"...ในอดีตการตั้งอยู่ของสะพานเหล็กก็มีข้อดี มันเป็นวัฎจักรของชีวิต มีคนพลุกพล่าน ค้าขายต่างๆ ซึ่งก็เป็นข้อดีอีกแบบ แต่หลังจาก กทม.เข้ามาปรับปรุง ดูแลบริเวณคลองโอ่งอ่าง ส่งผลดีมากขึ้น ทั้งด้านความสะอาด ความร่มรื่นต่างๆ น่าเดินเที่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดิมเป็นแค่การขายของอย่างเดียว แต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย..."
.........................................................
'คลองโอ่งอ่าง' เป็นส่วนหนึ่งของ 'คลองรอบกรุง' ที่เชื่อมต้นสายมาจากคลองบางลำพู คลองสะพานหัน คลองวัดเชิงเลน ก่อนมาถึงคลองโอ่งอ่างและเข้าสู่ปลายทางคือแม่น้ำเจ้าพระยา ถูกขุดขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ นับรวมแล้ว มีอายุถึง 238 ปี
'คลองรอบกรุง' มักมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปหลายชื่อ เช่นบริเวณวัดสังเวชวิทยาราม-สะพานผ่านฟ้าลีลาศช่วงปากคลองมหานาค ถูกเรียกในชื่อ 'คลองบางลำพู' แต่เมื่อผ่านสะพานหันก็ถูกเรียกว่า 'คลองสะพานหัน' เช่นเดียว 'คลองวัดเชิงเลน' ที่คนแถววัดเชิงเลนก็เรียกกันเช่นนี้ สำหรับ 'คลองโอ่งอ่าง' เป็นช่วงสุดท้ายของ 'คลองรอบกรุง' เคยเป็นแหล่งค้าขายเครื่องดินเผาของชาวมอญและชาวจีน
กระทั่งเมื่อปี 2525 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามมติคณะกรรมการโครงการกรุงรัตนโกสินทร์ ให้เปลี่ยนชื่อ 'คลองหลอด' เป็นคลองคูเมืองเดิม 'คลองบางลำพู-คลองโอ่งอ่าง' เป็นคลองรอบกรุง 'คลองวัดเทพธิดา' เป็น คลองหลอดวัดราชนัดดา 'คลองวัดราชบพิธ หรือ คลองสะพานถ่าน' เป็นคลองหลอดวัดราชบพิธ ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมเสนอ
หากย้อนกลับไปก่อนเดือน ต.ค.2558 หลายคนลืมไปแล้วว่า 'คลองโอ่งอ่าง' เป็นคลอง เพราะถูกแผ่นเหล็กพาดทับ และเป็นที่ตั้งของเหล่าร้านค้าของเล่น วิดีโอเกม ที่ติดกันมากกว่า 500 ร้าน จนเป็นที่รู้จักกันในชื่อ ‘สะพานเหล็ก’ เรื่องราวของคลองจึงถูกบดบังหายไปนานกว่า 40 ปี กระทั่ง กทม.จัดระเบียบปรับภูมิทัศน์ ทำให้ประวัติศาสตร์ของที่นี่เหมือนถูกชุบชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง
ต่อมา ธ.ค.2559 คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 329 ล้านบาทตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ เพื่อดำเนินการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่างจากบริเวณสะพานดำรงสถิตถึงบริเวณสะพานโอสถานนท์
@อดีตคลองที่ไม่เคยเห็นน้ำ มีแต่ร้านขายของเล่น
นายวีระศักดิ์ เตชจิรัฐกาล พ่อค้าขายของเล่นวัย 60 ปีเศษ เล่าว่า ก่อนที่จะปรับภูมิทัศน์จนกลายเป็น 'ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง' อย่างที่เห็นทุกวันนี้ เดิมทีบริเวณดังกล่าวเป็นตลาดกลางคืน มีร้านค้า ร้านอาหารขายริมสองฝั่งคลอง จนกระทั่งมีการยุบตลาดคลองถม ทำให้พ่อค้าขายย้ายมาขายของบริเวณนนี้ และมีการขยับขยายใช้เหล็กพานวางพาดผ่านคลอง เพื่อใช้เป็นเส้นทางสัญจร จนกลายเป็น ‘สะพานเหล็ก’ อย่างที่ทุกคนเคยรู้จัก
นายวีระศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในอดีตการตั้งอยู่ของสะพานเหล็กก็มีข้อดี มันเป็นวัฎจักรของชีวิต มีคนพลุกพล่าน ค้าขายต่างๆ ซึ่งก็เป็นข้อดีอีกแบบ แต่หลังจาก กทม.เข้ามาปรับปรุง ดูแลบริเวณคลองโอ่งอ่าง ส่งผลดีมากขึ้น ทั้งด้านความสะอาด ความร่มรื่นต่างๆ น่าเดินเที่ยวมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เดิมเป็นแค่การขายของอย่างเดียว แต่เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกด้วย
อาม่าขายเลโก้ หรือหญิงชรา วัยกว่า 80 ปี แม่ค้าขายของเล่น เล่าว่า ก่อนจะเป็นสะพานเหล็ก ชุมชนคนขายของเล่น-วีดีโอเกม คลองโอ่งอ่างก็เหมือนกับคลองทั่วไป ที่มีเด็กๆมาเล่นน้ำ มีต้นไม้อยู่สองฝั่งคลอง เวลากลางคืนมีคนมาขายอาหาร กระทั่งเริ่มมีคนนำของเล่น วีดีโอมาขาย ผลตอบรับดีมาก ทำให้เกิดการขยับขยายรุกล้ำเข้าไปในคลอง จำนวนคนเพิ่มมากขึ้นจนมองไม่เห็นคลองไปในที่สุด
อาม่า กล่าวว่า คลองโอ่งอ่างในปัจจุบัน เป็นทัศนียภาพที่ดี เป็นการปรับปรุงที่นอกจากจะสามารถขายของได้แล้ว ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยว ที่มีกิจกรรมต่างๆมากมายอีกด้วย ทำให้ขายของได้ดียิ่งขึ้นไปอีก
“ถ้าไม่มีโควิด คงขายดีถล่มทลาย นอกจากเป็นที่ขายของแล้ว ยังเป็นที่ท่องเที่ยว ได้เห็นว่ามีกิจกรรมต่างๆ บรรยากาศดี เป็นที่ให้คนถ่ายรูป มีพายเรืออีกด้วย ถ้าหมดโควิด ที่ตรงนี้จะที่ที่จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น” อาม่ากล่าว
@ภาพจำแห่งใหม่ในฐานะสถานที่ท่องเที่ยว
ป้าแก่น แม่ค้าขายน้ำ จากผู้ที่เคยมองเห็นภาพคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่สมัยตลาดกลางคืนขายอาหารสู่การเป็นแม่ค้าหน้าใหม่บนถนนคนเดิน กล่าวว่า 18 ปีก่อนเคยเดินทางมาที่นี่ สองข้างทางยังเป็นที่ขายอาหาร และมีน้ำไหลผ่านยาวไปจนถึงเจ้าพระยา ตนเคยแวะเวียนมาชิมบ่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไปจนมาพบว่าคลองโอ่งอ่างได้เปลี่ยนไปแล้ว เป็นแหล่งชุกชุมของร้านค้าของเล่น วีดีโอเกมต่างๆ แน่นจนมองไม่เห็นคลองอีกเลย
“เมื่อก่อนเคยมีชาวต่างชาติที่เป็นช่างภาพมาตามหาคลองโอ่งอ่าง แต่ด้วยความที่เขาไม่เห็นน้ำ เพราะเมื่อก่อนมีแต่ร้านค้าแน่นไปหมด เลยทำให้เขาไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ที่คลองโอ่งอ่างแล้ว” ป้าแก่นกล่าว
ป้าแก่น กล่าวต่อว่า หลังจากพื้นที่ตรงนี้ได้ถูกปรับปรุงเอาสะพานเหล็กออกและจัดระเบียบการขายของเสียใหม่ รู้สึกดีที่ได้เห็นพื้นที่ตรงนี้มีอากาศถ่ายเท ร่มรื่น น่าอยู่ ไม่ใช่มองไปมีแต่ห้องแถวทึบไปหมด เห็นที่ตรงนี้กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยว มาถ่ายรูปกับภาพวาด มาพายเรือ เดินมองคลองที่ถึงแม้ปัจจุบันจะยังไม่ใสสะอาด แต่ตนก็มีความสุขที่ได้เห็นภาพเหล่านี้ อีกทั้งสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่กระชับความสัมพันธ์ต่างๆ เช่น ลูกชวนพ่อแม่มาเดินเล่นถ่ายรูป กลุ่มเพื่อนๆ ชวนกันพายเรือ
@รางวัลระดับโลก ต้นแบบปรับภูมิทัศน์
ปี 2564 'คลองโอ่งอ่าง' กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง หลังจากปรับภูมิทัศน์ ฟื้นวิถีชีวิตชุมชน กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่กลางกรุง ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักระดับโลก ได้รับรางวัล 2020 Asian Townscape Awards จากโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat Fukuoka) เป็น 1 ใน 6 ประเทศ ที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น ต้นแบบการปรับปรุงภูมิทัศน์
เรื่องราวของ 'คลองโอ่งอ่าง' จึงถูกนำกลับมาพูดคุย ย้อนอดีตกันถึงวันวานตามไปด้วย ส่วนการปรับปรุงครั้งนี้จะประสบความสำเร็จได้ในระยะยาวหรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับการดูแลของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้คนที่อาศัยในพื้นที่บริเวณดังกล่าว รวมถึงนักท่องเที่ยว - พ่อค้า ที่ต้องร่วมด้วยช่วยกันดูแลกันต่อไป
(หมายเหตุ : ภาพหน้าปกจาก ถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง Ong Ang Walking Street)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage