"...มีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่านให้ข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวควรจะดำเนินการเป็นสองแนวทาง คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทผู้รับจ้างกรณีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้างที่อ้างว่าสามารถดำเนินการพัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย โดยสำนักงานศาลยุติธรรมรับข้อสังเกตของ ก.ต. ไปดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนต่อไป..."
..........................................
กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาทันที!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ได้รับการยืนยันข้อมูลจากแหล่งข่าวระดับสูงในสำนักงานศาลยุติธรรม ว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ได้มติให้สำนักงานศาลยุติธรรม เข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทเอกชนที่รับจ้างทำระบบลงผลคะแนนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ในข้อหาฉ้อโกง แก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลการเลือกตั้งกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) ชั้นอุทธรณ์ และที่ประชุม ก.ต. ยังมีมติให้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคลากรภายในที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการว่าจ้างงานทำระบบเลือกตั้งดังกล่าวด้วย
(อ่านประกอบ : ฉ้อโกง-แก้ไขข้อมูล! ก.ต. สั่งฟัน บ.เอกชน - สอบ ’บิ๊ก’ ศาลยุติธรรมจัดเลือก I-Vote ก.บ.ศ.)
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา ตรวจสอบพบว่า ในช่วงบ่ายวันที่ 20 เมษายน 2564 สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติรรรม ได้เผยแพร่ข่าวผลการประชุม ก.ต. ครั้งที่ 7/2564 เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เป็นทางการ
ระบุที่ประชุมพิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
ตามที่คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมเพื่อตรวจสอบการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์
คณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม ได้พิจารณารายงานของคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว และมีการอภิปรายแสดงความคิดเห็นหลายประการ
โดยมีคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมบางท่านให้ข้อสังเกตว่า กรณีดังกล่าวควรจะดำเนินการเป็นสองแนวทาง คือ ให้สำนักงานศาลยุติธรรมไปดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษบริษัทผู้รับจ้างกรณีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้างที่อ้างว่าสามารถดำเนินการพัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ได้ และสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย
โดยสำนักงานศาลยุติธรรมรับข้อสังเกตของ ก.ต. ไปดำเนินการตรวจสอบให้ได้ความชัดเจนต่อไป
อย่างไรก็ดี ในเอกสารเผยแพร่ข่าวดังกล่าว มิได้มีการระบุรายละเอียดผลการตรวจสอบรวมถึงรายชื่อบริษัทผู้รับจ้างกรณีให้ข้อมูลอันเป็นเท็จเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้รับจ้างที่อ้างว่าสามารถดำเนินการพัฒนาระบบเลือกตั้งอิเล็กทรอนิกส์ได้เอาไว้
ขณะที่ สำนักข่าวอิศรา สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับ ก.บ.ศ. พบว่า ในเว็บไซต์ สำนักงานศาลยุติธรรม ระบุว่า ก.บ.ศ. มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการและงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผน และประเพณีปฏิบัติของทางราชการศาลยุติธรรม โดยให้มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(1) ออกระเบียบหรือประกาศ หรือมีมติเพื่อการบริหารราชการศาลยุติธรรมในส่วนที่เกี่ยวกับงานบริหารราชการและงานธุรการของสำนักงานศาลยุติธรรม ให้เป็นไปตามนโยบายของประธานศาลฎีกา รวมทั้งมีอำนาจยับยั้งการบริหารราชการของศาลยุติธรรมหรือสำนักงานศาลยุติธรรมที่ไม่เป็นไปตามระเบียบ ประกาศ หรือมตินั้นด้วย
(1/1) ออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ในศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกา
(2) ให้ความเห็นชอบในการเสนอร่างกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารราชการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนของศาลยุติธรรมต่อคณะรัฐมนตรี
(3) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายในการบริหารราชการของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม
(4) พิจารณาให้ความเห็นชอบในการบริหารจัดการงบประมาณและการพัสดุของศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม
(5) การกำหนดวันทำงาน วันหยุดราชการตามประเพณี วันหยุดราชการประจำปี และการลาหยุดราชการของข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมและลูกจ้างของสำนักงานศาลยุติธรรม
(6) กำหนดให้มีตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายใดเพื่อใช้ในการบริหารราชการศาลยุติธรรม รวมทั้งกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำและใช้ตราสัญลักษณ์ หรือเครื่องหมายนั้นไว้ด้วย
(7) แต่งตั้งบุคคลหรือคณะบุคคลให้ทำการใด ๆ แทน และกำหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนให้ผู้ซึ่งได้รับแต่งตั้ง
(8) กำกับดูแลการบริหารราชการศาลยุติธรรมให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่น
(9) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่มีกฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจหน้าที่ของ ก.บ.ศ.
สำหรับโครงสร้างการบริหารงานของ ก.บ.ศ. ประกอบไปด้วย ประธานก.บ.ศ. , กรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลฎีกา, กรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลอุทธรณ์ , กรรมการบริหารศาลยุติธรรมชั้นศาลชั้นต้น , กรรมการบริหารศาลยุติธรรมผู้ทรงคุณวุฒิ, เลขานุการ , ผู้ช่วยเลขานุการ
ก.บ.ศ. จึงนับเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในกระบวนการบริหารงานของ สำนักงานศาลยุติธรรม
ส่วนข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวางระบบจัดการเลือกตั้งกรรมการศาลยุติธรรมด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ นั้น สำนักงานอิศรา จะติดตามมานำเสนอให้สาธารณชนได้รับทราบต่อไป
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage