“…เราได้ระดมสรรพกำลังทั้งจากกระทรวงกลาโหม และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำโรงพยาบาลสนามขึ้น ซึ่งทั้งประเทศคาดว่าจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้อีกประมาณ 30,000 เตียง ยืนยันว่าเพียงพอสำหรับประชาชนแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยดึงกราฟลง แต่ขอให้ช่วยอดทนดึงกราฟลงต่ออีกสัก 2 อาทิตย์ แล้วเราจะไม่มีภาวะผู้ป่วยล้นเตียง…”
..........................................
จากสถานการณ์โควิดระลอกใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากสถานบันเทิงและพบกลุ่มวัยหนุ่มสาว หรือคนทำงานที่มีการเคลื่อนย้ายเดินทางไปทำกิจกรรมต่างๆ ติดเชื้อโควิดกันเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการระบาดกระจายไปทั่วประเทศ โดยเฉพาะภายในที่ทำงานและบุคคลใกล้ชิดภายในครอบครัว ทำให้มียอดผู้ป่วยสะสมสูงถึงกว่า 14,851 รายภายใน 3 สัปดาห์ คิดเป็น 3 เท่าของจำนวนผู้ป่วยในการระบาดระลอกแรก ในเดือน ม.ค. จนถึงกลางเดือนธ.ค.2563
โดยในช่วง 5 วันที่ผ่านมา มีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่พุ่งสูงกว่า 1,000 รายต่อวัน ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วย โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวชี้แจงว่า ปัญหาที่ผู้ป่วยยังไม่ได้ถูกนำตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลมาจากหลายสาเหตุ อาทิ แลปเอกชนไม่ประสานงานหรือจัดหาเตียงให้ผู้ติดเชื้อ หรือกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนบางแห่ง ไม่ขยายปริมาณเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วย เป็นต้น
นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ทราบปัญหาและกำลังเร่งดำเนินการแก้ไข พร้อมย้ำว่า ผู้ป่วยต้องอยู่ภายใต้การดูแลของบุคลากรแพทย์ ซึ่งกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) อยู่ระหว่างดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้จากสถานการณ์ปัจจุบัน พบผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น ทำให้ต้องมีคัดกรองผู้ป่วยเข้ารับการรักษาตามความรุนแรงของโรค ดังนี้
1.ผู้ป่วยสีเขียว คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก อายุไม่มาก หรือไม่มีโรคร่วม โดยอาจมีไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตาแดง มีผื่น ถ่ายเหลว หายใจเร็ว แต่ไม่มีอาการหายใจเหนื่อย หรือไม่มีอาการหายใจลำบาก ไม่มีปอดอักเสบ ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงหรือโรคร่วมสำคัญ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม โดยกลุ่มแรก คือ ผู้ป่วยที่พบจากการตรวจคัดกรอง และกลุ่มที่สอง คือ ผู้ป่วยที่พบติดเชื้อจากจากเข้าไปตรวจหาเชื้อที่สถานพยาบาล
สำหรับกลุ่มนี้ สำนักการแพทย์ กทม. และกรมการแพทย์จะรับเข้าไว้ในโรงพยาบาลสนาม หรือ Hospitel
2.สีเหลือง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง เริ่มมีอาการหายใจเร็ว หายใจเหนื่อย และมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรง หรือโรคร่วมสำคัญอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ ได้แก่ ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด รวมโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
3. ผู้ป่วยสีแดง คือ ผู้ป่วยที่มีอาการเหนื่อยหอบ เหนื่อยเวลาเดิน พบปอดอักเสบ ผู้ป่วยยืนยันปอดบวม หรือผู้ป่วยที่มีภาพรังสีทรวงอกมี progression ของ pulmonary infiltrates
สำหรับกลุ่มผู้ป่วยสีเหลือง และกลุ่มผู้ป่วยสีแดง จะมีศูนย์ส่งต่อผู้ป่วยโควิดราชวิถี กรมการแพทย์ดูแลจัดสรรหาเตียงในโรงพยาบาลให้
นพ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงเพียงพอ จำนวน 9,317 เตียง จากเดิมที่เคยมี 6-7 พันเตียง มีการครองเตียง 6,294 เตียง และยังว่างอยู่ 3,023 เตียง นอกจากนี้ยังได้ระดมสรรพกำลังทั้งจากกระทรวงกลาโหม และกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จัดทำโรงพยาบาลสนามขึ้น ซึ่งทั้งประเทศคาดว่าจะมีเตียงรองรับผู้ป่วยได้อีกประมาณ 30,000 เตียง
โดยใน กทม. จะมีเตียงจากการจัดหาโรงพยาบาลสนามและ Hospitel รวม 10,000 เตียง ซึ่งเพียงพอแน่นอน ส่วนต่างจังหวัด อาจจะเกิดปัญหาเตียงไม่พอบ้างในบางจังหวัด อย่างเช่น เชียงใหม่ แต่ขณะนี้ได้มีการขยายโรงพยาบาลสนามเพิ่มแล้ว
“ดังนั้นผมมั่นใจว่าเราจะมีเตียงเพียงพอแน่นอน อย่างไรก็ตาม ขอขอบคุณประชาชนที่ช่วยดึงกราฟลง แต่ขอให้ช่วยอดทนดึงกราฟลงต่ออีกสัก 2 อาทิตย์ แล้วเราจะไม่มีภาวะผู้ป่วยล้นเตียง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
@จัดหารถรับผู้ติดเชื้อเพิ่ม 100 คันทั่วประเทศ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีเมื่อมีการประสานเตียงได้แล้ว พบปัญหาไม่มีรถรับผู้ติดเชื้อส่งโรงพยาบาลนั้น ขณะนี้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ไปหาทางเพิ่มรถนำส่งที่สามารถแบ่งคนไข้เป็นตอนหน้า และตอนหลังได้ มาช่วยจัดการปัญหานี้แล้ว ขณะนี้ได้แล้ว 50 คันจาก 3 บริษัทในระยะแรกพื้นที่กทม. จากนั้นจะเพิ่มเป็น 100 คันทั่วประเทศ ซึ่งก็จะมีการนำส่งผู้ป่วยเป็นเวร โดยกรณีนี้จะอยู่ในความดูแลของศูนย์เอราวัณ
@ย้ำยังไม่มีนโยบาย ‘แยกกักตัวที่บ้าน’
สำหรับกรณีให้ผู้ป่วยโควิดแยกตัวอยู่ที่บ้าน หรือ Home Isolation นพ.สมศักดิ์ กล่าวย้ำว่า กรณีดังกล่าวเป็นการเตรียมระบบต่างๆไว้ เพื่อรองรับการระบาดระลอกใหม่ ที่อาจทำให้พบผู้ติดเชื้อรายวันเป็นจำนวนหลักหมื่นคน แต่ตอนนี้ยังไม่มีการใช้แนวทางดังกล่าว ยกเว้นคนที่รอเตียงที่บ้านว่าต้องทำตัวและปฏิบัติตัวอย่างไร กล่าวคือ หมอต้องมีการทำ Telemonitor มีช่องทางสื่อสารกับผู้ป่วย ติดตามอาการทุกวัน และมีช่องทางติดต่อกรณีฉุกเฉินส่วนโรงพยาบาล ลงทะเบียนในระบบโรงพยาบาล เอ็กซเรย์ปอดปกติ ให้ที่วัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และจัดระบบรองรับผู้ป่วยในกรณีฉุกเฉิน
จึงแนะนำให้ผู้ติดเชื้อสามารถประสานงานเรื่องเตียงผ่านสายด่วนศูนย์เอราวัณ โทร.1669 สายด่วนกรมการแพทย์ จะรับสายช่วงเวลา 08.00-22.00 น. ทุกวัน โทร.1668 และสายด่วน สปสช. โทร. 1330 สายด่วน สปสช. (รับสายตลอด 24 ชั่วโมง) ทั้งนี้หากติดต่อไม่ได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ติดสายเยอะมาก ให้ลงทะเบียนผ่านไลน์ ‘สบายดีบอต’ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป ขอให้ประชาชนมั่นใจว่าผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการประสานดูแลจัดหาเตียงให้แน่นอน
@ ปรับ ASQ เป็น Hostpitel หรือโรงพยาบาลชั่วคราว 7,200 เตียง
ด้าน นพ.ธเรศ กรัษรัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สำหรับแนวทางขณะนี้มีการพิจารณาแล้วว่า หากโรงพยาบาลเอกชนจะขยายเตียงนั้น จะมีการอนุมัติแบบฟาสแทร็ก (fast-track) โดยอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ซึ่งจะคล่องขึ้นสำหรับโรงพยาบาลที่มีพื้นที่อยู่แล้ว
นอกจากนี้ นพ.ธเรศ กล่าวอีกว่า สำหรับสถานกักกันโรคทางเลือก หรือ Alternative State Quarantine (ASQ) ที่ปกติเป็นพื้นที่สำหรับดูแลผู้เดินทางมาจากต่างประเทศอยู่แล้วนั้น ที่ผ่านมาขึ้นทะเบียน 100 แห่ง ซึ่งโรงแรมได้ทำสัญญากับโรงพยาบาลเอกชนแล้ว และมีระบบป้องกันตามมาตรฐาน จึงจะนำ ASQ มาปรับตัวเป็นโรงงพยาบาลชั่วคราวที่เรียกว่า Hospitel ซึ่งแนวคิดนี้สอดคล้องกับการทำโรงพยาบาลสนาม โดยได้รับความร่วมมืออย่างดี ทั้งนี้ ได้ออกแนวทางและรับสมัครไปตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.2564 ทำให้มีโรงพยาบาลร่วมกับโรงแรมที่สมัครและผ่านการรับรองแล้ว 34 แห่ง เป็นจำนวนเตียงที่ขออนุมัติภาพรวม 7,200 กว่าเตียง แต่เปิดใช้จริงประมาณ 4 พันเตียง เนื่องจากช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี ทางโรงแรมได้ซ่อมแซม ทำความสะอาด ปรับระบบต่างๆ ไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้มีผู้ป่วยมาใช้บริการแล้วกว่า 2 พันราย ซึ่งเป็นกลุ่มสีเขียว แต่ถือเป็นข้อดี เนื่องจากตรงนี้จะช่วยให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างรองรับผู้ป่วยกลุ่มที่มีอาการซับซ้อน
นพ.ธเรศ กล่าวถึงปัญหาประชาชนไปตรวจที่คลินิก และไม่ได้รับการประสานจัดหาเตียงให้ว่า ขณะนี้เราได้ออกประกาศโดยระบุให้คลินิกที่ตรวจ ต้องจัดหาต้องให้คำแนะนำในการส่งต่อผู้ป่วยไปสถานพยาบาลเพื่อรักษาทันที หากต่อไปประชาชนไม่ได้รับการดำเนินการดังกล่าว ถือว่าคลินิกนั้นทำผิดกฎหมาย แต่ที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยแล้ว และในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมทางไกลกับคลินิกต่างๆ เพื่อวางระบบแนวทางต่อไป และจะกำหนดให้คลินิกที่จะตรวจเชื้อโควิด จะต้องมีการทำบันทึกความร่วมมือ (MOU) กับสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชนที่จะส่งต่อผู้ป่วยด้วย
ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนได้ขยายเตียงเพิ่มขึ้น เป็น 665 เตียง จากเดิม 300 เตียง เมื่อรวมกับ Hospitel จะมีเตียงรวม 1,600 เตียง โดยมีผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาแล้ว 250-300 คน อย่างไรก็ตามการพบผู้ติดเชื้อทุกวัน และการเพิ่มระยะเวลากักกันตัวเป็น 14 วัน ทำให้ต้องการเตียงเพิ่มขึ้นมาก ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่แสดงอาการจะถูกส่งไป Hospitel แต่พบว่าคนไข้ปอดอักเสบเร็วขึ้น หรือโควิดลงปอดมีแนวโน้มเป็นผู้ป่วยอาการหนักมากขึ้น ต้องส่งตัวกลับไปยังโรงพยาบาล ในช่วงแรกจะเกิดความโกลาหลบ้าง แต่เมื่ออาการดีขึ้นจะส่งไป Hospitel เพื่อให้โรงพยาบาลมีเตียงว่างสำหรับผู้ป่วยแสดงอาการ
@ กทม.และพื้นที่โดยรอบเตรียมขยาย รพ.สนาม 2,926 เตียง
ด้าน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนผู้ป่วยจากการค้นหาเชิงรุกเฉลี่ย 100-140 คน โดยหากเป็นผู้ป่วยสีเขียว จะรับเข้าดูแลในโรงพยาบาลสนามที่ ซึ่งมีเตียงอยู่ 1,656 เตียง มีการเข้าใช้ปัจจุบัน 1,275 เตียง เหลือว่าง 381 เตียง โดยยังมีผู้ตกค้างอยู่ที่บ้านอีก 505 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการประสานและจัดการ
และในวันพรุ่งนี้จะได้รับเตียงจากโรงพยาบาลสนาม ทั้งโรงพยาบาบผู้สูงอายุบางขุนเทียน 500 เตียง และที่สนามกอกอารีน่า อีก 400 เตียง กองทัพบกจัดหาให้อีก 200 เตียง รวม 1,100 เตียง ทำให้มีเตียงของรพ.สนามรวม 2,756 เตียง ทั้งนี้ ยังมีแนวคิดขยายเตียงสนามรองรับผู้ป่วยอีก ใน จ.นนทบุรี และนครปฐมอีก 170 เตียง ซึ่งจะทำให้ต่อไปในอนาคต มีเตียงของโรงพยาบาลสนาม มากถึง 2,926 เตียง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage