"...กทม. ยืนยันว่ามีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ โรงพยาบาลในสังกัดพร้อมรองรับผู้ป่วย 1,158 เตียง ซึ่งยังไม่นับรวมโรงพยาบาลนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชน ที่จะมีมากถึง 4,800 เตียง ที่ปัจจุบันมีคนครองเตียงอยู่แค่ 1,271 เตียง ทำให้เตียงเหลือประมาณ 3,600 เตียง..."
-----------------------------------------------------------------
การแจ้งของดให้บริการตรวจโควิดของโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่ง กำลังทำให้ประชาชนเกิดความวิตกกังวล
เป็นภาพแห่งความกังวลที่เริ่มเห็นประชาชนแห่เข้ารับการตรวจหาเชื้อเพิ่มขึ้นรายวัน เพราะเป็นกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง-ต่ำจากคลัสเตอร์สถานบันเทิง
ขณะที่ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชี้แจงกรณีดังกล่าว หลังนำคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เมื่อเช้าวันที่ 9 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า ว่า โรงพยาบาลเอกชนมีข้อตกลงตั้งแต่ปี 2563 หากผู้ป่วยไปตรวจ โควิด-19 ที่โรงพยาบาลใด โรงพยาบาลนั้น จะต้องรับผู้ป่วยรายนั้นเป็นผู้ป่วยใน แต่สถานการณ์ปัจจุบันมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นทำให้เตียงสำหรับผู้ป่วย โควิด-19 ภายในโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถรับตรวจโควิดได้ ซึ่งได้แจ้งให้นายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว โดยรัฐบาลได้ช่วยแก้ไขปัญหา
(ข่าวประกอบ : เช็คที่นี่! รพ.แจ้งงดตรวจโควิดชั่วคราว หลังคนแห่ขอรับบริการจำนวนมาก)
ต่อประเด็นดังกล่า วได้รับการชี้แจงเพิ่มเติมจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ยืนยันว่า เตียงผู้ป่วยยังมีเพียงพอ เพียงแต่ต้องมีการกำหนดแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกันให้มีความชัดเจนมากขึ้น
โดย นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณี่มีกระแสข่าว โรงพยาบาลหลายแห่งไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย ว่า โดยหลักการกรมการแพทย์เป็นเจ้าภาพในการดูแลพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล, โดยทำงานร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่าย ได้แก่ 1.กรมการแพทย์ 2.โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และโรงพยาบาลวชิระ 3.โรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร เช่นโรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุง โรงพยาบาลกลาง 4.โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม และ 5.โรงพยาบาลเอกชน ทั้งหมดทำงานร่วมกันมา 1 ปี มีการหารือกันทุกสัปดาห์ เพื่อระดมสมองและบริหารจัดการเรื่องของเตียงผู้ป่วย
สำหรับคำถามที่ว่า สถานการณ์การระบาดขณะนี้มีเตียงเพียงพอหรือไม่ ? นพ.สมศักดิ์ ฉายภาพย้อนกลับไปที่สถานการณ์การระบาดระลอกแรก ช่วงวันที่ 31 ส.ค.2563 พบว่า ในพื้นที่ กทม.มีเตียงอยู่ 2,532 เตียง เป็นส่วนของเอกชน 1,656 เตียง คิดเป็น 65.4% ของเครือข่ายใน กทม.และปริมณฑล ทั้งนี้ในการระบาดระลอกแรก โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้โควิดไปประมาณ 40%
ขณะที่ข้อมูลเตียงว่างของเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ที่มีรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เม.ย.2564 เวลา 20.00 น. พบว่ายังมีเตียงว่างทั้งหมด 293 เตียง
@ 3 แนวทางรับสถานการณ์กรณีเตียงผู้ป่วยขาดแคลน
ส่วนแนวคิดการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยนั้น นายกรัฐมนตรี ย้ำนโยบายมาชัดเจน 3 ข้อ ตั้งแต่ 1 ปีก่อน ดังนี้
1.ผู้ติดเชื้อโควิดทุกรายควรได้รับการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ให้รักษาที่บ้าน
2.โรงพยาบาลที่ตรวจพบโควิด ต้องประสานการดำเนินการในเครือข่ายเพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย
3.โรงพยาบาลเอกชนที่ตรวจพบเชื้อโควิด ควรประสานงานภายในเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน เพื่อรับผู้ป่วยไว้ในโรงพยาบาล
“ยกตัวอย่างโรงพยาบาล A หากเตียงไม่มีแล้ว หลักการคือให้ประสานเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน สมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในการจัดหาเตียง เรื่องนี้ตกลงหลักการกันมา 1 ปี ส่วนโรงพยาบาลรัฐก็จะรับผู้ป่วยเช่นกัน รวมถึงต้องรองรับผู้ป่วยที่เกิดจากการค้นหาเชิงรุกด้วย” นพ.สมศักดิ์ กล่าว
สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด
1.กรมการแพทย์ ร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ดำเนินการจัดหา Hospitel ที่นำโรงแรมมาทำเป็นโรงพยาบาล รองรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อยเข้าไปพักรักษา จำนวน 500-1,000 เตียง คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1-2 วัน
2.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนาม 450 เตียงภายในสัปดาห์นี้
3.กรมการแพทย์เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยชั่วคราว ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ที่พร้อมรับได้ทันที 40 เตียง
ทั้งนี้ผู้ติดเชื้อโควิดที่ต้องการเตียงขอให้โทรไปที่สายด่วนกรมการแพทย์ 1668 ส่วนคำถาม-คำตอบเกี่ยวกับโควิดให้โทรสายด่วน 1422 กรมควบคุมโรค และขอความร่วมมือประชาชน ประเมินความเสี่ยงโควิดด้วยตนเองที่ https://covid19.rajavithi.go.th
@ กทม.ยัน รพ.ในสังกัด รวมกับเอกชน ยังรองรับได้อีก 3,600 เตียง
ด้าน ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมของเตียงรองรับผู้ป่วย ว่า กทม. ยืนยันว่ามีเตียงรองรับผู้ป่วยจำนวนมากในหลากหลายรูปแบบ โรงพยาบาลในสังกัด 1,358 เตียง พร้อมรองรับผู้ป่วย 1,158 เตียง ในจำนวนนี้มีโรงพยาบาลที่ขยายศักยภาพ เช่น ศูนย์กีฬาบางมด รองรับผู้ป่วย 200 เตียง โรงพยาบาลผู้สูงอายุ รองรับผู้ป่วย 500 เตียง ซึ่งยังไม่นับรวมโรงพยาบาลนอกสังกัด และโรงพยาบาลเอกชน ที่จะมีมากถึง 4,800 เตียง ที่ปัจจุบันมีคนครองเตียงอยู่แค่ 1,271 เตียง ทำให้เตียงเหลือประมาณ 3,600 เตียง
ต่อมาหลังจากเพิ่มศักยภาพในการจัดเตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยแล้ว กทม.จะใช้ Hostpitel ที่เตรียมพร้อมไว้แล้วในเครือข่ายโรงแรมที่มีความพร้อมทันที 500 เตียง เพื่อรองรับกรณีมีผู้ป่วยจำนวนมาก และนำผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรงไปพักรักษาในสถานที่ดังกล่าว
ทั้งนี้หากยังไม่เพียงพอ กทม.จึงจะตัดสินใจดำเนินการตั้ง โรงพยาบาลสนาม เช่นเดียวกับที่ภาครัฐดำเนินการกับที่จังหวัดสมุทรสาครต่อไป
@ ป่วยโยงสถานบันเทิง 604 ราย เฉพาะคริสตัลผับ 136 ราย
นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาการ ผอ.กองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การติดเชื้อโควิดที่มีประวัติเกี่ยวข้องกับสถานบันเทิง พบว่า มีผู้ติดเชื้อรวม 604 ราย และพบเชื้อมากที่สุดใน กทม. 310 ราย สมุทรปราการ 50 ราย ชลบุรี 44 ราย สระแก้ว 34 ราย และนนทบุรี 32 ราย
สำหรับการกระจายตัวของสถาบันเทิงที่พบเชื้อโควิด เฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล พบผู้ป่วยเชื่อมโยงเขตวัฒนา ทองหล่อ เอกมัย จำนวน 378 ราย โดยสถานบันเทิงที่พบมากที่สุดคือ Krystal Club ทองหล่อ 136 ราย , The moon bar นนทบุรี 27 ราย , Bla Bla Bar วัฒนา 15 ราย , The jazz cafe 12 ราย และThe Lounge ศาลา 10 ราย
เมื่อแยกจำนวนสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อโควิด ที่มีทั้งหมด 80 แห่ง พบว่า เป็นร้านอยู่ใน กทม. 52 ร้าน ปทุมธานี 7 ร้าน นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ชลบุรี จังหวัดละ 4 ร้าน ลพบุรี เชียงใหม่ นครปฐม สมุทรปราร ปราจีนบุรี จังหวัดละ 1 ร้าน
จำนวนผู้ป่วยโควิด 604 ราย เป็นคนไทย 93.71% ญี่ปุ่น 3.81% อื่นๆ 2.48% ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน อยู่ในช่วงอายุ 20-29 ปี จำนวน 264 ราย อายุ 30-39 ปี จำนวน 178 ราย โดยส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วย
@ สงกรานต์ 64 คนกังวลโควิดมากกว่าอุบัติเหตุทางถนน
นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กรมอนามัยได้จัดทำผลสำรวจช่วงวันที่ 23 มี.ค.-7เม.ย.ถึงระดับความกังวลและเรื่องที่ประชาชนกังวลมากที่สุดในช่วงวันหยุดสงกรานต์ พบว่ามีเพียง 5.7% ที่ไม่มีความกังวล ส่วน 76.6% ยังมีความกังวลกับสถานการณ์ที่แตกต่างกัน
21.27% กังวลต่อการที่ประชาชนบางกลุ่มละเลยการป้องกันตนเอง
20.48% กลัวการติดเชื้อจกาการรวมกลุ่มในสถานที่ต่างๆ
16.23% กังวลว่าสถานที่จะไม่ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรค
15.57% กังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยังไม่น่าไว้วางใจ
12.58% กังวลอุบัติเหตุทางถนน
ส่วนภาพรวมพฤติกรรมการป้องกันโควิดของประชาชน 6,987 คนที่ตอบผลสำรวจเมื่อวันที่ 24 มี.ค. – 7 เม.ย. พบว่า 92.3% ยังสวมหน้ากากอนามัย 91.54% ตรวจวัดไข้ 85.5% ล้างมือเป็นประจำ 78.9% เว้นระยะห่าง และ 77.3% ลงทะเบียนไทยชนะ เมื่อวิเคราะห์รายกลุ่มอายุ พบว่า กลุ่มที่มีพฤติกรรมการป้องกันโรคมากที่สุดคือกลุ่มอายุ 45-59 ปี แต่กลุ่มที่มีพฤติกรรมน้อยที่สุดคือ กลุ่มอายุต่ำกว่า 15 ปี
ส่วนกิจกรรมที่ประชาชนต้องการทำในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พบว่า 63.3% ต้องการทำบุญตักบาตร 53.5% รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ และ 51.6% สรงน้ำพระ
@ ตั้ง ‘นพ.ปิยะสกล’ ปธ.จัดหาวัคซีนทางเลือก 10 ล้านโดส
นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีน กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง ร่วมปรึกษาหารือกับกลุ่มผู้บริหารเครือโรงพยาบาลเอกชน ประกอบไปด้วย เครือโรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลวิภาราม และนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อหารือถึงแนวทางการจัดหารวัคซีน โดยภาคเอกชนขอเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาวัคซีน เพื่อเสริมการทำงานให้กับภาครัฐ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้มอบโนยบายชัดเจนมาว่า ยินดีที่จะให้ภาคเอกชนร่วมจัดหาวัคซีนโควิด
ทั้งนี้การดำเนินการต้องเป็นไปตามนโยบายที่ภาครัฐกำหนดไว้ โดยผู้แทนภาคเอกชนยินดีที่จะจัดทำแผนร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุขต่อไป
“แม้ว่าเราจะได้ยินชื่อวัคซีนหลายชนิด หลายเจ้าที่มีการทดลองแล้วประสบผลสำเร็จ แต่เวลานี้มีผู้มาขอขึ้นทะเบียนเพียง 3 บริษัท ส่วนที่เหลืออีก 10 กว่าราย อยู่ระหว่างการส่งเอกสารเข้ามา และแสดงความจำนงเข้ามา” นพ.นคร กล่าว
เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ที่ทำเนียบรัฐบาล ว่า ได้แต่งตั้งให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร อดีต รมว.สาธารณสุข เป็นประธานคณะกรรมการจัดหาวัคซีนร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและโรงพยาบาลเอกชน เพื่อนำไปสู่การเดินหน้าจัดหาวัคซีนทางเลือก
ขณะที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. กล่าวว่า สมาคมโรงพยาบาลเอกชนเสนอตัวว่าสามารถเชื่อมโยงกับเอกชน ในการจัดหาวัคซีน แต่ขอให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวก เพราะหน่วยงานเจ้าของวัคซีนต้องการจดหมายจากรัฐ และอยากให้องค์การเภสัชกรรมช่วยสั่งซื้อแล้วให้เอกชนไปขอแบ่งซื้อ ซึ่งนายกรัฐมนตรี เห็นด้วยทั้งสิ้น และมอบนโยบายไปว่าทำอย่างไรก็ได้ให้เอกชนมีส่วนร่วมในวัคซีน 10 ล้านโดส โดยให้ภาครัฐสนับสนุน ซึ่งอาจจะได้ช้าหรือเร็ว หรือมีราคา แต่ต้องปลอดภัยกับประชาชน
ข้อมูล ณ วันที่ 8 เม.ย. พบว่า ไทยได้จัดสรรวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 947,205 โดส วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 86,060 โดส มีผู้ได้รับวัคซีนสะสม เข็มแรก 405,911 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 จำนวน 60,463 ราย
(ภาพหน้าจาก : freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage