"…บางคนอาจคิดว่าเด็กเล็ก ยังไม่น่าเข้าใจอะไรนัก แต่การที่ยังไม่ค่อยเข้าใจดังกล่าว กลับทำให้เกิดความเครียดในเด็กได้ด้วยเช่นกัน ด้วยบรรยากาศที่เด็กเคยอยู่กับพ่อแม่คนที่ใกล้ชิด แต่กลับเปลี่ยนไปเนื่องจากต้องไปอยู่คนอื่น หรือการที่กิจวัตรต่างๆ ที่เด็กเคยทำ อาจต้องเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเครียดต่อเด็กได้…”
………………………………………
สถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เพียง 1 เดือน ติดเชื้อสูงถึงกว่า 24,159 ราย กระจายไปทั่วประเทศ ขณะที่ตั้งแต่ช่วงวันที่ 15 เม.ย.2564 เป็นต้นมา มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันสูงถึงกว่า 1,400 ราย หรือบางวันสูงเกือบถึง 3,000 ราย และกระทรวงสาธารณสุขยังคาดการณ์ว่าแนวโน้มยอดผู้ติดเชื้อจะยังสูงทรงตัวไปอีก 1-2 สัปดาห์ ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงหลายรายต้องกักตัว เกิดความกังวลกลัวว่าตัวเองจะเป็นส่วนหนึ่งของการแพร่เชื้อ หรือเกิดความหวาดหวั่น วิตก ทั้งในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ทำให้ประชาชนตกอยู่ในความเครียด ความท้อแท้ใจ ที่อาจนำมาสู่ภาวะซึมเศร้า และการฆ่าตัวตายได้
“โดยผลสำรวจสุขภาพจิตของประชาชนในสถานการณ์การระบาดของโควิดระลอกใหม่ ผ่านโปรแกรม Mental Health Check-In พบว่า ประชาชนจำนวน 838,550 ราย มีแนวโน้มเครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า เสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเอง รวมถึงเกิดภาวะหมดไฟ 38,804 ราย หรือคิดเป็น 4.63% ซึ่งสูงเทียบเท่ากับการระบาดในระลอกแรก” พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต (อ่านประกอบ: เครียดสูง เสี่ยงซึมเศร้า! เปิดทางแก้-วัคซีนใจช่วยคนไทยรับมือโควิดระลอกใหม่)
กรมสุขภาพจิต เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า ความเครียด และความว้าวุ่นใจที่ต่อเนื่อง มีผลกระทบต่อการสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย การดูแลจิตใจให้เข้มแข็ง ด้วยเหตุดังกล่าว ในสถานการณ์การระบาดในปัจจุบัน การดูแลทั้งกายและใจจึงมีความสำคัญ
แน่นอนว่ามียอดผู้ติดเชื้อสูง ผู้สัมผัสเสี่ยงย่อมมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย และหากพ่อแม่หรือผู้ปกครองคนใกล้ชิดเด็กต้องกักตัว หรือต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ทำให้ต้องแยกจากลูกที่ต้องดูแล ผลกระทบทางจิตใจนี้ไม่ส่งผลแค่ผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กซึ่งเป็นวัยที่ต้องการความรัก ความอบอุ่นอยู่แล้ว ต่างได้รับผลกระทบทางจิตใจตามมาเช่นเดียวกัน
@ เด็กแสดงความเครียดได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัย-พื้นอารมณ์-ธรรมชาติของเด็ก
พญ.เบญจพร ตันตสูติ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น นามปากกาหมอมินบานเย็น แอดมินเพจเฟซบุ๊ก เข็นเด็กขึ้นภูเขา กล่าวด้วยว่า เมื่อเด็กมีความเครียด ความเครียดระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก อาจแตกต่างกัน เนื่องจากผู้ใหญ่มีความเข้าใจในอารมณ์ความรู้สึกต่างๆ ทำให้สามารถบรรยายความรู้สึก ความคิดของตัวเองได้
“แต่ในเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังไม่มีพัฒนาการทางภาษาที่เพียงพอ ยังไม่มีความเข้าใจ และยังไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ เวลาที่เด็กเครียด เด็กอาจจะแสดงออกด้วยพฤติกรรม เช่น ดื้อ ต่อต้าน ก้าวร้าวมากขึ้น ขาดสมาธิ นอนไม่หลับ ฝันร้าย มีปัญหาการการกิน พัฒนาการถดถอย อะไรที่เคยทำได้ก็กลับทำไม่ได้ ติดผู้ดูแลใกล้ชิดมากขึ้น หรืออาจมีอาการไม่ยอมไปโรงเรียน ไม่แยกจากผู้ดูแลใกล้ชิด ขณะเดียวกัน ความเครียดอาจจะแสดงออกด้วยอาการทางกาย เช่น ปวดท้อง ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน โดยไม่พบสาเหตุชัดเจน” พญ.เบญจพร กล่าว
สำหรับเด็กที่โตขึ้นมาหน่อย สามารถเล่าถึงความเครียดที่มีได้มากขึ้น เนื่องจากความเข้าใจทางภาษา หรือการแสดงออกความคิดความรู้สึกดีขึ้น เมื่อมีความเครียดอาจแสดงอาการทางกายและใจที่กล่าวมา คือ ความเครียดอาจส่งผลให้การเรียนตกลง มีปัญหาสัมพันธภาพกับเพื่อน หรือบางคนอาจจะติดเพื่อนมากขึ้น มีปัญหากับพ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันมากขึ้น หรือเด็กบางอาจคนติดเกม ติดอินเทอร์เน็ต เนื่องจากต้องการหลีกหนีจากความเครียดในใจ เรียกได้ว่า ความเครียดในใจเด็กทำให้เกิดการแสดงออกได้หลากหลาย ขึ้นอยู่กับวัย พื้นอารมณ์ และธรรมชาติของเด็ก
(พญ.เบญจพร ตันตสูติ)
@ 7 วิธีสร้างความสุข ขจัดความทุกข์ เตรียมความพร้อมให้ลูกรับมือโควิด
“การเลี้ยงดูปลูกฝังของพ่อแม่ เป็นปัจจัยหนึ่งที่บอกได้ว่า เด็กคนหนึ่งจะรับมือกับสถานการณ์ในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างไร ซึ่งโควิดก็ก็นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงในชีวิตด้วยเช่นกัน” พญ.เบญจพร กล่าว
สำหรับวิธีการดูแลของพ่อแม่ว่าควรทำอย่างไร เพื่อให้ลูกของเรา 'มีความสุขง่ายๆ และมีความทุกข์ยาก หรือถ้าทุกข์ก็จัดการมันได้' ซึ่งควรทำตั้งแต่ลูกยังเล็ก ดังนี้
1.มีเวลาให้ลูก คุยกับลูกเป็นประจำ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี และรับฟังลูกให้มาก แล้วลูกจะรับฟังเรามากขึ้นเช่นเดียวกัน
2.อย่าปล่อยให้ลูกติดหน้าจอโทรศัพท์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่น และที่สำคัญคือพ่อแม่ต้องไม่ติดด้วย เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก
3.เล่นกับลูกเป็นประจำ ตั้งแต่ตอนที่ลูกยังเป็นเด็กเล็กๆ
4.โตขึ้นมาชวนลูกอ่านหนังสือ โดยในช่วงแรกอาจอ่านนิทานด้วยกันก่อน
5.ฝึกให้ลูกมีระเบียบวินัย ไม่ตามใจเกินไป เพื่อให้ลูกรู้จักควบคุมตัวเอง และรู้จักการมีอิสระอย่างมีขอบเขต
6.สอนให้รู้จักช่วยเหลือตัวเองตามวัย อย่าทำอะไรให้ทุกอย่าง จนทำให้ลูกติดสบายเกินไป
7.ปฏิบัติกับลูกบนพื้นฐานของความรักและเข้าใจ มีเมตตาและเอาใจลูกมาใส่ใจเราอย่างสมดุล
พญ.เบญจพร กล่าวทิ้งท้ายว่า ถ้าพ่อแม่เลี้ยงเด็กตามที่บอก ลูกๆ จะมีแนวโน้มเติบโตไปเป็นคนที่มีสุขภาพจิตดี มีความสุขง่ายและมีความทุกข์ยาก แม้ว่าจะมีอุปสรรค หรือสถานการณ์ไม่ปกติ แม้เขาอาจจะรู้สึกแย่บ้าง แต่จะฟันฝ่าไปได้
@ 10 เทคนิคช่วยเด็กจัดการความรู้สึกแย่ เมื่อต้องรับหน้าที่เป็นผู้ปกครอง
พญ.เบญจพร เปิดเผยข้อมูลด้วยว่า บางคนอาจคิดว่าเด็กเล็ก ยังไม่น่าเข้าใจอะไรนัก แต่การที่ยังไม่ค่อยเข้าใจดังกล่าว กลับทำให้เกิดความเครียดในเด็กเล็กได้ด้วยเช่นกัน เนื่องจากด้วยบรรยากาศที่เด็กเคยอยู่กับพ่อแม่คนที่ใกล้ชิด การที่เด็กต้องไปอยู่กับผู้ใหญ่คนอื่นๆ อาจเป็นญาติ ที่ไม่ได้สนิทนัก หรือการที่กิจวัตรต่างๆ ที่เด็กเคยทำ อาจต้องเปลี่ยนไป สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้เกิดความเครียดต่อเด็กได้
ดังนั้น ในวันที่เด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ต้องอยู่ห่างจากพ่อแม่และผู้ปกครองที่ใกล้ชิด คนรอบข้างที่เข้ามาช่วยดูแล จะช่วยให้เด็กจัดการความรู้สึกแย่ได้อย่างไร มีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
1. ควรให้เด็กได้ติดต่อพูดคุยกับพ่อแม่หรือคนใกล้ชิดที่ต้องกักตัวสม่ำเสมอ นับว่าเป็นข้อดีในยุคนี้ ที่มีเทคโนโลยีให้เด็กสามารถพูดคุยผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ การคุยกันวีดีโอคอล เห็นหน้ากัน หรือคุยโทรศัพท์ ปลอบโยนให้เด็กรู้สึกสบายใจ ถือเป็นการให้เวลาที่มีคุณค่ากับเด็ก
2. คนที่ดูแลควรทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวันให้น้อยเท่าที่พอทำได้ ถ้าจำเป็นจะต้องเปลี่ยน จะต้องอธิบาย และสร้างความคุ้นเคยกับเด็กในการทำอะไรใหม่ๆ เช่น การต้องเปลี่ยนมาเรียนออนไลน์ ออกไปเล่นนอกบ้านกับเพื่อนๆ ทำไม่ได้แล้ว เป็นต้น ทั้งนี้คนที่ดูแลควรเป็นคนที่เด็กพอจะคุ้นเคยอยู่เดิม จะดีกว่า
3. ต้องเข้าใจว่า การแสดงออกทางความรู้สึกไม่สบายใจของเด็กนั้นเป็นไปได้หลายทาง เนื่องจากเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก ยังไม่สามารถพูดบอกความรู้สึกตัวเองได้เหมือนผู้ใหญ่ที่ จึงจะแสดงออกในรูปแบบพฤติกรรม เช่น ติดผู้เลี้ยงมากขึ้น พฤติกรรมถดถอย หรืออะไรที่เคยทำได้กลับทำไม่ได้ จะเกิดอารณมณ์หงุดหงิด โกรธ ดื้อ ต่อต้าน หรือปัสสาวะรดที่นอน
4. การตอบสนองต่อปฏิกิริยาของเด็ก ควรจะใช้ความเข้าใจ ไม่ใช่การดุ ตำหนิ ขู่ หรือโมโหเด็ก
5. สำคัญที่สุดคือรับฟังความไม่สบายใจของเขา เปิดโอกาสให้เด็กพูด หรือถามคำถามที่สงสัยในเรื่องที่เกิดขึ้น
6. ให้ความรักเอาใจใส่เด็กอย่างเหมาะสม อย่าคิดว่าที่เด็กมีความเครียดหรือพฤติกรรมถดถอย เป็นการเรียกร้องความสนใจ เนื่องจากเป็นธรรมดาที่เด็กจะต้องการความรักความสนใจมากขึ้น ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ไม่ใช่ว่าตามใจไปหมด การให้ความรักความสนใจคือ การมีเวลาทำกิจกรรม เล่น คุยกับเด็ก
7. เล่นและทำกิจกรรมผ่อนคลายกับเด็กมากขึ้น
8. ควรจะให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของโรคโควิดกับเด็ก ว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้น จะต้องทำอย่างไรเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยใช้คำพูดที่เด็กเข้าใจง่ายตามอายุ
9. ให้ข้อมูลว่าตอนไหนที่เด็กจะต้องบอกผู้ใหญ่ เช่น ถ้าเด็กรู้สึกไม่ดี ไอ เจ็บคอ ตัวร้อน หรือหายใจแล้วเหนื่อย ให้บอกผู้ใหญ่เพื่อจะได้พาไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาล ให้รักษาอาการป่วยให้ดีขึ้น
10. สุดท้ายผู้ใหญ่ที่ดูแลเด็ก ควรรักษาสุขภาพกายและจิตใจให้ดี เนื่องจากหากมีความเครียด หรือความกังวลมาก การไปช่วยเด็ก คงทำได้ยาก และอาจจะทำให้เด็กมีผลกระทบทางจิตใจมากขึ้น
@ วิธีสังเกตอาการป่วยโควิดของเด็ก
ด้าน นพ.ชัยศิริ ศรีเจริญวิจิตร กุมารแพทย์โรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิครินทร์ กล่าวว่า เมื่อต้องรับหน้าที่ดูแลเด็ก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงนั้น สำหรับวิธีการสังเกตอาการของเด็กเมื่อป่วยโควิด โดยส่วนใหญ่กว่า 90 % จะมีอาการไม่รุนแรง มักพบอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ไข้ ไอ ปวดกล้ามเนื้อ แต่จะมีผู้ป่วยเด็กเพียง 5% เท่านั้น ที่มีอาการรุนแรงหรือวิกฤติ เช่น ปอดอักเสบรุนแรง ระบบหายใจหรือระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว รวมถึงภาวะอักเสบหลายระบบในเด็ก ทั้งนี้ผู้ป่วยเด็กสามารถพบติดเชื้อแต่ไม่มีอาการได้ประมาณร้อยละ 4 ส่วนภาวะแทรกซ้อนนั้นจะพบได้น้อย โดยมักพบในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูง เช่น เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 1 ปี ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคปอดเรื้อรัง หรือภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ส่วนอัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 2%
ทั้งนี้ หากเด็กไม่มีอาการของโรคโควิดข้างต้น นพ.ชัยศิริ กล่าวแนะนำว่า ไม่จำเป็นตรวจหาสารพันธุกรรมของโรคโควิด เนื่องจากการตรวจขณะไม่มีอาการแล้วไม่พบเชื้อ อาจเข้าใจผิดว่าไม่เป็นโรคนี้ ทำให้ขาดความระมัดระวังในการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ รวมถึงในโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยมาก แออัด กลับจะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดโรคด้วย ทั้งนี้ให้ยกเว้นกรณีที่เด็กมีอาการ หรือเด็กที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ขอให้ผู้ปกครองรีบพาไปตรวจหาเชื้อ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage