"...ความหวังค่อยๆถูกจุดขึ้นมาทีละนิดจากสถานการณ์ที่ค่อยๆดีขึ้น แต่พอเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา ความหวังที่จะช่วยฟื้นตัวช่วงสงกรานต์ถูกดับลง ตั้งแต่มีประกาศสั่งผับปิด ถนนข้าวสารปิด ทุกอย่างคือจบลงเลย..."
………………………………
‘ถนนข้าวสาร’ แหล่งท่องเที่ยวยามราตรี ดินแดนแลนด์มาร์คแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วโลก เป็นอีกหนึ่งจุดที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย-ต่างชาติจะต้องแวะเวียนมาให้ได้ เป็นเหตุให้ถนนข้าวสาร เป็นถนนที่มีชีวิตชีวา มีสีสันตลอดเวลาทั้งกลางวันและกลางคืน
โดยเสน่ห์ของถนนสายนี้ นอกจากนี้สีสันความบันเทิง ยังเต็มไปด้วย ร้านอาหารริมทาง-สตรีทฟู้ดส์ ที่พักราคาถูกแบบเกสต์เฮ้าส์-โฮมสเตย์ ร้านสักลาย สถานบันเทิง และร้านค้าแผงลอย
และอีกหนึ่งมุมเสน่ห์ ที่ทำให้ถนนข้าวสารเป็นที่รู้จักและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก คือ เทศกาลสงกรานต์ จุดศูนย์รวมการเล่นน้ำทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ทำให้ถนนข้าวสารมีสีสัน ผู้คน และความคึกคัก มีชีวิตชีวาเพิ่มมากขึ้นอีกในช่วงสงกรานต์
แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ตั้งแต่ปี 2563 ที่ผ่านมา ทำให้ถนนข้าวสาร ห่างหายจากเทศกาลสงกรานต์ ถนนที่เคยคึกคัก เต็มไปด้วยผู้คน ถูกแทนที่ด้วยความเงียบเหงา ไร้ชีวิตชีวาเหมือนเคย
ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดค่อยๆดีขึ้น มีทั้งวัคซีนที่ถูกทยอยนำมาฉีดให้กับคนไทย เช่นเดียวกับผู้คนที่เริ่มปรับตัวเข้ากับชีวิตวิถีใหม่ ทำให้ก่อนหน้านี้การจัดงานเทศกาลสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร จึงเต็มไปด้วยความหวัง-คาดหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นในการหวนกลับมาของเศรษฐกิจในพื้นที่แห่งนี้
แต่เหมือนเปลวไฟแห่งความหวังถูกเป่าให้ดับลง เมื่อ ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิง’ ทำให้พบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว - จำนวนมาก จนเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งปิดสถานบันเทิง 14 วันใน 41 จังหวัด
‘ถนนข้าวสาร’ ที่ถูกประดับตกแต่งด้วยผ้าหลากสี เพื่อรองรับเทศกาลสงกรานต์ปี 2564 ถูกทิ้งร้าง ไร้ซึ่งผู้คน เช่นเดียวกับร้านค้าที่ต้องถูกปิดตามคำสั่ง-มาตรการควบคุมโรค
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ลงพื้นที่สำรวจย่านถนนข้าวสาร พบว่า บรรยากาศเงียบเหงา ไร้ชีวิตชีวา แต่ยังคงมีการประดับตกแต่งเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานเทศกาลสงกรานต์ที่จะถึงนี้
@จากทำเลทองสู่ความเงียบเป็นป่าช้า
นางแตงโม อดีตพนักงานโรงแรมที่ปัจจุบันผันตัวเป็นแม่ค้าผัดไทบริเวณถนนข้าวสาร เล่าว่า เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ถูกปลดจากการเป็นพนักงานเพราะโรงแรมที่ทำงานอยู่ปิดกิจการ จึงถูกชักชวนจากคนรู้จักมารับช่วงต่อจากร้านขายผัดไทที่เปิดขายมานานกว่า 10 ปีต่อ
นางแตงโม กล่าวว่า เมื่อก่อนถนนข้าวสารเรียกว่า ดีทุกอย่าง ไม่ว่าจะทำอะไรก็ทำได้ดี มีรายได้ตลอด ยิ่งช่วงสงกรานต์ ยิ่งดี นักท่องเที่ยวเที่ยวเยอะมาก คึกคัก ขายของดีจนไม่ได้พัก แต่ปัจจุบันเงียบลงไปเยอะมาก ยิ่งช่วงโควิด แทบขายไม่ได้เลย
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลาการพูดคุย นางแตงโมได้พยายามเรียกลูกค้าทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เดินผ่านหน้าร้าน ที่เรานับจำนวนได้ไม่ถึง 10 ราย
น.ส.เหมียว แม่ค้าร้านขายของที่ระลึกและร้านถักผม ที่อาศัยอยู่ที่ถนนข้าวสารมาตั้งแต่ปี 2536 กล่าวว่า ถนนข้าวสาร เรียกว่าเป็นทำเลทอง ไม่ว่าจะขายหรือประกอบกิจการอะไร ก็สามารถขายได้ มีรายได้ตลอด โดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ ต้องรีบวางแผนหาสินค้ามาขาย รายได้ต่อวันสูงสุดหลายหมื่นบาท แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน รายได้ต่อสัปดาห์ บางครั้งยังไม่ถึงพันบาท
“ตั้งแต่โควิดมา มีคำสั่งปิดผับ บาร์ ของก็ยิ่งขายไม่ได้เข้าไปใหญ่ รายได้ลดลง แต่รายจ่ายยังคงเท่าเดิมและมากขึ้น วิกฤตครั้งนี้ถือว่าหนักที่สุดเท่าที่อยู่ข้าวสารมา” น.ส.เหมียว กล่าว
@เปิดร้านด้วยความหวัง ทั้งที่รู้ว่าไม่มีคน
น.ส.จิตขจร พนักงานร้านนวด เล่าถึงภาพจำของถนนข้าวสารก่อนจะมีการแพร่ระบาดของโควิด ว่า ถนนข้าวสาร เป็นที่มีบรรยากาศเต็มไปด้วยผู้คน เป็นสถานที่ที่ทำงานเกี่ยวกับคนต่างชาติ เป็นที่ที่แค่เข้ามาก็สามารถมีรายได้อย่างต่ำวันละ 1,000 บาทแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงกรานต์ มีร้านค้าแผงลอยมาจองคิวเพื่อตั้งร้านขายน้ำ ขายอาหารเป็นเดือน
น.ส.จิตขจร เล่าถึงสถานการณ์ปัจจุบันว่า ทุกวันนี้รายได้ลดลงไปกว่าร้อยละ 90 แต่ก็ยังพอมีรายได้สำหรับเลี้ยงชีพรายวัน และร้านนวดปิดกิจการไปแล้วหลายสาขา แต่ที่ทุกวันนี้ยังคงเปิดร้านอยู่ แม้จะรู้ว่าไม่ค่อยมีคนมาที่นี่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าว่าร้านยังคงเปิดบริการอยู่ ยังไม่ได้ปิดกิจการ เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างดีขึ้น พร้อมรอต้อนรับให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการอีกครั้ง
"ความหวังค่อยๆถูกจุดขึ้นมาทีละนิดจากสถานการณ์ที่ค่อยๆดีขึ้น แต่พอเกิดการระบาดระลอกใหม่ขึ้นมา ความหวังที่จะช่วยฟื้นตัวช่วงสงกรานต์ถูกดับลง ตั้งแต่มีประกาศสั่งผับปิด ถนนข้าวสารปิด ทุกอย่างคือจบลงเลย" น.ส.จิตขจร กล่าว
@จากเศรษฐกิจเฟื่องฟูสู่การหาเงินใช้แบบวันต่อวัน
นายบอย ผู้จัดการดูแลร้านบัวสอาด ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ในซอยรามบุตรี เล่าว่า ถนนข้าวสารเป็นย่านที่ธุรกิจเฟื่องฟู โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอย่างไม่ขาดสาย แต่หลังจากมีการระบาดของโควิด สภาพธุรกิจเป็นแบบลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวดี เดี๋ยวไม่ดี ต้องรอลุ้นสถานการณ์รายวัน มีรายได้แบบวันต่อวัน เพราะมีการเปลี่ยนแปลงตลอด
นายบอย กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าการจัดงานเทศกาลสงกรานต์มีผลต่อการระบาดของโรค ฉะนั้นการยกเลิกจัดงานและคุมเข้มมาตรการ ถือว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น ก็เกิดการปล่อยปละละเลย มาตรการหละหลวม จนทำให้เกิดการระบาดขึ้นอีก แต่การสั่งปิดร้านอาหารหรือสถานบันเทิงนั้น ไม่ควรที่จะสั่งปิดเหมารวมแบบนี้ ควรเริ่มที่ต้นตอก่อน
นายบอย กล่าวต่อว่า อีกทั้งสภาพเศรษฐกิจที่ไม่โตมาหลายปีแล้ว ส่วนถนนข้าวสารเงียบเหงาลงตั้งแต่มุมมองที่ว่าเป็นแหล่งรวมของชาวต่างชาติ ปัจจุบันแทบจะไม่มีชาวต่างชาติเลย เหลือเพียงนักท่องเที่ยวชาวไทย แต่ก็น้อยลงมากเช่นกัน โดยผู้ประกอบการธุรกิจส่วนใหญ่ที่ยังเปิดอยู่ เพราะเป็นเจ้าของที่เอง แต่ผู้เช่าหรือผู้ค้าอื่นๆ ส่วนใหญ่ทนไม่ไหว ก็ต้องปิดกิจการกันไป
"ทุกวันนี้ที่ยังคงเปิดร้านอยู่เพื่อไม่ให้ชื่อหายไป ส่วนกำไรไม่ต้องพูดถึง แต่จะเปิดนานแค่ไหน ก็เท่าที่จะทนได้ ต่อไปข้างหน้าอาจจะอยู่ไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับสภาพเศรษฐกิจ" นายบอย กล่าว
@ต่างชาติไม่มี ถนนข้าวสารจึงเงียบเหงา
นายโอ๊ต ช่างสักลายประจำร้าน Inkaddict Tattoo เล่าให้ฟังว่า ถนนข้าวสาร เป็นศูนย์รวมของร้านสักลาย ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ อย่างเช่นที่ร้าน ลูกค้าส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 99 เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินเข้ามา (Walk-in) อีกทั้งยิ่งช่วงเทศกาล เช่น สงกรานต์ ลูกค้าจะเยอะมากจนไม่มีเวลาพัก แต่หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด ทำให้ลูกค้าลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ทางร้านจึงต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การขายและรับลูกค้า เช่น การโฆษณาออนไลน์ เป็นต้น อีกทั้งรักษามาตรการป้องกันโรคระบาดก็ได้มีการลดจำนวนเตียงลง จากเดิม มีช่างสัก 4 คน มีเตียง 4 เตียง เหลือเพียง ช่าง 1 คน 1 เตียงเท่านั้น
นายโอ๊ต กล่าวว่า จากเดิมร้านสักลายบริเวณถนนข้าวสารมีประมาณเกือบ 50 ร้าน ปัจจุบันเหลือเพียงไม่ถึง 10 ร้าน เนื่องด้วยสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพเศรษฐกิจ ทำให้บางร้านต้องปิดตัวลง เพราะค่าใช้จ่ายมีมากกว่ารายได้
"ธุรกิจที่ถนนข้าวสาร ลูกค้าส่วนใหญ่ 99% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทั้งหมด แต่ก่อนร้านค้ารถเข็นมีเยอะมาก แต่ปัจจุบันเงียบเหงาลงอย่างเห็นได้ชัด" นายโอ๊ตกล่าว
ทั้งหมดนี้คือเสียงสะท้อนของผู้คนที่อยู่บริเวณถนนข้าวสาร ที่มีความหวังว่าสงกรานต์ปีนี้จะช่วยฟื้นฟู ประคับประคอง กอบโกยเงินได้บ้าง แต่ก็ต้องพังลงเพราะประกาศงดจัดกิจกรรมช่วงสงกรานต์เพื่อป้องกันโรคระบาด เหลือไว้เพียงแต่การประดับตกแต่งถนนเท่านั้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการร้านค้าต่างๆ ยังคงรอคอยให้ถนนข้าวสารกลับมามีชีวิตชีวา มีสีสันเหมือนเช่นเคยเมื่อสถานการณ์ต่างๆคลี่คลายลง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage