“...แต่คดีนี้มิใช่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ แต่เกิดจากการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าเพื่อเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ซื้อข้าวจากสต็อกของรัฐในราคาถูกโดยอ้างว่าเป็นการขายให้รัฐบาลจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูล แล้วนำข้าวไปหมุนเวียนภายในประเทศ หากกำไรโดยไม่มีการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล…”
-----
“พิพากษาว่า ให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1 (นายมนัส สร้อยพลอย) ชดใช้ 4,011 ล้านบาท ผู้ฟ้องคดีที่ 2 (นายทิฆัมพร นาทวรทัต) ชดใช้ 4,011 ล้านบาท ผู้ฟ้องคดีที่ 4 (นายภูมิ สาระผล) ชดใช้ 2,242 ล้านบาท และผู้ฟ้องคดีที่ 5 (นายบุญทรง เตริยาภิรมย์) ชดใช้ 1,768 ล้านบาท
ส่วนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง) ให้ชดใช้ในส่วนสัญญาฉบับที่ 1-2 จำนวน 10% และชดใช้สัญญาฉบับที่ 3-4 จำนวน 20% รวมชดใช้ 2,694 ล้านบาท
ส่วนกรณีที่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ และคำสั่งตั้งคณะกรรมการรับผิดทางละเมิด รวม 4 ฉบับนั้น ศาลเห็นว่า หนังสือทั้ง 4 ฉบับดังกล่าวมิได้มีผลกระทบโดยตรงต่อผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 และไม่ใช่คำสั่งทางปกครอง ที่จะมีผลกระทบ จึงพิพากษาเพิกถอนเฉพาะคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่ 453/59 ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 ในส่วนของผู้ฟ้องคดีที่ 3 ที่ให้ชดใช้ 20% จากมูลค่าความเสียหาย ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1, 2, 4, 5 ส่วนคำร้องอื่นนอกเหนือจากนี้ให้ยก”
คือสาระสำคัญในคำพิพากษาของศาลปกครองกลาง คดีระหว่างนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ นายทิฆัมพร นาทวรทัต อดีต ผอ.สำนักบริหารการค้าข้าว กรมการค้าต่างประเทศ และอดีตผู้ช่วยเลขานุการในคณะทำงานอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว นายอัฐฐิติพงศ์ หรือ อัครพงศ์ ทีปวัชระ หรือช่วยเกลี้ยง อดีตเลขานุการกรมการค้าต่างประเทศ นายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ และนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พานิชย์ เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 โดยมีนายกรัฐมนตรี รมว.พาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง เป็นผู้ถูกฟ้องที่ 1-4 กรณีขอให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ ที่สั่งให้ทั้งหมดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนกรณีกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการทุจริตโครงการรับจำนำ และโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)
สรุปให้เข้าใจง่ายคือ ศาลปกครองกลางยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1, 2, 4, 5 และให้แก้ไขจำนวนเงินของผู้ฟ้องคดีที่ 3 แต่ยืนยันว่าทั้งหมดต้องชดใช้ค่าเสียหายในโครงการระบายข้าวจีทูจี วงเงินรวมกว่า 2 หมื่นล้านบาทอยู่ดี (อ่านประกอบ : ศาล ปค.พิพากษายันชดใช้ค่าข้าวจีทูจี 2 หมื่นล.! ‘บุญทรง’ 1,768 ล.-‘ภูมิ’ 2,242 ล.)
อย่างไรก็ดีในคำพิพากษาฉบับเต็มของศาลปกครองกลางดังกล่าว เผยแพร่เมื่อวันที่ 29 มี.ค. 2564 พบว่า ฝ่ายผู้ฟ้องคดี (ฝ่ายนายมนัส กับพวก) มีข้อโต้แย้งถึงศาลที่น่าสนใจหลายประเด็น และศาลให้เหตุผลตอบกลับไปน่าสนใจเช่นกัน
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สรุปให้สาธารณชนรับทราบ ดังนี้
หนึ่ง ประเด็นอายุคาม
ศาลเห็นว่า ก่อนมีคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 รวมถึง พ.ต.นพ.วีระวุฒิ วัจนะพุกกะ (หมอโด่ง อดีตเลขานุการ รมว.พาณิชย์ ปัจจุบันหลบหนีหมายจับศาลฎีกาฯ) กระทรวงพาณิชย์ มีหนังสือหารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นอายุความการใช้สิทธิเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 และประเด็นผู้มีอำนาจร่วมกันออกคำสั่งเรียกให้ชำระเงิน ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว หลังจากคณะกรรมการกฤษฎีกาตอบข้อหารือแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือลับ ที่ พณ 0302.3/207 ลงวันที่ 9 ก.ค. 2559 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผ่านรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เห็นชอบและเกษียณสั่งในหนังสือดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2559 ว่า “มอบให้ รมว.พาณิชย์ ลงนามแทน”
กรมการค้าต่างประเทศ มีหนังสือบันทึกลับ ที่ พณ 0302.3/196 ลงวันที่ 29 ก.ค. 2559 ถึงผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพื่อให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เห็นชอบ และลงนามคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ และหนังสือแจ้งคำสั่งกระทรวงพาณิชย์ถึงผู้ต้องชระค่าสินไหมทดแทนทั้ง 6 ราย โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 สั่งให้หารือ ก.พ.ร. เรื่องการมอบอำนาจในคำสั่งชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยสำนักงาน ก.พ.ร. มีหนังสือลับ ที่ นร 1206/234 ลงวันที่ 15 ก.ย. 2559 ตอบข้อหารือว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้วินิจฉัยไว้ในเรื่องเสร็จที่ 852/2559 และนายกรัฐมนตรี มอบหมายอำนาจให้ รมว.พาณิชย์ ลงนามคำสั่งเรียกให้ชำระเงินตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดฯ แทนนายกรัฐมนตรีแล้ว
หาก รมว.พาณิชย์ มอบอำนาจของตนในการลงนามในคำสั่งเรียกให้ชำระเงินตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิดฯ ให้แก่ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดฯย่อมมีอำนาจลงนามปฏิบัติราชการแทน รมว.พาณิชย์ ร่วมกับ รมว.พาณิชย์ ที่ลงนามปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้ และคำสั่งดังกล่าวมีผลผูกพันทางกฎหมาย และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่ง 56/2559 ลงวันที่ 13 ก.ย. 2559 ในข้อ 2 กำหนดว่า เมื่อมีคำสั่งทางปกครองของหน่วยงานรัฐ หรือมีคำสั่ง หรือคำพิพากษาของศาลแล้วแต่กรณี ให้มีการบังคับทางปกครองต่อผู้ต้องรับผิดตามโครงการรับจำนำข้าว ให้กรมบังคับคดีมีอำนาจหน้าที่ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เพื่อบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งหรือคำพิพากษาดังกล่าว
กระทรวงพาณิชย์ จึงมีคำสั่งลับที่ 453/2559 เรื่อง ให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 พร้อมมีหนังสือแจ้งคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนถึงผู้ต้องรับผิดชอบทั้ง 6 ราย (ผู้ฟ้องคดี 5 ราย และ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ 1 ราย) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 (ปลัดกระทรวงพาณิชย์) เป็นผู้ลงนามในหนังสือแจ้งคำสั่งลงวันที่ 19 ก.ย. 2559 เมื่อครบกำหนด 30 วัน ผู้ฟ้องคดีทั้ง 5 รายไม่นำเงินมาชำระ กระทรวงพาณิชย์มีหนังสือลงวันที่ 2 พ.ย. 2559 และลงวันที่ 15 พ.ย. 2559 เตือนให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน โดยหนังสือเตือนลงนามโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (รมว.พาณิชย์) และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 เพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตาม มาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และมีหนังสือลงวันที่ 22 พ.ย. 2559 และลงวันที่ 6 ธ.ค. 2559 แจ้งกรมบังคับคดี ให้ดำเนินการตามคำสั่ง คสช. ที่ 56/2559
สอง กรณีอ้างว่า กรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดไม่ไปเผชิญสืบ
ศาลเห็นว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดไม่ไปเผชิญสืบ พยานหลักฐานในการพิสูจน์ถูกผิดของผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 ไม่ได้อยู่ที่คลังสินค้าเก็บรักษาข้าว แต่อยู่ที่ข้อเท็จจริงในการปฏิบัติหน้าที่การทำสัญญาขายข้าวแบบจีทูจี และคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้โอกาสแก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 ชี้แจงข้อเท็จจริงและโต้แย้งแสดงพยานหลักฐานอย่างเพียงพอและเป็นธรรมแล้ว
สาม กรณีอ้างว่า คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด ซ้ำซ้อนกับคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณข้าวและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐนั้น
ศาลเห็นว่า คณะกรรมการสอบข้อข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดมีวัตถุประสงค์เพื่อหาผู้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่หน่วยงานรัฐที่ได้รับความเสียหาย ส่วนคณะอนุกรรมการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐตามคำสั่ง คสช. ที่ 177/2557 มีหน้าที่ตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ คณะกรรมการทั้ง 2 คณะมีอำนาจหน้าที่และวัตถุประสงค์แตกต่างกัน
สี่ กรณีอ้าง ว่า คณะกรรมการนโยบายและบริการจัดการข้าว (นบข.) โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เร่งรัดคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้ตั้งเรื่องเรียกค่าเสียหายโดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นยุติธรรมนั้น
ศาลเห็นว่า ในรายงานประชุม นบข. ครั้งที่ 3/2558 เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2558 ไม่ปรากฏข้อความตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้าง แต่ประชุมพิจารณาให้ปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. และตามกระบวนการยุติธรรม เน้นกระบวนการหาข้อเท็จจริง ส่วนข้อกฎหมายเป็นเรื่องที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้พิจารณา มิได้ให้ดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงความยุติธรรม
ห้า กรณีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 วินิจฉัยสั่งการเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิด โดยไม่ได้มีการวินิจฉัยสั่งการว่า ผู้ฟ้องคดีแต่ละคนต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคนละเท่าใด เป็นการวินิจฉัยสั่งการโดยผิดกฎหมายนั้น
ศาลเห็นว่า การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 วินิจฉัยสั่งการว่า “เห็นชอบ” ถือเป็นการเห็นชอบตามที่คณะกรรมการดังกล่าวมีผลการพิจารณาทั้งในตัวผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทน และที่อ้างว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งนั้น ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 21 กำหนดให้คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ประกอบด้วย อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน และผู้แทนกระทรวงการคลัง ตามจำนวนที่จำเป็นร่วมเป็นกรรมการ กำหนดองค์ประกอบไว้แล้ว ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 จึงไม่จำต้องมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งอีก
กรณีพิพาทนี้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 เห็นชอบตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง พร้อมทั้งแจ้งผลพิจารณาดังกล่าวไปยังผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เพื่อดำเนินการต่อไป
หก กรณีอ้างว่าความเสียหายเกิดจาก พ.ต.นพ.วีระวุฒิ และ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ (อดีต ผอ.อคส. เสียชีวิตแล้ว) นั้น
ศาลเห็นว่า คำสั่งพิพาทได้เรียกให้ พ.ต.นพ.วีระวุฒิ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนด้วยแล้ว ส่วน พ.ต.ต.ศราวุฒิ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่ได้ชี้มูลความผิด จึงไม่ได้มีการสอบสวน และบุคคลดังกล่าวเสียชีวิตแล้ว
เจ็ด กรณีอ้างว่า คณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณหามูลค่าข้าวที่เสียหาย โดยใช้ราคาที่ตกลงขายตามสัญญานั้น ราคาดังกล่าวกำหนดโดยผู้มีอำนาจระดับรัฐมนตรี ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของฝ่ายข้าราชการประจำนั้น
ศาลเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 ทราบเป็นอย่างดีว่า การซื้อขายในคดีนี้ ไม่ใช่เป็นการซื้อขายแบบจีทูจี จึงไม่อาจเสนอราคาขายในราคามิตรภาพได้ อีกทั้งหากผู้ฟ้องคดีที่ 1 เสนอไปเพียงราคาเดียว ฝ่ายการเมืองย่อมจะไม่สามารถเลือกในราคาที่ต่ำได้ การเสนอ 2 ราคาเช่นนี้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นการดำเนินการลักษณะจงใจร่วมกันกระทำละเมิดโดยการแบ่งงาน และหน้าที่กันทำ ร่วมกับผู้มีอำนาจในระดับรัฐมนตรี
แปด กรณีอ้างว่า น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะอนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าว แจ้งเหตุแห่งละเมิดให้ปลัดกระทรวงการคลังทราบ เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2556 และในวันเดียวกันได้แจ้งในที่ประชุมให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ทราบเหตุแห่งละเมิดแล้ว เมื่อกระทรวงพาณิชย์มิได้เรียกร้องภายในวันที่ 29 ก.พ. 2558 จึงขาดอายุความนั้น
ศาลเห็นว่า อนุกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวเพียงคนหนึ่งได้แสดงความเห็นส่วนตัวของตนเกี่ยวกับผลของการขาดทุนของโครงการรับจำนำข้าวในที่ประชุมให้ผู้เข้าประชุมทุกคนได้รับทราบเป็นการทั่วไป เป็นเพียงขั้นตอนการดำเนินการรวบรวมข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานผลของการขาดทุนกับสินค้าคงเหลือของโครงการรับจำนำข้าวเท่านั้น ยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามีผู้ใดกระทำละเมิด รวมทั้งอนุกรรมการปิดบัญชี ไม่มีอำนาจหน้าที่จะวินิจฉัยเป็นที่ยุติว่า ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 เป็นผู้กระทำละเมิดในโครงการรับจำนำข้าว และพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดของผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 กับพวก และแจ้งไปยังหัวหน้าหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้แทนนิติบุคคลโดยตรง เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2558 จึงถือได้ว่า กระทรวงพาณิชย์รับรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎนับแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับรายงานมติคณะกรรมการ ป.ป.ช. อายุความ 2 ปี จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2558
ส่วนการลงนามในคำสั่งพิพาทผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 ในฐานะปฏิบัติราชการแทนผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นไปตามแนวทางของหนังสือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ลับ ด่วนที่สุด ที่ นร 0913/3 ลงวันที่ 28 มิ.ย. 852/2559 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1-2 มีอำนาจร่วมกันออกคำสั่งเรียกให้ชำระเงินตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดฯ โดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มอบอำนาจเป็นหนังสือให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นผู้ลงนามในคำสั่งแทน ตามหนังสือกระทรวงพาณิชย์ ลับ ที่ พณ 0302.3/207 ลงวันที่ 6 ก.ค. 2559 และหนังสือลงวันที่ 15 ก.ย. 2559
เก้า กรณีอ้างว่ารัฐวิสาหกิจจีน สามารถมอบอำนาจให้คนไทยเป็นผู้รับมอบอำนาจและชำระราคาเป็นเงินบาทได้นั้น
ศาลเห็นว่า เป็นเรื่องการซื้อขายมันสำปะหลัง ที่มีเงื่อนไขและระเบียบกฎหมายแตกต่างจากการซื้อขายข้าวในคดีนี้ โดยผู้รับมอบอำนาจต้องมีสถานะเป็นนิติบุคคล และต้องมีหลักฐานแสดงความสัมพันธ์และเชื่อมโยงระหว่างบริษัทผู้ซื้อและนิติบุคคลผู้รับมอบอำนาจว่า นิติบุคคลผู้รับมอบอำนาจเป็นรัฐวิสาหกิจเหมือนกันด้วย ผู้รับมอบอำนาจไม่สามารถเป็นบุคคลธรรมดาได้
แต่คดีนี้ปรากฏว่า มีการมอบอำนาจให้นายสมคิด เอื้อนสุภา นายลิตร พอใจ และนายรัฐนิธ โสจิรกุล เป็นบุคคลธรรมดา มิใช่นิติบุคคลที่เป็นรัฐวิสาหกิจของจีน และมีความสัมพันธ์กับบริษัทผู้ซื้อข้าวทั้ง 2 การกระทำละเมิดของผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 กับพวก มิใช่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ราชการตามปกติ แต่เกิดจากการวางแผนกันไว้ล่วงหน้าเพื่อเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เพื่อตนเองหรือผู้อื่น ซื้อข้าวจากสต็อกของรัฐในราคาถูกโดยอ้างว่าเป็นการขายให้รัฐบาลจีน เพื่อหลีกเลี่ยงการประมูล แล้วนำข้าวไปหมุนเวียนภายในประเทศ หากกำไรโดยไม่มีการส่งออกข้าวไปต่างประเทศ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่งบประมาณของประเทศอย่างมหาศาล
การออกคำสั่งพิพาทให้ผู้ฟ้องคดีที่ 1-3 กับพวก ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจึงชอบด้วยรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ ไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม หรือมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอน โดยไม่จำเป็น หรือสร้างภาระเกินสมควร อีกทั้งชอบด้วยระเบียบและกฎหมายแล้ว
นี่คือข้อโต้แย้ง-คำตอบสำคัญ ๆ ในระหว่างบรรทัดของคำพิพากษาศาลปกครองกลาง ที่เน้นย้ำว่ามีกระบวนการทุจริตในโครงการระบายข้าวจีทูจี ส่งผลให้ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 1-5 และชี้ขาดให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายดังกล่าวกว่า 2 หมื่นล้านบาท
ส่วนประเด็นการคิดคำนวณค่าเสียหายเป็นอย่างไร สำนักข่าวอิศราจะนำมาเสนอในคราวถัดไป
หมายเหตุ : ภาพประกอบนายบุญทรง จาก https://static.thairath.co.th/
อ่านประกอบ :
29 มี.ค.ศาล ปค.นัดพิพากษา ‘บุญทรง-ภูมิ’ชดใช้ข้าวจีทูจี-2 เม.ย.ตัดสินคดี'ยิ่งลักษณ์'
รอเคาะวันพิพากษา! คดีชดใช้ค่าเสียหายข้าว‘ยิ่งลักษณ์’ศาล ปค.แสวงข้อเท็จจริงยุติแล้ว
ศาลปค.ยกคำร้อง ‘ยิ่งลักษณ์’ ยื่นครั้งที่ 2 ขอทุเลาบังคับคดีจำนำข้าว
ตามรอย‘ภูมิ-บุญทรง’!ศาลปค.ยกคำร้อง ‘ปู’ขอทุเลาอายัดทรัพย์คดีจำนำข้าว
‘ภูมิ-บุญทรง’แห้ว!ศาล ปค.ไม่คุ้มครองปมอาจถูกอายัดทรัพย์ชดใช้คดีจีทูจี 2 หมื่นล.
ชั่วชีวิตใช้ไม่หมด! ‘ปู’ขอศาลคุ้มครองชั่วคราวปมอายัดทรัพย์คดีข้าว 3.5 หมื่นล.
โชว์ชัดค่าเสียหายจำนำข้าว 1.7 แสนล. 'ปู'จ่ายแค่ 20%-วิจารณ์ขรมคำนวณผิด?
ชาติเสียหาย5แสนล.! สตง.ชง บิ๊กตู่ ค้าน คลัง คิดค่าเสียหายจำนำข้าว 'ปู' แค่ 20 %
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่https://www.facebook.com/isranewsfanpage