"...ทุกตลาดมี 3 สิ่งคล้ายคลึงกัน 1. ไม่สามารถระบุตัวผู้ค้าหรือลูกจ้างที่เข้าออกตลาด 2. สิ่งแวดล้อมในตลาด มีความหละหลวมไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 3. มาตรการคัดกรองเข้าพื้นที่ ไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งมีการข้ามพื้นที่ยิ่งต้องเฝ้าระวังอย่างรัดกุม..."
.......................................
หลังจาก เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2564 สำนักงานประชาสัมพันธ์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม และ กทม. ประกาศแจ้งขอให้ประชาชนที่เดินทางไป 6 ตลาดพื้นที่บางแค ระหว่างวันที่ 20 ก.พ.-13 มี.ค.2564 ตรวจหาเชื้อโควิด และทำแบบประเมินความเสี่ยง หลังตรวจคัดกรองเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อแบบไม่มีอาการกว่า 80 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด (ศบค.) กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจคัดกรองเชิงรุกภายในพื้นที่ตลาดบางแค ว่า จากการตรวจค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก (SWAB) 995 ราย พบติดเชื้อ 107 ราย ซึ่งเป็นการตรวจภายในตลาดวันเดอร์เป็นหลัก และยังมีการตรวจตลาดใกล้เคียง และ 7 ชุมชนที่อยู่รอบๆ ด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำลาย (Pooled Saliva Samples) อีก 2,772 ราย ซึ่งจะเป็นวิธีที่ทำได้ง่าย รายงานผลได้อย่างแม่นยำ แต่ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง
"การเก็บกลุ่มตัวอย่างน้ำลาย จะเป็นการเก็บตัวอย่างน้ำลายจากกลุ่มคนที่ใกล้ชิดกัน เช่น ภายในบ้านมี 5 คน จะเก็บเป็นตัวอย่างเดียว หากพบผลบวก จะนำไปค้นหาเชื้อทางโพรงจมูกต่อ เพื่อยืนยันอีกครั้งว่าทั้ง 5 คน ติดเชื้อกี่ราย และจะทยอยรายงานให้ทราบ" พญ.อภิสมัย กล่าว
นอกจากนั้น ยังพบว่ามีการเชื่อมโยงไปยัง 4 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร และเพชรบุรี เป็นการข้ามพื้นที่ข้ามจังหวัดทำให้การติดเชื้อกระจายออกไป เนื่องจากพ่อค้าแม่ค้ามีการรับสินค้าและเชื่อมโยงไปยังตลาดในพื้นที่อื่นๆ
ส่วนไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อคนแรก พญ.อภิสมัย กล่าวว่า เป็นเพศชายอายุ 21 ปี เป็นเจ้าของแผงขายไก่และไข่ไก่ 4 แผงในตลาดวันเดอร์ และยังเป็นเจ้ามือแชร์ด้วย อาจทำให้มีการเดินรอบตลาด เพื่อไปเก็บเงินด้วย โดยในวันที่ 1 มี.ค.2564 พบว่าเริ่มป่วย มีไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ก่อนจะเดินทางไปตรวจในโรงพยาบาล และพบผลติดเชื้อในวันที่ 5 มี.ค.2564 หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ลงพื้นที่สอบสวนโรคโดยทันที่ พบติดเชื้อ 11 ราย ก่อนจะสั่งบิ๊กคลีนนิ่งในวันที่ 7 มี.ค.2564 และ กทม.ร่วมกับกรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ปฏิบัติการค้นหาเชิงรุกเพิ่มเติม
ทั้งนี้ 6 ตลาดที่มีพื้นที่ติดกันค่อนข้างแออัด โดยเฉพาะตลาดวันเดอร์ที่มีมากถึง 1,000 แผงค้า ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าและลูกจ้างรวมอยู่ในตลาดนี้ประมาณ 1,200 คน ประกอบกับการมีทางเข้า-ออกหลายทาง มาตรการคัดกรองหละหลวม และพื้นที่ใต้ถุนห้างสรรพสินค้าวันเดอร์ที่อยู่ติดกันค่อนข้างเตี้ย ไม่มีการระบายอากาศ นอกจากนี้ พฤติกรรมของคนในตลาดคือ ไม่สวมหน้ากาก หรือสวมผิดวิธี เคี้ยวหมาก ตะโกน หรือบ้วนน้ำลายลงพื้น
ทุกตลาดมี 3 สิ่งคล้ายคลึงกัน 1.ไม่สามารถระบุตัวผู้ค้าหรือลูกจ้างที่เข้าออกตลาด บางเจ้าให้คนอื่นมาเช่าแผงต่อ อาจจะไม่ได้ลงทะเบียนผู้ค้า ไม่สามารถติดตามได้ว่าใครเป็นใคร 2. สิ่งแวดล้อมในตลาด มีความหละหลวมไม่ปฏิบัติตามมาตรการ 3. มาตรการคัดกรองเข้าพื้นที่ ไม่มีประสิทธิภาพ ยิ่งมีการข้ามพื้นที่ยิ่งต้องเฝ้าระวังอย่างรัดกุม
"อยากเน้นย้ำว่าในส่วนของผู้ประกอบการและพื้นที่ต้องหารือร่วมกัน เพราะนี่เป็นการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ มีลักษณะคล้ายๆ กัน อยากให้มีมาตรการควบคุมป้องกันก่อนที่จะเกิดการระบาดแล้วต้องมาตามแก้ไขอย่างนี้ ส่วนตลาดที่บางแค สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง มีการรายงานว่า กทม. ไม่ได้นิ่งนอนใจ ตั้งแต่การระบาดของตลาดกลางกุ้ง สมุทรสาคร ก็มีการคัดกรองเชิงรุกมาตลอด ครั้งนี้ ตลาดบางแคถือเป็นการพบเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ พยายามที่จะควบคุมจำกัดการแพร่ระบาดให้ได้ พร้อมขอความร่วมมือพื้นที่ว่า ตลาดเป็นศูนย์กลางชุมชน แม้ไม่มีรายงานผู้ติดเชื้อก็ละเลยไม่ได้ เพื่อให้ตลาดเป็นที่ปลอดภัย" พญ.อภิสมัย กล่าว
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดทั้ง 6 แห่ง ในพื้นที่ตลาดบางแค เป็นตลาดสดขนาดใหญ่ ริมถนนเพชรเกษม มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ซอยเพชรเกษม 39/1 ยาวไปจนถึงสิ้นสุดตลาดบางแค ประกอบด้วย ตลาดใหม่บางแค ตลาดแสงฟ้า ตลาดศิริเศรษฐนนท์ ตลาดวันเดอร์ ตลาดกิตติ และตลาดบางแค
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า จากการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก พบผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าแม่ค้า และลูกจ้างชาวเมียนมา โดยเป็นคนไทย 11.7% ใกล้เคียงกับชาวเมียนมา 13.3% ซึ่งมีช่วงอายุส่วนใหญ่อยู่ที่ 20-59 ปี ซึ่งผู้ป่วยได้รับการรักษาในโรงพยาบาลบางขุนเทียน 30 ราย สุพรรณบุรี 4 ราย สมุทรสาคร 1 ราย เพชรบุรี 7 ราย นครปฐม 3 ราย และรอรับการรักษาอีก 40 ราย
ขณะนี้เจ้าหน้าที่ได้มีมาตรการเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อมในตลาดย่านบางแค ปิดตลาดเพื่อทำความสะอาด เน้นย้ำให้ตลาดมีมาตรการเคร่งครัดในการควบคุมป้องกันโรค เช่น ให้มีการคัดกรองจุดเข้าออกตลาด เน้นการล้างมือ และสวมใส่หน้ากากอนามัย รวมทั้งจะมีการจัดทำทะเบียนผู้ค้าขายและลูกจ้าง รวมถึงจะเร่งดำเนินการค้นหาเชิงรุกให้ได้ 100% โดยเร็ว เพื่อรีบตัดวงจรการแพร่ระบาดด้วย
ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวแนะนำสำหรับเจ้าของตลาด มีรายละเอียดที่น่าสนใจ คือ 1. กำหนดให้มีทางเข้าออกที่ชัดเจน มีการคัดกรองอาการของผู้ค้า ลูกจ้าง และผู้ใช้บริการให้สวมใส่หน้ากากอนามัย 100% 2. มีมาตรการเว้นระยะห่างระหว่างบุคคล และแผงค้า 3. จัดสภาพแวดล้อมบริเวณตลาดให้มีการระบายอากาศที่ดี 4. ทำความสะอาดบริเวณพื้นตลาดจำหน่ายอาหารสด ด้วยน้ำยาทำความสะอาด เป็นประจำทุกวัน อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง 5. ทำความสะอาดห้องน้ำ และห้องสุขา รวมถึงจัดให้มีสบู่และน้ำสำหรับล้างมือ และให้มีบริการเจลแอลกอฮอล์วางไว้ในจุดต่างๆ 6. จัดให้มีภาชนะมีฝาปิดรองรับขยะภายในบริเวณตลาด รวบรวมขยะไว้ยังที่พักขยะทุกวัน และส่งไปกำจัดอย่างถูกต้อง
นอกจากนั้น ยังให้คำแนะนำสำหรับตลาด ป้องกันไวรัสโควิด มีรายละเอียด 11 ข้อ ดังนี้
1. ควรล้างมืออย่างสม่ำเสมอ ด้วยน้ำ สบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
2. สวมผ้ากันเปื้อน หมวกคลุมผม และควรสวมหน้ากากอนามัยขณะปฏิบัติงาน
3. อาหารปรุงสำเร็จ มีการปกปิด และใช้อุปกรณ์หยิบจับอาหารทุกครั้ง
4. หากมีอาการเจ็บป่วยให้หยุดปฏิบัติงานและไปพบแพทย์ทันที
5. จัดบริการจุดล้างมือพร้อมสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล
6. ควรล้างแผงจำหน่ายอาหารสด และแผงเนื้อสัตว์ชำแหละทุกวัน
7. ใช้น้ำสะอาดฉีดล้าง ทางเดิน ฝาผนัง และกวาดล้างลงสู่ทางระบายน้ำเสีย ชะล้างสิ่งสกปรก
8. ล้างตลาดตามหลักสุขาภิบาล ในกรณีที่มีการระบาดของโรคติดต่อ ควรมีการล้างตลาดตามหลักการสุขาภิบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง
9. ขยะต้องเก็บรวบรวมไปกำจัดให้หมดและล้างทำความสะอาด
10. ให้ฆ่าเชื้อโรค โดยใช้ผงปูนคลอรีน 60% ความเข้มข้น 100 ppm ในอัตราส่วน 1 ช้อนชาต่อน้ำ 20 ลิตร ใส่ฝักบัวรดน้ำเป็นประจำทุกวัน
11. ทำความสะอาดห้องน้ำ ห้องสุขา อ่างล้างมือ ที่ปัสสาวะหรือจุดสัมผัสที่ใช้ร่วมกัน โดยใช้น้ำยาทำความสะอาด หรือผงซักฟอก รวมถึงสารฆ่าเชื้อโรค
@ ขยายเวลาตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยง'คลัสเตอร์บางแค' ถึง 26 มี.ค.
พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ตามที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยให้กรุงเทพมหานครนำมาให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกหาเชื้อโควิด ให้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยง 6 ตลาด ย่านบางแคและพื้นที่ใกล้เคียง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ณ บริเวณสวนสาธารณะข้างเดอะมอลล์บางแค เนื่องจากขณะนี้มีประชาชนมารอรับการตรวจเป็นจำนวนมาก เพื่อลดความหนาแน่น กรุงเทพมหานครจึงได้ขยายวันให้บริการตรวจคัดกรองเชิงรุกด้วยรถพระราชทานดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 26 มี.ค.64
นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากสถาบันป้องกันโรคเขตเมือง (สปคม.) มาร่วมตรวจ ทำให้สามารถให้บริการตรวจหาเชื้อทางโพรงจมูก (SWAB) ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ถึง1,000 คน ต่อวัน
ทั้งนี้ ประชาชนที่มีความเกี่ยวพันกับตลาดในพื้นที่ดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ.-13 มี.ค.2564 ขอความร่วมมือให้เข้าระบบคัดกรอง BKK COVID-19 และตรียมบัตรประชาชน ทั้งนี้หากมีสมาร์ทโฟนจะช่วยให้การลงทะเบียนรวดเร็วยิ่งขึ้น และเมื่อเข้ารับบริการตรวจค้นหาเชื้อทางโพรงจมูก สามารถเข้ารับบัตรคิวได้ตั้งแต่เวลา 07.30 น. โดยจะกำหนดช่วงเวลาการรับบริการตามหมายเลขบัตรคิว เพื่อลดความแออัดขณะรอตรวจ และเริ่มตรวจคัดกรองด้วย SWAB ตั้งแต่เวลา 09.00 น.เป็นต้นไป
@ ปิด 6 ตลาดพื้นที่บางแค 16 มี.ค.-18 มี.ค.ทำความสะอาด
พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวถึงกรณีสำการทำความสะอาดพื้นที่บางแคว่า ในวันที่ 16 มี.ค.2564 สำนักงานเขตบางแคจะจัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดตลาดย่านบางแค ทั้ง 6 แห่ง ตั้งแต่ 09.00 น. เป็นต้นไป โดยในช่วงเช้าจะทำความสะอาด (แบบแห้ง) ปัดกวาด และในช่วงบ่ายจะดำเนินการฉีดล้าง ขัด และฆ่าเชื้อ ด้วยน้ำและน้ำยาบริเวณพื้นผิวสัมผัสที่มีความเสี่ยงต่อการสะสมของเชื้อโรคและบริเวณโดยรอบ นอกจากนี้จะปิดตลาดทั้ง 6 แห่ง จำนวน 3 วัน ระหว่างวันที่ 16-18 มี.ค.2564 จากนั้นจะประเมินผลจากการตรวจเชิงรุกกลุ่มเสี่ยงหากพบว่ามีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจะพิจารณาขยายวันปิดต่อไป
@ ฉีดวัคซีนแล้ว 4.6 หมื่น-ได้รับผลข้างเคียงไม่รุนแรง 1,635 ราย
ขณะที่สถานการณ์การฉีดวัคซีน พบว่าฉีดแล้ว 46,598 ราย คิดเป็น 50% จากเป้าหมายการฉีดทั้งหมด 92,600 ราย โดยล่าสุดมีผู้ได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนไม่รุนแรง 1,635 ราย และยังไม่มีรายใดได้รับผลข้างเคียงจากวัคซีนรุนแรง
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage