"...แม้ว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ แต่ ณ เวลานี้ทีมผู้พัฒนาวัคซีนก็กำลังดำเนินการเพื่อที่จะดัดแปลงวัคซีนให้สามารถรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ได้ดียิ่งขึ้น โดยคาดว่าวัคซีนที่ว่านั้นจะพร้อมในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือในช่วงเดือนกันยายนนี้ ..."
................
แม้ว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา จะมีข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด เมื่อทีมนักวิจัยของบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าที่ประเทศเยอรมนีและนอร์เวย์ ได้พบสาเหตุที่วัคซีนของบริษัทไปกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย จนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดในสมองในกลุ่มผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนบางราย พร้อมกับได้เปิดเผยถึงวิธีดารรักษาผลข้างเคียงดังกล่าว ซึ่งสามารถทำได้ที่โรงพยาบาลขนาดกลางขึ้นไป
ขณะที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO และหน่วยงานด้านกำกับดูแลยาของยุโรปหรือ EMA ได้ออกมารับรองความปลอดภัยของวัคซีนว่า อยู่เหนือความเสี่ยงจากผลข้างเคียงต่างๆ ส่งผลทำให้วัคซีนสามารถกลับมาแจกจ่ายในทวีปยุโรปได้อีกครั้งหนึ่ง
แต่ล่าสุด ก็มีข่าวที่น่ากังวลเพิ่มเติมเกี่ยวกับวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเพิ่มขึ้นมาอีก เมื่อมีรายงานว่าวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นไม่สามารถที่จะป้องกันไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์จากแฟริกาใต้ได้
โดยสำนักข่าว DW ของเยอรมนี ได้จัดทำรายงานข่าวสรุปทุกรายละเอียดเกี่ยวกับกรณีของวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าเอาไว้ มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
@วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพอย่างไร ต่อการรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้
ในกระบวนการทดลองกับกลุ่มบุคคลจำนวน 2,000 คน ในประเทศแอฟริกาใต้นั้น พบข้อมูลว่า วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าให้ภูมิคุ้มกันต่อผู้มีอาการป่วยเล็กน้อยถึงปานกลางจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ B.1.351 หรือที่รู้จักกันในชื่อว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ซึ่งกำลังเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดในประเทศแอฟริกาใต้
โดยในกระบวนการทดลองวัคซีนดังกล่าวนั้นไม่มีผู้ที่เสียชีวิต ไม่มีผู้ที่มีอาการป่วยหนัก หรือต้องเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิทวอเตอร์สแรนด์ในเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ออกมาระบุว่า ณ เวลานี้ยังไม่มีการประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนโควิด-19 ต่อผู้ที่จะมีอาการป่วยรุนแรงจากไวรัสโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.351 เนื่องจากกลุ่มผู้เข้าร่วมในกระบวนการทดลองนั้นเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่การวิจัยดังกล่าวยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทบทวนแต่อย่างใด
ขณะที่ WHO ได้ออกมาให้คำแนะนำว่าควรจะใช้วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้าต่อไป แม้ว่าจะมีสายพันธุ์ดังกล่าวปรากฏขึ้นมาในประเทศก็ตาม
“หลายๆประเทศควรที่จะมีการประเมินความเสี่ยงด้านผลประโยชน์ตามสถานการณ์ทางการระบาดวิทยา รวมไปถึงของเขตตัวแปรของสายพันธุ์ไวรัสที่กำลังเกิดขึ้น” WHO ระบุในคำแนะนำ
คำแนะนำของ WHO ยังระบุข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการว่า วัคซีนจากแอสตร้าเซนเนก้านั้นสามารถจะสร้างภูมิคุ้มกันต่อผู้ที่จะมีอาการป่วยโควิด-19 รุนแรงได้ และกระบวนการทดลองทางคลินิกรวมไปถึงการประเมินผลต่างๆที่กำลังเกิดขึ้นนั้นควรจะต้องแสดงให้เห็นถึงสิ่งนี้
ขณะที่บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ได้กล่าวว่าทางบริษัทยังเชื่อมั่นว่าจะวัคซีนนั้นมีศักยภาพและสามารถสร้างภูมิคุ้มกันต่อผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงได้
“กิจกรรมของแอนติบอดี(สารภูมิคุ้มกัน) ที่เกิดขึ้นหลังจากการฉีดวัคซีนนั้นมีความเทียบเท่ากับวัคซีนโควิด-19 ชนิดอื่นๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่าสามารถจะป้องกันอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงมากกว่านี้ได้ หลังจากที่มีการฉีดวัคซีนโดสที่ 2 เมื่อเวลาผ่านไปหลังจากการฉีดวัคซีนโดสแรกแล้วเป็นระยะเวลา 8-12 สัปดาห์” รายงานจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้าระบุ
โดยวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นจะยังคงให้ภูมิคุ้มกันบางประการกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ B.1.351 เพราะว่า แอนติบอดีที่ถูกสร้างขึ้นมาหลังการฉีดวัคซีนนั้นจะยังคงจดจำส่วนประกอบสำคัญของไวรัสและป้องกันไม่ให้ส่วนประกอบที่ว่านี้เข้าสู่ร่างกายของเราได้
ด้าน พญ.ซาราห์ พิตต์ ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยไบรตัน ประเทศอังกฤษ และสมาชิกสถาบันวิทยาศาสตร์เพื่อชีวการแพทย์ของประเทศอังกฤษ ได้ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว DW ว่า ไม่ได้หมายความว่าวัคซีนนั้นจะใช้การไม่ได้เลย แต่ว่ามันแค่ไม่ดีเท่ากับสายพันธุ์อื่นๆ
ขณะที่ นพ.เปยยอง ชิ ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยา มหาวิทยาลัยเท็กซัส ได้กล่าวว่าตัวแปรหนึ่งที่ต้องคิดถึงก็คือว่าสายพันธุ์ของไวรัสที่แต่ละบุคคลต้องเจอ และการที่แต่ละร่างกายจะสามารถผลิตภูมิคุ้มกันได้ดีแค่ไหนนั้น ทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบว่าวัคซีนจะให้ผลดีเท่าไรด้วยเช่นกัน เขาจึงเชื่อว่าการฉีดวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้วจะสามารถทำให้ผู้ที่ถูกฉีดไม่มีอาการรุนแรงอย่างแน่นอน
“เราจะได้รับภูมิคุ้มกันแน่นอนหลังจากการฉีดวัคซีน แม้ในบางครั้งเราก็อาจจะมีอาการป่วยเล็กน้อยตามมาได้ แต่ก็ถือว่าดีกว่าที่จะไม่ได้รับการฉีดวัคซีนเลย” นพ.ชิ กล่าว
@ทำไมวัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ถึงไม่มีประสิทธิภาพต่อไวรัสสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้
ไวรัสสายพันธุ์ B.1.351 (รู้จักกันในอีกชื่อว่าสายพันธุ์ 501Y.V2) นั้น มีกระบวนการกลายพันธุ์ในส่วนที่เรียกกันว่าโปรตีนหนาม ซึ่งเป็นอวัยวะของไวรัสในการเชื่อมต่อเข้าสู่เซลล์ของร่างกายมนุษย์ และทำให้เกิดการติดเชื้อ ซึ่งกระบวนกลายพันธุ์ที่นักวิทยาศาสตร์กำลังกังวลอยู่นั้นเรียกว่า E484K
ไวรัสโควิด-19 หลายๆชนิดที่ได้รับการอนุมัติการใช้งาน ณ เวลานี้นั้น เป็นกลไกทำให้ร่างกายสามารถผลิตสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดีเพื่อจะรับมือกับโปรตีนหนามของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ตอนนี้แอนติบอดีของร่างกายต้องรับมือกับตัวโปรตีนหนามที่ยังไม่รู้จักดีพอ
“รูปร่างของไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย แต่ว่าระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายกำลังตอบสนองโดยยึดอยู่กับสายพันธุ์ดั้งเดิม”นางพิตต์กล่าว
ไวรัสโควิดสายพันธุ์แอฟริกาใต้ (อ้างอิงวิดีโอจาก E NEWS TRENDS)
นี่จึงหมายความว่าไม่มีแอนติบอดีที่จะไปเกาะติดอยู่กับส่วนที่กลายพันธุ์ของโปรตีนหนามของวัคซีนและไวรัสจะยังคงยึดติดเข้ากับเซลล์ของมนุษย์ได้
แต่ว่าแอนติบอดีนั้นจะป้องกันไม่ให้ส่วนของไวรัสที่แอนติบอดีสามารถจดจำได้เข้าสู่ร่างกาย หรือหมายความว่าวัคซีนจะยังคงให้ภูมิคุ้มกันต่อไวรัสบางประการนั่นเอง
“ระดับของแอนติบอดีที่จำเป็นเพื่อป้องกันไวรัสโคโรน่านั้นยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้มีการกำหนดโดยชัดเจน จึงเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะต้องเน้นเอาไว้” นพ.ชิกล่าว
@บริษัทแอสตร้าเซนเนก้า กำลังจะทำอะไรต่อไป เพื่อรับมือกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้
พญ.ซาราห์ กิลเบิร์ต หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวบีบีซีว่า แม้ว่าวัคซีนจะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วยที่ร้ายแรงได้ แต่ ณ เวลานี้ทีมผู้พัฒนาวัคซีนก็กำลังดำเนินการเพื่อที่จะดัดแปลงวัคซีนให้สามารถรับมือกับไวรัสโควิดสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ได้ดียิ่งขึ้น
โดยคาดว่าวัคซีนที่ว่านั้นจะพร้อมในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือในช่วงเดือนกันยายนนี้
รายงานข่าวการพัฒนาวัคซีนเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์จากแอฟริกาใต้ (อ้างอิงวิดีโอจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก)
@ วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้ามีประสิทธิภาพอย่างไรกับไวรัสสายพันธุ์อื่นๆ
วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า ถูกพบว่ามีประสิทธิภาพอยู่ที่ 76 เปอร์เซ็นต์ เมื่อใช้สำหรับป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม และเมื่อฉีดในโดสที่ 2 ในระยะเวลา 12 สัปดาห์หลังจากโดสแรกแล้วประสิทธิภาพจะอยู่ที่ 82 เปอร์เซ็นต์ และยังพบว่าวัคซีนนั้นสามารถที่จะชะลอช่วงเวลาและปริมาณไวรัสที่จะเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งส่งผลทำให้ชะลอการแพร่กระจายของไวรัสตามไปด้วย
จากการศึกษายังพบด้วยว่า วัคซีนจากบริษัทแอสตร้าเซนเนก้านั้นมีประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์ B.1.1.7 หรือไวรัสสายพันธุ์ของประเทศอังกฤษในอัตราประสิทธิภาพเดียวกันกับไวรัสโควิดสายพันธุ์ดั้งเดิม
@ คุณควรจะรับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าไหม ถ้าหากมีการเสนอให้กับคุณ
WHO ได้ออกคำแนะนำว่าควรใช้วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้ากับบุคคลทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป แม้ว่าจะมีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ที่ว่าอยู่นี้ก็ตาม เพราะแม้ว่าจะเป็นเชื้อสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ก็ตาม แต่ว่าแอนติบอดีก็ยังจะจดจำส่วนสำคัญของไวรัสเอาไว้ ซึ่งจะสามารถนำไปสู่การสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง
WHO ยังได้แนะนำเพิ่มเติมสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวอันจะส่งผลทำให้ไวรัสโควิด-19 มีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก, ผู้ที่ป่วยด้วยอาการโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือว่ามีไวรัส HIV และผู้ที่ตั้งครรภ์เองก็ควรจะได้รับการฉีดวัคซีนเช่นเดียวกัน
ขณะที่ผู้ที่เคยป่วยด้วยอาการของโควิด-19 มาก่อนแล้ว ก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีนได้เช่นกัน
WHO ยังได้ย้ำว่ากลุ่มคนที่เคยติดโควิด-19 มานั้น ควรจะรอให้ถึง 6 เดือนหลังจากการติดเชื้อครั้งแรกก่อนถึงจะไปฉีดวัคซีน เพราะจะได้เป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความต้องการภูมิคุ้มกันอย่างเร่งด่วนเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนนั่นเอง
ส่วนผู้ที่มีประวัติการแพ้ส่วนประกอบใดๆของวัคซีนอย่างรุนแรงนั้นไม่ควรจะเข้ารับการฉีดวัคซีน
แต่ถึงกระนั้นแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนเองก็ยังจำเป็นที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการการเฝ้าระวังโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด อาทิ การเว้นระยะห่างทางสังคมและการล้างมืออย่างสม่ำเสมอด้วย
เรียบเรียงจาก:https://www.dw.com/en/what-you-need-to-know-about-astrazenecas-covid-19-vaccine/a-56537177
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage