“...ตัวเลขประชากรลดไปมากถึงเกือบ 4 แสนราย ไม่ได้หมายความว่าประชากรไทยจะลดลงหรือหายไป 4 แสนราย แต่เป็นเพียงรายชื่อในระบบทะเบียนกลางที่หายไป อีกทั้งอัตราการเกิดยังมีมากกว่าอัตราการเสียชีวิต จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำนวนประชากรในขณะนี้จะลดลง...”
.............................................
เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบ!
กรณีราชกิจจานุเบกษา แพร่ประกาศสำนักทะเบียนกลาง เรื่อง จำนวนราษฎรทั่วราชอาณาจักร ตามหลักฐานการทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธ.ค.2563 ที่พบว่ามีประชากรไทยมีจำนวนทั้งสิ้น 66,186,727 ราย แบ่งเป็น สัญชาติไทย 64,228,120 ราย ประกอบด้วย ชาย 31,874,308 ราย หญิง 33,353,812 ราย
โดยประชากรหญิงสัญชาติไทยมากกว่าชายสัญชาติไทย 1,479,504 ราย และไม่ใช่สัญชาติไทย 958,607 ราย ประกอบด้วย ชาย 501,224 ราย หญิง 457,383 ราย
ส่วนจำนวนประชากรสูงสุด 10 อันดับแรก คือ กทม. 5,588,222 ราย นครราชสีมา 2,633,207 ราย อุบลราชธานี 1,866,697 ราย ขอนแก่น 1,794,531 ราย เชียงใหม่ 1,784,370 ราย บุรีรัมย์ 1,581,184 ราย อุดรธานี 1,567,983 ราย ชลบุรี 1,566,885 ราย นครศรีธรรมราช 1,550,721 ราย ศรีสะเกษ 1,458,580 ราย และจังหวัดที่มีประชากรน้อยที่สุด คือ สมุทรสงคราม 192,052 ราย
และเป็นเรื่องที่น่าสนใจว่า เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลประชากรไทยปี 2562 ที่มีจำนวนรวม 66,558,935 ราย พบว่าตัวเลขปี 2563 ประชากรไทยมีจำนวนลดลง 372,208 ราย
ทั้งนี้ เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) สืบค้นข้อมูลย้อนหลังในห้วงหลายปีที่ผ่านมา ยิ่งพบว่า การลดลงของจำนวนประชากรครั้งสุดท้าย เกิดขึ้นในปี 2547 และเพิ่งมาเกิดอีกครั้งในปี 2563
ข้อมูลจำนวนประชากรจาก ประกาศสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง ตั้งแต่ปี 2546-2563
@ประชากรลดเพราะสำนักบริหารการทะเบียนเคลียร์ข้อมูล
เพื่อหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ สำนักข่าวอิศรา สอบถามข้อมูลจาก สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง พบว่า เหตุผลที่ จำนวนประชากรไทยที่ลดลงในปี 2563 เนื่องจากสำนักทะเบียนกลางได้ทำการตรวจสอบ ปรับปรุงข้อมูลทะเบียนราษฎร โดยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจำหน่ายหรือยกเลิกข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ดังนี้
1.บุคคลที่อยู่ในทะเบียนบ้านกลางติดต่อกันเกินกว่า 10 ปี โดยไม่มีการเคลื่อนไหวทางทะเบียน จำนวนประมาณ 464,780 ราย
2.บุคคลที่แจ้งย้ายออกจากทะเบียนบ้านเป็นเวลาเกินกว่า 30 วัน โดยไม่ได้แจ้งย้ายเข้าทะเบียนบ้านใด จำนวนประมาณ 116,759 ราย
เจ้าหน้าที่ สำนักทะเบียนกลาง แจ้งด้วยว่า การจัดระเบียบ จำหน่าย หรือสะสางรายชื่อบุคคลที่ไม่มีความเคลื่อนไหวหรือค้างอยู่ในทะเบียนบ้านนั้น ปกติจะทำเป็นประจำแทบทุกเดือน โดยแยกเป็นรายชื่อบุคคลที่ไม่มีการคเลื่อนไหวไว้ แต่การจำหน่าย สะสางหรือยกเลิกข้อมูลรายบุคคลนั้น จำเป็นจะต้องได้รับหนังสือสั่งมาก่อน และที่ผ่านมาเคยมีโครงการจัดระเบียบสะสางข้อมูลมาแล้วอย่างน้อย 3 ครั้ง คือ ปี 2547 ปี 2559 และ ปี 2563
โดยเฉพาะในปี 2563 มีโครงการมาแล้ว 2 ครั้ง จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขประชากรลดลงมากถึงเกือบ 4 แสนราย
@อัตราการเกิดยังมากกว่าเสียชีวิต
ด้าน ศ.ดร.ปราโมทย์ ประสาทกุล ที่ปรึกษาอาวุโส สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่า แม้ว่าจำนวนประชากรปี 2563 ลดลงไปเกือบ 4 แสนรายนั้นจะเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างมาก แต่ไม่ใช่ตัวเลขที่น่าตกใจเสียทีเดียว เนื่องจากเป็นการสะสางข้อมูลของระบบทะเบียนกลางที่มีการจัดระเบียบรายชื่อบุคคลที่ไม่มีการเคลื่อนไหว ไม่ทราบสถานภาพ หรืออาจจะเสียชีวิตแต่ยังมีชื่ออยู่ออก โดยเห็นได้จากเวลามีการเลือกตั้ง บางครั้งจะมีผู้ที่เสียชีวิตมีสิทธิเลือกตั้งด้วย แสดงให้เห็นถึงความผิดพลาดในการจัดการทะเบียน ดังนั้นการจัดระเบียบข้อมูลทะเบียนนั้น จึงเป็นผลดีที่จะทำให้ข้อมูลถูกต้องและตรงกับความเป็นจริงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการจัดการข้อมูลเพื่อป้องกันการสวมสิทธิอีกด้วย โดยปรากฎการณ์นี้เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 2547 ที่ตัวเลขประชากรลดลงมากถึงล้านกว่ารายจากการสะสางรายชื่อที่ค้างอยู่
“การที่ตัวเลขประชากรลดไปมากถึงเกือบ 4 แสนราย ไม่ได้หมายความว่าประชากรไทยจะลดลงหรือหายไป 4 แสนราย แต่เป็นเพียงรายชื่อในระบบทะเบียนกลางเท่านั้นที่หายไป อีกทั้งอัตราการเกิดยังมีมากกว่าอัตราการเสียชีวิต จึงเป็นไปไม่ได้ที่จำนวนประชากรในขณะนี้จะลดลง” ศ.ดร.ปราโมทย์ กล่าว
@อนาคตไทยแนวโน้มประชากรลด เหตุเกิดน้อย-ผู้สูงอายุมาก
ขณะที่ ศ.ดร.ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ อาจารย์สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ตามหลักวิชาการ ความเป็นไปได้ที่ประชากรจะลดลง แบ่งเป็น อัตราการเสียชีวิตมีมากกว่าอัตราการเกิด หรือ กรณีที่มีการย้ายถิ่นฐานถาวรและอัตราการเสียชีวิต รวมกันแล้วมีมากกว่าอัตราการเกิดของประชากร อย่างไรก็ตาม สาเหตุข้างต้นจะทำให้ปรากฏตัวเลขประชากรค่อยๆลดลง ไม่ใช่เป็นการลดลงอย่างรวดเร็วในปริมาณมากๆ
“ปรากฎการณ์ครั้งนี้ไม่ใช่การลดลงของตัวเลขที่เป็นปรกติที่เป็นการค่อยๆ ลดจำนวนลงจากสาเหตุตามหลักวิชาการ แต่เป็นการลดลงจำนวนมาก ที่เกิดจากการจัดระเบียบข้อมูลในระบบ สะสางบัญชีรายชื่อบุคคลที่ค้างในระบบมานาน หรือไม่มีการเคลื่อนไหว จึงไม่ใช่เรื่องที่ต้องน่าตกใจแต่อย่างใด” ศ.ดร.ปัทมา กล่าว
ศ.ดร.ปัทมา กล่าวย้ำว่า ทั้งนี้ในประเทศไทยที่มีแนวโน้มการลดลงของประชากร เนื่องจากมีอัตราการเกิดที่น้อยลง และมีประชากรผู้สูงอายุที่มีมากขึ้น ซึ่งยังเป็นเรื่องที่ต้องร่วมกันถกเถียงและวางแผนรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวต่อไป
ซึ่งการรับมือกับสังคมผู้สูงอายุของไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามการวางแผนจากทุกภาคส่วนอย่างใกล้ชิด
ภาพประกอบจาก: ไทยรัฐ
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage