สำหรับในบริบทของตลาดวัคซีนโควิด-19 บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดหาวัคซีนนั้น แน่นอนว่าส่วนมากจะต้องซื้อมาอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ผลิตวัคซีนเองแต่อย่างใด จึงทำให้เส้นโค้งความต้องการนั้นอยู่ในทิศทางที่สูงชันขึ้นไปอีก ขณะที่เส้นกราฟของทรัพยากรยังคงที่เท่าเดิม ไม่ได้สูงขึ้นสอดรับไปกับความต้องการ
......................
สืบเนื่องจากประเด็นการจัดหาวัคซีนโควิด-19 ที่มีข้อถกเถียงกัน ณ เวลานี้ โดยเริ่มมีกระแสจากประชาชนบางส่วนมองว่าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาลนั้นอาจจะล่าช้าเกินไป มีความหลากหลายของชนิดวัคซีนน้อยเกินไป และมีการเรียกร้องให้รัฐบาลยกเว้นกฎเกณฑ์บางประการเพื่อที่จะทำให้เอกชนได้สามารถนำเข้าวัคซีนเข้ามาเป็นทางเลือกมากขึ้นให้กับประชาชนได้นั้น
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้สืบหาข้อมูลในต่างประเทศเพื่อตรวจสอบประเด็นการอนุมัติให้เอกชนนำเข้าวัคซีนดังกล่าว พบข้อมูลว่าสมาคมนักเรียนคณะเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศออสเตรเลีย (The Economics Student Society of Australia:ESSA) ซึ่งเป็นสมาคมนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศออสเตรเลียได้มีการออกบทความคัดค้านการเปิดให้เอกชนนำเข้าวัคซีน ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ณ เวลานี้
สำนักข่าวอิศรา นำเอาบทความดังกล่าวมาเรียบเรียงและนำเสนอ ดังนี้
ประเด็นเรื่องงบประมาณที่จำกัดนั้น ถือเป็นความท้าทายอย่างยิ่งยวดสำหรับความพยายามจะฉีดวัคซีนในประเทศกำลังพัฒนา ดังนั้น จึงมีแนวคิดว่าการอนุมติให้ภาคส่วนเอกชนได้เข้ามามีส่วนในการจัดซื้อวัคซีนจึงถูกเสนอ เพราะมองว่าเป็นทางออกสำหรับปัญหา
แต่อย่างไรก็ตาม จากการสืบค้นข้อมูลต่างๆ ก็ตามว่าแนวทางการเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการซื้อวัคซีนนั้นดูจะไม่ใช่แนวทางที่ดีเท่าไรนัก
ย้อนไปเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นเสมือนปีแห่งความเจ็บป่วย การออกมาตรการล็อกดาวน์ ความไม่แน่นอนต่างๆในภาคสังคม พอมาถึงปี 2564 ก็มีการมองกันว่าปีนี้ จะต้องเป็นที่จะสดใสกว่าเดิมด้วยการมาถึง และการแจกวัคซีนโควิด-19
ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วส่วนมากนั้นล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จในการจัดหาวัคซีน ประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีงบประมาณจำกัดหลายประเทศ ตอนนี้ก็กำลังดิ้นรนเพื่อที่จะหาจำนวนวัคซีนให้เพียงพอต่อจำนวนประชากร ดังนั้นรัฐบาลของประเทศที่กำลังพัฒนาแล้วเหล่านี้โดยเฉพาะในทวีปเอเชียจึงพิจารณาที่จะอนุมติให้ภาคส่วนเอกชนได้มีการจัดซื้อวัคซีน ซึ่งแม้การอนุมัติภาคเอกชนดังกล่าวนั้นจะเป็นเรื่องที่ฟังดูเหมือนจะเป็นทางแก้ไขปัญหาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตาม นี่กลับไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่ดีที่สุด
1.ประเด็นความเหลื่อมล้ำในการกระจายวัคซีนโควิด-19
โดยแนวโน้มทั่วไปที่เกิดขึ้น ณ เวลานี้ ก็คือว่าประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ กลายเป็นประเทศที่มีการสั่งซื้อวัคซีนมากเกินกว่าจำนวนที่เหมาะสมสำหรับประชากรของประเทศตัวเอง ซึ่งจากข้อมูลตัวเลขพบว่า 53 เปอร์เซ็นต์ของวัคซีนที่ดีที่สุดนั้น ถูกจัดหาโดยประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศที่พัฒนาแล้วที่ว่านี้นั้นกลับมีประชากรอยู่แค่ 14 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกเท่านั้น
อาทิ สหภาพยุโรปหรืออียู ได้มีการจัดหาวัคซีนเป็นจำนวน 1.6 พันล้านโดสสำหรับประชาชนจำนวน 375 ล้านคน เช่นเดียวกับประเทศแคนาดาที่มีการจัดหาวัคซีนจำนวนที่สามารถฉีดให้กับประชาชนจำนวนกว่า 188 ล้านคน ทั้งๆที่ประเทศนี้มีประชากรแค่ 32 ล้านคนเท่านั้น ส่วนประเทศออสเตรเลียเองก็มีการเข้าถึงสัญญาจัดหาวัคซีนจำนวนกว่า 134 ล้านโดส
ดังนั้นด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรวัคซีนที่น้อยสำหรับประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะความต้องการที่มากซึ่งมาจากกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว จึงเป็นที่เข้าใจได้ว่าทำไมตอนนี้ประเทศที่กำลังพัฒนาจึงกำลังดิ้นรนทุกทางพื่อที่จะจัดหาวัคซีนในระยะแรกด้วยวิธีที่แตกต่างกันออกไป
สัดส่วนการจัดซื้อวัคซีนโลก ที่มีการเก็บข้อมูลไว้ในช่วงเดือน ธ.ค. 2563 (อ้างอิงรูปภาพจาก https://www.visualcapitalist.com/tracking-covid-19-vaccines-around-the-world/)
2.ทวีปเอเชีย:แนวคิดการอนุมัติให้ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีน
จึงมีข้อถกเถียงกันว่าบริษัทเอกชนนั้นควรที่จะได้รับการอนุมติให้มีการจัดซื้อวัคซีนกันหรือไม่ โดยเฉพาะกับในประเทศที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากโรคระบาด ซึ่งในประเทศอินโดนีเซียนั้น มีการอนุมัติให้ภาคธุรกิจได้จัดซื้อวัคซีนไปพร้อมกับรัฐบาล โดยข้อมูลจากทางหอการค้าประเทศอินโดนีเซียระบุว่า ณ เวลานี้มีบริษัทมากกว่า 5,000 แห่ง ลงทะเบียนเพื่อที่จะเป็นผู้จัดซื้อวัคซีน
แน่นอนว่าวิธีการดังกล่าว ถ้าหากดูแค่ผิวเผินแล้วอาจจะเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการทำให้มีทรัพยากรวัคซีนเป็นจำนวนมากเข้าถึงผู้คนในระยะเวลาอันสั้น แต่ถ้าหากเราลงลึกในรายละเอียดแล้วจะพบว่ามีข้อเสียบางประการ
3.ข้อเสียของการให้เอกชนเป็นผู้จัดซื้อวัคซีน
3.1. เป้าหมายของภาคเอกชนในการหาผลกำไรมากกว่าประโยชน์ทางสังคม
ดังที่ทราบกันอยู่แล้วว่าบริษัทเอกชนนั้นจะจัดลำดับความสำคัญเรื่องการหากำไรเอาไว้เป็นลำดับต้นๆ และ ณ เวลานี้ ด้วยจำนวนทรัพยากรวัคซีนที่จำกัด ขณะที่ความต้องการวัคซีนยังสูงอยู่ บริษัทที่มีความสามารถในการจัดหาโดสวัคซีนได้เป็นจำนวนมากจะเข้าสู่ภาวะการภูกขาดและครองอำนาจในท้องตลาด ดังนั้นบริษัทเหล่านี้สามารถที่จะกำหนดราคาเพื่อเพิ่มผลกำไรได้ ผลที่ตามมาก็คือว่าประชาชนที่รายได้ต่ำจะประสบปัญหาในการเข้าถึงวัคซีน และจะนำไปสู่ปัญหาการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมในที่สุด
3.2. ถ้าหากสามารถกำจัดธรรมชาติการแสวงหาผลกำไรของบริษัทออกไปได้
สมมติว่าข้อปัญหาด้านแรงจูงใจเพื่อหาผลกำไรของบริษัทนั้นถูกขจัดออกไปได้เป็นผลสำเร็จ วัคซีนก็ยังคงเป็นความจำเป็นที่สำคัญ มีต้องการที่แน่นอน ซึ่งทำให้ราคาของวัคซีนนั้นจะคงตัวและไม่ผันผวนไปมากนัก เช่นเดียวกับจำนวนทรัพยากรวัคซีนที่ยังคงมีอย่างจำกัดเช่นกันในช่วงแรกของกระบวนการฉีดวัคซีน
ดังนั้นเส้นกราฟของทั้งอุปสงค์และอุปทานของวัคซีนจึงอยู่ในรูปที่ค่อนข้างสูงชันตามทฤษฎีพื้นฐานของหลักเศรษฐศาสตร์ สำหรับในบริบทของตลาดวัคซีนโควิด-19 บริษัทเอกชนที่ได้รับอนุญาตให้จัดหาวัคซีนนั้น แน่นอนว่าส่วนมากจะต้องซื้อมาอีกทีหนึ่ง ไม่ใช่ผลิตวัคซีนเองแต่อย่างใด จึงทำให้เส้นโค้งความต้องการนั้นอยู่ในทิศทางที่สูงชันขึ้นไปอีก ขณะที่เส้นกราฟของทรัพยากรยังคงที่เท่าเดิม ไม่ได้สูงขึ้นสอดรับไปกับความต้องการ
ซึ่งผลที่ตามมาก็คือว่า จำนวนปริมาณการจัดหาและความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นนั้นจะทำให้ราคาวัคซีนเพิ่มขึ้นอย่างไม่เป็นสัดส่วนตามมาด้วย และทำให้วัคซีนนั้นมีความเข้าถึงยากขึ้นไปอีกสำหรับชุมชนในประเทศที่มีรายได้ต่ำ
อัตราการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศทั่วโลกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ โดยประเทศไทยอยู่ที่ 1.7 เปอร์เซ็นต์
4.ทางเลือกอื่นๆคืออะไร
ดังนั้นแทนที่จะอนุญาตให้ภาคเอกชนซื้อวัคซีนด้วยตัวเองโดยตรง ธุรกิจต่างๆควรที่จะเข้าถึงโดสวัคซีนผ่านการจัดหาของทางรัฐบาล ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการจัดซื้อวัคซีน โดยรัฐบาลนั้นสามารถที่จะช่วยเหลือภาคเอกชนด้วยการให้ภาคเอกชนนั้นมีอำนาจในการต่อรองผ่านรัฐบาลเพื่อที่จะทำให้ราคาวัคซีนนั้นสามารถเข้าถึงได้ในขณะที่จำนวนวัคซีนนั้นยังคงมีปริมาณอย่างคงที่
โดย ณ เวลานี้ มีบางประเทศที่กำลังดำเนินการในรูปแบบนี้อย่างได้ผล อาทิ ที่ประเทศมาเลเซียที่ทุกบริษัทเอกชนซึ่งมีความต้องการจะจัดซื้อวัคซีนนั้นจะต้องมีการมาลงทะเบียนกับทางรัฐบาลเสียก่อน จึงจะสามารถหาวัคซีนผ่านทางช่องทางนี้ได้
ขณะที่ในส่วนของประเทศไทยเองก็ได้มีแนวทางที่คล้ายๆกับประเทศมาเลเซียเช่นกัน โดยเมื่อวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมานั้นได้มีการแถลงข่าวตั้งคณะกรรมการพิจารณาจัดหาวัคซีนโควิดทางเลือก และมีการแต่งตั้ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร เป็นประธานกรรมการในการจัดหาวัคซีนดังกล่าว
ข้อสรุป
เมื่อพิจารณาถึงข้อเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการอนุญาตให้ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 รัฐบาลควรจะทำข้อกำหนดให้ชัดเจนสำหรับภาคธุรกิจที่ต้องการจะซื้อวัคซีนโควิด-19 โดยให้มีการลงทะเบียนกับทางรัฐบาลสำหรับจำนวนโดสที่ต้องการ
ซึ่งแม้ว่าวิธีการดังกล่าวนั้นอาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในด้านแผนการฉีดวัคซีนบางประการ แต่ก็ถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ ในการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน
เรียบเรียงจาก:http://economicstudents.com/2021/04/why-the-private-sector-should-not-be-allowed-to-purchase-the-covid-19-vaccine/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage