"...ภาครัฐอยากให้คนหยุดอยู่บ้าน งดกิจกรรมที่มีการร่วมตัว เพื่อความปลอดภัยของทุกคน แต่ความจริง ไม่สามารถทำอย่างั้นได้ ทุกคนยังต้องใช้ชีวิต ยังต้องเสี่ยงอยู่ โดยสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการป้องกันตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่น เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย..."
.........................................
สถานการณ์การระบาดโควิดระลอกใหม่ที่รุนแรงขึ้น ทำให้มียอดผู้ป่วยติดเชื้อพุ่งสูงและพบผู้เสียชีวิตรายวัน เป็นสถานการณ์ที่สร้างความวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง ทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เป็นไปด้วยความเข้มข้นขึ้น โดยเฉพาะการกำหนดเวลาการเปิดปิดร้านอาหาร ปิดสถานบันเทิง ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการรวมตัว ห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ร้าน
อีกทั้ง มีคำสั่งให้หน่วยงานราชการทุกแห่งจัดรูปแบบการทำงานที่บ้าน หรือ Work from Home อย่างเต็มรูปแบบตั้งแต่ช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ จนถึงสิ้นเดือน เม.ย. และกระทรวงสาธารณสุขได้ขอความร่วมมือหน่วยงานภาคเอกชนร่วมมือกับภาครัฐ จัดรูปแบบการทำงานดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ โดยในเฉพาะพื้นที่ในจังหวัดเสี่ยง เพื่อช่วยลดและควบคุมการแพร่เชื้อ
ซึ่งมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเพื่อความปลอดภัยนั้น ย่อมมีผลพวงต่อสภาพวะเศรษฐกิจด้วย อีกทั้งยังมีผู้คนบางกลุ่มที่ไม่สามารถรทำงานที่บ้านได้ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ เช่น ผู้ประกอบการรายย่อย แม่ค้า พ่อค้า รวมไปถึงอาชีพที่เกี่ยวกับการขนส่งคมนาคม
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำรวจ พูดคุยถึงผลกระทบจากสถานการณ์โควิดกับผู้ประกอบการรายย่อย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ ในพื้นที่ กทม.
@ อดีตพนักงานบริษัทผันตัวขับจักรยานยนต์รับจ้างเพราะโควิด
นายพฤธิชัย จันนอก คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในคนที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่การระบาดของโควิดตั้งแต่ต้น เดิมเป็นพนักงานบริษัท แต่ถูกเลิกจากเพราะสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องผันตัวมาขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ทั้งการวิ่งวิน รวมถึงบริการรับส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชั่นต่างๆ ที่จากเดิมคืออาชีพเสริม แต่ปัจจุบันกลายเป็นอาชีพหลักในการหาเลี้ยงครอบครัว
"ตอนนี้ลูกค้าบางคนก็ทำงานที่บ้าน นักเรียนไม่ได้ไปโรงเรียน รายได้ก็ลดลงเพราะไม่มีลูกค้า ก็ต้องหาอาชีพเสริมทั้งวิ่งแกร้บ วิ่งฟู้ดแพนด้า" นายพฤธิชัย กล่าว
นายพฤธิชัย กล่าวอีกว่า ตนถือว่าโชคดีที่มีเพียงค่าภาระใช้จ่ายส่วนตัว ไม่ต้องจ่ายค่าเช่าบ้าน ไม่มีหนี้ และยังไม่มีครอบครัว ส่วนเรื่องรายได้ก็ไม่ได้ดีนัก แต่ก็เพียงพอที่จะอยู่ได้ ทั้งนี้ก็อยากให้ทางภาครัฐมีมาตรการเยียวยาหรือช่วยเหลือ ที่ผ่านมาโครงการคนละครึ่ง หรือโครงการเราชนะ ก็ช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายไปได้บ้าง
@ หยุดงาน หยุดเชื้อ แต่ไม่มีกิน
นายน้ำฟ้า วินมอเตอร์ไซค์ ย่านพหลโยธิน เล่าว่า ตนได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด ยิ่งภาครัฐมีนโยบายให้คนทำงานที่บ้าน ลดการรวมตัวและการเดินทาง ยิ่งลำบากเข้าไปอีกเพราะ ตนประกอบอาชีพเกี่ยวกับการขนส่ง แต่จะให้ตนหยุดอยู่บ้านด้วย ก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากปัญหาหลักคือภาระค่าใช้จ่าย สิ่งที่ทำได้คือการป้องกันตัวเองมากขึ้น เช่น การใส่หน้ากากอนามัย พกแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือ
นายน้ำฟ้า กล่าวว่า การประกอบอาชีพอิสระ เช่น การขับวินมอเตอร์ไซค์ เป็นอาชีพที่ไม่มีหลักประกันอะไร ไม่มีเงินเดือน ถ้าหยุดก็เท่ากับว่าวันนั้นจะไม่มีรายได้มาเลี้ยงครอบครัว ทั้งยังมีภาระหนี้ ทั้งค่าผ่อนบ้าน ผ่อนมอเตอร์ไซต์อีกด้วย
นายน้ำฟ้า กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนยังมีลูกที่ต้องดูแล และขณะนี้โรงเรียนปิด ต้องปรับมาเรียนออนไลน์ เมื่อลูกอยู่บ้าน สิ่งที่ต้องเตรียมพร้อมก็คืออินเทอร์น็ต ซึ่งนับว่าเป็นค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากเดิม อีกทั้งประสบปัญหาลูกเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง เนื่องจากต้องแยกกันเรียน ไม่มีครูคอยกำกับดูแล และตนก็ไม่มีเวลามากำกับดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะต้องทำงาน
"รัฐจะให้หยุดอยู่บ้าน เพื่อหยุดเชื้อ ทำได้ แต่อยู่บ้านเฉยๆ ไม่ทำอะไร ไม่กิน ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เพราะเรายังมีค่าใช้จ่ายอยู่ทุกวัน ลูกต้องกิน บ้านต้องผ่อน รถต้องส่ง หากรัฐมีความสามารถ ก็อยากให้เข้ามาช่วยเหลือบ้าง" นายน้ำฟ้ากล่าว
ภาพประกอบจาก: ไทยโพสต์
@ รายได้ลด รายจ่ายไม่หยุด อยากได้มาตรการพักชำระหนี้
น.ส.พัชราภรณ์ ทองล้วน และ น.ส.บุญเรือน พลราชม สองแม่ค้าร้านขายของชำ ตลาดวัดเกาะ เล่าถึงผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง ว่า ขณะนี้ราคาสินค้าแพงขึ้น ต้นทุนแพงขึ้น แต่ลูกค้าน้อยลง ยอดขายลดลงจากเดิมอย่างเห็นได้ชัด
น.ส.พัชราภรณ์ กล่าวว่า ภาครัฐอยากให้คนหยุดอยู่บ้าน งดกิจกรรมที่มีการร่วมตัว เพื่อความปลอดภัยของทุกคน แต่ความจริง ไม่สามารถทำอย่างั้นได้ ทุกคนยังต้องใช้ชีวิต ยังต้องเสี่ยงอยู่ โดยสิ่งที่ทำได้ตอนนี้คือการป้องกันตัวเอง และปฏิบัติตามมาตรการอย่างเข้มข้นมากขึ้น เช่น เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย
น.ส.บุญเรือน กล่าวเสริมว่า ปัญหาหลักคือภาระค่าใช้จ่าย มีหนี้สินท่ต้องชำระ ถึงแม้ว่ารายได้จะลดลง แต่ยังต้องผ่อนชำระหนี้เท่าเดิม ทั้งนี้อยากให้รัฐมีนโยบายช่วยเหลือในเรื่องของการพักชำระหนี้ โดยพักชำระหนี้ให้กับประชาชนทุกคน โดยที่ไม่ต้องลงทะเบียน
น.ส.พัชราภรณ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาทางร้านได้เข้าร่วมโครงการทั้ง เราชนะ คนละครึ่ง และอื่นๆ ทำให้พอมีรายได้เข้ามาหมุนเวียน แต่เมื่อหมดเขตของโครงการต่างๆ ยอดขายก็ลดลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ใช้จ่ายผ่านโครงการต่างๆ จึงอยากฝากให้รัฐมีนโยบายเกี่ยวกับการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างที่ผ่านมาอีก
"อยากให้รัฐมีโครงการเราชนะ ม.33 อีก เพราะสามารถใช้จ่ายได้เลย ลูกค้าส่วนใหญ่ก็มาแสกนจ่ายเลย แต่คนละครึ่ง ไม่ค่อยเวิร์ค เพราะต้องเติมเงินก่อน ซึ่งบางคนเขาไม่มีเงินที่จะเติม ก็ใช้ไม่ได้" น.ส.พัชราภรณ์ กล่าว
@ รายจ่ายที่ผกผันกับรายได้
ร้านรถพ่วงขายหมูย่าง เจ้าประจำย่านสายไหม แต่เดิมมียอดขายไม่ต่ำกว่าหมื่นบาท น.ส.จำนงค์ เรือชิม เจ้าของร้าน เล่าว่า ปัจจุบันบรรยากาศเงียบเหงามาก คนเดินน้อยลง รายได้ลดลง บางวันขายได้เพียงไม่ถึง 4 พันบาท แม้ยังไม่หักต้นทุน แม้จะยังพออยู่ได้ แต่ก็ไม่มากพอที่จะเหลือเก็บ อีกทั้งยังมีภาระค่าใช้จ่าย เช่น ค่าเช่า หนี้รายวัน ค่าบ้าน
"ค่าใช้จ่ายเท่าเดิม มีแต่จะเพิ่มขึ้น แต่รายได้กลับสวนทาง มีแต่แนวโน้มที่จะลดลงเรื่อยๆ" น.ส.จำนงค์กล่าว
น.ส.จำนงค์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ว่า เป็นหนึ่งในร้านที่เข้าร่วมโครงการต่างๆของรัฐ เนื่องจากถ้าไม่เข้าร่วมก็จะขายไม่ได้ ลูกค้าใช้จ่ายผ่านแอพฯทั้งหมด ส่วนเรื่องการเยียวยารายบุคคลนั้น อยากให้ปรับรูปแบบเนื่องจากที่ผ่านมาเป็นการกำหนดเกณฑ์การใช้จ่ายว่าต้องใช้จ่ายผ่านร้านที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น ไม่ใช่ให้เป็นเงินสด ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือการซื้อสินค้า ถ้าได้เป็นเงินสด หรือสามารถใช้กับอะไรก็ได้ ก็จะดีกว่า เพราะอยากใช้จ่ายค่าเช่าบ้าน ผ่อนชำระหนี้มากกว่า
@ การเยียวยาไปไม่ถึงคนเดือดร้อน
นายทรงคำ พ่อค้ารถขายผลไม้ เล่าให้ฟังถึงยอดขายว่า ลดลงจากเดิมมากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งตนขับรถเร่ขาย ยอดขายก็ไม่แน่นอน บางครั้งได้มาก บางครั้งได้น้อย ขึ้นอยู่กับสถานที่ แต่ปัจจุบันเรียกได้ว่ากระท่อนกระแท่น บางครั้งขายไม่ได้เลย แต่ตนไม่มีหนี้สิน มีเพียงแค่ค่าใช้จ่ายประจำวันและค่าเช่าบ้านเท่านั้น
"ไม่มีใครอยากออกมาเสี่ยงหรอก ถึงเวลาไม่มีจะกินแล้ว ก็ต้องออกมา ถ้าหยุดเลยก็ตายเลย ยิ่งค่าใช้จ่ายแพง ข้าวของราคาก็ขึ้น ไม่ลดลงเลย เมื่อก่อนซื้อนมลูกกล่องละ 10 บาท ตอนนี้ 13 บาทแล้ว แต่ถ้าจะให้อยู่บ้านเลย ก็คงต้องกลับต่างจังหวัด" นายทรงคำกล่าว
นายทรงคำ กล่าวถึงนโยบายการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ว่า ผู้เช่าบ้านเช่นตน ไม่ได้รับประโยชน์จากการประกาศลดค่าน้ำ ค่าไฟเลย แต่คนที่ได้รับประโยชน์คือเจ้าของบ้าน ส่วนผู้เช่ายังคงต้องจ่ายเต็มจำนวนตลอด จึงอยากให้รัฐตรวจสอบ และช่วยคนที่เดือดร้อนจริงๆ ส่วนโครงการเราชนะและอื่นๆ ถึงแม้ว่าร้านจะเข้าร่วมโครงการ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ยอดขายดีขึ้นจากเดิมมากนัก เพราะผู้คนคิดเยอะว่าจะใช้จ่ายอะไรบ้าง เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี
ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนจากผู้คนที่ยังคงต้องออกมาเสี่ยงกับเชื้อโควิด เพราะยังคงต้องดิ้นรนหาทางดำเนินชีวิตต่อไป แต่ทั้งนี้ทุกคนต่างก็ให้ความร่วมมือในมาตรการป้องกันต่างๆเท่าที่สามารถจะทำได้ และยังต้องติดตามกันต่อไปว่าทางภาครัฐจะมีแนวทางหรือนโยบายสำหรับช่วยเหลือเยียวยาผู้คนเหล่านี้ และประชาชนอย่างไร
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage