"...มาตรการทั้งหมดจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้โปรดทำความเข้าใจ ให้ความร่วมมือ เราจะปรับระดับตรงนี้ เพื่อลดการติดเชื้อ และนำไปสู่กระบวนการดูแลประชาชนอย่างเข้มงวดมากขึ้น..."
----------------------------------------------------
ในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ประจำวันที่ 29 เม.ย.2564 ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ มาตรการยกระดับมาตรการป้องกันและควบคุมโควิด 3 ข้อ คือ 1.ปรับระยะเวลากักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร 2.ปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร และ 3.ปรับมาตรการป้องกันและควบคุมโรคตามระดับของพื้นที่สถานการณ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ปรับระยะเวลากักตัวเป็น 14 วัน สำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร
ซึ่งก่อนหน้านี้ ศบค.มีคำสั่งที่ 4/2564 เรื่องแนวปฏิบัติตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งได้ปรับลดเวลากักตัว จึงจำเป็นต้องกลับมาคุมเข้มมาตรการกักตัว 14 วันตามเดิม ดังนี้
- ปรับจาก 7 วัน หรือ 10 วัน เป็น 14 วันทุกประเภท
- ไม่อนุญาตให้ออกจากห้องพัก ยกเว้นเพื่อทำการตรวจหาเชื้อ และรักษาพยาบาล
- ผู้ที่ได้รับอนุมัติหนังสือรับรองสถานภาพการพำนัก (Certificate of Eligibility หรือ COE) ตั้งแต่ 1 พ.ค.2564 หรือผู้ที่ได้รับ COE ก่อนหน้านั้นและเดินทางถึงไทยตั้งแต่วันที่ 6 พ.ค.เป็นไปต้น ให้ทำการตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง
สำหรับปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยในพื้นที่ทั่วราชอาณาจักร โดยให้ยกระดับพื้นที่สถานการณ์เป็น 5 โซนสี ประกอบด้วย สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด , สีแดง หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด , สีส้ม หรือ พื้นที่ควบคุม , สีเหลือง หรือ พื้นที่เฝ้าระวัง และ สีเขียว หรือ พื้นที่เฝ้าระวัง
โดยหลักการและเหตุผลในการพิจารณาแต่ละโซนสี จะดูจากลักษณะการระบาดในชุมชนและความต่อเนื่อง เช่น สีแดงเข้ม มีผู้ป่วยมากกว่า 100 รายต่อวันใน 1 สัปดาห์ และ สีแดง มีผู้ป่วยมากกว่า 10 รายต่อวันใน 1 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า การปรับพื้นที่สถานการณ์ ที่จะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2564 เป็นต้นไป ทั้ง 77 จังหวัดจะถูกแบ่งอยู่ใน 3 โซนสีเท่านั้นคือ แดงเข้ม แดง และส้ม
@ 6 จังหวัดแดงเข้ม ห้ามนั่งกินในร้าน - จัดกิจกรรมรวมกลุ่มไม่เกิน 20 คน
สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 6 จังหวัด ประกอบด้วย กทม. ชลบุรี เชียงใหม่ นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
- ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
- ห้างสรรพสินค้าปิด 21.00 น.
- สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรวมกลุ่มคน
- ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน
- ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน อนุญาตให้เฉพาะซื้อกลับบ้าน และเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น.
- ร้านสะดวกซื้อเปิดบริการ 04.00 - 23.00 น.
- ปิดสถานที่เสี่ยง ยกเว้นที่เล่นกีฬากลางแจ้งเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. ส่วนการแข่งขันทำได้แต่ห้ามมีผู้ชม
@ 45 จังหวัดสีแดง กินในร้านได้ถึง 3 ทุ่ม งดจำหน่าย-ดื่มสุรา
สีแดง หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุด 45 จังหวัด ประกอบด้วย กาญจนบุรี กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ เชียงราย ตาก ตรัง นครปฐม นครราชสีมา นครศรีธรรมราช นครสวรรค์ นราธิวาส น่าน ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ปัตตานี
พระนครศรีอยุธยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก เพชรบุรี เพชรบูรณ์ ภูเก็ต มหาสารคาม ยะลา ร้อยเอ็ด ระนอง ระยอง ราชบุรี ลพบุรี ลำปาง ลำพูน ศรีสะเกษ สระแก้ว สงขลา สมุทรสาคร สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง อุดรธานี และอุบลราชธานี
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
- ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
- ห้างสรรพสินค้าปิด 21.00 น.
- สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรวมกลุ่มคน
- ห้ามจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน
- รับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 21.00 น. และเปิดให้บริการซื้อกลับบ้านถึง 23.00 น. ทั้งนี้ให้งดจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้าน
- ร้านสะดวกซื้อเปิดบริการ 04.00 - 23.00 น.
- สถานที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยงให้เปิดบริการตามข้อกำหนด สถานที่เล่นกีฬาเปิดได้ไม่เกิน 21.00 น. จัดแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชมและผู้เล่น
@ 26 จังหวัดสีส้ม จัดแข่งกีฬาแบบมีผู้ชมได้ แต่จำกัดจำนวน
สีส้ม หรือ พื้นที่ควบคุม 26 จังหวัด ประกอบด้วย กระบี่ กาฬสินธุ์ ชัยนาท ชุมพร ตราด นครนายก นครพนม หนองคาย บึงกาฬ บุรีรัมย์ พังงา พะเยา แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร เลย สกลนคร สตูล สมุทรสงคราม สิงห์บุรี สุรินทร์ หนองบัวลำภู อุตรดิตถ์ อุทัยธานี และอำนาจเจริญ
- สวมหน้ากากอนามัยเมื่อออกนอกเคหะสถานหรืออยู่ในที่สาธารณะ
- ปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ
- ห้างสรรพสินค้าปิด 21.00 น.
- สถานศึกษาทุกระดับ สถาบันกวดวิชา ห้ามใช้อาคารสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอนหรือกิจกรรมรวมกลุ่มคน
- รับประทานอาหารในร้านได้ไม่เกิน 23.00 น. ทั้งนี้ให้งดจำหน่ายและดื่มสุราภายในร้าน
- ร้านสะดวกซื้อเปิดให้บริการตามปกติตามมาตรการที่กำหนด
- สถานที่เสี่ยงหรือสถานที่ที่มีกิจกรรมเสี่ยงให้เปิดบริการตามข้อกำหนด สถานที่เล่นกีฬาเปิดได้ตามปกติ จัดแข่งขันได้โดยจำกัดผู้ชมและผู้เล่น
@ สวมหน้ากากออกนอกบ้านทุกพื้นที่ - เน้นทำงานที่บ้านขั้นสูงสุด
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าวย้ำว่า ทุกพื้นที่ขอให้สวมหน้ากากอนามัยก่อนออกนอกเคหสถาน ส่วนราชการและภาคเอกชน ขอความร่วมมือการใช้มาตรการ Work From Home ขั้นสูงสุด สำหรับการจัดกิจกรรมงานเลี้ยงสังสรรค์ ขอให้ประชาชนงดการจัดกิจกรรมไปก่อน ยกเว้นเป็นการจัดพิธีตามประเพณีนิยม หรือ การจัดงานศพ ทั้งนี้ให้รวมถึงกิจกรรมที่จัดขึ้นในครอบครัวและมีมาตรการป้องกันโรคที่เพียงพอ เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการติดเชื้อ
"มาตรการทั้งหมดจะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 1 พ.ค.เป็นต้นไป ขอความร่วมมือทุกหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้โปรดทำความเข้าใจ ให้ความร่วมมือ เราจะปรับระดับตรงนี้ เพื่อลดการติดเชื้อ และนำไปสู่กระบวนการดูแลประชาชนอย่างเข้มงวดมากขึ้น" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
@ เคาะแผนฉีดวัคซีนถึงสิ้นปี 64 - กทม.รับเข็มแรกทุกคนภายใน ส.ค.
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า สำหรับการให้บริการวัคซีนโควิด จะมีจุดบริการทั้งในและนอกโรงพยาบาล 1,000 แห่ง มีวัคซีนแห่งละ 500 - 1,000 โดสต่อวัน พิสูจน์แล้วว่าสามารถทำได้ โดยเฉลี่ยจะทำได้ 500,000 - 1,000,000 ต่อวัน หรือ 15-30 ล้านโดสต่อเดือน
ทั้งนี้คาดว่าจะสามารถฉีดวัคซีนครบ 100 ล้านโดสภายในระยะเวลา 4-7 เดือน หรือ ก.ย. - ธ.ค.2564
ส่วน กทม. ได้เร่งรัดให้เพิ่มจุดให้บริการวัคซีนนอกโรงพยาบาล อาทิ สนามกีฬา มหาวิทยาลัย ศูนย์การประชุม โดยเตรียมกระจายวัคซีนไปในพื้นที่ 100 แห่ง วัคซีนแห่งละ 1,000 โดส เฉลี่ย 100,000 โดสต่อวัน หรือ ฉีดวัคซีนได้ 3 ล้านโดสต่อเดือน คาดว่าภายใน 3 เดือนหรือ มิ.ย. - ส.ค. จะสามารถฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ได้ครบทุกคน
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวย้ำว่า นอกจากที่ประชุมจะรับทราบถึงแผนการจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส ที่ประชุมยังได้อนุมัติหลักการการจัดหาวัคซีที่มีความหลากหลายทั้งชนิดและราคา เพื่อให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับวัคซีนครอบคลุม 70% โดยเร็วที่สุด ดังนี้
ภาครัฐจัดหาวัคซีน ไฟเซอร์ 5-20 ล้านโดส , สปุตนิก วี 5-10 ล้านโดส , จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน 5-10 ล้านโดส และ ซิโนแวค 5-10 ล้านโดส รวมถึงวัคซีนอื่น เช่น โมเดอร์นา หรือ ซิโนฟาร์ม หรือ ภารัต ไบโอเทค หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวยืนยันว่า ภาคเอกชนไม่ได้ถูกตัดออกไป และสามารถจัดซื้อวัคซีนได้ตรงนี้ เช่นเดียวกับข้อเสนอการทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยนายทศพร ศิริสัมพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการวิเคราะห์และสนับสนุนข้อมูลเศรษฐกิจรายสาขา ภายใต้ ศบศ.ได้เสนอแนวทาง 4 ด้าน ดังนี้
- จัดทำแผนการกระจายวัคซีนให้กับแรงงานในระบบประกันสังคม และประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนในระยะถัดไป
- ประสานงานกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข และภาคเอกชน กำหนดสถานที่ที่เหมาะสมในการสนับสนุนการกระจายวัคซีน
- ประสานกับ สปสช. กระทรวงแรงงาน และ ภาคเอกชน ในการรวบรวม ตรวจสอบ ข้อมูลความต้องการวัคซีนของแรงงานในระบบประกันสังคม และจัดส่งให้กรมควบคุมโรคทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อดำเนินการต่อไป
- ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดปัญหาอุปสรรคในกรณีที่มีภาคเอกชนนำเข้าวัคซีนด้วยตนเองในระยะต่อไป
"โดยสรุปก็คือภาคเอกชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ช่วงการจัดหา การนำมาฉีด รวมถึงการนำไปใช้ นี่คือสิ่งจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้" นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage