“…สิ่งที่ต้องตระหนักที่สุด คือ จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืน เพราะสาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนเป้าหมายหรือลูกหนี้ขาดคุณภาพในการบริหารจัดการหนี้ คือ มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ มีรายได้ไม่มั่นคง ขาดรายได้ประจำ ขาดการออมเงินในรูปบัญชีเงินฝากหรือเงินออม ขาดวินัยทางการเงิน ขาดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน และปัญหาเชิงพฤติกรรม เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อบายมุข เป็นต้น…”
....................................................
'ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน' เป็นปัญหาที่อยู่คู่กับสังคมไทยมาโดยตลอด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และเป็นปัญหาสำคัญที่ทุกรัฐบาลพยายามดำเนินการหาทางแก้ไข
เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2564 นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยถึงผลสำรวจ สถานภาพแรงงานไทย ปี 2564 กรณีศึกษากลุ่มตัวอย่างแรงงานไทย รายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 98.1 มีหนี้ โดยเป็นหนี้เพื่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน การชำระหนี้เก่า ส่งผลทำให้สภาพคล่องของแรงงานลดลง อีกทั้งมีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายจนต้องมีการก่อหนี้เพิ่ม ส่งผลทำให้หนี้ของแรงงานในปีนี้ขยายตัวสูงสุดที่ร้อยละ 29.56 คิดเป็นมูลหนี้ประมาณ 205,800 บาทต่อครัวเรือน แบ่งเป็นหนี้ในระบบ ร้อยละ 71 และหนี้นอกระบบ อีกร้อยละ 28.4
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า สิ่งที่น่าห่วงในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ามีการผิดนัดชำระหนี้ มากถึงร้อยละ 85 ของผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด เนื่องจากเหตุผล ขาดสภาพคล่องทางการเงิน และรายได้ที่ลดลง
ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ได้เสนอรายงาน 'การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนของประชาชน ในระดับฐานรากอย่างยั่งยืน' ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งให้กระทรวงมหาดไทย (มท.) รับรายงานพร้อมข้อเสนอแนะเพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
โดยผลการพิจารณาในภาพรวม 'แนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนฯ' นั้น พบว่า การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนตามโครงการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ 'โครงการ1 ครัวเรือน 1 สัญญา' ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชน มีหลักการและแนวทางที่มุ่งเน้นต่อการจัดการหนี้สินภาคครัวเรือนในพื้นที่ชุมชน แต่มีข้อจำกัดและเงื่อนไขในการดำเนินงานที่จำเป็นจะต้องตระหนักถึง หากจะขยายผลการขับเคลื่อนต่อไป คือ
การขยายผลการจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในพื้นที่เพื่อให้มีผลการดำเนินงานที่เข้มแข็งและยั่งยืน ควรคำนึงถึงความพร้อมของพื้นที่และการสนับสนุนงบประมาณในการจัดตั้งอย่างเพียงพอ โดยพิจารณาจากองค์ประกอบและเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้
1) การคัดเลือกพื้นที่ในการจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชน ควรเลือกพื้นที่ที่มีจำนวนครัวเรือนเป็นจำนวนมาก ที่ประสบกับปัญหาภาวะหนี้สิน และมีความสมัครใจ
2) ให้หน่วยงานภาคีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องสนับสนุนให้ความรู้เพิ่มทักษะที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการหนี้แก่คณะกรรมการศูนย์ เพื่อความเข้มแข็งของคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนที่สามารถบูรณาการกองทุนชุมชนในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการหนี้ร่วมกัน
3) การปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบ รวมถึงข้อบังคับของแต่ละกองทุนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกศูนย์จัดการกองทุนชุมชนเพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบกระบวนการบริหารจัดการหนี้และไม่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับของแต่ละกองทุน
4) การบริหารความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้
5) สนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอในการจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนและส่งเสริมอาชีพ
@ เพิ่มสภาพคล่อง ปรับลดดอกเบี้ย
การเพิ่มสภาพคล่องของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในการปรับโครงสร้างหนี้ รัฐบาลควรจัดสรรงบเงินอุดหนุนเพื่อจัดตั้งกองทุนแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน ภายใต้การกำกับดูแลของกรมการพัฒนาชุมชน และมีนโยบายให้สถาบันการเงินของรัฐ ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อเสริมสภาพคล่องในการปรับโครงสร้างหนี้
โดยจะต้องมีการประเมินความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณของรัฐ จากข้อเสนอในการขยายผลกองทุนแก้ไข โดยการจัดตั้งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในพื้นที่ และการขอให้รัฐบาลจัดสรรงบเงินอุดหนุนเพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับศูนย์จัดการกองทุนชุมชนในการปรับโครงสร้างหนี้ให้กับครัวเรือนที่เข้าร่วม ‘โครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา’ โดย กรมการพัฒนาชุมชน ควรประสานให้สถาบันการศึกษา หรือหน่วยประเมินภายนอกที่น่าเชื่อถือ ประเมินความคุ้มค่าโครงการในประเด็นของประสิทธิภาพ ประสิทธิผล รวมถึงการก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประชาชนและภาครัฐ และเพื่อความสมดุลกับทรัพยากรที่ใช้ เป็นข้อยืนยันว่าการดำเนินงานโครงการดังกล่าวมีการใช้งบประมาณอย่างเหมาะสม คุ้มค่า และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นข้อมูลสำหรับรัฐบาลในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานโครงการต่อไป
@ จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืน คือ สิ่งสำคัญ
การคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมายเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ โดยการบริหารจัดการหนี้ไปสู่ ‘โครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา’ ไม่อาจใช้แก้ปัญหาให้กับครัวเรือนเป้าหมายได้ทุกครัวเรือน เนื่องจากแต่ละครัวเรือนมีปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่แตกต่างกัน
การบริหารจัดการหนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านคุณภาพของลูกหนี้ จิตสำนึก ความตระหนักรับผิดชอบของลูกหนี้ เงินทุนในการปรับโครงสร้างหนี้ จึงเป็นเรื่องยากในการแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนให้หมดไป และควรดำเนินการด้วยความรอบคอบระมัดระวังเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาหนี้เสียหรือการดำเนินงานประสบความล้มเหลว
การคัดเลือกครัวเรือนเป้าหมาย เพื่อเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการหนี้ ต้องมีการสำรวจและจัดทำฐานข้อมูลลูกหนี้ พร้อมนำข้อมูลมาวิเคราะห์และจัดประเภทลูกหนี้ โดยนำข้อมูลลูกหนี้ทั้งหมดของแต่ละกลุ่มหรือกองทุน มาวิเคราะห์จำนวนหนี้และศักยภาพของลูกหนี้ทั้งหมดแต่ละราย อาจจะพิจารณาจากจำนวนยอดหนี้ทั้งหมดของลูกหนี้เป็นรายครัวเรือน และจัดกลุ่มตามจำนวนยอดหนี้ทั้งหมด โดยต้องคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายด้วย
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องตระหนักที่สุด คือ จิตสำนึกความรับผิดชอบต่อการชำระเงินคืน เพราะสาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนเป้าหมายหรือลูกหนี้ขาดคุณภาพในการบริหารจัดการหนี้ คือ มีรายจ่ายมากกว่ารายได้ มีรายได้ไม่มั่นคง ขาดรายได้ประจำ ขาดการออมเงินในรูปบัญชีเงินฝากหรือเงินออม ขาดวินัยทางการเงิน ขาดองค์ความรู้ในการแก้ไขปัญหาทางการเงิน และปัญหาเชิงพฤติกรรม เช่น การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย อบายมุข เป็นต้น
ลูกหนี้ต้องได้รับการปรับแนวคิด ทัศนคติในการสร้างวินัยทางการเงิน มีการทำบัญชีครัวเรือนอย่างจริงจัง รวมถึงพัฒนาให้ปรับเปลี่ยนไปใช้วิถีชีวิตตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สร้างความตระหนัก ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ มีความขยัน อดทน และมีความม่งมั่นที่จะนำครอบครัวไปสู่อนาคตที่ดีกว่าเดิม
@ เพิ่มทักษะการเงิน ร่วมกับเสริมอาชีพ
อีกทั้ง การสนับสนุนให้ครัวเรือนเป้าหมายที่เข้าสู่กระบวนการ ‘โครงการ 1 ครัวเรือน 1 สัญญา’ มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ ควรดำเนินการกับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกระบวนการฯ ก่อน หากประสบผลสำเร็จแล้วจึงขยายผลไปสู่ครัวเรือนที่จัดอยู่ในประเภทลูกหนี้เสียหรือหนี้สินลันพ้นตัว เพื่อเตรียมความพร้อมให้สามารถเข้าสู่กระบวนการต่อไป ดังนี้
1) เพิ่มความเข้มแข็งทางการเงินครัวเรือนเป้าหมาย โดยปรับหลักสูตรการอบรมและเสริมทักษะแก่กลุ่มเป้าหมายในเรื่องการพัฒนาทักษะทางการเงิน และการจัดการด้านการเงินเพื่อการประกอบอาชีพ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีทำธุรกรรมด้านการเงินเพื่อความสะดวกและลดต้นทุนโดยร่วมมือกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชนและการเงินชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน
2) การสร้างงาน สร้างอาชีพสร้างรายได้ ควรคำนึงถึงตลาด ความต้องการ และศักยภาพของครัวเรือนเป้าหมาย ซึ่งศูนย์จัดการกองทุนชุมชนต้องประสานความร่วมมือกับภาคีการพัฒนาทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาประชาชน มาสนับสนุนองค์ความรู้ทางวิชาการ เทคโนโลยี นวัตกรรม ภูมิปัญญาและทักษะในการพัฒนาอาชีพ สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมถึงการพัฒนาด้านการตลาดให้ทันสมัยนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้ครัวเรือนเป้าหมายมีรายได้สื่อสารสร้าง
@ วางระบบติดตาม ประเมินผล โดยระบบพี่เลี้ยง
กรมการพัฒนาชุมชนมีการติดตาม สนับสนุนการดำเนินงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนโดย ‘ทีมที่ปรึกษาแก้หนี้’ เปรียบเสมือนเป็นระบบพี่เลี้ยงในทุกระดับ โดยมีกลไกในการติดตาม สนับสนุนการดำเนินการ ดังนี้
1) พัฒนาการจังหวัด ผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาการอำเภอ ติดตามกำกับดูแล รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบให้ความสำคัญในการดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงาน และควบคุมให้มีคุณภาพ เกิดผลสัมฤทธิ์ในการแก้ไขปัญหาหนี้สินครัวเรือน
2) นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัดเป็นผู้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในระดับกรม เพื่อถ่ายทอดแนวทางความรู้ ความเข้าใจ ติดตามสนับสนุน และกำกับดูแลให้คำแนะนำแก่พัฒนากร กรณีมีข้อติดขัดหรือมีปัญหาให้ลงพื้นที่ชี้แจง สร้างความรู้ ความเข้าใจทันที
3) พัฒนาการ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อแก้ไขปัญหาอุปสรรค พร้อมเป็นที่ปรึกษาให้แก่คณะกรรมการและครัวเรือนเป้าหมาย และรายงานให้จังหวัดทราบทุกเดือน
4) คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชน มีบทบาทสำคัญในการติดตามตรวจเยี่ยม ครัวเรือนเป้าหมายโดยตรง เป็นผู้ตรวจสอบและประเมินความสามารถในการชำระหนี้ครัวเรือน รับทราบปัญหาอุปสรรคในด้านหนี้สิน และการส่งเสริมการประกอบอาชีพอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้กำลังใจ ให้คำแนะนำปรึกษาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคณะกรรมการกับครัวเรือนเป้าหมาย แล้วจัดทำแผนพัฒนาครัวเรือนเป็นตัวอย่างให้ครัวเรือนที่ต้องการเข้าสู่การบริหารจัดการหนี้ในอนาคตต่อไป
จากระบบดังกล่าว 'ทีมที่ปรึกษาแก้หนี้' เป็นเพียงเจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ภาคราชการเพียงหน่วยงานเดียว และคณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนชุมชนเท่านั้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการติดตาม ประเมินผล จึงควรเพิ่มองค์ประกอบของทีมที่ปรึกษาแก้หนี้ในระดับพื้นที่ ได้แก่ ผู้แทนองค์กรชุมชน แกนนำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน คณะกรรมการศูนย์จัดการกองทุนต้นแบบ รวมถึงหน่วยงานภาคี และสถาบันการเงินภาครัฐในพื้นที่ชุมชนนั้น ได้แก่ ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตร และสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประมาณทีมละ 5-9 คน เพื่อให้ทีมดังกล่าวลงไปติดตาม กระตุ้นหนุนเสริมให้กำลังใจ เป็นที่ปรึกษาร่วมกันตรวจสอบ ประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนเป้าหมายและร่วมกันสร้างระบบพี่เลี้ยงให้แก่ครัวเรือนเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมที่ปรึกษาแก้หนี้และครัวเรือนเป้าหมายอย่างใกล้ชิด สามารถนำข้อมูลในการติดตาม ประเมินผลมาทำจัดแผนบริหารความเสี่ยง และพัฒนาการดำเนินงานศูนย์จัดการกองทุนชุมชนให้เกิดผลสัมฤทธิ์และบรรลุเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
@ แก้ปัญหาหนี้ ลดความยากจน แก้ความเหลื่อมล้ำ
การผลักดันให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายของรัฐบาล ขณะนี้รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคีการพัฒนาที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานอย่างบูรณาการทุกมิติ ดังนั้น จึงควรกำหนดให้เรื่องการแก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนเป็นปัญหาสำคัญ ที่ศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงต้องดำเนินการแก้ไข
@ ดึงฝ่ายวิชาการร่วมบูรณาการ ยกระดับชุมชน
การบูรณาการความร่วมมือทางวิชาการโดยให้กรมการพัฒนาชุมชนร่วมกับสถาบันทางการเงินและสถาบันการศึกษาในท้องถิ่นนำเอาบทเรียนและประสบการณ์ของศูนย์จัดการกองทุนชุมชนไปร่วมกันจัดการความรู้ ค้นหาตัวแบบความสำเร็จ เพื่อนำไปพัฒนาเป็นหลักสูตร เพิ่มพูนความรู้ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชนและท้องถิ่นต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage