"...ตามคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งส่งมาตามหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ของศาลชั้นต้นในสํานวนได้ความว่า ผู้ที่นําใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอม ดังกล่าวมายื่นต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ คือนายสุรชาติ ไชยวงศ์ ผู้รับมอบอํานาจของบริษัทจําเลยที่ 2 สอดคล้องกับคําขอใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ซึ่งปรากฏลายมือชื่อของนายสุรชาติเป็นผู้ยื่นคําขอ..โดยโจทก์มิได้นําผู้เสียหายมาเบิกความยืนยัน ให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอม อ้างแสดงต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุด้วยแต่ประการใด..."
.........................
ประเด็นตรวจสอบกรณีไม้พะยูงจำนวนกว่า 11 ตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 1,664 ท่อน 155 ลูกบาศก์เมตร มูลค่าหลายร้อยล้านบาท ที่อ้างว่าถูกนำเข้าจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) และถูกยึดไว้ที่สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง (ด่านลาดกระบัง) เมื่อปี พ.ศ.2549 แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการนำไม้ดังกล่าวส่งคืนให้กับ สปป.ลาวแต่อย่างใด ทั้งที่เมื่อปี 2556 กระทรวงการต่างประเทศได้มีมติเตรียมจะคืนไม้ของกลางทั้งหมดให้กับรัฐบาล สปป.ลาว เรียบร้อยแล้ว
ที่สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ติดตามนำเสนอข่าวอย่างต่อเนื่องในขณะนี้
ในตอนที่แล้ว สำนักข่าวอิศรา ได้นำข้อมูลในแผนผังแสดงที่มาที่ไปคดีไม้พะยูงของกลาง ที่กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) นำมาเปิดเผยระหว่างการแถลงข่าวผลการจับกุมตัวนายสุรเดช อัคราช อายุ 56 ปี ผู้อำนวยการสํานักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร และน.ส.กชพรรณ แสงวิรุณ หรือ น.ส.ทิพย์เกษร แสงวิรุณทร อายุ 27 ปี จากการเรียกรับสินบนนักค้าไม้ชาวลาว เป็นเงิน 2 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกการคืนของกลางไม้พะยูง จับกุมได้ที่ร้านกาแฟใกล้สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.มุกดาหาร พร้อมของกลางเงินสด 2 ล้านบาท และโทรศัพท์มือถือ 4 เครื่อง
โดยพบว่า มีตัวละครฝ่ายไทย 2 ราย เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ หจก.ภัทรมาศ (1993) ซึ่งเป็นบริษัทที่นำไม้ผ่านแดน และบริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) ซึ่งเป็นผู้ที่ดำเนินการขนไม้ไปยังท่าเรือในประเทศไทย
ขณะที่ บริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991) จํากัด และ นางอรัญญา อุปัติสิงห์ หุ้นส่วนผู้จัดการหจก.ภัทรมาศ (1993) เป็น 2 ใน 7 กลุ่มบุคคลที่อ้างสิทธิต่อกรมศุลกากร เพื่อขอคืนไม้พะยูงของกลางด้วย
นอกจากนี้ ยังปรากฎข้อมูลว่า ภายหลังจากที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) และทางกรมป่าไม้ ได้เข้าทำการยึดไม้พะยูงเป็นของกลาง และมีการยืนเรื่องฟ้องศาลฯ ในข้อหาการใช้เอกสารปลอม กับหจก.ภัทรมาศ (1993) และบริษัท ที.แอล. เอ็นเตอร์ไพรส์ (1991)
แต่เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 2 ราย ไปแล้ว และนำมาสู่การพิจารณาคืนไม้ให้เจ้าของตัวจริงในปัจจุบัน
(อ่านประกอบ:แกะแผนผัง บช.ก.! เจาะ 2 บ.ตัวละครเอก คดีชิงไม้พะยูง 600 ล. ก่อนผอ.มุกดาหาร โดนรวบ)
ข้อมูลสำคัญอีกชุดหนึ่ง ที่ยังไม่ถูกเปิดเผยคือ รายละเอียดคำพิพากษาในคดีการใช้เอกสารปลอมขนย้ายไม้พะยูงกองนี้เป็นอย่างไร?
สำนักข่าวอิศรา สืบค้นคำพิพากษาศาลฎีกา จ.มุกดาหาร ที่พิจารณาคดีนี้ เมื่อวันที่ 8 ต.ค. 2562 พบว่า ฝ่ายโจทก์คือพนักงานอัยการ จ.มุกดาหาร และมีจำเลย 2 คน คือจำเลยที่ 1. นางอรัญญา อุปัติสิงห์ และจำเลยที่ 2. บริษัท ที แอล เอ็นเตอร์ไพรซ์ (1991) จำกัด
คำพิพากษาศาลฎีกา จ.มุกดาหาร (สามารถดูคำพิพากษาฉบับเต็มได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1JDotfN3Zs3ilVFmUOzLLbejZMaWzL5E4/view?usp=sharing)
โดยโจทก์ฟ้อง และแก้ฟ้องคดีทั้งสองสํานวน มีใจความว่า เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 ถึงวันที่ 5 สิงหาคม 2549 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยทั้งสองกับ นายเสนอ มีศิลป์ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้วร่วมกันปลอมเอกสารขึ้นทั้งฉบับ โดยทําหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน (EXPORT PASS PERMIT) ของกระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว เลขที่ 2420 ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2549 มีข้อความว่า “สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว สันติภาพ เอกราช ประชาธิปไตย เอกภาพ วัฒนาถาวร เลขรหัส NO. 0090 กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้ แผนกกสิกรรมและป่าไม้ ใบอนุญาตผ่านเลขที่ 2420 วันที่ 19 กรกฎาคม 2549 อ้างตามใบอนุญาตนําสินค้าออกต่างประเทศ ฉบับเลขที่ 288/ปมข.สข. ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2549 อ้างตามสัญญาซื้อ - ขายไม้ หรือแลกเปลี่ยนสินค้า ฉบับเลขที่ 009 ลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ระหว่างวิสาหกิจส่วนบุคคลพงสะหวันอุตสาหกรรมไม้ กับ (อ่านไม่ออก) แผนกกสิกรรมและป่าไม้ แขวงสะหวัน นะเขต ได้รับรองว่าเป็นสินค้าจาก สปป.ลาว, ซึ่งได้ผ่านการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จึงได้อนุญาตสินค้าจํานวนนี้ให้แก่วิสาหกิจพงสะหวัน เพื่อส่งออกไป ประเทศจีน โดยผ่านด่านสะหวันนะเขต - ด่านมุกดาหาร
ประเภทสินค้า
-ไม้พะยูงท่อน จํานวน 1,664 ท่อน ปริมาตร 155,080 ลูกบาศก์เมตร ราคาต่อหน่วย 93.048
ค่าภาษีพิเศษ ย/ว ไม้ท่อน ไม้แปรรูปหรือตอไม้ ตามรายการข้างบนนี้ได้ประทับตราไม้ เป็นที่เรียบร้อย ใบอนุญาตนี้มี 3 ฉบับ ใช้ได้เฉพาะใบที่มีตราประทับสีแดงเท่านั้น ส่วนใบที่ถ่ายเอกสาร ใบที่รอยลบขีดฆ่าตัวเลขหรือตัวหนังสือห้ามใช้เด็ดขาด ใบอนุญาตทุก ๆ ใบต้องมีตราประทับของกรมป่าไม้ จึงถือว่าถูกต้องและใช้ได้ตามกฎหมาย อนุญาตนี้ มีกําหนดใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 ห้ามไม่ให้เคลื่อนย้ายไม้และของป่าทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 18.00 น. ถึง 06.00 น. สําเนาส่งกรมป่าไม้ 1 ฉบับ เจ้าของสินค้า 1 ฉบับ เก็บรักษาไว้ 1 ฉบับ พร้อมกับประทับตราของกรมป่าไม้ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวซึ่งเป็นของปลอมลงในเอกสาร และลงลายมือชื่อ สีแก้ว ไชยะเพ็ด หัวหน้าแผนก กสิกรรมและป่าไม้แขวงซึ่งเป็นลายมือชื่อปลอมลงในเอกสาร เพื่อให้เจ้าพนักงานป่าไม้จังหวัดมุกดาหารและผู้ที่พบเห็นหลงเชื่อว่าหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนดังกล่าว เป็นเอกสารที่แท้จริงที่กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวทําขึ้น เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร กระทรวงกสิกรรมและป่าไม้สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน จําเลยทั้งสองกับพวกรวมกันใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้า ผ่านแดน ซึ่งเป็นเอกสารที่จําเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมขึ้นดังกล่าวอ้างแสดงต่อ นายสิทธิพงษ์ ภิเศก ผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจําด่านป่าไม้ จังหวัดมุกดาหารเพื่อให้ออกใบเบิกทางให้จําเลยทั้งสองกับพวกนําไม้พะยูงเคลื่อนที่จากด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารไปยังด่านศุลกากรลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร เป็นเหตุให้ผู้เสียหาย ผู้อื่น หรือประชาชนได้รับความเสียหาย เหตุเกิดที่แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐ ประชาธิปไตยประชาชนลาว และตําบลมุกดาหาร อําเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร
ฝ่ายโจทก์จึงขอให้ลงโทษจำเลยด้วยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,91, 264, 268
แต่จำเลยทั้ง 2 ให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง
ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาแก้เป็นว่า จําเลยทั้งสองมีความผิดฐานร่วมกัน ใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 83 จําคุกจําเลยที่ 1 มีกําหนด 2 ปี และปรับจําเลยที่ 2 เป็นเงิน 6,000 บาท หากจําเลยที่ 2 ไม่ชําระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลชั้นต้นตัดสิน
จำเลยทั้ง 2 จึงยื่นฏีกา
ศาลฎีกาตรวจสํานวนประชุมปรึกษาแล้ว เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวหาว่าจําเลย ทั้งสองกับนายเสนอ มีศิลป์ ซึ่งถึงแก่ความตายแล้ว ได้ร่วมกันปลอมเอกสารหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดน แผ่นแรกขึ้นทั้งฉบับ และจําเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนดังกล่าวซึ่งเป็นเอกสารที่จําเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันปลอมขึ้น อ้างแสดงต่อนายสิทธิพงษ์ ภิเศก เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจําด่านป่าไม้ จังหวัดมุกดาหารเพื่อให้ออกใบเบิกทางให้จําเลยทั้งสองกับพวกนําไม้พะยูงเคลื่อนที่จาก ด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหารไปยังด่านศุลกากรลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
ข้อเท็จจริงในคดี ได้ความต่อมาว่า เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจําด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร ได้ออกใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ให้แก่จําเลยทั้งสอง
หลังจากนั้นจําเลยที่ 1 และ นายเสนอได้อาศัยใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ นําไม้พะยูงเคลื่อนที่ จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบังกรุงเทพมหานคร โดยไม่หยุดและไม่แจ้ง ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจําด่านป่าไม้หินกอง ตรวจสอบให้ผ่านด่าน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายพนักงานอัยการ
สํานักงานอัยการสูงสุด จึงฟ้องขอให้ลงโทษจําเลยที่ 2 และนายจิตรชัย บวรโชคชัย ซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอํานาจกระทําการแทนจําเลยที่ 2 เป็นจําเลยต่อศาลจังหวัด พระโขนง ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันนําไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจํา ด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงพิพากษายกฟ้อง ปรากฏตามสําเนาคําพิพากษาศาลจังหวัด พระโขนง
ส่วนข้อหาความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม พนักงานอัยการจังหวัดมุกดาหารมีคําสั่งไม่ฟ้อง ปรากฏตามคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งส่งมาตามหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุของศาลชั้นต้นในสํานวน
ไม้พะยูงซึ่งอยู่ที่ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง
แต่ต่อมา นายสุรเดช อัคราช หัวหน้ากลุ่มปฏิบัติภารกิจในราชการส่วนภูมิภาค (ด่านป่าไม้) จังหวัดมุกดาหารอ้างว่า มีพยานหลักฐานใหม่จากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งยืนยันว่าใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก เป็นเอกสารปลอม จึงเข้าแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดําเนินคดีแก่จําเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ เห็นว่า การปลอมใบอนุญาตผ่านแดนแผ่นแรก และการใช้ใบอนุญาตผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอม ก็เพื่อให้เจ้าพนักงานบริหารงานป่าไม้ประจําด่านป่าไม้จังหวัดมุกดาหาร ออกใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่
โดยคําขอใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ซึ่งอยู่ตอนท้ายเอกสารแผ่นแรก ระบุความประสงค์ ขอใบเบิกทางกํากับไม้พะยูงลาวท่อน ซึ่งจะนําเคลื่อนที่จากด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร สอดคล้องกับข้อความในใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ซึ่งอนุญาตให้นําไม้หรือของป่าคือไม้พะยูงลาวเคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยัง ท่าเรือลาดกระบังกรุงเทพมหานคร ดังนี้
-การปลอมเอกสารหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก และการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรกซึ่งเป็นเอกสารปลอม จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อนําไม้พะยูงที่อ้างว่ามีจํานวนและปริมาตร ตามที่ระบุไว้ในใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอม เคลื่อนที่จากโกดังด่านศุลกากรมุกดาหารไปยังท่าเรือลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร
-ความผิดฐานปลอมเอกสาร ใช้เอกสารปลอมและนําไม้เข้าเขตด้านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงาน เจ้าหน้าที่ประจําด่านป่าไม้นั้น จึงเป็นความผิดกรรมเดียว เมื่อคดีก่อนโจทก์ฟ้องจําเลยที่ 2 และนายจิตรชัยในข้อหาความผิดฐานร่วมกันนําไม้เข้าเขตด่านป่าไม้ ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ประจําด่านป่าไม้นั้น ศาลจังหวัดพระโขนงมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว
สิทธิในการนําคดีอาญามาฟ้องจําเลยที่ 2 ในความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสารและร่วมกันใช้เอกสารปลอม ซึ่งเป็นกรรมเดียวกับความผิดที่ศาลจังหวัดพระโขนงมีคําพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วดังกล่าว จึงเป็นอันระงับไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอํานาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยเนื้อหาคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจําเลยที่ 2 มานั้น
ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
กรณีไม่จําต้องวินิจฉัยฎีกาของจําเลยที่ 2 เพราะไม่ทําให้คดีเปลี่ยนแปลง สําหรับคดีในส่วนที่เกี่ยวกับจําเลยที่ 1 นั้น เมื่อความผิดฐานร่วมกันปลอมเอกสาร ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องความผิดฐานนี้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 คงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจําเลยที่ 1 ว่า จําเลยที่ 1 ร่วมใช้ใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังที่ ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยหรือไม่
เห็นว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าความผิดฐานนี้เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2549 เวลากลางวัน โดยจําเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันอ้างหนังสือ ใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอมดังกล่าวแสดงต่อนายสิทธิพงษ์ ภิเศก ผู้เสียหาย
แต่ตามคําสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ซึ่งส่งมาตามหมายเรียกพยานเอกสารหรือพยานวัตถุ ของศาลชั้นต้นในสํานวนได้ความว่า ผู้ที่นําใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอม ดังกล่าวมายื่นต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุ คือนายสุรชาติ ไชยวงศ์ ผู้รับมอบอํานาจของบริษัทจําเลยที่ 2 สอดคล้องกับคําขอใบเบิกทางนําไม้หรือของป่าเคลื่อนที่ซึ่งปรากฏลายมือชื่อของนายสุรชาติเป็นผู้ยื่นคําขอ
โดยโจทก์มิได้นําผู้เสียหายมาเบิกความยืนยัน ให้เห็นว่าจําเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนซึ่งเป็นเอกสารปลอม อ้างแสดงต่อผู้เสียหายในวันเกิดเหตุด้วยแต่ประการใด
แม้ นายสุรเดช อัคราช พยานโจทก์ จะเบิกความว่า จําเลยที่ 1 เคยนําหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนทั้งชุดซึ่งมีหนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก อันเป็นเอกสารปลอม รวมอยู่ด้วย มาให้พยานตรวจดู
แต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นก่อนวันที่ 5 สิงหาคม 2549 จึงมิใช่การกระทําตามฟ้องที่โจทก์ประสงค์จะให้ลงโทษจําเลยที่ 1
เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน มานําสืบแสดงให้เห็นว่า จําเลยที่ 1 มีส่วนร่วมในการใช้หนังสือใบอนุญาตสินค้าผ่านแดนแผ่นแรก ซึ่งเป็นเอกสารปลอมในวันเกิดเหตุตามฟ้อง จึงไม่อาจลงโทษ จําเลยที่ 1 ในความผิดฐานนี้ได้
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจําเลยทั้งสองในความผิดฐานร่วมกันใช้เอกสารปลอมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก (เดิม), 83 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคําพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4
สำหรับ นายสุรเดช อัคราช ซึ่งเป็นพยานฝ่ายโจทก์ในคดีนี้ เป็นบุคคลเดียวกับที่ปรากฎชื่อว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีเรียกรับสินบนนักค้าไม้ชาวลาว เป็นเงิน 2 ล้านบาท เพื่ออำนวยความสะดวกการคืนของกลางไม้พะยูงดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ในการสอบสวนทางลับของ บก.ปปป. เกี่ยวกับประวัติของนายสุรเดช พบว่าเป็นข้าราชการระดับสูง และเป็นบุตรชายของอดีตรัฐมนตรี (นายดาบชัย อัคราช ) อีกทั้งที่ผ่านมา มีเรื่องร้องเรียนในลักษณะนี้หลายครั้ง โดยในกรณีของเรียกรับสินบนไม้พยุงนั้น สมัยที่นายสุรเดชเป็นเจ้าหน้าที่ชุดจับกุมก็ได้มีการเรียกรับเงิน 1 ล้านบาทกับทางผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อศาลสั่งคืนของกลาง ก็มาเรียกรับเงินอีกครั้ง
ข้อมูลส่วนนี้จึงนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อคดีนี้!
อ่านประกอบ:
แกะแผนผัง บช.ก.! เจาะ 2 บ.ตัวละครเอก คดีชิงไม้พะยูง 600 ล. ก่อนผอ.มุกดาหาร โดนรวบ
อ้างตัวแทน สปป.ลาว ตามทวงคืนไม้พะยูง 200 ล.โดนยึดปี 49-ผู้การ ปทส.ยันคืนให้บริษัทแล้ว
ศึกชิงไม้พะยูงของกลาง 200 ล.ระอุ! คนกลุ่ม 3 โผล่ อ้างเจ้าของกรรมสิทธิ์ตัวจริง
ปมคืนไม้พะยูงของกลาง 200 ล.วุ่น! บ.ลาว อ้างมีคนหวังฮุบ ยื่นสำนักนายกฯ ขอความเป็นธรรม
ร้องผู้ตรวจการฯ สางปมศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.- จี้ ปทส.แจงหลักเกณฑ์คืนของกลาง
จำแนก 4 กลุ่ม ศึกชิงไม้พะยูง 200 ล.! ผู้รับจ้างขนเข้าไทย โผล่อ้างสิทธิ์ขอคืนด้วย?
รวบตัวพร้อมเงินสด2ล.! บช.ก.จับ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ มุกดาหาร เรียกสินบนคืนไม้พะยูง600ล.
เป็นลูกอดีต รมต.! ปปป. คุ้ยประวัติ ผอ.สำนักทรัพยากรฯ มุกดาหาร-เคยเรียกเงินมาแล้ว 1 ล.
กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage