"...ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไทยตระหนักมาโดยตลอดว่ายังคงมีปัญหาเร่งด่วน อาทิ การขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล และตระหนักได้ว่าไม่อาจที่จะกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 ได้ระบาดมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ดังนั้น จึงเป็นเหตุทำให้รัฐบาลไทยมักจะใช้รูปแบบการทิ้งระเบิดแบบตรงเป้าหมาย ซึ่งก็คือการจัดการล้อมรั้วในพื้นที่ที่มีอัตราการระบาดสูง แทนที่จะใช้มาตรการการทิ้งระเบิดแบบปูพรมเพื่อจะหยุดยั้งการแพร่ระบาด ..."
......................
สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังมีตัวเลขสูงถึง 2,419 คน แบ่งเป็นการติดเชื้อในประเทศ 2,409 ราย เกิดจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 1,890 ราย เกิดจากการค้นหาเชิงรุกและพบการติดเชื้อในชุมชน 519 ราย และอีก 10 รายเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ รวมผู้ป่วยสะสม 81,274 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,247 ราย อยู่ระหว่างรักษาตัวในโรงพยาบาล 29,473 ราย โดยในจำนวนนี้มีอาการหนัก 1,138 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 380 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 19 ราย รวมเสียชีวิตสะสม 382 ราย
ทำให้คนไทยเริ่มตั้งคำถามว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยนั้น จะเริ่มลดจำนวนลงเมื่อไหร่
ล่าสุด สำนักข่าวไชน่าเดลี่ของประเทศจีน ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย ที่ส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายละเอียดดังต่อไปนี้
แม้ว่าประเทศไทยจะสามารถดำเนินการจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงต้นของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่การระบาดล่าสุดนั้น ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมากกว่า 40,000 คน นับตั้งแต่เดือน เม.ย.2564 ที่ผ่านมา
ในมุมมองของบุคลากรทางการแพทย์นั้นได้มีการวิเคราะห์กันว่าประเทศไทยกำลังจะเผชิญกับความท้าทายอันใหญ่หลวงในการจัดการกับวิกฤติโควิดในระลอกนี้
"ประเทศไทยดูจะยังคงไม่ใกล้จุดที่เรียกได้ว่าฟื้นคืนจากการระบาดในระลอกนี้”
คือ มุมมองด้านสาธารณสุข ของ นพ.เจเรมี่ ลิม (Jeremy Lim) ผู้ช่วยศาสตราจารย์สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ Saw Swee Hock มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์
นพ.เจเรมี่ ลิม ยังระบุด้วยว่า “เรายังไม่มั่นใจเลยด้วยซ้ำว่าการระบาดในประเทศไทยนั้นถึงจุดพีคสูงสุดของเส้นโค้งการระบาดวิทยาหรือยัง”
โดยนับตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย.ที่ผ่านมา ประเทศไทยนั้นพบการระบาดในประเทศเป็นครั้งแรกของไวรัสโควิดสายพันธุ์ B.1.1.7 ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่มีการติดต่อง่ายที่ถูกระบุตัวตนเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้นมีรายงานว่ามีผู้ติดเชื้อในประเทศไทยจำนวนกว่า 40,000 ราย ที่ติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้ ต่างจากในช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2563 ที่ ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อแค่ 4,000 รายเท่านั้น
ขณะที่ นายลิม วี เกี๊ยต (Lim Wee Kiat) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ศูนย์แนวทางการจัดการ แห่งมหาวิทยาลัยว่าด้วยการจัดการของประเทศสิงคโปร์หรือ Singapore Management University ระบุว่า ต้องยอมรับว่าการจัดการของประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่เป็นเลิศ โดยเฉพาะกับการปรับใช้หน่วยอาสาสมัครทางด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับโรคระบาด
“สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศไทยแสดงให้เห็นเด่นชัดว่าเป็นความท้าทายที่จะต้องปรับสมดุลรูปแบบการรับมือสถานการณ์ระหว่างการใช้ค้อนและการพลิ้วไหวต่อเหตุการณ์” นายลิม วี เกี๊ยต กล่าว
นายลิม วี เกี๊ยต ยังกล่าวด้ววว่า ที่ผ่านมานั้นรัฐบาลไทยตระหนักมาโดยตลอดว่ายังคงมีปัญหาเร่งด่วน อาทิ การขาดแคลนเตียงผู้ป่วยในโรงพยาบาล และตระหนักได้ว่าไม่อาจที่จะกลับไปใช้มาตรการล็อกดาวน์ได้อย่างเต็มรูปแบบ หลังจากที่ไวรัสโควิด-19 ได้ระบาดมาเป็นระยะเวลามากกว่า 1 ปี ดังนั้น จึงเป็นเหตุทำให้รัฐบาลไทยมักจะใช้รูปแบบการทิ้งระเบิดแบบตรงเป้าหมาย ซึ่งก็คือการจัดการล้อมรั้วในพื้นที่ที่มีอัตราการระบาดสูง แทนที่จะใช้มาตรการการทิ้งระเบิดแบบปูพรมเพื่อจะหยุดยั้งการแพร่ระบาด
รายงานข่าวการเตรียมเตียงสำหรับโรงพยาบาลสนาม จำนวน 10,000 เตียง ช่วงเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา (อ้างอิงวิดีโอจาก INQUIRER.net)
ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่านับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้เริ่มจะใช้มาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส อาทิ การขอให้สวมใส่หน้ากากอนามัยในสถานที่สาธารณะ ควบคู่ไปกับการปิดสถานที่อาทิ ผับ และร้านคาราโอเกะเป็นต้น
นายนายลิม วี เกี๊ยต กล่าวอีกว่า แต่ถึงกระนั้นสิ่งที่เป็นปัญหาก็คือแนวนโยบายวัคซีนของประเทศไทย ที่ควรจะต้องมีความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาชนมากกว่านี้ เพื่อที่จะเร่งให้เกิดกระบวนการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น
โดยประเทศไทยได้เริ่มกระบวนการฉีดวัคซีนไปแล้วในวันที่ 28 ก.พ. และจนถึงวันที่ 3 พ.ค. พบว่ามีผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เพียงแต่ 1.49 ล้านโดสเท่านั้น ซึ่งวัคซีนส่วนมากแล้วเป็นวัคซีนซิโนแว็คจากจีน และวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าจากอังกฤษ
ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติของเว็บไซต์ Our World in Data อัตราการฉีดวัคซีนในประเทศไทยนั้นจะอยู่ที่ 1.58 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
โดยถือว่าน้อยมากถ้าเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในประเทศอาเซียน อาทิ สิงคโปร์ที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 23.32 เปอร์เซ็นต์ ประเทศกัมพูชาที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 8.51 เปอร์เซ็นต์ และประเทศอินโดนีเซียที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ที่ 4.56 เปอร์เซ็นต์
แต่ถึงกระนั้นรัฐบาลไทยก็ได้ออกมารับปากว่าจะมีความร่วมมือกับภาคเอกชนให้มากขึ้นเพื่อที่จะเร่งมือสำหรับโครงการวัคซีนในประเทศเพื่อที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายการฉีดวัคซีนประชากรจำนวนกว่า 50 ล้านคนให้ได้ก่อนสิ้นปี 2564
อย่างไรก็ตาม อีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่ากังวลก็คือไวรัสโควิดสายพันธุ์จากประเทศอินเดีย ซึ่งมีอัตราการระบาดที่สูงมากและทำให้ประเทศอินเดียมีอัตราผู้ติดเชื้อรายวันสูงถึงวันละ 4 แสนคนโดยประมาณ
โดยทางสำนักข่าว Global Times ได้มีการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการธุรกิจคนจีนรายหนึ่งที่อยู่ในประเทศไทยมายาวนานกว่า 9 ปี ได้ข้อมูลว่า ณ เวลานี้ประเทศไทยได้พึ่งพาแค่การควบคุมการเข้าออกประเทศเท่านั้น เพื่อจะไม่ให้มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียเกิดขึ้นในประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อินเดียในประเทศไทยขึ้นมาจริง ประเทศไทยก็คงไม่มีทรัพยากรเพียงพอที่จะรับมือกับการระบาดของไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าว รวมถึงการระบาดที่เกิดขึ้นในประเทศไทยก็เป็นเหตุผลที่ทำให้ ชาวจีนในประเทศไทยนั้นเลือกที่จะเดินทางกลับไปยังจีนแผ่นดินใหญ่กันแล้ว ในขณะที่บริษัทร่วมทุนจีนหลายแห่งในประเทศไทยก็ต้องปิดตัวลง
สถานการณ์โควิดที่ประเทศอินเดีย (อ้างอิงวิดีโอจาก PBS NewsHour)
ขณะที่มีข้อมูลจากรายงานวิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียหรือ Asian Development Outlook ฉบับล่าสุดที่ถูกจัดทำและเผยแพร่โดยธนาคารพัฒนาเอเชีย เมื่อวันที่ 28 เม.ย.ที่ผ่านมา ก็มีการทำนายเอาไว้เช่นกันว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยนั้นจะส่งผลทำให้จีดีพีของประเทศไทยในปี 2564 เติบโตแค่ 3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อมูล หลังจากที่ก่อนหน้านี้ในเดือน ธ.ค. มีการคาดการณ์ว่าจีดีพีประเทศไทยจะเติบโตในปี 2564 อยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์
“ด้วยความเสี่ยงที่ประเทศไทยอาจจะต้องเผชิญกับภาวะยืดเยื้อของการระบาดของไวรัสโควิด-19 และมีความเป็นไปได้ที่มาตรการล็อกดาวน์ของประเทศไทยจะมีความเข้มข้นมากขึ้นไปอีก ซึ่งนี่ก็จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศและทำให้เกิดเติบโตจีดีพีหดตัวลง” นายราจีฟ บิสวาส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่บริษัทให้คำปรึกษาด้านเศรษฐกิจ IHS Markit กล่าว และระบุว่า ภาคการค้าปลีกนั้นจะเป็นอีกส่วนสำคัญที่จะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน
นายบิสวาส กล่าวต่อไปว่า การที่รัฐบาลไทยยังคงใช้มาตรการการกักตัวเป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์อยู่นั้น ชี้ให้เห็นว่าโอกาสที่ไทยจะเริ่มเปิดภาคการท่องเที่ยวระหว่างประเทศจะต้องถูกเลื่อนออกไปอีกอย่างไม่มีกำหนด และผลจากการที่ภาคการท่องเที่ยวที่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศนั้นมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่ง ปัจจัยเหล่านี้จึงไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะใกล้นี้เลย
ทั้งนี้ ปัญหาด้านการระบาดของไวรัสโควิด-19 ของประเทศไทยนั้นยังส่งผลลามไปถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศลาวด้วยเช่นกัน
โดยเมื่อวันที่ 22 เม.ย.ที่ผ่านมา มีรายงานว่ากรุงเวียงจันทร์ ของประเทศลาวต้องมีการออกมาตรการล็อกดาวน์เป็นระยะเวลา 14 วัน หลังจากที่พบกลุ่มคลัสเตอร์โควิดอันมีที่มาจากประเทศไทย ส่วนเว็บไซต์ Worldometer ได้รายงานข้อมูลว่าในช่วงมาณวันที่ 20 เม.ย. ประเทศลาวมีผู้ติดเชื้อโควิดแค่ 60 รายเท่านั้น แต่พอมาถึงวันที่ 3 พ.ค. ลาวกลับมีผู้ติดเชื้อโควิดถึง 966 ราย
“ไม่มีประเทศใดปลอดภัยอย่างแท้จริง จนกว่าทุกประเทศจะปลอดภัย โดยเฉพาะในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งภูมิศาสตร์ของแต่ละประเทศนั้นมีความใกล้ชิดกันเป็นอย่างยิ่ง” นพ.ลิมจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์กล่าว
ส่วนหนทางที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคระบาดให้ได้ผลนั้น คือ แต่ละประเทศในอาเซียนรวมไปถึงประเทศไทยจะต้องรวมตัวกันตั้งศูนย์ควบคุมโรคระบาดประจำภูมิภาคนี้ เพื่อที่จะดำเนินการรับมือกับสถานการณ์การระบาดของทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน
นพ.ลิมยังกล่าวอีกว่า แผนการของประเทศไทยที่บอกว่าจะเปิดจังหวัดภูเก็ตสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ แม้จะเป็นเรื่องเร็วเกินไปที่จะพูดถึงในเวลานี้ แต่ถ้าหากเราไม่เตรียมการสำหรับการเปิดภูเก็ตเพื่อให้เปิดรับนักท่องเที่ยวได้นั้น เราจะไม่สามารถนับหนึ่งเพื่อจะเริ่มต้นการเปิดอะไรขึ้นมาได้เลย
“เราต้องหวังในสิ่งที่ดีที่สุด แต่ก็ต้องวางแผนสำหรับสภานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดเช่นกัน” นพ.ลิมกล่าวทิ้งท้าย
สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่ จ.ภูเก็ตเมื่อวันที่ 3 พ.ค. (อ้างอิงวิดีโอจาก The Phuket News)
เรียบเรียงจาก:https://www.chinadaily.com.cn/a/202105/06/WS6093b2f5a31024ad0babc4d4.html,https://www.globaltimes.cn/page/202105/1222826.shtml
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage