“…ภายใต้พ.ร.บ.งบประมาณปี 2564 พบว่ามีการจัดสรรงบกลางเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เงินช่วยเหลือลูกจ้างเบี้ยหวัด เลื่อนเงินเดือน ลูกจ้างประจำ เงินสำรองและเงินสมทบ 465,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2563 ประมาณ 10% ส่วนแผนงานบุคลากรของรัฐของทุกกระทรวงจัดสรรงบไว้ที่ 776,887 ล้านบาท…”
..................
แม้ว่าจะต้อง ‘ชะลอ’ แผนออกไปอย่างไม่มีกำหนด สำหรับแผนการขยายเวลา ‘เกษียณอายุราชการ’ เป็น 63 ปี จากเดิม 60 ปี ซึ่งจะทยอยปรับเพิ่มอายุเกษียณ 1 ปี ในทุกๆ 2 ปี
หลังคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นด้วยกับข้อเสนอแนะตามรายงานการศึกษา เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ของ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา ที่เสนอให้ชะลอแผนการขยายเวลา ‘เกษียณอายุราชการ’ ออกไปก่อน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19
แต่ทว่าแผนการขยายเวลาเกษียณอายุราชการดังกล่าว พร้อมจะถูกนำกลับมา ‘ปัดฝุ่น’ ได้ทุกเมื่อ
“การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ซึ่งส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนระบบการคลังและงบประมาณรัฐบาล จึงควรใช้จ่ายงบประมาณที่มีจำกัด เพื่อให้เกิดการจ้างงานกลุ่มเป้าหมายที่เปราะบางก่อนเป็นลำดับแรก
และเมื่อประเทศสามารถจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้แล้ว จึงสามารถนำมาพิจารณาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ต่อไป” รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงหลังมติครม.เมื่อวันที่ 2 มี.ค.ที่ผ่านมา
เมื่อมองย้อนกลับไป แผนการขยายเวลาเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 63 นั้น ถือเป็น 1 ในมาตรการสำคัญเพื่อรองรับสถานการณ์กำลังคนสูงอายุในภาครัฐ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2561
โดยสำนักงาน ก.พ. ระบุว่า จากข้อมูลปี 2560 มีข้าราชการที่มีอายุไม่เกิน 30 ปี ในสัดส่วนไม่เกิน 10% ของข้าราชการทั้งหมด ขณะที่ข้าราชการที่มีอายุมากกว่า 50 ปี มีกว่ากว่า 30% ของข้าราชการทั้งหมด
ดังนั้น ในอีก 10 ปี ข้างหน้า ข้าราชการกลุ่มที่มีความรู้และประสบการณ์ทำงานสูงจะเกษียณอายุจำนวนมาก ขณะที่การสรรหาข้าราชการใหม่เพื่อทดแทนมีแนวโน้มยากขึ้น เนื่องจากประชากรวัยทำงานมีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน
หากไม่มีการบริหารจัดการ หรือมีมาตรการรองรับอย่างเป็นระบบ อาจมีผลต่อความพร้อมและความต่อเนื่องของการบริหารราชการและคุณภาพของการให้บริการสาธารณะได้
สำนักงาน ก.พ. ยังประเมินด้วยว่า หากไม่มีการขยายอายุเกษียณราชการออกไปจะส่งผลกระทบใน 3 เรื่อง ได้แก่
1.ค่าใช้จ่ายบำเหน็จบำนาญภาครัฐมีแนวโน้มสูงขึ้นในระยะยาว เนื่องจากมีข้าราชการเกษียณอายุจำนวนมาก และอาจมีชีวิตหลังเกษียณยาวนานเกินกว่าที่รัฐออกแบบไว้ตามพ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 ซึ่งขณะนั้นประชากรไทยมีอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) เมื่อแรกเกิดประมาณ 44 ปี แต่ปัจจุบันอายุคาดเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 76 ปี
ขณะที่ข้อมูลของกรมบัญชีกลาง ระบุว่า ในปี 2560 มีผู้รับบำนาญ 622,876 คน และมีค่าใช้จ่ายด้านบำนาญ 187,252 ล้านบาท และคาดว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า หรือในปี 2580 จำนวนผู้รับบำนาญอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และค่าใช้จ่ายด้านบำนาญอาจเพิ่มขึ้นเป็น 4 เท่า
2.รายได้หลังเกษียณอาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพตามมาตรฐานของสังคม เนื่องจากบุคคลมีระยะเวลาออมเงินในระหว่างที่ทำงาน ‘เท่าเดิม’ แต่มีระยะเวลาใช้เงินในช่วงหลังเกษียณยาวนานขึ้น นอกจากนี้ มูลค่าของเงินบำนาญยังอาจลดลงเนื่องจากภาวะเงินเฟ้ออีกด้วย
3.อัตราส่วนของจำนวนข้าราชการที่ยังรับราชการต่อจำนวนข้าราชการเกษียณที่รับบำเหน็จบำนาญมีแนวโน้ลดลง โดยในปี 2551 มีข้าราชการที่ยังรับราชการ 5 คนต่อจำนวนข้าราชการเกษียณ 1 คน แต่ในปี 2561 มีข้าราชการที่ยังรับราชการเพียง 3 คนต่อจำนวนข้าราชการเกษียณ 1 คน โดยที่ข้าราชการที่บรรจุเข้ารับราชการในปัจจุบัน จะต้องจ่ายเงินสะสมเข้าสู่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
ดังนั้น หากข้าราชการที่จะจ่ายเงินสะสมเข้าสู่กองทุนบำเหน็จบำนาญมีจำนวนลดลงมาก แต่มีจำนวนข้าราชการเกษียณเพิ่มขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้
หรือเท่ากับว่ากองทุน กบข. อาจเข้าสู่ภาวะ 'ถังแตก' ในอนาคตนั่นเอง
(ที่มา : รายงานมาตรการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ สำนักงาน ก.พ. เดือนมิ.ย.2562)
“ภาครัฐต้องเร่งพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ รวมทั้งเตรียมบุคลากรภาครัฐให้พร้อมรองรับสังคมสูงอายุและบริบทที่เปลี่ยนแปลง เพื่อรักษาขีดความสามารถในการจัดทำและให้บริการสาธารณะ เพื่อให้บุคลากรภาครัฐสูงอายุเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ
มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีหลักประกันในชีวิตหลังเกษียณที่มั่นคง รวมทั้งสามารถดำรงบทบาทที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศต่อไป” รายงานมาตรการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรบุคคลภาครัฐ เพื่อรองรับสังคมสูงอายุ ปีงบ 2562-2566 ของ สำนักงาน ก.พ. ณ เดือน มิ.ย.2562 ระบุ
นอกจากนี้ การขยายอายุเกษียณราชการจากอายุ 60 ปี เป็น 63 ปี ที่ถูกบรรจุไว้ในแผนการปฏิรูปประเทศทั้งฉบับก่อน และฉบับปรับปรุงที่เพิ่งประกาศเมื่อวันที่ 25 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น ซึ่งสะท้อนถึงความสำคัญของแผนนี้ได้เป็นอย่างดี (อ่านประกอบ : ก่อนครม.สั่งชะลอ! เปิดแผนปฏิรูปปท.ฉบับใหม่ ขยายเกษียณอายุ 65 ปี-สำรวจรายได้จริงขรก.)
แต่อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของสำนักงาน ก.พ. พบว่า ปัจจุบันภาครัฐเป็น ‘นายจ้างรายใหญ่’ ที่สุดของประเทศ
โดยมีกำลังคนทุกประเภท (ทั้งฝ่ายพลเรือนและทหาร) จำนวน 2.8 ล้านอัตรา หรือคิดเป็น 7% ของจำนวนประชากรวัยแรงงาน และคิดเป็น 4% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และจ้างงานรูปแบบอื่นๆ เช่น ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานจ้าง ลูกจ้างประจำ พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และพนักงานมหาวิทยาลัย
หากนับเฉพาะกำลังพลภาครัฐในฝ่ายพลเรือน (ปี 2561) พบว่ามีจำนวน 2.09 ล้านคน โดยส่วนราชการะดับกระทรวงที่มีข้าราชการมากที่สุด คือ กระทรวงศึกษาธิการ 606,511 คน หรือ 28.99% รองลงมากระทรวงสาธารณสุข 308,130 คน หรือ 14.7% และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ 308.130 คน หรือ 10.5%
(ที่มา : รายงานการศึกษา เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย)
ดังนั้น หากขยายเวลา ‘เกษียณอายุราชการ’ ออกไปเป็นอายุ 63 ปี ย่อมจะทำให้ภาระงบประมาณภาครัฐเพิ่มขึ้น ในขณะที่สำนักงาน ก.พ.เอง ยังไม่สามารถจัดการกับกำลังคนและภาระค่าใช้จ่ายกำลังคนภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรที่เพิ่มขึ้นทุกปี
สอดคล้องกับรายงานการศึกษา เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา ที่ระบุว่า เมื่อพิจารณาโครงสร้างงบประมาณปี 2559-2563 พบว่างบรายจ่าย 3 ใน 4 เป็นรายจ่ายประจำ และปีงบ 2563 พบว่า งบประมาณรายจ่ายด้านบุคลากรคิดเป็น 1 ใน 4 ของงบประมาณแผ่นดิน
(ที่มา : รายงานการศึกษา เรื่อง การจ้างข้าราชการภายหลังเกษียณอายุ 60 ปี เพื่อรองรับสังคมสูงวัย)
ขณะที่ในปีงบ 2564 พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรโดยรวมอยู่ที่ 1,242,177 ล้านบาท แบ่งเป็น งบกลางเป็นค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาลข้าราชการและครอบครัว เงินช่วยเหลือลูกจ้างเบี้ยหวัด เลื่อนเงินเดือน ลูกจ้างประจำ เงินสำรองและเงินสมทบ 465,290 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบ 2563 ประมาณ 10% และแผนงานบุคลากรของรัฐของทุกกระทรวงที่มีการจัดสรรงบไว้สูงถึง 776,887 ล้านบาท
หรือเท่ากับว่าค่าใช้จ่ายบุคลากรภาครัฐจะอยู่ที่ประมาณ 37.8% หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งเป็นภาระงบที่สูงมาก
“แม้ว่าการขยายอายุเกษียณราชการมีความจำเป็น สำหรับการเพิ่มความยั่งยืนทางการคลังของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กองทุน กบข.) ทว่ายังมีข้าราชการอีกจำนวนหนึ่งที่มิได้เป็นสมาชิกกองทุน กบข. ดังนั้น การขยายอายุเกษียณราชการ ซึ่งจะครอบคลุมข้าราชการทุกคน จึงกระทบต่อภาระการคลังของรัฐ” รายงานของคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ วุฒิสภา
คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ จึงมีข้อเสนอว่า หากมีความจำเป็นต้องจ้างงาน ‘ข้าราชการเกษียณ’ ในบางตำแหน่งหรือสาขาที่ขาดแคลนนั้น ควรจะเป็นการแก้ไขกฎ ก.พ.ให้ครอบคลุมสาขาที่ขาดแคลนหรือจำเป็นได้มากขึ้น จากปัจจุบันมีกฎก.พ.ที่ให้ขยายอายุการเกษียณราชการในตำแหน่งต่างๆมากกว่า 30 ประเภทอยู่แล้ว และบางตำแหน่งขยายอายุเกษียณราชการไปถึงอายุ 70 ปี
ส่วนรูปแบบการจ้างงานนั้น หากเป็นข้าราชการที่รับบำนาญแบบกำหนดสิทธิประโยชน์ในระบบเดิม ควรใช้วิธีจ้างงานรูปแบบอื่น เช่น การจ้างเหมาบริการ หรือการรับงานไปทำ
แต่หากเป็นข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. สามารถใช้มาตรการขยายอายุเกษียณ เพราะนอกจากเป็นการรักษากำลังคนสาขาที่ขาดแคลนในระบบแล้ว ยังส่งผลต่อเนื่องในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังชของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมฯ ยังเสนอให้มีการศึกษาเพื่อปฏิรูประบบบำนาญของข้าราชการส่วนท้องถิ่น เพราะจากการศึกษาระบบการคุ้มครองทางสังคมยามชราภาพ พบว่ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการส่วนท้องถิ่นมาจากรายได้ท้องถิ่น ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขาดความยั่งยืนทางการคลังด้วย
เหล่านี้เป็นที่มาที่ไปและเหตุผลในการขยายเวลาเกษียณอายุราชการเป็น 63 ปี รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ที่ส่งตรงไปยังรัฐบาล และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม และเป็นหนทาง ‘สองแพร่ง’ ที่รัฐบาลต้องตัดสินใจ!
อ่านประกอบ :
ก่อนครม.สั่งชะลอ! เปิดแผนปฏิรูปปท.ฉบับใหม่ ขยายเกษียณอายุ 65 ปี-สำรวจรายได้จริงขรก.
ครม.ชะลอแผนขยายเวลาเกษียณอายุราชการจาก 60 เป็น 63 ปี เนื่องจากพิษโควิด
เร่งบรรจุขรก.ใหม่! รัฐบรรเทาผลกระทบว่างงาน-คืนตำแหน่งเกษียณ ‘บุคลากรการศึกษา’
ตร.ออกกฎเหล็กหักเงิน ขรก.ติดหนี้สหกรณ์ฯทุกกรณีห้ามงดเว้น-หวั่นกู้ที่อื่นจนล้มละลาย
ลดจำนวนขรก.! ‘บิ๊กตู่’ สั่งผุดระบบราชการใหม่-งบบุคลากรรัฐปี'64 แตะ 1.1 ล้านล้าน
# กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage/