"...เราพบว่าผู้ใช้บริการสถานบันเทิงมักจะเดินทางไปหลายที่ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปสถานบันเทิงหลายที่ โดยหลักการ คงต้องมีมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องเน้นย้ำการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น..."
------------------------------------------------------------
ในการแถลงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดประจำวันที่ 2 เม.ย.2564 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาพรวมในไทย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น พบผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มาก โดยเฉพาะช่วง 3 วันที่ผ่านมา มีเพียง 6 จังหวัด แต่หากนับจังหวัดที่ไม่พบผู้ป่วยเกิน 7 วันแล้วมีทั้งหมด 55 จังหวัด
และเมื่อรวมกับจังหวัดที่ไม่เคยพบผู้ติดเชื้อในการระบาดครั้งนี้เลย จะพบว่า มีทั้งหมด 65 จังหวัด ที่ไม่พบผู้ป่วยโควิดในช่วง 7 วันที่ผ่านมา
ส่วนสถานการณ์และปัจจัยเสี่ยงที่ได้เฝ้าระวังและสอบสวนโรครายสัปดาห์ มีอยู่ 5 ประเด็น
1.ตลาดย่านบางแคหรือชุมชนฝั่งตะวันตกของ กทม. ยังพบการระบาด มีผู้ติดเชื้อเดินทางเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด ส่วนใหญ่เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง เคยสัมผัสผู้ติดเชื้อมาก่อน และเป็นสถานการณ์ต่อเนื่อง 2-3 สัปดาห์ก่อน
2.สถานบริการ ผับ บาร์ ร้านอาหาร พบผู้ติดเชื้อมีไทม์ไลน์ ไปรับประทานอาหาร ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเพื่อนและครอบครัว ย่านพระราม 9 , ทองหล่อ พื้นที่ กทม. ปทุมธานี และนครปฐม
3.โรงงาน สถานประกอบการ ตลาด และชุมชน จ.สมุทรสาคร พบผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อต่อเนื่องจากกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูง และการค้นหาเชิงรุก
4.สถานที่กักตัวใน Alternative State Quarantine (ASQ) หรือสถานกักกันที่ราชการกำหนด พบผู้เดินทางและบุคลากรติดเชื้อ เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคตามมาตรฐานที่กำหนด
5.ห้องกัก สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ที่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการพบผู้ต้องกักป่วยโควิด ยังพบเจ้าหน้าที่และผู้ช่วยตักอาหารติดเชื้อเพิ่มเติม
นพ.จักรรัฐ กล่าวย้ำว่า ประเด็นนี้เป็นสิ่งที่ต้องย้ำเตือนกัน เริ่มมีสัญญาณเตือนพบผู้ป่วยจากการใช้บริการจากสถานบันเทิง ที่เสี่ยงจะทำให้การระบาดเป็นจำนวนมากอีกครั้ง
กรณีสถานบันเทิง จ.ปทุมธานี และ กทม. เริ่มจากการพบผู้ป่วยเป็น นักศึกษา อายุ 21 ปี เข้าไปใช้รับประทานอาหารที่ร้าน ก. ย่านปทุมธานี ก่อนจะเดินทางไปสถานบันเทิงที่ ร้าน ข. ย่านปทุมธานี และเดินทางไปสถานบันเทิง ร้าน ค. ใน กทม. ย่านจตุจักร กรณนี้มีนักศึกษาที่เดินทางไปด้วยติดโควิดเพิ่มขึ้นอีกหลายคน
ตามข้อมูลไทม์ไลน์จากกระทรวงสาธารณสุข พบว่ากรณีนี้มีผู้ป่วยโควิดอย่างน้อย 12 ราย เป็นนักศึกษาอย่างน้อย 9 ราย และยังแพร่เชื้อไปถึงผู้สูงอายุ 55 ปีซึ่งเป็นคนในครอบครัวด้วย
“เราพบว่าผู้ใช้บริการสถานบันเทิงมักจะเดินทางไปหลายที่ ทำให้เกิดความเชื่อมโยงไปสถานบันเทิงหลายที่ โดยหลักการ คงต้องมีมาตรการที่ผู้ประกอบการต้องเน้นย้ำการเฝ้าระวัง ควบคุมโรค เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่สอบสวนโรคได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น” นพ.จักรรัฐ กล่าว
กรณีสถานบันเทิง จ.นครปฐม เริ่มจากพบผู้ป่วยชายอายุ 27 ปี อาชีพนักร้องในสถานบันเทิง มีอาการคัดจมูก ปวดเมื่อยตามตัว เดินทางไปหร้องเพลงที่สถานบันเทิงเมื่อวันที่ 16 มี.ค. และพบว่าติดเชื้อโควิด 26 มี.ค.
โดยคลัสเตอร์นี้พบผู้ป่วยแล้วอย่างน้อย 6 ราย มีทั้งนักร้องในสถานบันเทิงเดียวกัน ลูกค้าที่มาใช้บริการ รวมถึงคนในครอบครัวซึ่งเป็นหญิงอายุ 56 ปีแม่ของผู้ป่วยรายแรก
อีกกรณีคือสถานบันเทิง กทม.ย่านทองหล่อ ที่พบกลุ่มผู้ติดเชื้อ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรก เริ่มจากนักธุรกิจอายุ 24 ปี เดินทางไปเที่ยวสถานบันเทิงเมื่อวันที่ 25 มี.ค. จากนั้นมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ถ่ายเหลว และตรวจพบเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 29 มี.ค.
ขณะเดียวกันยังมีชายไทยอายุ 28 ปี อาชีพพนักงาบริษัท ที่เดินทางเที่ยวด้วยกัน ตรวจพบเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. โดยกลุ่มนี้ยังมีผู้ที่อยู่ระหว่างติดตามผลการตรวจอีก 3 คน
เมื่อเจ้าหน้าที่ทำการสำรอง คัดกรองเชิงรุก ทำให้พบหญิงไทยอายุ 26 ปี อาชีพฟรีแลนซ์ พบเชื้อโควิดเมื่อวันที่ 31 มี.ค. โดยมีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงแห่งเดียวกัน กับเพื่อน 10 คน และเรียกเด็กเอ็นเตอร์เทนมานั่งด้วย 12 คน ซึ่งภายหลังพบว่าติดเชื้อ 2 คน
นอกจากนี้มีผู้ติดเชื้ออีกคนคือ พีอาร์สถานบันเทิงย่านทองหล่อ อายุ 29 ปี มีประวัติเดินทางไปสถานบันเทิงย่านรัชดา ที่มีรายงานพบว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 1 เม.ย.
กลุ่มสอง เริ่มจากชายไทยอายุ 37 ปี มีอาการป่วยโควิดเข้ารับการรักษาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. โดยให้ประวัติว่า ได้เดินทางไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อ วันที่ 22 มี.ค.
กรณีนี้พบผู้ติดเชื้ออีกอย่างน้อย 8 คน ซึ่งเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงในที่ทำงาน คนในครอบครัว ที่มีเด็กอายุ 2 ปีร่วมอยู่ด้วย
“จะเห็นได้ว่าตอนนี้มีสถานบันเทิงหลายแห่งที่เป็นแหล่งการแพร่ระบาดของโรค จึงขอเน้นย้ำให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด” นพ.จักรรัฐ กล่าว
@ผลชันสูตรอย่างไม่เป็นทางการ พระมรณภาพไม่เกี่ยวกับฉีดวัคซีน
นพ.ชำนิ จิตตรีประเสริฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงฆ์ กล่าวถึงกรณี พระครูสิริปัญญาเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ มรณภาพ หลังจากได้รับการฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ท่านเข้ารับการคัดกรอง พบว่าความดันโลหิตปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่เป็นข้อห้ามในการฉีดวัคซีน จากนั้นเมื่อครบเวลาสังเกตอาการ จึงได้นิมนต์ท่านไปฉันอาหาร จากนั้นจึงเดินทางกลับ กระทั่งพบว่าท่านมรณภาพในวันรุ่งขึ้น
“จากผลการชันสูตรเบื้องต้นที่เป็นผลอย่างไม่เป็นทางการ ไม่พบภาวะลิ่มเลือดในสมอง หรือจุดอื่นๆ แต่พบว่ามีอาการเส้นเลือดหัวใจตีบ ตรงนี้อาจจะมีผลต่อการเสียชีวิตของท่านได้ ฉะนั้นถ้าพูดถึงสรุปตอนนี้ วัคซีนที่ท่านได้รับไม่ได้ทำให้ท่านมรณภาพ” นพ.ชำนิ กล่าว
นพ.ชำนิ กล่าวด้วยว่า พระครูสิริปัญญาเมธี ท่านเป็นคนไข้ที่โรงพยาบาลสงฆ์มา 15 ปี รักษาเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเมื่อทำคลื่นหัวใจเมื่อปี 2561 – 2562 พบว่ามีภาวะหัวใจโต ท่านทำการรักษาต่อเนื่องมาตลอด และขาดการรักษาไปเมื่อปี 2563 เนื่องจากเดินทางไปต่างประเทศ และขาดการฉันยา โดยในภาพรวมการฉีดวัคซีนให้พระใน กทม.ไปแล้ว 412 รูป พบอาการแพ้หลังได้รับวัคซีนเป็นผื่น 2 รูป เป็นวัคซีนซิโนแวก 1 รูป และแอสตร้าเซนเนก้า 1 รูป และเป็นไข้ 3 รูป
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/