"...ขอยืนยันว่า ณ วันที่ 7 ก.พ. 2564 ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า วัคซีนจะมาทดแทนการกักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ส่วนการควบคุมโรคที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ที่บางคนบอกว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการฉีดวัคซีนในขณะนี้..."
.............................................................................
เป็นอีกประเด็นที่ต้องติดตามเกี่ยวกับวัคซีนโควิด
โดยเฉพาะเวลานี้ที่ทั่วโลกได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิดไปแล้วมากกว่า 100 ล้านโดส โดย 3 อันดับแรกที่มีการฉีดมากที่สุดคือ อิสราเอล , สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา
ทำให้เรื่องต่อไปที่ต้องติดตามความเคลื่อนไหวในทุกประเทศทั่วโลก คือ ความพร้อมในการเปิดเมือง – รองรับการเดินทางข้ามประเทศ ที่อาจนำ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ มาใช้เป็นใบการันตีตนเองต่อไปในอนาคต
‘พาสปอร์ตวัคซีน’ คือ หนังสือเดินทางสำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งอาจได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศโดยไม่ต้องกักตัว 14 วันตามมาตรการทั่วโลก
ประเด็นนี้ สำหรับไทย ก็มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเช่นกัน
โดยการแถลงสถานการณ์โควิดประจำวันที่ 7 ก.พ.2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไทยจะตัดสินใจใช้มาตรการ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ โดยยึดโยงกติกาสากล ซึ่งจะประกาศโดยองค์การอนามัยโลก (WHO)
“เราใช้กติกาทั่วโลกที่เรียกว่ากฎอนามัยระหว่างประเทศ พ.ศ.2548 (IHR 2005) ซึ่งออกโดย WHO ที่ถือเป็นองค์กรที่รับรองการดำเนินการเรื่องนี้ ที่จะทำให้ต่อไปคนเดินทางเข้าออกประเทศจะต้องมีการฉีดวัคซีนหรือไม่ หรือระยะถึงไหนถึงจะปลอดภัย ขอให้ติดตามจาก WHO เป็นหลัก” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า ในฐานะประเทศสมาชิกของ WHO มีข้อเสนอ ข้อแนะนำ และข้อซักถามไปถึง WHO ว่า ในเรื่องวัคซีนพาสปอร์ตโควิด ควรจะจัดการอย่างไร ควรนำมาตรการฉีดวัคซีนมาใช้เพื่ออนุญาตให้คนเข้าประเทศหรือไม่ โดยได้รับคำแนะนำว่า ณ วันนี้ยังไม่ควรกำหนดให้มีการจัดทำเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน เนื่องจากข้อมูลต่างๆ ยังไม่เพียงพอที่จะสรุปได้ว่า คนฉีดวัคซีนแล้วจะไม่แพร่โรคให้คนอื่น ฉีดแล้วอยู่นานแค่ไหน และต้องฉีดซ้ำอีกกี่เข็มอย่างไรถึงจะปลอดภัย เป็นต้น
“โดยหลักการในอนาคตเห็นตรงกันว่า หากวัคซีนมีประสิทธิภาพเพียงพอ คือ เริ่มมีการใช้มากขึ้นและปลอดภัย 100% การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้ คงจะสอดคล้องกับเหตุการณ์และสถานการณ์ แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอในการตัดสินใจนำมาใช้ ขอยืนยันว่า ณ วันที่ 7 ก.พ. 2564 ยังไม่มีหลักฐานเพียงพอว่า วัคซีนจะมาทดแทนการกักตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือไม่ ส่วนการควบคุมโรคที่ดีที่สุดในขณะนี้คือ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ที่บางคนบอกว่าน่าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการฉีดวัคซีนในขณะนี้” นพ.โอภาส กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนเกิดสถานการณ์โควิด ทั่วโลกมีการใช้ ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ กับโรค ‘ไข้เหลือง’ ซึ่งเป็นโรคชนิดหนึ่งในกลุ่มโรคไข้เลือดออกจากไวรัส โดยพบการระบาดในพื้นที่ทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกาใต้
สำหรับผู้ป่วยไข้เหลืองส่วนใหญ่มีอาการไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปวดกล้ามเนื้อ โดยเฉพาะส่วนหลัง และปวดศีรษะ ส่วนใหญ่หายได้เองในเวลาหลายวัน และอาจเป็นมากจนเสียชีวิตได้
WHO ประมาณไว้ว่า มีคนที่ไม่ได้รับวัคซีนไข้เหลืองป่วยเป็นไข้เหลือง 200,000 รายต่อปี และเสียชีวิต 30,000 รายต่อปี ปัจจุบันผู้ป่วยโรคไข้เหลืองกว่า 90% อยู่ในแอฟริกา
ทั้งนี้วัคซีนไข้เหลืองที่ปลอดภัยและใช้ได้ผลนั้น ผลิตสำเร็จตั้งแต่กลางศตวรรษที่ 20 บางประเทศยังกำหนดให้นักท่องเที่ยวต้องได้รับวัคซีนนี้ก่อนเข้าประเทศ เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาจำเพาะจึงมีความจำเป็นต้องจัดให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงได้มีโอกาสเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง พร้อม ๆ กับลดจำนวนยุงและลดโอกาสถูกยุงกัด ในช่วงคริสต์ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา จำนวนผู้ป่วยไข้เหลืองเริ่มเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้ง จึงจัดอยู่ในกลุ่มโรคอุบัติซ้ำ (re-emerging disease) เชื่อว่าเป็นผลจากสภาพสังคมและสงครามในหลาย ๆ ประเทศในแอฟริกา
(อ้างอิงข้อมูล : https://th.wikipedia.org/wiki/ไข้เหลือง)
นพ.โอภาส กล่าวด้วยว่า กรณีโรคไข้เหลือง จึงทำให้เกิด ‘พาสปอร์ตวัคซีน’ ที่เรียกว่า ‘สมุดปกเหลือง’ เป็นสมุดสำหรับคนที่มาจากประเทศที่เสี่ยงติดโรคไข้เหลือง ซึ่งจะต้องได้รับการฉีดวัคซีน ก่อนที่จะเดินทางเข้าประเทศอื่น
“โรคนี้สาเหตุเกิดจากไวรัส ส่วนใหญ่ระบาดทวีปอเมริกาใต้และทวีปแอฟริกาใต้ มียุงลายเป็นพาหะ ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน เพื่อทำให้เขามีภูมิคุ้มกัน เพื่อแน่ใจว่าจะไม่นำพาโรคเข้าสู่ประเทศอื่น ทำให้ WHO กำหนดว่า หากใครมาจากเขตผู้ป่วยไข้เหลืองมากๆ เช่น อเมริกาใต้ เปรู บราซิล หรือแอฟริกาใต้บางประเทศ หากจะเข้าไทยต้องฉีดวัคซีน และมีสมุดปกเหลือง จึงจะเดินทางเข้าประเทศไทยได้ นี่คือที่มาของวัคซีนพาสปอร์” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวย้ำอีกว่า ณ ปัจจุบัน วัคซีนโควิด เป็นวัคซีนที่ยังวิจัยไม่เสร็จด้วยซ้ำ แต่ปัจจุบันเชื่อว่ามีประสิทธิภาพพอสมควร มีความปลอดภัยหลายประเทศรวมถึงไทย ซึ่งมีการอนุญาตให้ฉีดวัคซีนได้ แต่ถามว่าฉีดแล้วป้องกัน 100% หรือไม่ ยังไม่สามารถยืนยันได้มากขนาดนั้น ส่วนจะป้องกันนานแค่ไหน ยังไม่มีใครรู้ เพราะเพิ่งพัฒนามา 3-4 เดือนเท่านั้น
ขณะที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ร่วมกับ องค์การอนามัยโลกสำนักงานภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล คณะแพทยศาสตร์รามาธิบดี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสำนักงานสถิติแห่งชาติ สำรวจพฤติกรรมป้องกันตนเอง โดยมีอาสาสมัครสสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ร่วมตอบแบบสอบถาม 56,201 ตัวอย่าง และตอบแบบสอบถามออนไลน์ 7,243 ตัวอย่าง โดยสำรวจพฤติกรรมการป้องกันตนเอง ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ค.2563 – 31 ม.ค.2564
พบว่า ช่วงวันที่ 25 - 31 ม.ค.2564 พฤติกรรมการป้องกันตนเอง อาทิ สวมหน้ากากอนามัย , ล้างมือ , กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลาง , เว้นระยะห่าง ฯลฯ ยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินกว่า 70%
แต่หากมองภาพรวม ตั้งแต่ 15 พ.ค.2563 .- 31 ม.ค.2564 พบว่า การป้องกันตนเองนับได้ว่า ‘การ์ดตก’ ในทุกประเภทพฤติกรรม ดังนี้
สวมหน้ากากอนามัย 93.7% , ล้างมือบ่อยๆ 88.4% , กินอาหารร้อนและใช้ช้อนกลาง 87.9% , ระวังไม่อยู่ใกล้คนอื่นในระยะน้อยกว่า 2 เมตร 77.0% , ระวังไม่เอามือจับหน้า จมูก ปาก 73.2% และภาพรวมพฤติกรรมป้องกันตนเอง 83.7%
เมื่อสอบถามถึง 5 เหตุผลหลักที่ต้องการฉีดวัคซีน ในส่วนของ อสม. 56,201 ราย พบว่า ตนเองมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ , ฉีดวัคซีนจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อไปยังบุคคลรอบข้าง และฉีดวัคซีนจะช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชน
ขณะที่ประชาชนที่ตอบแบบสอบถามออนไลน์ 7,243 ราย ส่วนใหญ่พบว่า ต้องการฉีดเพราะวัคซีนจะช่วยป้องกันแพร่เชื้อไปยังบุคคลรอบข้าง , การฉีดจะช่วยลดการแพร่เชื้อในชุมชน และมีความเสี่ยงด้านสุขภาพ
ส่วน 5 เหตุผล ที่ไม่ต้องการฉีดวัคซีน อสม. 56,201 ราย คิดว่า วัคซีนยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ , ไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือป่วยอย่างรุนแรง และมั่นใจว่าป้อกันตัวเองเพียงพออยู่แล้ว
ส่วนผู้ตอบแบบสอบถามออนไลน์ 7,243 ราย คิดว่า วัคซีนยังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ , คิดว่าผลข้างเคียงจากการรับวัคซีนโควิดมีมากกว่าประโยชน์ และไม่ได้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียชีวิตหรือป่วยอย่างรุนแรง
ทั้งหมดเป็นความคืบหน้าเกี่ยวกับวัคซีนในประเทศไทย โดยแพทย์ย้ำว่า การสวมหน้ากากอนามัย ยังคงมีความปลอดภัยมากกว่าการฉีดวัคซีนในเวลานี้!
(ภาพจาก : freepik)
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage