"...ทั้งนี้ประเทศไทย คาดว่าจะมีการออกใบรับรองวัคซีนให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ซึ่งกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนครบคือวันที่ 21 มี.ค.2564 และคาดว่าใบรับรองของไทยน่าจะเกิดขึ้นในช่วง เม.ย.2564 เป็นต้นไป..."
..................................................................
ตลอด 7 วันที่ผ่านมา คนไทยได้รับวัคซีนไปแล้วกว่า 2.5 หมื่นราย ทำให้หลายภาคส่วนมองไปถึง 'พาสปอร์ตวัคซีน' (Vaccination Passport) หรือเอกสารที่จะช่วยรับรองว่าได้รับวัคซีนครบถ้วนแล้ว จะสามารถเดินทางได้อย่างอิสระมากขึ้น
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า คนไทยทุกคนที่ได้รับวัคซีนจะได้รับสมุดประจำตัว ที่เรียกว่า ‘สมุดปกเหลือง’ แสดงว่าเป็นผู้ได้รับวัคซีนแล้ว เพื่อใช้เป็นหลักฐานประกอบการจัดทำหนังสือเดินทาง หรือเอกสารราชการต่างๆ ที่จำเป็น สร้างความเชื่อมั่นให้สำหรับผู้คนที่จะพบเจอกันด้วย
ล่าสุดภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อ เมื่อวันที่ 8 มี.ค.2564 นายอนุทิน กล่าวว่า คนไทยรวมถึงผู้อาศัยภายในประเทศที่ไม่สัญชาติไทย เมื่อได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม จะได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีน เพื่อใช้ในการเดินทางข้ามประเทศ รวมถึงจะช่วยลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน โดยจะมีหลักการที่น่าสนใจดังนี้
ผู้ที่มีสัญชาติไทย หากมีเอกสารรับรองการรับวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วัน แต่ไม่เกิน 30 วันก่อนเดินทาง รัฐจะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน
ผู้ที่ไม่มีสัญชาติไทย จะต้องมีเอกสารรับรองการรับวัคซีนครบอย่างน้อย 14 วันและไม่เกิน 3 เดือนก่อนการเดินทาง และต้องมีเอกสารรับรองการปลอดโควิด รัฐจะลดวันกักตัวเหลือ 7 วัน อย่างไรก็ตามหากไม่มีเอกสารรับรองการรับวัคซีน มีเพียงใบรับรองการปลอดโควิด รัฐจะลดวันกักตัวเหลือ 10 วัน
สำหรับผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา ยังคงต้องกักตัวให้ครบ 14 วัน ตามมาตรการเดิม
"ในอนาคตจะมีมาตรการเพิ่มเติมหรือไม่ จะต้องรอดูผลการฉีดวัคซีนจากทั่วโลกมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์อีกครั้ง" นายอนุทิน กล่าว
ทั้งนี้ นายอนุทิน กล่าวอีกว่า เอกสารรับรองดังกล่าว จะมีค่าใช้จ่าย คือค่าออกแบบเอกสารและค่าธรรมเนียม 50 บาท รวมถึงค่าสำหรับการโหลดทางแอปพลิเคชัน 50 บาท รวมทั้งสิ้น 100 บาท
‘สมุดปกเหลือง’ นั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่ เดิมเคยใช้เป็นเอกสารรับรองเดินทางข้ามประเทศมากว่า 37 ปีแล้ว สำหรับนักเดินทางที่จะไปยังประเทศเสี่ยงติด ‘โรคไข้เหลือง’ ซึ่งจัดเป็นโรคติดต่ออันตรายตามที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และกระทรวงสาธารณสุขประกาศ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เหลืองมีสาเหตุเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่ระบาดทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกาใต้ โดยมียุงลายเป็นพาหะ สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อทำให้มีภูมิคุ้มกัน และสร้างความมั่นใจว่าจะไม่นำพาโรคเข้าสู่ประเทศอื่น ทำให้องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดหลักเกณฑ์สากลและไทยนำมาใช้ว่า หากบุคคลใดมาจากเขตผู้ป่วยไข้เหลืองมากๆ เช่น อเมริกาใต้ เปรู บราซิล หรือแอฟริกาใต้บางประเทศ หากจะเข้าไทยต้องฉีดวัคซีน และต้องมีสมุดปกเหลืองเป็นเอกสารรับรองการฉีดวัตซีน
สำหรับสถานการณ์โลกครั้งนี้ ประเทศไทยได้นำแนวคิดเรื่อง 'พาสปอร์ตวัคซีน' ได้ถูกนำมาใช้เป็นกิจรรมของจังหวัดปทุมธานีเป็นที่แรก เพื่อเป็นเอกสารรับรองให้กับพ่อค้าแม่ค้า หรือลูกจ้างที่จะเข้าไปทำงานภายในตลาด โดยจะต้องตรวจหาเชื้อโควิดก่อน หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะกรอกรายละเอียดว่าบุคคลนี้ได้รับการตรวจเมื่อใด ผลเป็นอย่างไร และตรวจที่ไหน เพื่อให้ผู้มาใช้บริการตลาดหรือผู้ค้าขายด้วยกันเองมั่นใจได้ว่าบุคคลนี้ได้รับการตรวจหาเชื้อโควิดแแล้ว ซึ่งจะสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้ค้าขายที่มาทำงานในพื้นที่เหล่านี้ปลอดเชื้อโควิด นอกจากนั้นยังช่วยให้การค้นหาเชิงรุกสามารถทำได้อย่างเต็มที่จริงๆ เนื่องจากหากทุกคนมีบัตร จะไม่มีบุคคลใดหลุดหรือไม่ได้ตรวจ ซึ่งจะช่วยตัดวงจรการแพร่เชื้อไปสู่บุคคลอื่นได้
ทั้งนี้ประเทศไทย คาดว่าจะมีการออกใบรับรองวัคซีนให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้ง 2 เข็ม ซึ่งกลุ่มแรกที่จะได้รับวัคซีนครบคือวันที่ 21 มี.ค.2564 และคาดว่าใบรับรองของไทยน่าจะเกิดขึ้นในช่วง เม.ย.2564 เป็นต้นไป
‘พาสปอร์ตวัคซีน’ เป็นสิ่งที่หลายๆ ประเทศเชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งในวันนี้หลายๆประเทศได้เริ่มวางแผนและเริ่มนำมาใช้กันแล้ว มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้
อิสราเอล นับเป็นประเทศที่ฉีดวัคซีนต้านโควิดให้กับประชากรมากที่สุดในโลก โดยฉีดไปแล้ว 8.65 ล้านคน คิดเป็น 99.88% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในอิสราเอลเริ่มคลี่คลายลงด้วย ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงเดินหน้าเปิดตัวแอปพลิเคชัน 'กรีนพาส' (Green Pass) ให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนจนครบ หรือผู้ที่เคยป่วยด้วยโรคโควิด หายแล้ว และมีภูมิคุ้มกันแล้ว
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอล กล่าวว่า ‘กรีนพาส’ นับเป็นก้าวแรกที่จะทำให้กลับไปสู่ชีวิตปกติ โดยกระทรวงสาธารณสุขจะมอบให้กับผู้ที่ได้รับวัคซีนต้านโควิดครบแล้ว หลัง 1 สัปดาห์ หรือให้กับผู้ป่วยโควิดที่หายแล้วประมาณ 740,000 คน ให้สามารถเข้าใช้บริการ ร้านค้า โรงยิม โรงแรม โรงหนัง และศาสนสถานที่ลงทะเบียนภายใต้โครงการกรีนพาสได้ ทั้งนี้ยังเตรียมแผนรองรับสำหรับผู้เลือกไม่รับวัคซีน แม้ขณะนี้อาจจะมีบางพื้นที่ที่เปิดรับบุคคลที่ยังไม่ได้รับวัคซีนเท่านั้น อย่างไรก็ตามรัฐจะขยายพื้นที่ออกไปอีก ตามอัตราการฉีดวัคซีนของประชากรทั้งหมด
เดนมาร์ก กำลังพัฒนาพาสปอร์ตวัคซีนในรูปแบบดิจิทัล ที่ตั้งชื่อว่า ‘โคโรนาพาสปอร์ต’(Corona Passport) ซึ่งคาดว่าจะสามารถใช้งานได้ภายในไม่กี่เดือนนี้ หากรัฐบาลตรวจสอบและอนุญาตให้เปิดใช้งานได้ โดยแอปพลิเคชันทางโทรศัพท์ดังกล่าวจะทำหน้าที่บันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนของทุกคนที่ต้องการเดินทางทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นหลักฐานยืนยันถึงการมีภูมิคุ้มกันโรคโควิด เพื่อเร่งเปิดการเดินทางอากาศอีกครั้งและช่วยเหลือการฟื้นฟูเศรษฐกิจรองรับการเดินทางเพื่อธุรกิจในอนาคต
สวีเดน เป็นอีกประเทศที่กำลังพัฒนาพาสปอร์ตวัคซีนโควิดในรูปแบบดิจิทัลเช่นเดียวกัน ซึ่งคาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในช่วงฤดูร้อนนี้ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยข้อมูลว่าบุคคลที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะสามารถขอใบรับรองที่แสดงบนโทรศัพท์ได้ผ่านทางเอกสารที่ส่งเข้าอีเมล หรือใช้เทคโนโลยี 'การส่งข้อมูลระยะสั้น' (Near Field Communication: NFC) ที่มีความปลอดภัยสูง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวเคยถูกนำไปใช้ในการชำระเงินค่าโดยสาร หรือชำระสินค้ามาก่อน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะส่งแท็กเอ็นเอฟซี (NFC) ที่สามารถติดกาวได้ในหนังสือเดินทาง เพื่อให้อุปกรณ์สื่อสารที่ใช้งานด้วยเอ็นเอฟซีด้วยกันแสดงใบรับรองการฉีดวัคซีนต้านโควิด
เอสโตเนีย และองค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กำลังพัฒนาใบรับรองการฉีดวัคซีนอิเล็กทรอนิกส์ (E-Vaccination Certificate) ที่เรียกว่า 'สมาร์ทเยลโล่การ์ด' (Smart Yellow Card) ซึ่งก็คือการนำระบบสมุดเล่มเหลืองแบบกระดาษที่ใช้กันอยู่ ปรับให้เข้าสู่รูปแบบดิจิทัลที่จะนำแพลตฟอร์มที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชนให้ผู้ใช้งานด้านสาธารณสุข โรงพยาบาล และประชาชนสามารถแบ่งปันข้อมูลระหว่างกันได้อย่างเป็นระบบและปลอดภัย โดยระบบดังกล่าวจะมีการเก็บข้อมูลว่า ฉีดวัคซีนเมื่อไร ใช้วัคซีนของผู้ผลิตรายใด และหมายเลขชุดวัคซีนหมายเลขใด อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจความเป็นไปได้
คณะกรรมาธิการยุโรป (European Union: EU) จะนำเสนอข้อเสนอการสร้างหนังสือเดินทางรองรับการฉีดวัคซีนต้านโควิดทั่วทั้งสหภาพยุโรปในเร็วๆนี้ ภายใต้ชื่อเรียกว่า ‘ดิจิทัลกรีนพาส’ (Digital Green Pass) เพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเดินทางข้ามประเทศกันได้ หลังจากที่กรีซเรียกร้องให้สร้างระบบรองรับการเดินทางของผู้ฉีดวัคซีนต้านโควิดให้สามารถเดินทางได้โดยเสรี เนื่องจากกรีซได้เปิดตัวใบรับรองการฉีดวัคซีนดิจิทัลในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศอื่นๆ ได้แก่ สาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ อิตาลี สเปน และโปรตุเกส กำลังดำเนินการออกใบรับรองอยู่ ทั้งนี้หนังสือเดินทางดังกล่าว นอกจากจะช่วยให้ประชาชนสามารถแสดงหลักฐานการฉีดวัคซีน ยังสามารถข้ามขั้นตอนการกักกันตัวเมื่อเดินทางข้ามประเทศได้กับ
ขณะที่สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสิงคโปร์ ยังอยู่ระหว่างการเจรจากับรัฐบาลอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อหารือมาตรการการรับรองการรับวัคซีนของประชากรที่เป็นที่ยอมรับได้ในระดับสากล
อย่างไรก็ตาม 'พาสปอร์ตวัคซีน' แม้จะมีข้อดีหลายประการ โดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจ แต่ยังมีหลายฝ่ายมองว่าระบบนี้จะก่อให้เกิดการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากยังมีกลุ่มเด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังแต่อาการยังไม่คงที่ ที่ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ เนื่องด้วยเหตุผลทางการแพทย์ หรือแม้กระทั่งกลุ่มผู้ไม่เลือกรับวัคซีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเดินทาง การเดินไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการร้านต่างๆ รวมถึงการจ้างงาน ที่อาจมีนายจ้างบางรายใช้นโยบายไม่รับพนักงานที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ภาพจาก: Freepik
ข่าวประกอบ:
สวมแมสก์ปลอดภัยกว่า!สธ.เผย WHO ไม่แนะนำให้ใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’
อ้างอิงจาก:
https://www.technologyreview.com/2021/02/10/1017880/denmark-coronavirus-passport-covid-immunity/
https://www.france24.com/en/europe/20210301-eu-to-propose-covid-19-vaccine-passports-in-march
https://weraveyou.com/2021/02/sweden-coronavirus-vaccine-passport/
https://thepointsguy.co.uk/guide/uk-vaccine-passports/
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage