อสินค้านั้นให้ก่อน แล้วจะให้ชาวบ้านมาผ่อนจ่ายทีหลัง เพื่อลดความตึงเครียดด้านเงินและเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนให้ดีขึ้น
“ยกตัวอย่างชุมชนวิจิตรสัมพันธ์ แม้จะมีแต่แปลงผัก แต่ทางเครือข่ายก็ได้สนับสนุนให้เขาทำร้านค้าขายผักในราคาถูก เอากำไรที่ได้มาไปจ่ายค่าน้ำ ค่าพันธุ์ผัก ให้มีกิน มีใช้ มีเงินหมุนเวียนในชุมชน ถึงแม้ว่าอาจจะไม่เยอะ แต่มันก็ช่วยได้ เพราะผักเรามีในชุมชน สิ่งที่จะต้องซื้อกลับเข้ามาก็จะมีแค่ข้าว ทั้งนี้หากช่วงไหนมีผลผลิตเยอะอาจต่อยอดไปเป็นอาชีพได้ สร้างธุรกิจขายออนไลน์ได้” น.ส.เนืองนิช กล่าว
และสุดท้ายนี้ จะเน้น ‘ประสานระหว่างชุมชนให้ช่วยเหลือพึ่งพากัน’ ชุมชนไหนไม่มีอะไร จะเปิดให้แลกเปลี่ยนสินค้า หรือผลิตภัณฑ์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง ‘ถ้าชุมชนเข้มแข็ง แม้เจอวิกฤติ ก็จะฝ่าฟันไปด้วยกันได้’
ภาพจาก: โพสต์ทูเดย์
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/