"…เมื่อเข้าสู่การรักษา ตอนแรกได้ยาเยอะมาก ตอนนั้นก็จะหลอนๆหน่อย ใจเต้น แล้วก็นอนไม่ค่อยหลับ ยิ่งตอนไข้ขึ้น ลุกทำอะไรก็หน้ามืดตลอด พอเชื้อลงปอด เราก็ให้กำลังใจตัวเองว่า ต้องทำให้ดีที่สุดนะ มาใจห่อเหี่ยวไม่ได้ เขาให้ทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวก็ดีขึ้น ตอนนั้นกำลังใจเราสำคัญมาก เราก็หายใจลึกๆ ดมยา ทำทุกอย่างที่หมอบอก รอให้หมอมาบอกข่าวอะไรดีๆ และในที่สุดเราก็ได้ออกจากโรงพยาบาล…”
……………………………………………
สถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศขณะนี้ แม้ผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยใหม่จะเริ่มชะลอตัวลง แต่ผู้ติดเชื้อที่มีอาการหนักหรือรุนแรงกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และเมื่อไม่นานมานี้เราได้สูญเสียนักแสดงตลกชื่อดังของประเทศ ‘ค่อม ชวนชื่น’ หรือ นายอาคม ปรีดากุล กลายเป็นบทเรียนที่สำคัญ ที่ทำให้ทุกคนตระหนักว่า โควิดแม้จะรักษาหายได้ แต่ติดง่าย และโดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีโรคประจำตัว ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการเสียชีวิต หากไม่แข็งแรงเพียงพอ ก็ไม่อาจจะรับมือกับโรคนี้ได้
สำหรับอาการของโรคติดเชื้อโควิด ระลอกใหม่ ผู้ติดเชื้ออาจแสดงอาการตั้งแต่ความรุนแรงน้อย ไปจนถึงระดับความรุนแรงมาก ได้แก่ มีไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง ไอแห้ง มีเสมหะ ไม่มีเรี่ยวแรง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก เจ็บคอ ปวดหัว จมูกไม่ได้กลิ่น และอ่อนเพลีย นอกจากนั้นยังอาจแสดงอาการทางผิวหนัง คือ มีผื่นแดงคล้ายตาข่ายหรือเส้นใยเล็กๆ มีจุดเลือดออก มีผื่นบวมแดงคล้ายลมพิษ และมีตุ่มน้ำคล้ายโรคสุกใส
ทั้งนี้ หากท่านมีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ หรือไปในพื้นที่เสี่ยง และมีอาการของโรคอย่างใดอย่างหนึ่งข้างต้น ขอให้รีบไปตรวจหาเชื้อ เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาให้รวดเร็วที่สุด เนื่องจากการได้รับการรักษาที่รวดเร็วโดยทีมแพทย์ จะมีส่วนช่วยในการลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพ
“ขนาดเรายังแข็งแรง ร่างกายยังทรุด เคยพบออกซิเจนในเลือดต่ำ กระทั่งเชื้อลงปอด ต้องใส่ท่อช่วยหายใจช่วงหนึ่ง และต้องอยู่ในโรงพยาบาลประมาณ 14 วัน ตอนนั้นเราไอ หอบ เจ็บเวลาหายใจลึกๆ หรือกลั้นหายใจ และเหนื่อยๆ แรกๆที่คุยโทรศัพท์ ต้องบอกทุกคนเหมือนกันว่า ถ้าเงียบไป รอหน่อยนะ ได้ยินแล้ว แต่ต้องหายใจก่อน ถึงจะพูดไหว” นี่เป็นเสียงสะท้อนของ นายอริญ จันทร์ดี ผู้เขียนหนังสือ CHECK ! IN 2020 วัย 25 ปี หนึ่งในผู้ติดเชื้อโควิด
นายอริญ เล่าให้ฟังว่า ตอนนี้แม้จะได้ออกจากโรงพยาบาลแล้ว อาการหอบเหนื่อยไม่มีแล้ว แต่ผลเอ็กซเรย์ปอดยังมีฝ้าขาวๆ อยู่ ซึ่งสีขาวนั้นน่ะ เป็นได้สองอย่าง คือ ถ้าเป็นฝ้าทั่วไป อาจจะหายได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าร่างกายตัวเองจะฟื้นฟูได้เร็วแค่ไหน แต่ถ้าเป็นพังผืด อาจจะต้องเป็นแบบนี้ไปตลอดชีวิต และการดูแลตัวเองจะยากกว่า หรือถ้าอยากรักษาให้หายจริงๆ จะต้องรักษาขนานใหญ่เลย ซึ่งตอนนี้ตัวเองเพิ่งออกมาก็ต้องรอดูผลอีก 4 สัปดาห์ ว่าเป็นอย่างไร
เมื่อสอบถามว่า ระหว่างรักษาตัวเครียดไหม นายอริญ เปิดใจว่า “เครียดมาก อย่างแรกก็ตอนต้องกักตัวระหว่างรอผลตรวจ เราต้องแยกตัวอยู่คนเดียว แต่ว่าระหว่างรอเตียง เราเคยประสานสายด่วน 1688 ก็รู้สึกดี เพราะมีเจ้าหน้าที่โทรมาสอบถามอาการทุกวัน จนแอดมิทเข้าโรงพยาบาล จากนั้นเมื่อเข้าสู่การรักษา ตอนแรกได้ยาเยอะมาก ตอนนั้นก็จะหลอนๆหน่อย ใจเต้น แล้วก็นอนไม่ค่อยหลับ รู้เลยว่าร่างกายเหนื่อยมาก ยิ่งตอนไข้ขึ้น ลุกทำอะไรก็หน้ามืดตลอด แต่ถ้าเป็นตอนที่เชื้อลงปอด อาการภายนอกก็แค่หอบเหนื่อย เราก็ต้องให้กำลังตัวเองว่า ต้องทำให้ดีที่สุดนะ มาใจห่อเหี่ยวไม่ได้ เขาให้ทำอะไรก็ทำไป เดี๋ยวก็ดีขึ้น ตอนนั้นกำลังใจเราสำคัญมาก เราก็หายใจลึกๆ ดมยา ทำทุกอย่างที่หมอบอก รอให้หมอมาบอกข่าวอะไรดีๆ และในที่สุดเราก็ได้ออกจากโรงพยาบาล”
@ แนะติดโควิดให้ตั้งสติ-แยกตัว-เตรียมเอกสารสำคัญ รอแอดมิท
สำหรับวิธีปฏิบัติเมื่อรู้ว่าติดโควิด บางคนอาจรู้สึกตื่นตระหนกหรือกังวล ซึ่งกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้แนะนำว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวควรตั้งสติ และปฏิบัติดังนี้
1. เตรียมเอกสาร ได้แก่ บัตรประชาชน และเอกสารยืนยันผลตรวจโควิด
2. แจ้งเรื่องเข้ารับการรักษา โดยให้โทรแจ้งโรงพยาบาลที่ตรวจก่อน หากโรงพยาบาลที่ตรวจยังหาเตียงไม่ได้ภายใน 1-2 วัน ให้โทรติดต่อผ่านสายด่วน สำนักงานประกันหลักสุขภาพแห่งชาติ 1330, กรมการแพทย์ 1668 หรือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อแจ้งรายละเอียดและเบอร์โทรศัพท์ของตนเองให้หน่วยงานที่รับเรื่อง ทั้งนี้หากติดต่อผ่านสายด่วนไม่ได้ ขอกรอกข้อมูลใน แอดไลน์ @sabaideebot (สบายดีบอต) ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับ ทั้งนี้หากมีไข้สูง หายใจเหนื่อย ถ่ายเหลวหลายครั้งให้โทรสายด่วน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ บริการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
3. งดออกจากที่พัก หรือเดินทางข้ามจังหวัด หากฝ่าฝืนมีโทษผิด พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 มาตรา 34
4. งดใกล้ชิดครอบครัว และผู้อื่น
5. แยกห้องน้ำ (ถ้าทำได้) หากทำไม่ได้ให้ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้าย และทำความสะอาดด้วยผ้าชุบน้ำยาฟอกขาวความเข้มข้น 0.1% หรือแอลกอฮอล์ 70% หรือไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ 0.5%
6. หากมีไข้ ให้รับประทานยาพาราเซตามอล และเช็ดตัวเพื่อลดไข้
7. สวมใส่หน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา
8. แยกของใช้ส่วนตัว
@ ย้ำผู้ป่วยโควิดทุกคน ต้องเข้ารักษาในระบบสาธารณสุข
ระหว่างรอเตียงสถานพยาบาลว่างนั้น นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จะมีเจ้าหน้าคัดกรองความหนักเบาของอาการป่วย และโทรสอบถามอาการ จนกว่าผู้ป่วยจะได้เข้ารับการรักษา โดยผู้ป่วยสีแดง หรือผู้ป่วยอาการหนัก จะโทรหาทุก 4 ชั่วโมง ผู้ป่วยสีเหลือง หรือผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง จะโทรหาทุกวัน วันละ 1 ครั้ง และผู้ป่วยสีเขียว หรือผู้ป่วยอาการน้อย จะโทรหาทุก 2 วัน ซึ่งระหว่างนั้นเจ้าหน้าที่จะประสานกับโรงพยาบาล เพื่อจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
“ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว จะถูกส่งไปยังฮอสพิเทลหรือโรงพยาบาลสนาม ส่วนกลุ่มสีเหลือง และกลุ่มสีแดง จะถูกส่งต่อไปยังศูนย์ส่งต่อโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อจัดหาโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ โรงเรียนแพทย์ และโรงพยาบาลเอกชน แต่หากเป็นกลุ่มสีแดง ฉุกเฉินที่สุด จะติดต่อสายด่วน 1669 รีบเข้าไปรับผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที เพราะถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
ทั้งนี้ หากผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรอเตียงมานานหลายวัน สามารติดต่อเข้ามาที่ศูนย์แรกรับและส่งต่อ อาคารนิมิตรบุตร สนามกีฬาแห่งชาติ โทร. 02-270-1000 จะมีเจ้าหน้าที่ 40 คู่สาย ตรวจสอบประวัติและประเมินอาการ เพื่อไปรับตัว หรือประสานหาเตียงไปยังโรงพยาบาลและส่งต่อในกรณีมีอาการรุนแรง
“กระทรวงสาธารณสุขมีความเป็นห่วงผู้ติดเชื้อทุกราย หากคิดว่าไม่มีอาการและนอนอยู่บ้าน จากนั้นมีอาการรุนแรงขึ้นอาจเข้ารับการรักษาไม่ทัน จะทำให้อาการหนักรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ แต่หากเข้ารักษาในระบบอยู่ในความดูแลของแพทย์ จะช่วยลดความรุนแรงของโรคและลดการสูญเสียได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
@ ลดระยะเวลารักษาผู้ป่วยไม่มีอาการ-อาการน้อย เหลือ 10 วัน
สำหรับกระบวนการรักษาผู้ป่วยนั้น นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวสรุปให้ฟังว่า เนื่องจากปัจจุบันพบผู้ป่วยโควิดเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนแออัดหลายแห่ง เมื่อตรวจพบเชื้อ จะแบ่งผู้ป่วยออก 2 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่มที่อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจ คือ มีภาวะปอดอักเสบรุนแรง หรือกลุ่มมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ และโรคปอด เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไว้ที่ห้องไอซียูแยกโรค เนื่องจากอาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจหรือต่อกับเครื่องช่วยหายใจ
และ 2. ผู้ป่วยโควิดทั่วไป คือ มีแค่อาการไข้หวัด และยังไม่มีอาการหรือแนวโน้มความเสี่ยงทางเดินหายใจล้มเหลว กลุ่มนี้จะถูกส่งตัวไว้ในห้องแยกทั่วไป จนครบ 10 หรือ 14 วัน ถ้าหากระหว่างช่วงกักตัว มีอาการเปลี่ยนแปลงไป อาจพิจารณาเปลี่ยนไปรักษาแบบกลุ่มที่ 1 ข้างต้น
นายแพทย์ประจำโรงพยาบาลจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวอีกว่า ในส่วนของโรงพยาบาลสนามหรือฮอสพิเทล ส่วนใหญ่จะแนะนำสำหรับผู้ป่วยโควิดทั่วไป ส่วนเรื่องการให้ยารักษาหรือการกักตัว10 หรือ 14 วันนั้น แพทย์จะมีเกณฑ์การพิจารณาตามประกาศของกรมการแพทย์ ดังนี้
1. ผู้ติดเชื้อโควิด ไม่มีอาการ จะได้รับการรักษาในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อ และจะให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีกเป็นระยะเวลา 14 วัน หากมีอาการปรากฏขึ้นมา จะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาตามสาเหตุ โดยการดูแลรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ และอาจไม่ให้ยาต้านไวรัส เนื่องจากส่วนมากหายได้เองและอาจได้รับผลข้างเคียงจากยา
2. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง/โรคร่วมสำคัญ ภาพถ่ายรังสีปอดปกติ จะได้รับการรักษาในสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน นับจากวันที่มีอาการ หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น ซึ่งแพทย์จะดูแลรักษาตามอาการ เนื่องจากส่วนมากหายได้เอง ทั้งนี้หากไม่มีไข้หรือไม่มีอาการอื่น ๆ ของโรคแล้วอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมง และจะให้กลับไปพักฟื้นที่บ้านต่ออีกเป็นระยะเวลา 14 วัน
3. ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงแต่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือมีโรคร่วมสำคัญ หรือผู้ป่วยที่มีปอดบวม (pneumonia) เล็กน้อย จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และแพทย์อาจแนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ ระยะเวลา 5 ถึง 10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิกตามความเหมาะสม เพื่อลดประมาณไวรัส นอกจากนี้ กรณีที่มีผู้ป่วยมีอาการและภาพถ่ายรังสีปอดที่แย่ลง คือ มี progression of infiltrates หรือค่า room air SpO2 ≤96% หรือพบว่ามี SpO2 ขณะออกแรงลดลงมากกว่า 3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรก (exercise-induced hypoxia) แพทย์อาจพิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ร่วมกับยาฟาวิพิราเวียร์
4. ผู้ป่วยยืนยันที่มีปอดบวม ที่มี hypoxia (resting O2 saturation <96 %) หรือมีภาวะลดลงของออกซิเจน SpO2 ≥3% ของค่าที่วัดได้ครั้งแรกขณะออกแรง (exercise-induced hypoxemia) หรือภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates จะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล อย่างน้อย 14 วัน หรือจนกว่าอาการจะดีขึ้น และแพทย์อาจแนะนำให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เป็นเวลา 5-10 วัน ขึ้นกับอาการทางคลินิก ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ยาโลปินาเวียร์/ริโทนาเวียร์ 5-10 วัน ร่วมด้วย หรือยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ ตามดุลยพินิจของแพทย์
@ ห้ามพกอุปกรณ์พนัน-สุรา เข้ารพ.สนาม
โรงพยาบาลสนาม เป็นหนึ่งในสถานที่รับรักษาผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ป่วยอาการน้อย ทั้งนี้ หากผู้ป่วยได้เข้ามารับการรักษาภายในโรงพยาบาลสนาม รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา และอาจารย์ประจำสาขาวิชาโรคทางการหายใจและภาวะวิกฤตทางการหายใจอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำข้อปฏิบัติที่ควรทำ ดังนี้
1. จัดเตรียมอุปกรณ์ของใช้ส่วนตัวมาเอง เช่น ช้อนส้อม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน สบู่ ยาสระผม ผ้าเช็ดตัว ยาประจำตัว และชุดเสื้อผ้าตามความเหมาะสม ซึ่งบางโรงพยาบาลสนาม อาจมีการเตรียมชุดให้
2. สิ่งที่ห้ามนำเข้ามาในที่พัก เช่น อุปกรณ์การเล่นการพนัน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติด อาวุธ และของมีคม
3. ห้ามนำเครื่องดื่มและอาหารทุกชนิดเข้ามาในที่พัก โรงพยาบาลสนามมีการเตรียมอาหารที่เพียงพอให้ครบทั้ง 3 มื้อ การส่งอาหารจากภายนอก ขึ้นกับข้อกำหนดเฉพาะของแต่ละโรงพยาบาล
4. ไม่ควรนำของมีค่าติดตัวมาด้วย
5. ให้พักในอาคารตลอดเวลา และไม่ให้ออกจากที่พัก ยกเว้นในบริเวณที่มีการกำหนดไว้ให้
6. ห้ามย้าย สลับ หรือแลกเตียง
7. ควรพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อพักฟื้นร่างกาย
8. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา
9. อาบน้ำและเปลี่ยนชุดใหม่ทุกวัน
10. ทิ้งขยะในถังขยะที่จัดวางไว้และปิดฝาทุกครั้ง
11. งดการรับประทานอาหารร่วมกันรวมถึงการพูดคุยระยะใกล้ชิด หรือการจับกลุ่มทำกิจกรรม เพื่อลดการฟุ้งกระจายของเชื้อด้วย แม้ว่าคนจำนวนหนึ่งที่เข้าไปจะไม่มีอาการ หรือมีอาการเล็กน้อยก็ตาม
12. ร่วมกันรักษาความสะอาดและทำความสะอาดบริเวณที่พัก
13. เมื่อมีอาการเปลี่ยนแปลงจากเดิมเช่น มีไข้สูง ไอมากขึ้น เหนื่อยให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลทันที
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage