"...อนุญาตให้จัดพิธีสรงน้ำพระ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา , จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้ ส่วนกิจกรรมที่ยังไม่อนุญาตให้จัด คือ กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ , งดจัดคอนเสิร์ต , งดกิจกรรมที่มีสัมผัสใกล้ชิด อาทิ งดประแป้ง งดเล่นปาร์ตี้โฟม..."
..................................................
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) เปิดเผยผลการประชุมประจำวันที่ 19 มี.ค.2564 ที่มีวาระสำคัญที่ต้องพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับการผ่อนปรนกิจกรรมในช่วงเทศกาลสงกรานต์ รวมถึงเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญอีกหลายประการ
ทั้งนี้ที่ประชุม ศบค.เห็นชอบขยายระยะเวลาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คราวที่ 11 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 พค รวมระยะเวลา 2 เดือน
เรื่องดังกล่าวจะสอดคล้องกับการผ่อนปรนมาตรการหลังจากนี้ที่จะแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. , ระยะที่ 2 ตั้งแต่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. และระยะที่ 3 ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป
@‘สงกรานต์’อนุญาตเดินทางข้ามจังหวัด ห้ามสาดน้ำ-ประแป้ง
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงการผ่อนปรนใช่วงเทศกาลสงกรานต์ อนุญาตให้จัดพิธีสรงน้ำพระ รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ ทางศาสนา , จัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และสามารถเดินทางข้ามจังหวัดได้
ส่วนกิจกรรมที่ยังไม่อนุญาตให้จัด คือ กิจกรรมรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ทั้งรวมกลุ่มเล่นสาดน้ำ , งดจัดคอนเสิร์ต , งดกิจกรรมที่มีสัมผัสใกล้ชิด อาทิ งดประแป้ง งดเล่นปาร์ตี้โฟม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้แสงดความห่วงใยด้วยว่ากรณีที่มีการจัดกิจกรรมที่มีการดื่มสุรานั้น แต่ขอให้ระมัดระวังไม่ให้ดื่มจนขาดสติ
@ ปรับพื้นที่ ‘สมุทรสาคร’ เหลือสีส้ม
ที่ประชุม ศบค.ผ่อนคลายมาตราการป้องกันโควิด ปรับพื้นที่ตามสถานการณ์ มีการเปลี่ยนแปลงเพียงปรับให้ ‘สมุทรสาคร’ จากพื้นที่ควบคุมสุงสุด หรือ สีแดง เปลี่ยนเป็นพื้นที่ควบคุม หรือ สีส้ม
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า การแบ่งพื้นที่โซนสีส้มและสีเหลืองแทบไม่มีความแตกต่างกัน เพราะสีส้มเปิดให้ทำทุกอย่างได้ถึง 23.00 น. ส่วนสีเหลืองเปิดได้ถึง 24.00 น. ส่วนพื้นที่สีส้ม ยังขอความร่วมมือเรื่องกิจกรรมการรวมกลุ่มกันเกิน 300 คนที่ยังต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดไปก่อน
“เรายังเห็นการติดเชื้อตัวเลข 3 หลักกันอยู่เนืองๆ เรื่องปรับระดับสีเป็นเรื่องที่ต้องคิดมากต้องคิดกันหลายชั้น เพราะการผ่อนคลายกิจการกิจกรรมอาจนำมาซึ่งความสุ่มเสี่ยง” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
สำหรับการกำหนดพื้นที่สถานการณ์ มีรายละเอียด ดังนี้
พื้นที่ควบคุม - สีส้ม 9 จังหวัด คือ สมุทรสาคร กทม. นนทบุรี ปทุมธานี ราชบุรี สมทุรสงคราม ตาก นครปฐม และสมุทรปราการ
พื้นที่เฝ้าระวังสูง - สีเหลือง 14 จังหวัด คือ กาญจนบุรี สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ระนอง ชลบุรี ระยอง ชุมพร สงขลา ยะลา นราธิวาส
พื้นที่เฝ้าระวัง - สีเขียว 54 จังหวัด กำแพงเพชร ชัยนาท นครราชสีมา นครสวรรค์ บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา เพชรบูรณ์ สุโขทัย สุราษฎร์ธานี อุทัยธานี กระบี่ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง นครพนม ชัยภูมิ นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปัตตานี พะเยา พัทลุง พิจิตร พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยโสธร ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี อ่างทอง สระแก้ว จันทบุรี สิงห์บุรี ตราด ปราจีนบุรี ลพบุรี
อย่างไรก็ตามมีแนวโน้มที่ระยะที่ 2 หรือตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป ทุกจังหวัดของไทยจะอยู่ในระดับสถานการณ์ปกติและให้ปฏิตัวตามชีวิตวิถีใหม่
@เตรียมเปลี่ยนรูปแบบการกักตัว Quarantine
การปรับรูปแบบสถานที่กักตัว ยังคงปฏิบัติตามเดิมในระยะแรก หรือช่วงวันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. แต่หลังจากวันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไปซึ่งเข้าสู่ระยะที่ 2 จะมีการปรับลดสถานที่กักตัวบางส่วน เพื่อไม่ให้เป็นภาระค่าใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน
ส่งผลรูปแบบการกักตัวจะเหลือเพียง 5 ประเภท คือ Stae Quarantine , Alternative Quarantine , Hospital Quarantine , Alternative Hospital Quarantine และ Organizational Quarantine
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวอีกว่า เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยในที่ประชุม ศบค. ด้วยว่าที่ผ่านมา พบว่ามีคนไทยที่เดินเข้า-ออกประเทศ และต้องกักตัวอยู่ในสถานกักตัวที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) สูงสุด 7 ครั้งต่อปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทำให้อาจจะมีการปรับรูปแบบให้ออกค่าใช้จ่ายเองบางส่วน
ทั้งนี้หลังจากวันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไปที่เป็นระยะที่ 3 อาจจะไม่มีการกักตัวในรูปแบบ Quarantine แต่จะใช้วิธีการควบคุมตัวไว้สังเกตอาการ ในลักษณะ Bubble and Seal แทน
ส่วนคนต่างชาติที่เดินทางเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป กำหนดให้มีเฉพาะเพียงเอกสาร Covid Free เพียงอย่างเดียว โดยไม่ต้องมีเอกสาร Fit to Fly
@ผ่อนปรนให้ทำกิจกรรมอื่นระหว่างกักตัว
ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย. ผู้ที่ต้องกักตัว สามารถออกนอกห้องพักได้ตามเวลาและเงื่อนไขที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยสามารถใช้ห้องฟิตเนส , ออกกำลังกายกลางแจ้ง , สระว่ายน้ำ , ปั่นจักรยานในพื้นที่ปิด รวมถึงซื้อสินค้าและอาหารภายนอกได้
ระยะที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.- 30 ก.ย. อนุญาตเพิ่มเติมให้สามารถรับประทานอาหารในห้องอาหารของโรงแรมได้
ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป กำหนดให้มีการกักตัวเฉพาะบุคคล่ที่เดินทางมาจากพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติกำหนด , ปรับกิจกรรมในรูปแบบการกักกัน (Quarantine) เป็นคุมไว้สังเกต (Close Observation)
@ลดเวลากักตัวจาก 14 เหลือ 10 วัน
ศบค.ไฟเขียวลดระยะเวลาการกักตัวของผู้ที่เดินทางโดยทั่วไปจาก 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 ก.ย. และมีรายละเอียดดังนี้
คนไทย ที่ไม่มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และไม่มีใบรับรองการปลอดเชื้อโควิด ให้กักตัว 10 วัน ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง
คนต่างชาติ ที่ไม่มีใบรับรองการฉีดวัคซีน และแต่มีใบรับรองการปลอดเชื้อโควิด ให้กักตัว 10 วัน ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง
กรณีเมื่อมีความพร้อมทางด้านวัคซีน สำหรับคนไทยและต่างชาติ ที่ฉีดวัคซีนภายในช่วงเวลา 3 เดือน และได้รับการฉีดไปแล้วมากกว่า 14 วัน รวมถึงมีใบรับรองการปลอดเชื้อโควิด ให้ลดเวลากักตัวเหลือ 7 วัน ตรวจหาเชื้อ 1 ครั้ง และให้ตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง สำหรับกรณีที่ไม่มีใบรับรองการปลอดเชื้อโควิด
ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป อาจไม่ต้องกักตัวในบางพื้นที่ โดยมีเงื่อนไขของสถานการณ์ว่า บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วมากกว่า 70% , ประชาชนที่มีโอกาสสัมผัสกับกลุ่มเสี่ยงได้รับการฉีดวัคซีนตามเป้าหมายที่กำหนด และเปิดรับบุคคลเดินทางจากต่างประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในระยะเริ่มต้น
@ กระจายวัคซีน 8 แสนโดสให้ 18 จังหวัด
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องวัคซีนด้วยว่า ในระยะแรกตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. – 30 มิ.ย. ไทยจะวัคซีนซิโนแวค 2 ล้านโดสตามแผนเดิม โดยจากเดิมได้รับมาแล้ว 2 แสนโดส และจะได้รับอีก 8 แสนโดสในวันที่ 20 มี.ค.นี้
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่จะมีโรงงานผลิตในประเทศไทยนั้น ไทยจะมีวัคซีนชนิดนี้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เป็นต้นไป โดยแบ่งเป็นระยะที่ 2 ช่วงวันที่ 1 ก.ค. – 30 ก.ย. จำนวน 26 ล้านโดส และระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.เป็นต้นไป จำนวน 35 ล้านโดส
สำหรับผู้ได้รับการฉีดวัคซีนระยะที่ 1 ยังเป็นช่วงที่มีวัคซีนมีปริมาณจำกัด คือ บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ด้านหน้า , กลุ่มคนมีโรคประจำตัว คือ โรคทางเดินหายใจเรือ้รัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็งทุกชนิด โรคเบาหวาน โรคอ้วน , กลุ่มคนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และเจ้าหน้าที่ทำงานกับการควบคุมโควิด สัมผัสกับผู้ป่วย
ระยะที่ 2 เมื่อมีวัคซีนมากขึ้นและเพียงพอ นอกจากกลุ่มเป้าหมายระยะแรก ผู้ที่จะได้รับวัคซีนเพิ่มเติมคือ บุคลากรทางแพทย์ที่นอกเหนือจากด้านหน้า , ผู้ประกอบการอาชีพภาคการท่องเที่ยว เช่น พนักงานโรงแรม สถาบันเทิง มัคคุเทศก์ นักกีฬา , ผู้เดินทางระหว่างประเทศ เช่น นักบิน หรือ นักุรกิจ ,ประชาชนทั่วไป , นักการทูต , นักธุรกิจ , แรงงานภาคอุตสาหกรรม
“สำหรับประชาชนทั่วไป นายกรัฐมนตรีให้แนวคิดมาว่า ต้องคิดถึงคนที่มีรายได้น้อย ภาคราชการ ผู้บริหารที่ต้องเดินทางพบปะประชาชน รวมถึงกลุ่มของพระ ผู้นำศาสนา ที่ต้องคิดเป็นกลุ่มย่อยเพิ่มเติม” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว
@กระจายวัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดสให้ 18 จังหวัด
สำหรับแผนบริหารจัดการวัคซีนซิโนแวค 8 แสนโดสจะถูกนำไปใช้ในช่วงเดือน เม.ย.2564 กระจายไป 18 จังหวัด ดังนี้
สมุทรสาคร 100,000 โดส , กทม. 150,000 โดส , ปทุมธานี 64,000 โดส , นนทบุรี 64,000 โดส , สมุทรปราการ 36,000 โดส , ตาก 24,000 โดส , ชลบุรี 50,000 โดส , ภูเก็ต 40,000 โดส , สุราษฎรานี 24,000 โดส
เชียงใหม่ 32,000 โดส โดส , นครปฐม 28,000 โดส , สมุทรสงคราม 20,000 โดส , ราชบุรี 25,000 โดส , เพชรบุรี 20,000 โดส , กระบี่ 16,000 โดส , ระยอง 28,000 โดส , จันทบุรี 16,000 โดส และ ตราด 10,000 โดส
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. – 18 มี.ค. มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 62,941 ราย แบ่งเป็น บุคลากรทางการแพทย์ 31,066 ราย , เจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วย 7,147 ราย , บุคคลที่มีโรคประจำตัว 4,182 ราย , ผู้สุงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป 35 ราย และประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 20,511 ราย
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage