"...จากปฏิบัติการณ์ทางทหารเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาดังกล่าว ก็ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเริ่มที่จะออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกองทัพเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ กลุ่มกองทัพอาระกันในพื้นที่รัฐยะไข่ตะวันตกได้ประกาศจุดยืนว่า จะเข้าร่วมในสิ่งที่เรียกกันว่า ‘การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ’ ถ้าหากว่ายังมีการใช้กำลังอย่างรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง..."
..................
ความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศเมียนมาช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีประเด็นสำคัญเกิดขึ้น คือเมื่อวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารเมียนมา ได้ประกาศหยุดยิงฝ่ายเดียว 1 เดือน โดยระบุว่าจะตอบโต้ "การกระทำที่เป็นการขัดขวางความมั่นคงและการบริหารงานของรัฐบาล" แทน
หลังการออกประกาศดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายออกมาวิจารณ์ว่าการประกาศของกองทัพเมียนมานั้นไม่ได้มีความจริงใจ และหวังผลอย่างอื่นเสียมากกว่า
เพราะในขณะนี้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลทหาร โดยฝ่ายเจ้าหน้าที่หน่วยงานความมั่นคงเมียนมายังพุ่งสูงไม่หยุด
ล่าสุดตัวเลขผู้เสียชีวิตนั้นอยู่ที่ 543 รายแล้ว และมีตัวเลขเด็กที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม การเข้าปรามปรามของกองกำลังเมียนมาอยู่ที่ 44 ราย
โดยสำนักข่าว Economic Times ของประเทศอินเดีย ได้จัดทำรายงานข่าวฉบับหนึ่งซึ่งคาดการณ์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในสถานการณ์ของประเทศเมียนมา กับกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
หนึ่งในกลุ่มกบฏชาติพันธุ์กะเหรี่ยงของประเทศเมียนมาได้ออกมาเตือนหลังจากที่กองทัพเมียนมาได้ประกาศหยุดยิง 1 เดือน ว่า ความขัดแย้งอันรุนแรงระหว่างกองทัพเมียนมากับกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงนั้นกำลังจะเกิดขึ้น และได้เรียกร้องให้นานาชาติเข้ามาแทรกแซงและปกป้องให้กลุ่มประชากรชาวกะเหรี่ยงต้องถูกขับไล่ออกจากพื้นที่เหตุปะทะกัน
โดยสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงหรือกลุ่มเคเอ็นยูที่เคยต่อสู้กับกองทัพเมียนมามาจนถึงปี 2555 นั้น ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มติดอาวุธที่มีประวัติการต่อสู้ยาวนานที่สุดในโลก ได้มีการตระเตรียมกองกำลังเพื่อรับมือกับกองทัพเมียนมาหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ซึ่งในช่วงเวลาที่ประเทศเมียนมากำลังเข้าสู่ภาวะมิกสัญญีดังกล่าว กลุ่มเคเอ็นยูและกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ต่างๆก็ได้ออกมาแสดงจุดยืนเพื่อต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมาอย่างชัดเจน
@คู่อาฆาต
เคเอ็นยู กับ กองทัพปลดปล่อยชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงหรือเคเอ็นแอลเอนั้น เคยมีประวัติการต่อสู้กันมาอย่างยาวนานกับกองทัพเมียนมา และมีประวัติการต่อต้านข้อตกลงหยุดยิงมาอย่างยาวนานด้วยเช่นกัน
กลุ่มนักกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง กล่าวโทษว่ากองทัพเมียนมานั้นมีพฤติกรรมที่โหดร้ายต่อกลุ่มชาติพันธ์ุกะเหรี่ยงมาโดยตลอด
นี่จึงเป็นเหตุทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายนั้นมีการปะทะกันอย่างรุนแรงเรื่อยมา แต่พอมาถึงช่วงปี 2554 ที่เมียนมามีรัฐบาลพลเรือน กลุ่มเคเอ็นยูก็ได้เข้าร่วมในข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ ซึ่งถือว่าก้าวแรกในการเข้าสู่ระบบของรัฐบาลกลาง
@ความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นมาใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าข้อตกลงหยุดยิงที่มีขึ้นนั้นจะสามารถระงับเหตุการณ์การปะทะลงได้เป็นการชั่วคราว แต่ก็ยังคงมีความแคลงใจในกลุ่มกองทัพชาติพันธุ์ต่างๆกับกองทัพเมียนมา
โดยกลุ่มเคเอ็นยู ได้กล่าวหาว่า กองทัพเมียนมามีการเสริมกำลังและก่อสร้างอาคารเพื่อจะใช้ในปฏิบัติการณ์ทางทหารในพื้นที่ของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงในช่วงที่มีสัญญาการหยุดยิง และมีความพยายามจะละเมิดข้อตกลงหยุดยิงอันจะนำไปสู่การสู้รบ
ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือเหตุการณ์การปะทะกันในช่วง ธ.ค. 2563 ที่ส่งผลทำให้ชาวกะเหรี่ยงนับพันต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น
ต่อพอหลังจากเหตุการณ์การรัฐประหาร ทางเคเอ็นยูได้มีการกล่าวหากองทัพเมียนมาว่ามีการเสริมกำลังเข้ามาในพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ
แม้ว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำการรัฐประหาร จะออกมาประกาศว่าตัวเขาเองเคารพในข้อตกลงหยุดยิงก็ตาม
นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทางเคเอ็นยูไม่เคยเชื่อในข้อตกลงหยุดยิงของกองทัพเมียนมาเลยแม้แต่น้อย และเมื่อมีการส่งสัญญาณไปยังประชาคมโลกว่า ให้ยุติความสัมพันธ์ทุกรูปแบบกับเผด็จการทหารเมียนมา พร้อมกับกล่าวว่า ข้อตกลงสงบศึกนั้นสิ้นสุดลงแล้ว
ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์การปะทะกันอย่างรุนแรงระหว่างกองกำลังเคเอ็นยูที่บุกเข้ายึดค่ายทหารของกองทัพเมียนมาจำนวน 2 แห่ง และสังหารทหารเมียนมาจำนวน 10 ราย ตามมาด้วยการที่กองทัพอากาศเมียนมาได้ทิ้งระเบิดใส่พื้นที่เขตเคเอ็นยูเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ซึ่งถือว่าเป็นการโจมตีทางอากาศครั้งแรกในรอบ 20 ปี ในพื้นที่ของเคเอ็นยู
การเข้าจู่โจมฐานที่มั่นกองทัพเมียนมาโดยกองกำลังเคเอ็นยู เมื่อวันที่ 1 เม.ย. (อ้างอิงวิดีโอจาก MKP Burmese Blog)
@การอพยพข้ามมายังประเทศไทย
แน่นอนว่าการปะทะในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานั้น สร้างปัญหาให้กับประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
มีรายงานว่าพลเรือนกะเหรี่ยงนับพันคนได้หนีภัยจากเหตุปะทะข้ามมายังฝั่งประเทศไทย และมีหลายคนได้พยายามซ่อนตัวอยู่ในป่า ซึ่งทางด้านของเคเอ็นยูได้ออกมาเรียกร้องประเทศไทยให้ที่พักพิงแก่พลเรือนที่หนีภัยจากการสู้รบเข้ามา ดังเช่นที่เคยทำมาในอดีต
แต่ประเทศไทยเองก็มีประเด็นข้อขัดแย้งเรื่องผู้ลี้ภัยเช่นกัน
เพราะมีรายงานและพยานที่อ้างว่า มีการห้ามไม่ให้เข้าประเทศและส่งตัวกลุ่มผู้ลี้ภัยกลับไปยังประเทศเมียนมา ซึ่งนี่ก็ทำให้กลุ่มนักเคลื่อนไหวบางส่วนได้ออกมาตำหนิท่าทีของประเทศไทย
ขณะที่รัฐบาลไทยเองก็พยายามที่จะออกมาชี้แจงว่า ไม่มีนโยบายการส่งตัวผู้ลี้ภัยกลับประเทศแต่อย่างใด และยังยืนยันว่าได้รับผู้ลี้ภัยเหล่านี้เข้ามาดูแลตามหลักการว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแล้ว โดยผู้ลี้ภัยที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นได้กลับไปยังประเทศเมียนมาด้วยความสมัครใจ
ทางด้านสำนักข่าวรอยเตอร์เอง มีการรายงานข่าวว่าประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.แม่สอดนั้น ได้มีการเตรียมสถานที่ที่จะรองรับผู้ลี้ภัยเพิ่มเติมมากกว่า 43,000 ราย ที่คาดว่าจะทะลักเข้ามาในประเทศไทยอีก เพราะคาดว่าเหตุปะทะหลังจากนี้จะมีความรุนแรงมากขึ้น
กลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงที่ลี้ภัยสงครามข้ามมายังประเทศไทย (อ้างอิงวิดีโอจากอัลจาซีร่า)
@กลุ่มพันธมิตรต่อต้านเผด็จการทหาร
ย้อนกลับมาดูข้อมูลกลุ่มเคเอ็นยู ที่ ณ เวลานี้ได้มีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องการต่อต้านการรัฐประหาร พบว่ามีการส่งกองกำลังเคเอ็นยูบางส่วนไปคุ้มครองกลุ่มผู้ชุมนุมต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา และมีการดำเนินปฏิบัติการณ์เข้าโจมตีกองทัพเมียนมา พร้อมกับการตัดเส้นทางการส่งกำลังบำรุงของกองทัพ
ขณะที่ในพื้นที่ภาคเหนือของเมียนมา ก็มีรายงานว่ากองทัพอิสระรัฐคะฉิ่นเองก็ได้มีปฏิบัติการณ์การจู่โจมทางทหารที่มีลักษณะคล้ายกับกลุ่มเคเอ็นยูด้วยเช่นกัน
ซึ่งจากปฏิบัติการณ์ทางทหารเพื่อต่อต้านกองทัพเมียนมาดังกล่าว ก็ทำให้มีกลุ่มชาติพันธุ์หลายกลุ่มเริ่มที่จะออกมาแสดงจุดยืนต่อต้านกองทัพเมียนมามากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ กลุ่มกองทัพอาระกันในพื้นที่รัฐยะไข่ตะวันตกได้ประกาศจุดยืนว่า จะเข้าร่วมในสิ่งที่เรียกกันว่า ‘การปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ’ ถ้าหากว่ายังมีการใช้กำลังอย่างรุนแรงกับกลุ่มผู้ประท้วงอย่างต่อเนื่อง
วิดีโอการฝึกกองกำลังอาระกัน ในรัฐยะไข่ (อ้างอิงวิดีโอจาก Knowledge Myanmar)
ดังนั้น จากท่าทีของกองกำลังชาติพันธุ์เหล่านี้ที่มีต่อกองทัพเมียนมา จึงกลายเป็นช่องทางที่สำคัญที่คณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพหรือ CRPH ซึ่งมีที่มาจากตัวแทนผู้ถูกเลือกตั้งเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ได้พยายามที่จะจัดตั้งกองกำลังร่วมโดยมีจุดยืนที่จะต่อต้านเผด็จการทหารเมียนมา
หนึ่งในความพยายามจะจัดตั้งกองทัพก็คือ การประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญที่กองทัพเมียนมาได้ร่างขึ้นในปี 2551 และการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับใหม่ขึ้นมา ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ว่านี้นั้นได้มีการระบุถ้อยคำว่า กองทัพรัฐบาลกลาง เพื่อใช้แทนที่กองทัพเมียนมาในปัจจุบัน
แม้ว่ากองทัพจากกลุ่มชาติพันธุ์ที่ว่ามานี้นั้นจะมีทั้งกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่น้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับกองทัพเมียนมา
แต่ว่าถ้าหากกองทัพกลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้สามารถรวมตัวกันได้ติด ก็จะถือว่าเป็นปัญหาสำคัญที่ใหญ่หลวงเป็นอย่างยิ่งสำหรับกองทัพเมียนมา ที่จะต้องรับศึกหลายด้าน
อย่างไรก็ตาม ความพยายามจะตั้งกองทัพรวมของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ว่ามานี้นั้นก็ยังคงมีอุปสรรคอยู่ เพราะว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์บางกลุ่ม ได้เปิดศึกกันเองเช่นกัน อาทิ กลุ่มชาติพันธุ์จากรัฐฉาน และกลุ่มชาติพันธุ์รัฐกะเหรี่ยง นี่จึงทำให้ความพยายามจะจัดตั้งกองทัพพันธมิตรนั้นดูเป็นได้ยากขึ้นไปอีก
ทำให้ กองทัพเมียนมา ที่ดูท่าว่าจะมีความสามารถที่เหนือกว่า ในการดำเนินกลยุทธ์การแบ่งแยกการปกครอง และสามารถที่จะใช้กลยุทธ์ที่ว่านี้มาได้นานหลายปีแล้ว ด้วยการทำให้เกิดรอยร้าวระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆด้วยกันเอง เพื่อไม่ให้กลุ่มชาติพันธุ์เหล่านี้รวมตัวกันได้ติดทั้งในเกมการเมืองและการทหาร
แน่นอนว่า การออกประกาศหยุดยิงของกองทัพเมียนมาที่มีขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2564 ที่ผ่านมา ก็ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ว่านี้ด้วยเช่นกัน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/