"...กลุ่มก้อนการระบาดในพื้นที่บางแคว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมีรายงานตัวเลขอย่างชัดเจน แต่ในวันนี้มีผลการตรวจเชิงรุกพบผู้ติดเชื้อเพียง 1 ราย เป็นชาวเมียนมาอย่างไรก็ตามจากการตรวจเชิงรุกที่ผ่านมา ขณะนี้การระบาดได้กระจายเพิ่มไปอีก 2 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร..."
..............................................................
เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2564 นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดในคลัสเตอร์ตลาดบางแค ว่า ในช่วง 2-3 วันที่ผ่านมา มีรายงานตัวเลขอย่างชัดเจน
โดยในวันนี้ ยังพบว่าการระบาดได้กระจายเพิ่มไปอีก 2 จังหวัด ได้แก่ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร และถือเป็นการพบผู้ป่วยใหม่รยาแรก ในการระบาดระลอกใหม่ โดยปรากฎไทม์ไลน์ที่น่าสนใจ ดังนี้
@ 'ศรีสะเกษ' ติดโควิดโยงตลาดบางแค
สำหรับไทม์ไลน์ของผู้ป่วยติดเชื้อที่ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นรายแรกของจังหวัด มีอาชีพค้าขายผักที่ 'ตลาดวันเดอร์ ย่านบางแค' โดยปกติจะขายช่วงเวลา 02.00 - 12.00 น. และพักอาศัยอยู่กับสามี จากการสอบสวนโรคพบว่ามีประวัติเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงกับเพื่อนที่ขายของแผงร้านข้างกัน
วันที่ 8-10 มี.ค.2564 เดินทางกลับบ้านที่ศรีสะเกษ และพักค้างคืนกับลูกชาย 2 คน ซึ่งในระหว่างนั้นได้ไปร่วมรับประทานอาหารกับญาติที่อยู่บ้านติดกัน
วันที่ 11 มี.ค.2564 ไปซื้อวัสดุก่อสร้างกับสามีที่ร้านวังหินวัสดุ ซึ่งผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยพูดคุยกับพนักงาน แต่พนักงานไม่ได้สวมหน้ากากอนามัย ขณะเดียวกันในวันนั้นได้ทราบข่าวว่าเพื่อนติดโควิด
วันที่ 12 มี.ค.2564 อยู่บ้านพักกับสามี และลูก 2 คน
วันที่ 13 มี.ค.2564 เดินทางไปร้านวังหินวัสดุอีกครั้งพร้อมกับสามีและบุตรชายคนเล็ก เพื่อเปลี่ยนสินค้า
วันที่ 14 มี.ค.2564 เริ่มมีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ จึงเดินทางไปตรวจหาเชื้อโควิดพร้อมกับสามี บุตรชายคนเล็ก และเพื่อนบ้านที่โรงพยาบาลศรีสะเกษ ก่อนจะไปซื้อของที่ Big C แต่มีการสวมหน้ากากอนามัย วัดไข้ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ก่อนเข้า
วันที่ 15 มี.ค.2564 เดินทางไปร่วมงานทำบุญ 100 วัน ของแม่สามี และร่วมรับประทานอาหารกับญาติของสามี หลังจากนั้นเดินทางไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุ่งสว่าง เพื่อขอตรวจโควิด
วันที่ 16 มี.ค.2564 ได้รับผลการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลศรีสะเกษ แต่สามีตรวจไม่พบเชื้อ ขณะนี้โรงพยาบาลศรีสะเกษได้เข้ารับผู้ป่วยมารับการรักษาเรียบร้อยแล้ว
จากกรณีดังกล่าว ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 23 ราย และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำมี 5 ราย ซึ่งทั้งหมดได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 1 แล้ว ไม่พบผลติดเชื้อ แต่อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำให้กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงดังกล่าวกักตัวเองแล้ว 14 วัน
@ 'มุกดาหาร' ไข่แตกหญิง 52 ปีพบประวัติเดินห้างดังย่านพระราม 2
ขณะที่มุกดาหาร พบผู้ติดเชื้อยืนยันรายแรกของจังหวัด เป็นหญิงอายุ 52 ปี อยู่ที่ อ.นิคมคำสร้อย จ.มุกดาหาร มีความเชื่องโยงกับคลัสเตอร์ตลาดบางแค โดยมีไทม์ไลน์ดังนี้
วันที่ 4 มี.ค.2564 เดินทางไปทำธุระที่ กทม. และเข้าพักที่บ้านบางบอน โดยอยู่กับสามีตัวเอง
วันที่ 5 มี.ค.2564 เดินทางไปห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเขตบางขุนเทียน
วันที่ 8 มี.ค.2564 ไปตรวจสภาพรถที่ถนนพุทธมณฑลสายสี่กับสามี
วันที่ 9 มี.ค.2564 พักอยู่บ้าน
วันที่ 11 มี.ค.2564 เดินทางไปกับสามีเพื่อต่อทะเบียนรถ (Drive Thru) ก่อนจะเดินทางไปสักคิ้วให้ลูกค้าที่ร้านเสริมสวยในเขตบางคอแหลม กทม.
วันที่ 12 มี.ค.2564 เดินทางไปห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพระราม 2
วันที่ 13 มี.ค.2564 เดินทางไปสักคิ้วให้ลูกค้าที่ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่ง ในเขตบางคอแหลม กทม.
วันที่ 14 มี.ค.2564 เดินทางจากบางบอน ผ่านสระบุรี มีการบันทึกผลการสอบสวน และแวะเข้าห้องน้ำที่ทุกจุดเติมแก๊ส หลักจากนั้น เมื่อถึงที่พัก อ.นิคมคำสร้อย ผู้ป่วยเริ่มมีอาการเจ็บคอ เล็กน้อย จมูกไม่ได้กลิ่น
วันที่ 17 มีค พบผลตรวจพบเชื้อโควิด โดยมีประวัติเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง และเป็นกลุ่มผู้ป่วยมีอาการเข้าข่าย PUI คือเจ็บคอ และจมูกไม่ได้กลิ่น อย่างไรก็ตามผู้ป่วยสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ซึ่งแสดงว่าในจุดสัมผัสต่างๆ อาจจะทำให้ได้รับเชื้อโควิด ทำให้เกิดการเจ็บป่วยในครั้งนี้
จากกรณีดังกล่าวนี้ พบกลุ่มเสี่ยงสูงทั้งหมดจำนวนทั้งหมด 17 ราย เก็บสิ่งส่งตรวจทุกราย ทราบผลแล้วจำนวน 1 ราย คือไม่พบเชื้อ และอีก 16 ราย รอตรวจทางห้องปฏิบัติการ
@ ผลตรวจเชิงรุกย่านบางแค พบป่วย 337 ราย
ด้านกรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์ เผยผลการค้นหาผู้ป่วยโควิด กรณีตลาดพื้นในพื้นที่เขตบางแค ตั้งแต่วันที่ 11-16 มี.ค.2564
โดยดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้ว 9,111 ราย พบเชื้อโควิด 337 ราย ไม่ติดเชื้อ 6,684 ราย และอยู่ระหว่างรอฟังผล 2,090 ราย
สำหรับผู้ติดเชื้อโควิด 337 ราย เป็นผู้ป่วยในพื้นที่ตลาดวันเดอร์และตลาดใกล้เคียง 290 ราย ตลาดคลองขวาง 15 ราย ชุมชนใกล้เคียง 19 ราย และพบจากผู้ที่เข้ารับการตรวจที่หน่วยบริการ บริเวณสวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์บางแค 13 ราย
ขณะที่ผลการดำเนินการให้บริการวัคซีนในพื้นที่ กทม. ซึ่งยังอยู่ในแผนระยะแรกที่มุ่งเน้นไปที่พื้นที่เสี่ยง 6 เขตที่อยู่ใกล้กับ จ.สมุทรสาคร ประกอบด้วย บางบอน ภาษีเจริญ หนองแขม จอมทอง บางขุนเทียน และบางแค
@ กทม.ฉีดวัคซีนคืบหน้า 18.93% จากเป้า 3.3 หมื่นราย
ล่าสุดวันที่ 18 มี.ค.ดำเนินการฉีดวัคซีนไปแล้ว รวม 6,248 รายคิดเป็น 18.93% จากเป้าหมายที่วางไว้ 33,000 ราย
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกเป็นคน 3 กลุ่มที่จะได้รับวัคซีนก่อนนั้น พบว่า กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์เริ่มฉีดตั้งแต่ 1 มี.ค.2564 ได้รับวัคซีนไปแล้ว 3,676 ราย คิดเป็น 110% จากเป้าหมาย 3,328 ราย
กลุ่มอาสาสมัครและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมโรค เริ่มฉีด 8 มี.ค.2564 ได้รับวัคซีนแล้ว 1,444 ราย คิดเป็น 50.17% จากเป้าหมาย 2,878 ราย
และกลุ่มสุดท้ายคือประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่เพิ่งเริ่มฉีดเมื่อวันที่ 15 มี.ค.2564 ได้รับวัคซีนแล้ว 1,128 ราย คิดเป็น 4.21% จากเป้าหมาย 26,794 ราย แบ่งเป็น ประชาชนกลุ่มอายุ 18-59 ปี ที่เป็นโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรคในพื้นที่ 6 เขตเสี่ยงของ กทม. จำนวน 423 ราย และประชาชนกลุ่มเสี่ยงพื้นที่ตลาดแค 705 ราย
@ ตั้งเป้า 5 วันฉีดวัคซีนกลุ่มเสี่ยงบางแค 6,000 ราย
นายชวินทร์ ศิรินาค รองปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการฉีดวัคซีนในตลาดบางแคที่เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 17 มี.ค.เป็นวันแรก มีผู้ลงทะเบียนขอรับวัคซีนทั้งหมด 744 ราย ฉีดไปแล้ว 705 ราย แบ่งเป็นคนไทย 258 ราย คนต่างด้าว 447 ราย ส่วนอีก 39 รายไม่ผ่านการคัดกรอง เพราะสภาพร่างกายไม่พร้อม เช่น มีความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามในกลุ่ม 705 รายที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว พบมีอาการไม่พึงประสงค์ 13 ราย อาทิ หน้ามืด เวียนศีรษะ แต่ทุกรายมีอาการปกติหลังได้พัก 30 นาที
สำหรับพื้นที่บางแค กทม.ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องฉีดวัคซีนให้กับคนไทย-แรงงานต่างด้าว ประมาณ 6,000 ราย โดยมีแผนดำเนินการระหว่างวันที่ 17-21 มี.ค.นี้ จากนั้นจะดำเนินการฉีดเข็มที่ 2 ในช่วงวันที่ 7-11 เม.ย.
@ ทั้งประเทศฉีดวัคซีนแล้ว 58,000 ราย
สำหรับสถานการณ์การกระจายวัคซีนว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 เป็นต้นมา มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 58,000 ราย โดยในวันนี้ได้รับ 4,184 ราย ซึ่งถือว่าการบริการจัดการวัคซีน เป็นไปตามเงื่อนไข และความจำเป็นของแต่ละพื้นที่ โดยขอเน้นย้ำว่าประชาชนทุกคนจะได้รับทุกคน เพียงแต่ในสถานการณ์ที่วัคซีนยังขาดแคลน อาจจะต้องให้กลุ่มเสี่ยงได้รับก่อน ซึ่งไม่เพียงแต่เฉพาะบุคคลากรทางการแพทย์ที่จะได้รับเพียงเท่านั้น ประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ตามเงื่อนไขของกระทรวงสาธารณสุขในขณะนี้ได้มีการแจกจ่ายแล้วเช่นกัน
ส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น มีการกระจายไปยังจังหวัดต่างๆแล้ว แต่ยังไม่มีการฉีด อย่างไรก็ตามวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้านั้น ประชาชนทั่วไปที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีสามารถใช้ได้ ขอยืนยันว่าประชาชั่วไปมีสิทธิรับได้ ไม่เพียงแต่เฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุเท่านั้น ซึ่งคงจะมีรายละเอียดให้มาชี้แจงต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage