"...ที่ผ่านมา กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่การคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา ตลอดจนการเลือกขั้นตอนสุดท้าย แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานของ กมธ.วุฒิสภา ที่ส่งให้ ครม.พิจารณาในครั้งนี้ กลับไม่พูดถึงกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด..."
.............................................................................
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 มี.ค. ที่ประชุมรับทราบผลการพิจารณารายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง การถอดบทเรียนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561
โดย สำนักเลขาธิการวุฒิสภา ได้เสนอรายงานฉบับนี้ ที่จัดทำโดย คณะกรรมาธิการกิจการ (กมธ.) องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา มาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาตามกระบวนการทั่วไป ทั้งนี้ระบุว่า กมธ.ได้มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะต่อประเด็นปัญหาในการดำเนินการเลือก ส.ว. 4 ประเด็น ดังนี้
1.ประเด็นการได้มาซึ่ง ส.ว. ควรแก้ไขเพิ่มเติม รธน. พ.ศ.2560 มาตรา 108 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ.2561 มาตรา 13 โดยเพิ่มเติมคุณสมบัติของผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา
2.ประเด็นกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว. ควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 มาตรา 15 เพิ่มเติมวิธีการสมัครสมาชิกวุฒิสภาให้มีความหลากหลาย รวมทั้งผ่านองค์กรวิชาชีพ
3.ประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการสมัคร ควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 มาตรา 77 และมาตรา 36 เพิ่มช่องทางอื่น เพื่อแนะนำตัวผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา
4.ประเด็นการบริหารจัดการควรแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561 มาตรา 18 ให้คณะกรรมกากรการเลือกตั้งสามารถเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและประชาสัมพันธ์การดำเนินการเลือกสมาชิกวุฒิสภาได้
ซึ่งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ผู้ปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้วมีคำสั่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) รับรายงานพร้อมทั้งข้อสงัเกตและข้อเสนอเสนอแนะของ กมธ.ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงมหาดไทย และได้สรุปความเห็นในภาพรวม ดังนี้
1.การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ว.ตามมาตรา 108 ควรเป็นบุคคลที่มีพื้นฐานการศึกษาและความรู้ในทางปฏิบัติและเชิงวิชาการเป็นอย่างดี
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัคร ควรเป็นไปตามความมุ่งหมายของ รธน.ที่ให้ ส.ว.เป็นผู้แทนที่มาจากประชาชนอย่าแท้จริง จึงมิได้กำหนดคุณวุฒิด้านการศึกษา โดยกำหนดคุณสมบัติเพียงแค่มี ‘ความรู้’ ซึ่งมิได้หมายความถึงความรู้ที่จะวัดกันด้วยประกาศนียบัตรหรือปริญญาทั้งปวง แต่หมายถึงความรู้ที่บุคคลมีอยู่จริงในด้านต่างๆ
2.กระบวนการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า วิธีการสมัครตามมาตรา 15 ควรแก้ไขเพิ่มเติมวิธีการสมัคร ส.ว.ให้มีความหลากหลายเพื่อให้ได้ ส.ว.ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ
สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นด้วยกับความเห็นของ กมธ. โดยกระทรวงมหาดไทย เห็นควรเพิ่มวิธีการสมัครให้มีความหลากหลายรวมทั้งผ่านองค์กรวิชาชีพเพื่อให้ได้ผู้สมัครที่มีอาชีพต่างๆ หลากหลายทางสังคม
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า การแบ่งกลุ่มตามความเชี่ยวชาญของผู้สมัคร ส.ว. ควรมีการพิจารณาถึงสัดส่วนในการสมัครของแต่ละกลุ่มด้วย
สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่า การกำหนดแบ่งกลุ่มควรกำหนดให้มีความหลากหลายกระจายไปในทุกกลุ่มของสังคม และกระทรวงมหาดไทยเห็นว่าควรกำหนดให้ผู้สมัครเลือกกลุ่มได้มากขึ้นโดยอาจกำหนดให้ตามกลุ่มอาชีพ
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า การเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ มีความสิ้นเปลืองงบประมาณ จึงอาจแก้ไข มาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญให้ยกเลิกการเลือกระดับอำเภอ
กระทรวงมหาดไทย และ กกต. เห็นด้วยกับความเห็นของ กมธ. โดยสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่ากระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.มีหลายขั้นตอน จึงอาจไม่คุ้มค่าในการได้มาซึ่ง ส.ว.ระดับอำเภอ
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า การกำหนดให้ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาแต่ละกลุ่ม ลงคะแนนเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกันได้ไม่เกิน 2 คน ทำให้ไม่เปิดโอกาสในการเลือกผู้สมัครที่มีคุณวุฒิที่เหมาะสม จึงควรแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 41 และ มาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2561
กกต. เห็นด้วยกับความเห็นของ กมธ. โดยกระทรวงมหาดไทย เห็นว่ากระบวนการในการคัดเลือกมีขั้นตอนมาก มีผู้สมัครจำนวนน้อย โอกาสที่จะได้รับการเลือกเป็นไปได้ยาก
3.ปัญหาและอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการสมัคร
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า ควรแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ว. พ.ศ.2561 ข้อ 57 โดยเพิ่มเติมรายละเอียดในข้อมูลแนะนำตัวขจองผู้สมัคร (ส.ว.18) ให้มากยิ่งขึ้น เช่น ผลงานซึ่งเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่สมัคร และวิสัยทัศน์ เป็นต้น
กกต.เห็นควรแก้ไขตามแนวทางของผลการศึกษาวิจัยและการถอดบทเรียน ส่วนกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ควรเพิ่มเติมรายละเอียดในข้อมูลแนะนำตัว เช่น ผลงานที่ผ่านมา ประสบการณ์การทำงาน ผลการดำเนินงานที่ดำเนินการร่วมกับกลุ่มที่สมัครหรือผลงานที่ประสบความสำเร็จเป็นรูปธรรมและเป็นข้อมูลที่สามารถเข้าใจง่าย
4.การบริหารจัดการ
ข้อสังเกต-ข้อเสนอแนะ กมธ. เห็นว่า ควรปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติงานและกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้ตรวจการเลือกตั้งให้ชัดเจน รวมทั้งแนวทางการประสานงานกับ กกต.ประจำจังหวัด
กระทรวงมหาดไทย เห็นว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งควรกำหนดกรอบแนวทางการตรวจอย่างเข้มข้น ชัดเจน และหลากหลายวิธีตามบริบทของพื้นที่ ควรแต่งตั้งบุคคลในพื้นที่เนื่องจากทราบข้อมูลของผู้สมัครและคุ้นเคยกับพื้นที่ และเกิดความคล่องตัวในการประสานกับหน่วยงานในพื้นที่
กกต.เห็นว่า ความเห็นของ กมธ. และผลการศึกษาวิจัยและการถอดบทเรียนมีความสอดคล้องกัน เห็นควรแก้ไขตามนวทางของผลการศึกษาวิจัยและการถอดบทเรียน
(สรุปข่าวประชุม ครม.ซึ่งจัดทำโดยทำเนียบรัฐบาล)
ขณะที่ในภาพรวม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า รายงานฉบับนี้เป็นการเสนอให้มีการปรับปรุงประเด็นคุณสมบัติด้านการศึกษาและกระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ในระดับอำเภอ อย่างไรก็ดีขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติม รธน. จึงสามารถนำข้อเสนอดังกล่าวประกอบการพิจารณาได้
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ. 2561 และระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการเลือก ส.ว. พ.ศ.2561 สำนักงาน กกต.สามารถดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของ รธน. เมื่อมีการแก้ไขแล้วได้ จึงได้เสนอผลการพิจารณา มาเพื่อดำเนินการต่อไป
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมา กระบวนการได้มาซึ่ง ส.ว.ตามบทเฉพาะกาล แห่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้าง โดยเฉพาะการเข้ามามีบทบาทสำคัญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่การคัดเลือกคณะกรรมการสรรหา ตลอดจนการเลือกขั้นตอนสุดท้าย ล้วนแต่ดำเนินการโดย คสช. ทั้งสิ้น
ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่า รายงานของ กมธ.วุฒิสภา ที่ส่งให้ ครม.พิจารณาในครั้งนี้ กลับไม่พูดถึงกระบวนการที่ดำเนินการโดย คสช.แต่อย่างใด
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage