“...คำเบิกความของจำเลยที่ 1 นอกจากจะมีพยานเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงสนับสนุนอย่างหนักแน่นแล้ว วิธีปฏิบัติยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 มาตรา 29 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน หากมีมูลว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และย่อมส่งผลพลอยทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องด้วยเช่นกัน…”
...........................................................
หลายคนอาจทราบไปแล้วว่า ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 5 ให้ยกฟ้องคดีกล่าวหา พ.อ.สมจริง กอรี เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งสัสดีจังหวัดพะเยา กับพวก กรณีปลอมลายมือชื่อผู้กล่าวหาถอนเงินออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก (อทบ.ฝาก.) โดยทุจริต
แม้ว่ากรณีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิด พ.อ.สมจริง กับพวก ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 ไปตั้งแต่เดือน พ.ย. 2560 ก็ตาม แต่ท้ายที่สุดศาลอาญาคดีทุจริตฯ (ชั้นต้น) และศาลฎีกา พิพากษายกฟ้อง ขณะเดียวกันอัยการสูงสุด (อสส.) มีความเห็นไม่ฎีกาคดีดังกล่าว แต่ฝ่าย ป.ป.ช. ลงมติไม่เห็นพ้องด้วย และส่งเรื่องกลับไปยัง อสส. ให้ฎีกา (อ่านประกอบ : ยืนยกฟ้อง! 'พ.อ.-พวก' คดีทุจริตปลอมลายเซ็นถอนเงินออมทรัพย์ ขรก.กองทัพบก)
ปัจจุบันเรื่องนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส. ว่าจะฎีกาต่อหรือไม่?
ประเด็นที่น่าสนใจ เหตุใดศาลอุทธรณ์จึงพิพากษายืนยกฟ้อง
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ให้ทราบ ดังนี้
คดีดังกล่าวศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2563 มี อสส. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.อ.สมจริง กอรี และนางประภาพรรณ ไชยมงคล หรือปัญญา เป็นจำเลยที่ 1-2
โดยศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ก่อนเกิดเหตุ ผู้เสียหาย รับราชการทหารตำแหน่งเสมียน แผนกสัสดีอำเภอจุน จ.พะเยา โดยขณะรับราชการอยู่นั้นได้ฝากเงินออมทรัพย์ข้าราชการกองทัพบก หรือ อทบ.ฝาก ต่อกรมสวัสดิการทหารบกเป็นเงินจำนวน 44,497 บาท
ต่อมาปี 2548 ผู้เสียหาย ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราหญิงอื่นซึ่งมิใช่ภริยาตนโดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ และข้อหาเกี่ยวกับการกระทำชำเราเด็กหญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี และบุกรุกเคหสถานในเวลากลางคืนนั้น ศาลทหารสูสุดได้พิพากษาลงโทษจำคุกผู้เสียหายเป็นเวลา 11 ปี 12 เดือน และจังหวัดทหารบกพะเยามีคำสั่งที่ 16/2557 ลงวันที่ 10 ม.ค. 2557 ให้ปลดผู้เสียหายออกจากราช ขณะที่ผู้เสียหายถูกจำคุกอยู่ที่เรือนจำกลางลำปาง ผู้เสียหายได้มอบอำนาจให้ ภริยาไปดำเนินการยื่นคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหายซึ่งมีสิทธิจะได้รับดังกล่าวต่อสำนักงานสัสดี จ.พะเยา
ต่อมาภริยาของผู้เสียหายดำเนินการยื่นคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหาย แต่ทมาทราบว่าได้มีการยื่นคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหายไปก่อนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 2557 แต่ภริยาผู้เสียหายอ้างว่า คำร้องขอถอนเงินดังกล่าวในช่องที่ลงลายมือชื่อผู้เสียหายนั้น มิใช่เป็นลายมือชื่อของผู้เสียหายที่แท้จริง มีการปลอมลายมือชื่อของผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2557 สก.ทบ. โอนเงินจำนวน 44,497 บาทของผู้เสียหาย มีสิทธิได้รับมายังบัญชีธนาคารทหารไทย สาขาพะเยา
จากนั้นจำเลยที่ 2 (นางประภาพรรณ) ได้แจ้งให้ภริยาผู้เสียหายมาดำเนินการรับเงินจำนวนดังกล่าวในฐานะผู้รับมอบอำนาจของผู้เสียหาย แต่ในระหว่างนั้นมีนายทหาร 3 นาย เป็นผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของผู้เสียหายกับสหกรณ์ออมทรัพย์กองทัพภาคที่ 3 และได้ชำระหนี้เงินกู้แทนผู้เสียหายไปแล้ว ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อจำเลยที่ 1 (พ.อ.สมจริง) ได้ให้ฝ่ายผู้ค้ำประกันพูดคุยเจรจากับภริยาผู้เสียหายแล้ว แต่ภริยาผู้เสียหายขอเวลากลับไปปรึกษากับผู้เสียหายก่อน จำเลยที่ 1 จึงนำเงินฝาก อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหายเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงไทย สาขาศูนย์ราชการจังหวัดพะเยา ต่อมาภายหลังไม่มีผู้ใดมาติดต่อขอรับเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหาย จำเลยที่ 1 จึงดำเนินการโอนเงินดังกล่าวของผู้เสียหายคืน สก.ทบ.
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำความผิดโดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้สนับสนุนตามที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง 2 หรือไม่
เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ปากภริยาผู้เสียหาย เป็นพยานเดี่ยวเบิกความไม่อยู่กับร่องกับรอย มีข้อพิรุธสงสัยหลายประการ ไม่อาจรับฟังข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใด และข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางการไต่สวน ไม่ปรากฎข้อเท็จจริงอันเป็นพฤติการณ์ว่า จำเลยที่ 1 กระทำผิดตามฟ้อง แต่กลับได้ความว่าจำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบราชการทุกประการนั้น เป็นคำวินิจฉัยที่ประกอบชอบด้วยเหตุผลและพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็นพ้องด้วย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยซ้ำซ้อนอีก
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ว่า จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับการยื่นถอนเงินออมทรัพย์ให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน แล้วจึงเสนอไปยัง สก.ทบ. พิจารณาอนุมัติสั่งจ่ายเงินออมทรัพย์ให้แก่ผู้ขอถอนเงิน จำเลยที่ 1 ทราบดีอยู่แล้วว่า ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ด้วยตนเองมิได้ ต้องกระทำโดยผู้รับมอบอำนาจ เนื่องจากผู้เสียหายถูกจำคุกตามคำพิพากษาศาลทหารสูงสุด เป็นเวลา 11 ปี 12 เดือน แต่จำเลยที่ 1 กลับมีความเห็นให้ดำเนินการถอนเงินฝาก อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหาย ทั้ง ๆ ที่แบบคำร้องขอถอนเงินฉบับลงวันที่ 14 ม.ค. 2557 ไม่มีหนังสือรับมอบอำนาจจากผู้เสียหายแนบมาด้วยนั้น
จำเลยที่ 1 เบิกความตอบต่อศาลในชั้นไต่สวนพยานจำเลยที่ 1 ว่า กรณีคำร้องดังกล่าว จำเลยที่ 1 ได้รับการเสนอจากจำเลยที่ 2 จำนวน 3 ชุด เก็บไว้ที่สำนักงาน และส่ง สก.ทบ. 2 ชุด โดยมีหนังสือนำส่งคำร้อง อทบ.ฝาก. ดังกล่าว กับเบิกความอีกตอนหนึ่งว่า คำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหายกรณีนี้ เนื่องจากผู้เสียหายถูกปลดออกจากราชการ จึงใช้เอกสารประกอบคำร้อง อทบ.ฝาก. ดังกล่าว เฉพาะคำสั่งปลดออกจากราชการและคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องมีใบมอบฉันทะ เนื่องจากระเบียบไม่ได้กำหนดไว้
จำเลยที่ 1 เบิกความตอบศาลอีกว่า การที่ผู้เสียหายต้องขังอยู่ในเรือนจำกลางลำปาง ไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเองได้ ผู้เสียหายสามารถให้ญาติมายื่นแทนได้พร้อมเอกสารดังกล่าวข้างต้น หากไม่มีการยื่นคำร้องขอจากผู้มีสิทธิและตั้งเรื่องจากพยาน สก.ทบ. จะไม่ส่งเงิน อทบ.ฝาก. ให้ พยานไม่มีหน้าที่ต้องตรวจสอบว่าแบบคำร้องขอถอนเงิน อทบ.ฝาก. ลายมือชื่อของผู้ขอเป็นลายมือชื่อปลอมหรือไม่ คำเบิกความตอบศาลของจำเลยที่ 1 จึงประกอบด้วยเหตุผลโดยมีพยานเอกสารสนับสนุน จึงมีน้ำหนักรับฟังเชื่อถือได้
ส่วนประเด็นเรื่องผู้ค้ำประกันหนี้เงินกู้ของผู้เสียหายนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือร้องทุกข์จากผู้ค้ำประกันทั้ง 3 รายดังกล่าว จึงได้เกษียนสั่งในหนังสือร้องทุกข์ว่า ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและชะลอการจ่ายเงินไว้ก่อน ต่อมาภริยาผู้เสียหายและพี่ชายของผู้เสียหายมาติดต่อที่สำนักงาน จำเลยที่ 1 จึงจัดให้ทั้ง 2 ฝ่ายพูดคุยเจรจากัน โดยฝ่ายผู้ค้ำประกันยินยอมลดยอดหนี้ที่ได้ชำระแทนผู้เสียหายไป แต่ในที่สุดภริยาของผู้เสียหายแจ้งว่า ที่มาวันนี้เพราะได้รับมอบอำนาจจากผู้เสียหายให้มารับเงิน อทบ.ฝาก. เท่านั้น ไม่มีอำนาจในการเจรจาตกลงดังกล่าว จะขอกลับไปพูดคุยกับผู้เสียหายก่อน จำเลยที่ 1 จึงไม่สามารถจ่ายเงิน อทบ.ฝาก. ดังกล่าวให้แก่ภริยาของผู้เสียหายได้ และสุดท้ายจำเลยที่ 1 จึงส่งเงิน อทบ.ฝาก. ของผู้เสียหาย กลับคืนแก่ สก.ทบ.
เห็นว่า คำเบิกความของจำเลยที่ 1 นอกจากจะมีพยานเอกสารยืนยันข้อเท็จจริงสนับสนุนอย่างหนักแน่นแล้ว วิธีปฏิบัติยังสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ. 2476 มาตรา 29 ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติตามขั้นตอนกฎหมายอย่างถูกต้องครบถ้วน หากมีมูลว่าจำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันจะเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง และย่อมส่งผลพลอยทำให้จำเลยที่ 2 ไม่มีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 กระทำผิดตามที่โจทก์ฟ้องด้วยเช่นกัน
ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเห็งพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน
อย่างไรก็ดีคดีดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาของ อสส. ว่าจะฎีกาหรือไม่ ตามความเห็นแย้งของ ป.ป.ช.
บทสรุปจะเป็นอย่างไรต้องติดตามกันต่อไป!
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage