“…ทุกวันนี้ต่างนั่งรอคอยความหวังว่า เมื่อไรจะได้เปิดร้านอีกครั้ง และจะทำรายได้อย่างไรให้กลับมาเท่าเดิม ในขณะที่รายจ่ายของร้านยังเท่าเดิม เคยตัดสินใจว่าจะปิดกิจการ เราต่างตั้งตารอคอยมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ผู้ที่ช่วยเราจริงๆ กลับเป็นคนชนชั้นแรงงาน ที่ไม่ขอรับเงินใดๆ และให้กำลังใจกันตลอด อย่างไรก็ตามรัฐไม่ต้องจ่ายให้เราหมดก็ได้ แต่ขอเพียงอย่าทิ้งกันก็พอ…”
……………………………………………………..
นับตั้งแต่ปลายปี 2563 สถานการณ์โควิดระบอกใหม่ ยังคงปรากฎขึ้นในประเทศและเป็นสิ่งที่ทำให้คนไทยต้องวิตกกังวลอย่างต่อเนื่อง!
กลางเดือน ธ.ค.2563 ไทยเจอวิกฤติที่เกิดขึ้นจาก 'คลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง' ใน จ.สมุทรสาคร ต่อเนื่องมาที่ 'คลัสเตอร์บ่อนพนัน' ที่พบผู้ติดเชื้อรุกลามไปในหลายจังหวัด ต่อมาไม่นานเมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้น เราก็พบกับ 'คลัสเตอร์ตลาดบางแค' ที่ต่อเนื่องเชื่อมโยงมาถึงการระบาดระลอกใหม่ในขณะนี้กับ 'คลัสเตอร์สถานบันเทิง'
การระบาดระลอกใหม่ในห้วงเดือน มี.ค. ต่อเนื่อง เม.ย.2564 เกิดขึ้นที่ใจกลางเมืองหลวง - กรุงเทพมหานคร แต่ส่งผลให้มีคำสั่งปิดสถานบันเทิง 41 จังหวัดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อควบคุมสถานการณ์ให้กับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
เป็นเหตุให้ธุรกิจกลางคืน ที่นอกจากกลุ่มผู้ประกอบการ ยังรวมไปถึงพ่อค้าแม่ค้าริมทาง - พนักงานประจำร้าน ได้รับผลกระทบต่อเนื่องไปด้วยเช่นเดียวกัน
ห้วงเวลาที่เผชิญสถานการณ์ต่อเนื่องกันมานี้ พบว่ากลุ่มผู้ติดเชื้อโดยส่วนใหญ่ที่ปรากฏในหน้าข่าวมีตั้งแต่ พ่อค้าแม่ค้า นักเที่ยว นักพนัน นักดนตรี พนักงานเสิร์ฟ รวมถึงเครือญาติหรือบุคคลใกล้ชิด ทำให้กลุ่มผู้ประกอบอาชีพกลายเป็น 'ผู้ต้องเสี่ยง' ในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ที่อาจเรียกได้ว่า เสี่ยงทั้งต่อการแพร่ระบาดต่อโรค เสี่ยงทั้งหยุดกิจการที่มีผลกระทบต่อรายได้โดยตรง
“เราว่าควรปิดสถานบริการ หรือแหล่งมั่วสุม หรือการรวมกลุ่มไปจนกว่าเชื้อจะหมดเลยดีกว่า”
“อยากให้ล็อกดาวน์ในกรุงเทพมหานคร เหมือนปีที่ผ่านมา เพราะรอบนี้รุนแรงกว่ามาก แต่คนกลับไร้จิตสำนึก เพิ่มขึ้นมากเหลือเกิน”
“ขอความเห็นใจคนในพื้นที่ด้วย เราต้องทนกับคนที่มาท่องเที่ยวแบบไม่มีความรับผิดชอบถึง 2 ครั้งแล้ว”
เป็นเสียงสะท้อนบางส่วนที่ยังมีคนเข้าใจว่า ‘ผู้ต้องเสี่ยง’ เป็นต้นตอที่ทำให้เกิดการระบาดกลุ่ม 'คลัสเตอร์สถานบันเทิง'
(นายรัชพล รัตนบุญบารมี)
@ ตลาดกลับมาเปิดปกติ แต่ลูกค้าเหลือไม่ถึงครึ่ง
'พ่อค้าแม่ค้า' เป็นคนกลุ่มหนึ่งที่เผชิญกับสถานการณ์โควิดแบบตรงๆ อย่างน้อย 2 ครั้ง คือกรณี 'คลัสเตอร์ตลาดกลางกุ้ง' และ 'คลัสเตอร์ตลาดบางแค' แต่ก่อนหน้านั้นก็ยากที่จะปฏิเสธว่า 'ตลาด' ถือเป็นหนึ่งในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากโควิดมาต่อเนื่อง เพราะเป็นหนึ่งในสถานที่รวมกลุ่มของคนหมู่มาก - ยากต่อการเว้นระยะห่าง ซึ่งเท่ากับว่า เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อเสมอ
นายรัชพล รัตนบุญบารมี พ่อค้าขายผักสด ตลาดย่านบางแค เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา ว่า ตั้งแต่เกิดข่าวการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนจำนวนมากในพื้นที่ตลาดย่านบางแค เจ้าหน้าที่กรมควบคุมโรค สั่งปิดตลาดเพื่อทำความสะอาดในทันที ก่อนจะปิดอีกร่วมเดือน อย่างไรก็ตามแม้ตลาดจะกลับมาเปิดตั้งแต่วันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่มีประชาชนไม่ถึงครึ่งนึงของจำนวนเดิมที่ยังกลับมาซื้อของสดภายในตลาด
"ร่วมเดือนที่ผ่านมาเราได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีรายได้เข้ามาเลย แม้ว่าร้านจะรับส่งผักสดให้ร้านอาหาร หรือร้านสถานบันเทิงด้วยก็ตาม แต่ขณะนี้ก็เกิดการรระบาดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นมา สถานบันเทิงถูกปิดไปจำนวนมาก ส่วนตลาดย่านบางแค ก็แทบไม่มีลูกค้ากลับมาซื้อของสดเลย แม้ว่าจะมีการร่วมกันรณรงค์ทั้งกลุ่มของพ่อค้าแม่ค้าตลาดสดย่านแค หรือภาครัฐก็ตาม" นายรัชพล กล่าว
สิ่งที่ นายรัชพล อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือผู้มีอาชีพค้าขายภายในตลาดสด คือ อยากให้มีมาตรการพักชำระหนี้ เนื่องจากมีพ่อค้าแม่ค้าหลายรายไม่มีรายได้ หลังตลาดถูกสั่งปิดไปร่วมเดือน แต่ยังมีหนี้ที่ยังค้างชำระและต้องจ่ายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นค่าผ่อนบ้าน หรือค่าผ่อนรถ ทำให้พ่อค้าแม่ค้าหลายรายต้องทำอาชีพเสริมทั้งเช้าและเย็น โดยไม่มีเวลาหยุดพัก นอกจากนั้นยังอยากให้ทางตลาดเข้าใจและลดค่าสัญญาเช่าแผงขายของลงด้วยเช่นกัน
@ ยอดขายตกลงจากเดิม 3 เท่า
ด้าน นายพิสิษฐ์ จุ้ยรักษา พ่อค้าอาหารทะเล ย่านบิ๊กซีพระราม 2 ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิดในพื้นที่ กรณีเกิดคลัสเตอร์โรงงานขนมปังย่านพระราม 2 ที่ติดโควิดกว่า 17 รายว่า ตอนนี้ได้รับผลกระทบจากยอดขายที่ตกลงอย่างมากถึง 3 ครั้งด้วยกัน เนื่องจากลูกค้าบางรายมองว่าตลาดสดเป็นสถานที่แพร่เชื้อ พอมีข่าวการระบาดเกิดขึ้น ลูกค้าถึงขั้นยกเลิกออเดอร์ที่เคยสั่งไว้ อย่างไรก็ตามตอนนี้สถานการณ์ของตลาดเริ่มดีขึ้น ยอดขายกลับมาดีขึ้นบ้าง แต่ยังไม่มากเท่าเมื่อก่อน เนื่องจากรัฐบอกว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้แล้ว ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการ แต่ลูกค้าโดยส่วนมากจะเป็นลักษณะให้บุตรหลานมาซื้อ หรือโทรสั่งแบบเดลิเวอรี่แทน
"ผมเข้าใจว่าทุกคนได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดหมด และจำนวนคนของรัฐอาจมีไม่เพียงพอที่จะเข้ามาช่วยเหลือได้ทุกคน จึงขอเพียงแค่ทุกคนไม่ทิ้งกัน ให้ความช่วยเหลือร่วมมือกันเป็นอย่างดีในการเฝ้าระวังโรค จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้" นายพิสิษฐ์ กล่าว
(บรรยากาศตลาดย่านพระราม2)
@ คนรอบข้างหวาดระแวง เพียงเพราะเป็นนักดนตรี
อีกกลุ่มที่เป็น 'ผู้ต้องเสี่ยง' คือผู้ไดัรับผลกระทบจากสถานการณ์ล่าสุด 'คลัสเตอร์สถานบันเทิง' ที่นอกจากกลุ่มนักเที่ยว - นักท่องราตรีแล้ว ในธุรกิจเหล่านี้ ยังมีคนหลากหลายอาชีพที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย
นางสาว A อายุ 25 ปี อาชีพนักร้อง ที่ในแต่ละคืน เธอต้องเดินสายร้องเพลง - เล่นดนตรีในสถานบันเทิงหลายแห่ง เล่าว่า ขณะนี้อาชีพของเธอกลายหนึ่งในจำเลยของเหตุการณ์ดังกล่าว ด้วยพฤติกรรมการประกอบอาชีพ ที่ต้องเดินทางไปเล่นดนตรีในสถานบันเทิงหลายแห่ง ย่อมทำให้เธอกลายเป็นหนึ่งในอาชีพที่เสี่ยงต่อการรับและส่งต่อเชื้อได้
เธอบอกว่า การระบาดครั้งนี้ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ ทำให้ทุกคนดำเนินชีวิตต่อไปด้วยความ 'ไม่รู้' ทั้งไม่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อหรือไม่ ไม่รู้ว่าคนรอบตัวมีใครเสี่ยงอย่างไร ถึงแม้ว่าจะป้องกันตนเองเป็นอย่างดี แต่ก็ยากที่จะปฏิเสธว่า อาชีพของเธอ ทำให้คนรอบตัวหวาดระแวงต่อการติดเชื้อไปโดยปริยาย
“หลายคนในช่วงเวลากลางวัน เดินทางไปตั้งมากมาย หลากหลายสถานที่ แต่เนื่องด้วยสถานบันเทิงเป็นที่อโคจร ทำให้เราได้รับความเดือดร้อนต้องถูกพักงาน หรือแม้แต่ผู้ประกอบการก็ถูกสั่งปิดร้าน ดังนั้นจึงอยากให้มองเห็นว่าผู้มีอาชีพอยู่ในสถานบันเทิง บางคนมีต้นทุนชีวิตไม่เท่ากัน กล่าวคือ บางคนฐานะไม่ร่ำรวย หากต้องไปทำอาชีพอื่น โดยไม่ทำอาชีพนี้ ก็ต้นทุนในการประกอบอาชีพใหม่ ด้วยเหตุนี้บางรายจึงไม่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้ และยังต้องทำงานในสถานบริการอยู่” นางสาว A กล่าว
นอกจากนั้น นางสาว A กล่าวอีกว่า อยากให้ทุกคนลองเปิดใจให้ผู้มีอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพนี้มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น และตอนนี้ได้รับผลกระทบมากเช่นเดียวกัน เนื่องจากต้องถูกจำกัดเวลาในการป้องกันแล้วควบคุมโรค ตนเองต้องถูกลดงาน จากรายได้ที่เคยหาเป็นรายเดือนถึง 30,000 บาท ตอนนี้กลับลดลงเหลือไม่ถึง 4,000 บาท กระทั่งขณะนี้ถูกสั่งปิดร้านอีกครั้ง อย่างน้อย 14 วัน เป็นสิ่งที่น่ากังวลอย่างมากว่าหลังจากนี้ ควรจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากต้องกลายเป็นคนว่างงานอีกครั้ง อย่างไรก็ตามตนเองมีความยินดีหากสามารถช่วยให้ประเทศสามารถควบคุมการระบาดได้ แต่อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือเยียวยาด้วย เนื่องจากตอนนี้หากไม่มีสิทธิ 'คนละครึ่ง' และ 'เราชนะ' หรือ 'ม.33 เรารักกัน' ตนเองก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาจากการว่างงานเลย
(บรรยากาศสถานบันเทิงย่านสีลม หลังเกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิง)
@ครั้งที่ 3 ที่สถานบันเทิงต้องถูกปิดเพราะโควิด
สอดคล้องกับผู้ประกอบการสถานบันเทิงรายหนึ่ง ย่านสีลม กล่าวว่า หากรัฐสั่งปิดสถานบันเทิง ก็พร้อมให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่อยากให้รัฐมีมาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย เนื่องจากครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 นับต้องแต่การระบาดระลอกแรกที่ต้องถูกสั่งให้ปิดอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งตนเองได้รับผลกระทบจากการไม่มีรายได้ มา 6 เดือนแล้ว
“ทุกวันนี้ต่างนั่งรอคอยความหวังว่า เมื่อไรจะได้เปิดร้านอีกครั้ง และจะทำรายได้อย่างไรให้กลับมาเท่าเดิมได้ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่สามารถทำได้ ในขณะที่รายจ่ายของร้านยังเท่าเดิม จนเคยตัดสินใจว่าจะปิดกิจการ เราต่างตั้งตารอคอยมาตรการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ผู้ที่ช่วยเราจริงๆ กลับเป็นคนชนชั้นแรงงาน พนักงานของเราทุกคน ที่ไม่ขอรับเงินใดๆ และหันหน้ามากอดไหล่ให้กำลังใจกันตลอด อย่างไรก็ตามรัฐไม่ต้องจ่ายให้เราหมดก็ได้ แต่ขอเพียงอย่าทิ้งกันก็พอ” ผู้ประกอบการสถานบันเทิง กล่าว
สำหรับมาตรการที่อยากให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือนั้น ผู้ประกอบการรายนี้ กล่าวแนะนำข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
1. ให้รัฐวางนโยบายการเยียวยา ควบคู่ไปกับมาตรการป้องกันโรค
2. ปรับแนวความคิดของผู้บริหารว่า สถานที่ทั่วโลกทุกวันนี้เสี่ยงหมด ไม่ใช่แค่เพียงธุรกิจสถานบันเทิงเท่านั้น
3. ให้ความรู้ความเข้าใจ สร้างความมั่นใจ หรือการป้องกันให้กับผู้ติดเชื้อว่าหากเปิดเผยข้อมูล จะไม่ถูกรังเกียจ
4. สนับสนุนให้ประชาชนทุกคนได้รับการตรวจหาเชื้อ เพื่อให้ทราบจำนวนผู้ติดเชื้อที่แท้จริง
(บรรยากาศบาร์คอกเทล ย่านอารีย์ หลังเกิดคลัสเตอร์สถานบันเทิง)
@ ขออย่าด่วนสรุปต้นตอเชื้อโควิดมาจากสถานบันเทิง
ขณะที่นางสาว B อายุ 24 ปี อาชีพบาร์เทนเดอร์บาร์คอกเทล ย่านอารีย์ กล่าวด้วยเช่นเดียวกันว่า ขณะนี้ผู้มีอาชีพเกี่ยวกับข้องกับสถานบันเทิงล้วนตกเป็นจำเลยของสังคมว่าเป็นบุคคลแพร่เชื้อ ทั้งที่จริงๆแล้ว บุคคลแต่ละคนมีชีวิตประจำวันที่เดินทางไปมากมายหลายสถานที่ เกิดเป็นคำถามขึ้นมาภายในใจอีกแง่มุมว่า การจะระบุต้นตอของเชื้อว่ามาจากสถานบันเทิงเป็นการสรุปที่เร็วไปหรือไม่
อย่างไรก็ตาม นางสาว B กล่าวอีกว่า อาชีพเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง ได้รับผลกระทบอย่างมากตั้งแต่มีการระบาดของโควิดขึ้นภายในประเทศ เนื่องจากต้องถูกสั่งปิดร้าน หรือมีมาตรการกำหนดควบคุมเวลาการเปิดปิด ซึ่งไม่สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้มาใช้บริการ ยกตัวอย่างเช่น การให้ปิดร้านในเวลา 23.00 น. ซึ่งตามปกติจะเป็นเวลาที่ผู้ใช้บริการเริ่มมา ส่งผลให้ปัจจุบันมีผู้มาใช้บริการลดน้อยลง
สำหรับมาตรการช่วยเหลือนั้น อยากให้รัฐวางมาตรการแยกตามประเภทของสถานบันเทิงตามบรรยากาศของร้าน ที่จำนวนที่นั่งภายในร้าน เนื่องจากสถานบันเทิงมีหลายประเภท อาทิ ผับหรือแดนซ์ฟลอร์ ร้านจำหน่ายสุรา และร้านบาร์คอกเทลหรือคราฟต์เบียร์ ซึ่งแต่ละประเภทมีความแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น ร้านคอกเทล จะคล้ายกับร้านอาหารเพียงแต่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมด้วย มีการจัดสถานที่นั่งแบ่งเป็นสัดส่วน มีระยะห่างระหว่างกัน และผู้ใช้บริการมักไม่เต้นภายในร้าน
"ด้วยเหตุดังกล่าว มองว่าสถานบันเทิงบางประเภทนั้นไม่มีความเสี่ยง หรือความเสี่ยงต่ำมาก จึงไม่อยากให้รัฐเหมารวมสั่งปิด ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้ เนื่องจากผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสถานบันเทิงสามารถช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้เช่นเดียวกัน" นางสาว B กล่าว
ทั้งนี้ นางสาว B กล่าวด้วยว่า สำหรับการเน้นให้ขายเดลิเวอรี่นั้น ธุรกิจสถานบันเทิงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่เหมือนกับร้านอาหารทั่วไป เนื่องจากมีเรื่องของกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ดังนั้นจึงอยากให้ทุกคนมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน รวมถึงรัฐมีมาตรการเยียวยาควบคู่ไปกับมาตรการป้องกัน เพื่อให้ร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน ไม่ทิ้งกัน
เป็นเสียงสะท้อนจาก 'ผู้ต้องเสี่ยง' ที่ต้องการส่งข้อความถึงคนในสังคมให้เข้าใจและเห็นใจจากผลกระทบที่ได้รับจากสถานการณ์ในขณะนี้
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/