“...การขายที่ดินทั้ง 2 แปลง ตามมติคณะกรรมการจัดสรร ปี 2537 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินพื้นที่ส่วนกลาง สำหรับพักผ่อนและออกกำลังกาย อีกทั้งที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้องสมุดชุมชน จึงได้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดินเกี่ยวกับความถูกต้องของการออกโฉนดที่ดิน ต่อมาได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ปัจจุบันศาลปกครองรับฟ้องแล้ว อยู่ในระหว่างการดำเนินคดี...”
……………………………………………
ช่วงเดือน ก.พ.2564 ที่ผ่านมา ลูกบ้านหมู่บ้านสัมมากร บางกะปิ กทม.รวมตัวประท้วงหลังที่ดินบริเวณสวนสาธารณะ อ้างว่าเป็นพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านถูกแบ่งขาย อย่างไม่ถูกต้องตามแผนผังการจัดสรร
ตามประกาศคณะกรรมการจัดสรรที่ดิน พ.ศ. 2544 การจัดสรรหมู่บ้าน ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องกันพื้นที่ไว้เพื่อจัดทำสาธารณูปโภคหรือบริการสาธารณะ หรือ 'พื้นที่ส่วนกลาง' เช่น สวน สนามเด็กเล่น สนามกีฬา โดยคำนวณจากพื้นที่จัดจำหน่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 5
'พื้นที่ส่วนกลาง' จึงถือว่าเป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญแห่งหนึ่งสำหรับลูกบ้านหมู่บ้าน เนื่องจากเป็นสถานที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ เป็นสถานที่กระชับมิตร เป็นพื้นที่เพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน หรือเพื่อออกกำลังกาย
ภาคีเครือข่ายผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสัมมากรบางกะปิ เปิดเผยข้อมูลว่า พื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้านซึ่งกำลังมีปัญหาจนถึงปัจจุบันนั้น เป็นของโครงการหมู่บ้านสัมมากร บางกะปิ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2513 บนโฉนดเนื้อที่รวมกัน 2 แปลง คือ เลขที่ 115239 ที่ได้ระบุไว้ในคำขอจัดสรร เนื้อที่กว่า 31 ไร่ และเลขที่ 114892 ที่ไม่ได้กล่าวถึงในคำขอจัดสรร เนื้อที่กว่า 10 ไร่ เป็นเนื้อที่ของทะเลสาบ รวมมีเนื้อที่ทั้งหมดกว่า 41 ไร่ และเมื่อนำรูปแผนที่มาต่อกัน จะได้เป็นรูปทะเลสาบเต็มพื้นที่ตามคำขอจัดสรรเมื่อปี 2526 ทั้งนี้ทะเลสาบ จึงเป็นสาธารณูปโภคประเภทบริการสาธารณะ ตามกฎหมายจัดสรร ทั้งกฎหมายเก่า ปว.286 และ พ.ร.บ.จัดสรร พ.ศ.2543 ตามคำขอจัดสรรปี 2526 เป็นบริการสาธารณะ
ต่อมาในปี 2537 ทางบริษัท สัมมากร จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนผัง เพื่อขอแบ่งทะเลสาบจากเต็มแปลง ออกเป็นแปลงย่อย จำนวน 3 แปลง รวมเนื้อที่ 5 ไร่ 2 งาน 95 ตารางวา ดังนี้
1.ที่ดินแปลงอาคารชุด 1 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 87 ตารางวา
2.ที่ดินแปลงอาคารชุด 2 เนื้อที่ 2 ไร่ 1 งาน 8 ตารางวา
3. แปลงโรงเรียนอนุบาล เนื้อที่ 1 ไร่
หลังจากการยื่นขอแก้ไขแผนผังแล้ว เมื่อวันที่ 15 ธ.ค. 2560 บริษัท สัมมากร จำกัด ได้นำที่ดินแปลงอาคารชุด 1 ขายให้กับบุคคลภายนอก ในราคา 59 ล้านบาท และในวันที่ 28 ธ.ค. 2563 ได้มีการขายที่ดินแปลงอาคารชุด 2 ให้แก่บุคคลภายนอกอีกครั้ง ในราคา 95 ล้านบาท
ภาคีเครือข่ายผู้ซื้อที่ดินจัดสรรสัมมากรบางกะปิ อ้างว่า ผลจากการขายที่ดินทั้ง 2 แปลง ตามมติคณะกรรมการจัดสรร ปี 2537 เป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเป็นการแบ่งแยกที่ดินพื้นที่ส่วนกลาง อีกทั้งที่ดินแปลงที่ 2 เป็นที่ตั้งของห้องสมุดชุมชน และมีต้นจามจุรีขนาดใหญ่ จึงได้ร้องเรียนไปยังกรมที่ดินเกี่ยวกับความถูกต้องของการออกโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง
ต่อมาได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2563 ซึ่งศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2564 ส่วนกรณีต้นจามจุรีในที่ดินแปลงที่ 2 เจ้าของที่ดินได้ติดประกาศยืนยันว่าไม่มีความประสงค์จะตัดต้นไม้ดังกล่าวทิ้งแต่อย่างใด
สำนักข่าวอิศรา ได้ลงพื้นที่สำรวจพบว่า พื้นที่ที่ถูกแบ่งขายได้มีการถมดิน และล้อมรั้วแบ่งเขตชัดเจน รวมถึงมีการติดป้ายชี้แจงจากบริษัท สัมมากร จำกัด ระบุว่า ที่ดินบริเวณทะเลสาบภายในหมู่บ้านสัมมากรบางกะปิ จำนวน 2 แปลง มีบริษัท สัมมากร จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยเป็นที่ดินที่มีการออกโฉนดโดยถูกต้องตามข้อกำหนดการจัดสรรที่ดินภายใต้ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 286 เมื่อปี พ.ศ. 2540 และขอยืนยันว่าโฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นหนังสือสำคัญแสดงกรรมสิทธิ์ที่สมบูรณ์และชัดเจนตามประมวลกฎหมายที่ดิน โดยในใบอนุญาตจัดสรรได้กำหนดไว้ว่า เป็นที่ดินจัดสรรเพื่อจำหน่าย ไม่ได้เป็นทรัพย์ส่วนกลางของหมู่บ้าน
โดยพื้นที่ที่เป็นสาธารณูปโภค หรือบริการสาธารณะของหมู่บ้านได้มีกำหนดไว้อย่างชัดเจนแล้วในผังจัดสรรฯ หากที่ดินเป็นทรัพย์ส่วนกลางของหมู่บ้าน จะไม่สามารถทำการซื้อขายหรือจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้บุคคลอื่นได้ภายใต้ข้อกำหนดของประมวลกฎหมายที่ดิน และได้รับสำเนาหนังสือแจ้งผลการพิจารณากรณีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับความถูกต้องของการออกโฉนดที่ดินดังกล่าวจากสำนักส่งเสริมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ กรมที่ดิน ว่า โฉนดที่ดินดังกล่าวเป็นโฉนดที่ดินที่เกิดจากการแบ่งแยกให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการควบคุมการจัดสรรที่ดินโดยชอบ จึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่ากรรมสิทธิ์การถือครองที่ดินนั้นเป็นไปอย่างถูกต้อง อีกทั้งหมู่บ้านสัมมากรบางกะปิยังอยู่ภายใต้การบริหารจัดการจากภาคเอกชน และไม่ได้ถูกยกเป็นของสาธารณะ
กลุ่มภาคีเครือข่ายฯ เปิดเผยด้วยว่า หลังจากที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อสู้มีลูกบ้านถูกดำเนินคดีแล้ว 3 คดี คือ คดีหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ โดยเรียกค่าเสียหายรวมกว่า 14 ล้านบาท
เป็นที่น่าติดตามกันต่อไปว่า กรณีหมู่บ้านสัมมากรบางกะปิที่ถูกกล่าวอ้างว่านำพื้นที่ส่วนกลางมาแบ่งขายนั้น สามารถทำได้หรือไม่ และการแบ่งขายเพื่อสร้างอาคารชุด สามารถทำได้ในพื้นที่หมู่บ้านหรือไม่
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage