"...การตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2563 สตง.พบว่าหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังมีปัญหารายงานการเงินไม่ถูกต้อง สาเหตุหลักเกิดจากการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชี ที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าเกษตรกรรม ให้กับรัฐบาล ผลการตรวจสอบไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ เกี่ยวกับบัญชีสินค้าคงเหลือ จำนวน 10,470.44 ล้านบาท เนื่องจาก รัฐวิสาหกิจนี้ไม่สามารถ ตรวจนับสินค้าคงเหลือ และรายงานผลการตรวจนับสินค้าคงเหลือได้อย่างครบถ้วน ..."
...........................
การตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานภาครัฐ เป็นภารกิจสำคัญประการหนึ่งของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ทำเป็นประจำต่อเนื่องมาทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อแสดงความเห็นว่า รายงานการเงินถูกต้องตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายการบัญชีภาครัฐ หรือมาตรฐานการบัญชีที่รับรองทั่วไปหรือไม่ รวมถึงการตรวจสอบรายงานการเงินแผ่นดินประจำปีงบประมาณและการตรวจสอบบัญชีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อแสดงความเห็นว่าเป็นไปตามกฎหมายและตามความเป็นจริงหรือไม่
นอกจากนี้ การตรวจสอบรายงานการเงินยังจะเป็นการตรวจสอบที่ทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้รายงานการเงินของหน่วยงานของรัฐและก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะต่อผู้ที่มีความสนใจเช่น หน่วยงานกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานของรัฐ นักวิเคราะห์นักลงทุน เจ้าหนี้ และประชาชนทั่วไป เป็นต้น ซึ่งผู้ใช้รายงานการเงินสามารถทราบถึงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของหน่วยงานนั้น ๆ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ได้หลากหลาย เช่น การกำหนดนโยบาย งบประมาณ การวางแผนการลงทุน การจัดหาเงินหรือการกำหนดทิศทางการดำเนินงานของแต่ละหน่วยงาน การตรวจสอบรายงานการเงินของ สตง.ยังส่งผลในการส่งเสริมให้การบริหารจัดการในการจัดทำข้อมูลทางการเงินของหน่วยงานของรัฐให้มีความระมัดระวังรอบคอบยิ่งขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานนั้นและผู้ใช้รายงานการเงินด้วย
โดยการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานภาครัฐ ประจำปี 2563 สตง.พบว่าหน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังมีปัญหารายงานการเงินไม่ถูกต้อง สาเหตุหลักเกิดจากการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชี ที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ ซึ่งในจำนวนนี้มีรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าเกษตรกรรม ให้กับรัฐบาล ผลการตรวจสอบไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ เกี่ยวกับบัญชีสินค้าคงเหลือ จำนวน 10,470.44 ล้านบาท เนื่องจาก รัฐวิสาหกิจนี้ไม่สามารถ ตรวจนับสินค้าคงเหลือ และรายงานผลการตรวจนับสินค้าคงเหลือได้อย่างครบถ้วน
ข้อมูลดังกล่าวถูกเปิดเผยขึ้น!
เมื่อสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ตรวจสอบพบว่า ในรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2563 ของ สตง. ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานภาครัฐไว้ว่า ได้ตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน ของหน่วยรับตรวจจำนวนทั้งสิ้น 9,552 รายงาน โดยได้แสดงความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชี อย่างไม่มีเงื่อนไข จำนวน 7,999 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 83.74 แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข จำนวน 1,236 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 12.94 แสดงความเห็นว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง จำนวน 34 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 0.36 และไม่แสดงความเห็น จำนวน 283 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 2.96 (ดูรูปประกอบ)
อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ถึงผลการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยรับตรวจดังกล่าว สามารถจำแนกตามประเภทหน่วยรับตรวจได้ 3 กลุ่มสำคัญ และตัวอย่างปัญหาที่ตรวจสอบพบได้ดังนี้
@ หน่วยงานราชการ
ประกอบด้วย ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค กองทุน และเงินทุนหมุนเวียน รวมถึงองค์การมหาชนและหน่วยงานอื่นของรัฐ การจัดทำรายงานการเงินของหน่วยงานราชการได้มีการจัดทำมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ และนโยบายมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ พ.ศ.2561 ที่กระทรวงการคลังประกาศใช้ อย่างไรก็ตาม รายงานการเงินของส่วนราชการที่จัดทำตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายมาตรฐาน การบัญชีภาครัฐ พ.ศ.2561 กำหนดให้ต้องรวมรายงานการเงินที่รวมเงินทุกประเภท และหาก มีหน่วยงานภายใต้การควบคุม ต้องจัดทำรายงานการเงินรวมที่รวมหน่วยงานย่อยทุกแห่ง ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของหน่วยงานของรัฐนั้น ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ ฉบับที่ 35 เรื่อง รายงานการเงินรวม แต่ปัจจุบันกระทรวงการคลังยังไม่ได้มีการประกาศใช้มาตรฐาน ฉบับดังกล่าว ส่งผลให้รายงานการเงินของหน่วยงานราชการยังไม่ได้เป็นรายงานการเงินรวม
จากการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานราชการ จำนวนทั้งสิ้น 745 รายงาน ผลการตรวจสอบเป็นการแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข จำนวน 471 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 63.22 แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข จำนวน 169 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 22.68 แสดงความเห็น ว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง จำนวน 18 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 2.42 และไม่แสดงความเห็น จำนวน 87 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 11.68
ประเด็นที่ส่งผลให้ สตง. แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข เกิดจากทั้งกรณีรายงานการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ และ สตง.ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ ซึ่งปัญหาที่พบส่วนใหญ่เป็นการบันทึกบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้องอย่างเป็นสาระสำคัญ รวมถึงไม่ได้จัดทำ รายงานเงินคงเหลือประจำวัน งบกระทบยอดเงินฝากธนาคาร รวมถึงทะเบียนต่าง ๆ ตามที่ หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดให้จัดทำเพื่อให้เกิดระบบการควบคุมภายในที่ดี เช่น ทะเบียนสินทรัพย์ ทะเบียนคุมลูกหนี้ เจ้าหนี้รายตัว เป็นต้น ซึ่งเป็นหลักฐานการสอบบัญชีที่สำคัญที่ใช้ในการ ตรวจสอบเพื่อแสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน ส่งผลให้ไม่สามารถสอบยันความถูกต้อง ของตัวเลขที่แสดงในรายงานการเงินได้ ประเด็นที่ส่งผลให้ สตง. ไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน ส่วนใหญ่ พบว่า ไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีและรายละเอียดให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ตัวอย่างผลการตรวจสอบ
กรณีตัวอย่าง อาทิ การตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งซึ่งมีหน้าที่หลัก ในการจัดเก็บรายได้ พบว่า ไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีและรายละเอียด ให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ ได้แก่ บัญชีทุน จำนวน 11,021.33 ล้านบาท รายได้สูง/(ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม จำนวน 640.36 ล้านบาท รายการปรับปรุงผลสะสมจากการแก้ไขข้อผิดพลาด จำนวนทั้งสิ้น 1,021,221.07 ล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับปรุงนอกระบบ GFMIS ปีงบประมาณ พ.ศ. 2561 โดยปรับปรุงผลสะสมจากการแก้ไขข้อผิดพลาดด้านเครดิตจำนวน 501,826.67 ล้านบาท และปรับปรุงนอกระบบ GFMIS ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดยปรับปรุงผลสะสมจากการแก้ไขข้อผิดพลาด ด้านเครดิต จำนวน 519,394.40 ล้านบาท และรายงานรายได้แผ่นดินที่แสดงอยู่ในหมายเหตุ ประกอบงบการเงินซึ่งแสดงรายงานรายได้แผ่นดินสุทธิ เพียงจำนวน 663.88 ล้านบาท ซึ่งรายละเอียดประกอบด้วย รายได้แผ่นดินที่จัดเก็บ จำนวน 1,919,590.37 ล้านบาท รายได้แผ่นดินถอนคืนจากคลัง จำนวน 288,381.41 ล้านบาท รายได้แผ่นดินจัดสรร ตามกฎหมาย จำนวน 145,998.00 ล้านบาท รายได้แผ่นดินนำส่งคลัง จำนวน 1,486,948.17 ล้านบาท และรายได้แผ่นดินรอนำส่งคลัง จำนวน 1,073.33 ล้านบาท ซึ่งส่วนราชการดังกล่าวไม่มีเอกสารหลักฐานรายละเอียดประกอบการบันทึกบัญชีให้ตรวจสอบ
กรณีการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่หลักในการจัดทำรายงานการเงินของประเทศ พบว่า ข้อมูลทางการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2560 ที่นำมาแสดงเปรียบเทียบไม่ตรงกับข้อมูลที่ สตง.ตรวจสอบแล้ว สำหรับข้อมูลทางการเงินสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ยังไม่ได้นำรายการปรับปรุง นอกระบบของงวดก่อนและงวดปัจจุบันบันทึกในระบบ GFMIS รวมทั้งไม่มีรายละเอียด และเอกสารหลักฐานประกอบรายการปรับปรุงสำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2561 ให้ตรวจสอบ รายงานฐานะเงินงบประมาณรายจ่ายปีปัจจุบันและปีก่อน ไม่ได้เปิดเผยข้อมูล รายงานฐานะเงินงบประมาณรายจ่ายจากเงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี ก่อนปีงบประมาณ 2651 และ 2560 ให้เป็นไปตามรูปแบบงบการเงินและหลักการเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบ งบการเงิน ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐ นอกจากนี้ ส่วนราชการดังกล่าวจัดส่งรายละเอียด ประกอบรายการบัญชีที่แสดงรายการในรายงานการเงินที่จำเป็นต้องจัดทำตามที่กฎหมาย และข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกำหนดให้จัดทำให้ตรวจสอบไม่ครบถ้วน ได้แก่ รายงานเงินคงเหลือประจำวัน งบกระทบยอดบัญชีเงินฝากธนาคาร งบเทียบยอดเงินฝากคลัง ทะเบียนคุมลูกหนี้เงินยืม รายงานผลการตรวจสอบพัสดุประจำปีงบประมาณ ทะเบียนคุมเงินรับฝาก รายงานฐานะเงินทดรอง ราชการ และทะเบียนคุมเงินทดรองราชการ
และกรณีการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานราชการที่เป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นแบบมีเงื่อนไข ไม่แสดงความเห็น และแสดงความเห็น ว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง สาเหตุหลักเกิดจากการไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชี ที่เหมาะสมอย่างเพียงพอ เช่น จากการตรวจสอบรายงานการเงินมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง พบว่า มีการปรับปรุงรายการบัญชีต่าง ๆ หลายบัญชีโดยไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการปรับปรุง ให้ตรวจสอบ ได้แก่ บัญชีเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด เงินลงทุนระยะสั้น ลูกหนี้ระยะสั้น และรายได้ค้างรับ สินค้าคงเหลือ สินทรัพย์หมุนเวียนอื่น เงินลงทุนระยะยาว สินทรัพย์ ไม่หมุนเวียนอื่น รายได้สูง (ต่ำ) กว่าค่าใช้จ่ายสะสม กำไรขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นของเงินลงทุน รายได้จากการขายสินค้าและบริการ รายได้จากการลงทุน รายได้อื่น ค่าสาธารณูปโภค ค่าใช้สอย ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่ายเงินอุดหนุน และค่าใช้จ่ายอื่น
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยมิได้จัดส่ง งบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ หรือส่งงบการเงินของหน่วยงานย่อยให้ตรวจสอบ แต่ไม่สามารถตรวจสอบกับงบการเงินของมหาวิทยาลัยได้รวมถึงมีหลายบัญชีที่ยอดตามบัญชี ที่ส่งให้ตรวจสอบ ไม่ตรงกับยอดตามทะเบียนคุมหรือรายละเอียดที่หน่วยงานย่อยส่งให้ตรวจสอบ ซึ่งมหาวิทยาลัยไม่ได้ชี้แจงถึงสาเหตุของผลแตกต่างดังกล่าวได้ ได้แก่ บัญชีที่ดิน อาคาร และอุปกรณ์ เจ้าหนี้ระยะสั้น ค่าใช้จ่ายค้างจ่าย รายได้รับล่วงหน้า และเจ้าหนี้ระยะยาว เป็นต้น
@ หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ
การจัดทำรายงานการเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจได้มีการจัดทำเป็นไปตามมาตรฐาน การบัญชีและมาตรฐานการรายงานทางการเงินของสภาวิชาชีพบัญชี และหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งธุรกรรมของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจมีการดำเนินงานที่หลากหลาย มีการทำธุรกรรมที่มีความซับซ้อน เป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ แห่งประเทศไทย ที่มีการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศค่อนข้างสูง รวมถึงสถาบันการเงินของรัฐ ที่ต้องมีภารกิจเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการที่ดี ผู้บริหารของรัฐวิสาหกิจจึงให้ความสำคัญในการบริหารจัดการข้อมูลทางการเงินและมีการจัดการระบบ การควบคุมภายในที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำรายงานการเงินอย่างเหมาะสม ส่งผลให้รายงานการเงิน มีความน่าเชื่อถือและผู้ใช้รายงานการเงินนำไปใช้ในการตัดสินใจได้ มีผลทำให้การตรวจสอบ ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นการแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข
จากการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จำนวนทั้งสิ้น 438 รายงาน ผลการตรวจสอบเป็นการแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข จำนวน 412 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 94.07 แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข จำนวน 16 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 3.65 และไม่แสดง ความเห็น จำนวน 10 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 2.28
ประเด็นที่ส่งผลให้ สตง.แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข เกิดจาก ทั้งกรณีรายงานการเงินแสดงข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญ และสำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ ประเด็นที่ส่งผลให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินไม่แสดงความเห็นต่อรายงานการเงิน ส่วนใหญ่พบว่า ไม่มีเอกสารหลักฐานประกอบการบันทึกบัญชีและรายละเอียดให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่สามารถชี้แจงสาเหตุของข้อผิดพลาดหรือผลแตกต่างได้ เช่น
กรณีการตรวจสอบรายงานการเงินของรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่จัดเก็บสินค้าเกษตรกรรม ให้กับรัฐบาล ผลการตรวจสอบไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ เกี่ยวกับบัญชีสินค้าคงเหลือ จำนวน 10,470.44 ล้านบาท เนื่องจาก รัฐวิสาหกิจนี้ไม่สามารถ ตรวจนับสินค้าคงเหลือ และรายงานผลการตรวจนับสินค้าคงเหลือได้อย่างครบถ้วน เจ้าหนี้การค้า จำนวนเงิน 407,607.19 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 716.96 ของยอดสินทรัพย์ รวม เอกสารหลักฐานที่ใช้บันทึกบัญชีมิใช่เอกสารใบแจ้งหนี้จาก เจ้าหนี้การค้า อีกทั้งจากการ ยืนยันยอดเจ้าหนี้การค้า มียอดคงเหลือแตกต่างกัน โดยไม่สามารถอธิบายถึงสาเหตุ ของผลแตกต่างดังกล่าวได้ บัญชีลูกหนี้การค้าจากการยืนยันยอดมียอดคงเหลือที่แตกต่างกัน อย่างมีสาระสำคัญ
กรณีการตรวจสอบรายงานการเงินของรัฐวิสาหกิจที่ทำหน้าที่ขนส่งสาธารณะแห่งหนึ่ง สตง.ไม่สามารถหาหลักฐานการสอบบัญชีที่เหมาะสม อย่างเพียงพอ เกี่ยวกับรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่แสดงในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ จำนวน 3,727.49 ล้านบาท รัฐวิสาหกิจแห่งนี้ ไม่สามารถส่งสัญญาเช่าให้ตรวจสอบ รวมถึงไม่ได้จัดทำทะเบียน คุมสินทรัพย์เพื่อใช้ในการดำเนินงานและสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ ทำให้ไม่สามารถ ประมาณการรายได้จากการบริหารสินทรัพย์ที่มีไว้เพื่อหาผลประโยชน์ได้ รวมถึงไม่มีการ ปรับปรุงสัญญาเช่ากับรายละเอียดลูกหนี้จากการบริหารสินทรัพย์ให้ถูกต้องตรงกัน ทำให้ ไม่สามารถตรวจสอบให้ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับจำนวนเงินที่นำมาบันทึกรับรู้รายได้จากการบริหาร สินทรัพย์ว่าเป็นไปตามอัตราเช่าที่เป็นสัญญาเช่าปัจจุบันหรือไม่ ส่งผลกระทบต่อการรับรู้รายได้ และลูกหนี้ เงินชดเชยตามกฎหมายค้างรับ จำนวน 160,363.00 ล้านบาท และรายได้เงิน ชดเชยผลขาดทุนตามกฎหมาย จำนวน 12,477.59 ล้านบาท ไม่สามารถตรวจสอบให้ได้ ข้อสรุปว่าจำนวนดังกล่าวแสดงอย่างถูกต้องตามควรหรือไม่ เงินทุนในการดำเนินการก่อสร้าง โครงการระบบขนส่งขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่เป็นพันธบัตรและเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน
มียอดเงินกู้คงเหลือ จำนวน 32,229.15 ล้านบาท ซึ่งแสดงอยู่ในเงินกู้ยืมระยะยาว และเงินกู้ยืมระยะยาวที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี ได้รับเอกสารประกอบการตรวจสอบ ไม่เพียงพอและเหมาะสมที่จะสามารถได้ข้อสรุปว่าเงินกู้โครงการดังกล่าวเป็นภาระหนี้ ของรัฐวิสาหกิจแห่งนี้หรือไม่ การเปิดเผยข้อมูลในหมายเหตุประกอบงบการเงิน เรื่องหนี้สิน ที่อาจเกิดขึ้น ระบบการจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคดีความไม่เหมาะสม รัดกุมเพียงพอ ทำให้ ไม่สามารถให้ข้อมูลการถูกฟ้องร้องดำเนินคดีให้ตรวจสอบได้เป็นต้น
@ หน่วยงานขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
การจัดทำรายงานการเงินของหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้มีการจัดทำบัญชี และรายงานการเงินตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยประกาศใช้โดยยังไม่ได้ใช้มาตรฐาน การบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ เนื่องจากพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลัง ของรัฐ พ.ศ. 2561 ในบทเฉพาะกาลมาตรา 84 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐที่มิใช่รัฐวิสาหกิจ และทุนหมุนเวียนจัดทำบัญชีและรายงานการเงินตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบาย การบัญชีภาครัฐที่กำหนดไว้ในมาตรา 68 ภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัติ ใช้บังคับ ซึ่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ประกาศในราชกิจจา นุเบกษา เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 ส่งผลให้การจัดทำรายงานการเงินขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นสำหรับปี 2561 – 2563 ยังคงใช้ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงมหาดไทยประกาศใช้ ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐ และยังมีรายการบัญชีที่การบันทึกบัญชีไม่เป็นไปตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป เช่น การบันทึกบัญชีเกี่ยวกับทรัพย์สินตามงบทรัพย์สิน ซึ่งมีจำนวนที่มีสาระสำคัญอย่างมาก ในรายงานการเงินโดยยังไม่มีการรับรู้การเสื่อมค่าจากการใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินดังกล่าว ส่งผลให้รายงานการเงิน ไม่แสดงฐานะการเงินและผลการดำเนินงานที่ถูกต้อง ซึ่งตามข้อกำหนด ตามมาตรา 71 พระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 กำหนดให้สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดินต้องตรวจสอบรายงานการเงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นภายใน 180 วัน
จากการตรวจสอบรายงานการเงิน จำนวนทั้งสิ้น 8,369 รายงาน ผลการตรวจสอบเป็น การแสดงความเห็นอย่างไม่มีเงื่อนไข จำนวน 7,116 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 85.03 แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข จำนวน 1,051 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 12.56 แสดงความเห็น ว่ารายงานการเงินไม่ถูกต้อง จำนวน 16 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 0.19 และไม่แสดงความเห็น จำนวน 186 รายงาน คิดเป็นร้อยละ 2.22
ทั้งนี้ การแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขของราชการส่วนท้องถิ่น จำนวน 1,051 รายงานอันดับแรกเป็นการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขต่อรายงานการเงินขององค์การบริหารส่วนตำบลที่มีมากถึงจำนวน 754 รายงาน อันดับสองเป็นของเทศบาล จำนวน 271 รายงานและอันดับสามเป็นขององค์การบริหารส่วนจังหวัด จำนวน 17 รายงาน
โดยการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขสำหรับหน่วยงานราชการส่วนท้องถิ่นซึ่งเป็นประเภทของหน่วยรับตรวจที่มีการแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไขที่มากที่สุดนั้น พบว่า ประเด็นที่นำไปสู่การแสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข ปัญหาส่วนใหญ่เกือบทุกหน่วยคือ ทรัพย์สินตามงบทรัพย์สินที่แสดงในงบแสดงฐานะการเงิน มีจำนวนเงินที่แตกต่างจากรายละเอียดทรัพย์สินตามทะเบียนคุมทรัพย์สิน ซึ่งหน่วยรับตรวจไม่สามารถหาสาเหตุของผลแตกต่างดังกล่าวได้ หรือเกิดจากไม่ได้จัดทำทะเบียนคุมทรัพย์สิน หรือจัดทำทะเบียนคุมไม่ครบถ้วน รวมถึงการบันทึกบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง หรือมีการบันทึกบัญชีแต่ไม่มีเอกสารหลักฐานให้ตรวจสอบอย่างมีสาระสำคัญ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่มีอย่างต่อเนื่อง โดยหน่วยรับตรวจส่วนใหญ่ยังไม่แก้ไขปัญหาดังกล่าว ส่งผลให้มีการแสดงความเนอย่างมีเงื่อนไขอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี่ คือ ผลการตรวจสอบรายงานการเงินของหน่วยงานรัฐล่าสุด ของสตง. ที่มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นทางการออกมาล่าสุด ซึ่งมีข้อมูลสำคัญหลายส่วนที่สามารถนำมาใช้เป็น 'สารตั้งต้น' ในการเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกถึงปัญหาการดำเนินงานได้ต่อไป
#กดคลิก ติดตาม ส่งแชร์ข่าวอิศรา ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/isranewsfanpage