"...สรุปได้ว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิดนั้น เกิดจากการมารวมกลุ่มกัน การสัมผัสสิ่งของร่วมกัน การพูดคุยตะโกนกันเสียงดัง การอยู่ภายใต้สถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก การขาดสติเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ จนทำให้ละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค..."
……………………………………………….
เทศกาลวันสงกรานต์ในสภาวะปกติ เป็นห้วงเวลาที่ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางกลับภูมิลำเนา เพราะเป็นทั้งวันหยุดยาว และวันปีใหม่ไทย ที่ส่วนใหญ่จะใช้เวลานี้เดินทางกลับไปอยู่กับครอบครัว รวมถึงรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่
แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดตั้งแต่ปี 2563 ทำให้การดำเนินชีวิตประจำวันเปลี่ยนไป เช่นเดียวกับการใช้ชีวิตในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ต้องปรับ-เปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพื่อลดการเดินทาง ลดการรวมกลุ่มกันของประชาชน
ส่วนเทศกาลสงกรานต์ 2564 แม้จะมีสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ เกิดการแพร่ระบาดของ ‘คลัสเตอร์สถานบันเทิง’ ที่มีรายงานตั้งแต่วันที่ 1 – 11 เม.ย. พบผู้ป่วยจากสถานบันเทิงสะสมรวม 1,477 ราย แต่มาตรการควบคุมโรคยังคงไม่คุมเข้มเหมือนปีที่ผ่านมา
ซึ่งในการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เห็นว่า การจะออกมาตรการปิดทั้งประเทศ จะไม่ยุติธรรมกับคนอีกล้านกว่าคนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นเทศกาลสงกรานต์ปีนี้จึงไม่ห้ามเดินทางข้ามจังหวัด ประชาชนสามารถเดินทางไปได้ทุกพื้นที่ แต่ขอให้ประชาชนร่วมมือกันปฏิบัติตามมาตรการการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
เทศกาลสงกรานต์ปีนี้ จึงเป็นปีแรกที่จะจัดแบบวิถีปกติใหม่ หรือ New Normal ภายใต้วัฒนธรรมไทย ‘ริน รด พรม ใส่หน้ากาก ไม่สาดน้ำ’ เพื่อฉลองประเพณีไทย ควบคู่ไปกับมาตรการควบคุมโรค
กิจกรรมที่สามารถจัดได้ ประกอบด้วย การจัดพิธีสรงน้ำพระ รวมทั้งกิจกรรมอื่น ๆ ทางศาสนา, การจัดพิธีรดน้ำดำหัว ตามประเพณีนิยม และการเดินทางข้ามจังหวัดได้ทุกพื้นที่ ยกเว้นบางจังหวัดที่มีมาตรการคุมเข้มกว่าบางพื้นที่ ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 11 เม.ย. เวลา 18.00 น. มีอย่างน้อย 37 จังหวัด มีคำสั่งหรือประกาศให้ผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงต้องกักตัว 14 วัน อย่างไรก็ตามสามารถติดตามข่าวสารความคืบหน้าได้ที่ ศบค.มหาดไทย เว็บไซต์ http://www.moicovid.com
กิจกรรมที่ไม่สามารถจัดได้ ประกอบด้วย กิจกรรมการรวมกลุ่มสาดน้ำ คอนเสิร์ต และกิจกรรมที่มีการสัมผัส ได้แก่ ประแป้ง หรือปาร์ตี้โฟม สำหรับกิจกรรมอื่นๆ นอกจากนี้ ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร
@ มาตรการส่วนบุคคล ป้องกันการติดเชื้อโควิดได้มากถึง 90%
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ให้คำแนะนำว่า ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติตามหลัก ‘D-M-H-T-T’ คือ เว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ ตรวจวัดอุณหภูมิแสกนไทยชนะและหมอชนะอย่างเคร่งครัด ระหว่างการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์
"เทศกาลสงกรานต์หากไม่จำเป็นอยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อชาติอีกครั้ง หากเดินทางพกหน้ากากสำหรับตัวเอง หรือเผื่อ 2 - 3 ชิ้นสำหรับคนรอบข้าง เมื่อเข้าชุมชนถ้าสวมหน้ากากทั้งคนปกติและคนติดเชื้อจะลดอัตราติดเชื้อโควิดได้ถึง 90%” พญ.อภิสมัย กล่าว
สอดคล้องกับ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถามวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ที่กล่าวถึงการเดินทางในช่วงสงกราต์นี้ว่า ทาง ศบค.ไม่ห้ามการเดินทางข้ามจังหวัด แต่ขอให้ประชาชนเดินทางด้วยความระมัดระวัง ให้สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด และควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ พื้นที่เสี่ยง พฤติกรรมเสี่ยง ให้ได้มากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ เราจะช่วยควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งนี้ได้ ถึงแม้ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ที่สามารถระบาดได้ง่ายก็ตาม ซึ่งหากประชาชนสามารถปฏิบัติตามมาตรการส่วนบุคคล ลดกิจกรรมรวมตัวกันคาดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวัน ภายในเดือนเม.ย.2564 อาจลดลงเหลือเพียงวันละ 303 ราย หรืออาจลดงมากกว่านี้
@ การเดินทางช่วงเทศกาลสงกรานต์
สำหรับมาตรการการเดินทางในช่วงเทศกาลสงกรานต์นั้น กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ให้คำแนะนำสำหรับการเดินทางในเทศกาลสงกรานต์ว่า ในเทศการลครั้งนี้ ประชาชนสามารถเดินทางข้ามจังหวัด ซึ่งอาจทำให้มีการใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ทั้งรถทัวร์ รถไฟ และเครื่องบินอย่างหนาแน่น โดยอาจต้องสัมผัสใกล้ชิดกันระหว่างบุคคลและสิ่งของ ประกอบกันอาคารสถานีขนส่งผู้โดยสารบางแห่ง อาจคับแคบและไม่มีการระบายอากาศที่ดี การเดินทางที่ต้องอยู่บนรถสาธารณะเป็นเวลานาน อาจกลายเป็น ‘จุดเสี่ยง’ ต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดได้ง่าย โดยขอให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการ ดังนี้
1.สังเกตอาการสม่ำเสมอ หากมีไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ตาแดง และผื่นขึ้น ให้งดใช้บริการขนส่งสาธารณะ
2.จัดเตรียมอุปกรณ์สำรองในการเดินทาง เช่น หน้ากากสำรองเผื่อเปียกชื้น และเจลแอลกอฮอล์
3.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง ละเว้นการเปิดหน้ากากโดยไม่จำเป็น
4.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร
5.หากเป็นไปได้ควรงดรับประทานอาหารและเครื่องดื่มระหว่างเดินทาง และหลีกเลี่ยงการพูดคุยโดยไม่จำเป็น
6.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ก่อนขึ้นรถโดยประจำทาง รถไฟ เรือ เครื่องบิน และหลังการใช้บริการ หรือทุกครั้งที่มีการสัมผัสอุปกรณ์สิ่งของที่ใช้ร่วม และเมื่อกลับถึงบ้าน ควรเปลี่ยนอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
7.ปฏิบัติตามกฎระเบียบหรือมาตรการในการเดินทาง เพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิดอย่างเคร่งครัด
@ การท่องเที่ยววิถีใหม่
ขณะเดียวกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ประชาชนนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวตามสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ เพื่อพักผ่อนหย่อนใจ เช่น ชายหาด น้ำตก อุทยานแห่งชาติ หรือแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ เช่น โบราณสถาน อุทยานประวัติศาสตร์ รวมทั้งสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆ เช่น สวนน้ำ และสวนสนุก ซึ่งอาจมีการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก และมีการใช้พื้นที่หรือสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด จึงมีคำแนะนำสำหรับการท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่น่าสนใจ จากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ดังนี้
1.สังเกตอาการตนเองสม่ำเสมอ หากมีไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ตาแดง และผื่นขึ้น ให้งดใช้บริการสถานที่หรือแหล่งท่องเที่ยว
2.สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาการเดินทาง ละเว้นการเปิดหน้ากากโดยไม่จำเป็น
3.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร
4.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือเจลแอลกอฮอล์ให้สะอาดอยู่เสมอ ทั้งก่อนเข้าและออกจากสถานที่หรือทุกครั้งที่มีการสัมผัสพื้นผิวหรือสิ่งของร่วมกัน หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า ตา จมูก โดยไม่จำเป็น เมื่อกลับถึงบ้านควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที
5.ปฏิบัติตามมาตรการของสถานที่อย่างเคร่งครัด
@ วิธีจัดกิจกรรมประเพณีสงกรานต์
วันสงกรานต์ เป็นวันขึ้นปีใหม่ของประเทศไทยที่ยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา และมักมีกิจกรรมเพื่อสืบสานประเพณีวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย พิธีทำบุญตักบาตร สรงน้ำพระ และการจัดกิจกรรมวันสงกรานต์ ซึ่งจะมีการรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนมาก และมีการใช้พื้นที่หรือสัมผัสสิ่งของร่วมกัน ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงอาจมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค ในปีนี้จึงงดจัดกิจกรรมสาดน้ำ และประแป้ง เพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรค โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้มีคำแนะนำตามการจัดกิจกรรม ดังนี้
การทำบุญตักบาตร ให้ถวายอาหารปรุงสุก สะอาด ปลอดภัย และให้ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทุกครั้ง ก่อนการใส่บาตรและหลังใส่บาตร นอกจากนั้นขอให้งดรับประทานอาหารร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มสนทนา
การสรงน้ำพระพุทธรูป ควรจัดเตรียมอุปกรณ์สรงน้ำพระพุทธรูปมาเอง เช่น ขันตักน้ำ ทั้งนี้หากต้องใช้ขันตักน้ำร่วมกันให้ทำความสะอาดก่อนการสรงน้ำทุกครั้ง รวมถึงให้สวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยทุกครั้ง และเว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร เมื่อเข้าร่วมกิจกรรม
การเฉลิมฉลองกันเองภายในที่พักอาศัยหรือครอบครัว สำหรับผู้จัดงาน ควรระมัดระวังให้กลุ่มเสี่ยงเข้าร่วมเทศกาลสงกรานต์ เช่น ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้มีโรคประจำตัว เป็นต้น ควรควบคุมให้ผู้เตรียมอาหารรักษาความสะอาดและสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอด จัดให้มีที่ล้างมือด้วยสบู่ น้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์อย่างเพียงพอ หลีกเลี่ยงการจัดงานในที่แคบ แออัด อากาศระบายไม่สะดวก มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล แยกภาชนะอุปกรณ์สำหรับกินดื่มเป็นรายบุคคล และใช้ช้อนกลาง
สำหรับผู้เข้าร่วมงานทุกคนควรสังเกตอาการตนเองสม่ำเสมอ หากมีไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ตาแดง และผื่นขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที หากไม่มีอาการควรสวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยให้ถอดหน้ากากน้อยที่สุด เฉพาะช่วงรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม แล้วให้ใส่หน้ากากอนามัยโดยเร็ว ขณะเดียวกันขอให้ลดการพูดคุยระหว่างตักอาหารและรับประทานอาหาร งดกิจกรรมที่ทำให้ต้องพูดเสียงดัง งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรใช้อุปกรณ์ ช้อนกลางในการหยิบ จับ ตักอาหาร
การเฉลิมฉลองภายนอกที่พักอาศัย ผู้จัดงานต่องมีมาตรการ คัดกรองผู้เข้าร่วมงานพร้อมทำสัญลักษณ์ให้กับผู้ที่ผ่านการคัดกรอง หากพบว่ามีอาการไข้ หรือวัดอุณหภูมิได้ตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ร่วมกับไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย หรือหายใจลำบาก ตาแดง หรือมีผื่นแพ้ อย่างใดอย่างหนึ่ง และอาจมีอาการท้องเสียร่วมด้วย แนะนำไปพบแพทย์ทันทีและงดร่วมงาน ขณะเดียวกันผู้เข้าร่วมงานให้สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลา โดยให้ถอดหน้ากากน้อยที่สุดเฉพาะช่วงรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่ม แล้วให้ใส่หน้ากากอนามัยโดยเร็ว ลดการพูดคุยระหว่างตักอาหารและรับประทานอาหาร งดกิจกรรมที่ทำให้ต้องพูดเสียงดัง งดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และควรใช้อุปกรณ์ ช้อนกลางในการหยิบ จับ ตักอาหาร
@ กิน ดื่ม อย่างไรให้ปลอดภัย
การเฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ไทย ซึ่งจะมีการรวมกลุ่มดื่ม และร่วมรับประทานอาหารร่วมกันทั้งในที่พักอาศัย ร้านอาหาร หรือเครื่องดื่มต่างๆ ทำให้เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงมีคำแนะนำสำหรับการกินอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ดังนี้
1.สวมใส่หน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย หากพบว่า มีไข้ หรือมีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส หายใจเร็ว หายใจเหนื่อย ตาแดง และผื่นขึ้น ให้งดใช้บริการร้านอาหารหรือเครื่องดื่ม
2.ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ ทั้งก่อนและหลังการรับประทานอาหาร
3.เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลอย่างน้อย 1 เมตร
4.ให้เลือกร้านอาหารหรือเครื่องดื่มที่คนไม่หนาแน่น สถานที่เปิดโล่ง และมีมาตรการป้องกันโรคโควิด ทั้งนี้หากเป็นไปได้ ควรเลือกซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน เพื่อลดโอกาสเสี่ยงจากการสัมผัสและการแพร่กระจายของเชื้อโรค
5.เลือกซื้ออาหารสดที่สะอาด ไม่มีสี และมีกลิ่นที่ปกติ
6.ควรเลือกรับประทานอาหารปรุงสุก สดใหม่ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารดิบหรือกึ่งสุกกึ่งดิบ
7.วางแผนหรือเลือกรูปแบบการซื้ออาหาร เช่น จัดเตรียมเมนูอาหาร การสั่งจองอาหารล่วงหน้า การเลือกซื้ออาหารและใช้บริการจัดส่งอาหารผ่านระบบออนไลน์ เพื่อความรวดเร็วและลดการสัมผัสในสถานที่จำหน่ายอาหาร
สรุปได้ว่า ปัจจัย ‘เสี่ยง’ ในเทศกาลสงกรานต์ต่อการแพร่ระบาดของโควิดนั้น เกิดจากการมารวมกลุ่มกัน การสัมผัสสิ่งของร่วมกัน การพูดคุยตะโกนกันเสียงดัง การอยู่ภายใต้สถานที่แออัด คับแคบ อากาศถ่ายเทไม่สะดวก และการขาดสติเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ จนทำให้ละเลยการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค
ดังนั้นหากทุกคนลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เราจะสามารถหยุดเชื้อเพื่อชาติได้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/